พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

รายงานพิเศษ “ทางสายกลางแห่งชีวิต พิชิตความรุนแรง”คุฏบะฮฺวันอีดิลฟิฏริ ประจำปี ฮ.ศ.1440

แชร์เลย

โดย ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ  ประธานฝ่ายวิชาการและการศึกษา
คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

คุฏบะฮฺวันอีดิลฟิฏริ ประจำปี ฮ.ศ.1440
___________________________________________
اللهُ أَكْبَر اللهُ أَكْبَر اللهُ أَكْبَر
اللهُ أَكْبَر اللهُ أَكْبَر اللهُ أَكْبَر
اللهُ أَكْبَر اللهُ أَكْبَر،
اللهُ أَكْبَرُ كَبِيْرًا ، والحَمْدُ ِللهِ كَثِيْرًا ، وَسُبْحَانَ اللهِ بُكْرَةً وَأَصِيْلا. الحَمْدُ ِللهِ الَّذِى وَفَّقَنَا لِعِبَادَتِهِ ، وَجَعَلَ هذَا اليَوْمَ فَرْحًا لِعِبَادِهِ الُمتَّقِيْنَ الَّذِيْنَ فَازُوْا بِصِيَامِ رَمَضَانَ وَقِيَامِهِ ، وَأَشْهَدُ أَنْ لاإِلهَ إِلا اللهُ ، وَأَشْهَدُ أَنَّ سَيِّدَنَا مُحَمَّدًا عَبْدُهُ وَرَسُوْلُهُ ، اللّهُمَّ صَلِّ وَسَلِّمْ وَبَارِكْ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ ، وَعَلَى آلِهِ وَأَصْحَابِهِ وَمَنْ تَبِعَهُمْ بِإِحْسَانٍ إِلَى يَوْمِ الدِّيْنِ.
أَمَّا بَعْدُ : فَيَا أَيُّهَا المُسْلِمُوْنَ ، اتَّقُوْا اللهَ حَقَّ تُقَاتِهِ وَلاتمَوُتُنَّ إِلا وَأَنْتُمْ مُسْلِمُوْنَ
فقد قال الله تعالى : يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ وَلۡتَنظُرۡ نَفۡسٞ مَّا قَدَّمَتۡ لِغَدٖۖ وَٱتَّقُواْ ٱللَّهَۚ إِنَّ ٱللَّهَ خَبِيرُۢ بِمَا تَعۡمَلُونَ ١٨


พี่น้องผู้ที่กำลังจะสู่การเฉลิมฉลองวันอีดิลฟิฏริที่รักทั้งหลาย
ขอให้พวกเราทั้งหลายจงมีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด แท้จริงจิตใจที่ยำเกรงต่ออัลลอฮฺนั้น เป็นจิตใจที่ช่วยให้บุคคลสามารถใช้เนียะมัตความโปรดปรานจากอัลลอฮฺได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในยามที่ต้องเผชิญความทุกข์ยากขาดแคลนก็จะสามารถผ่านไปได้ด้วยความอดทน อดกลั้น จากจืตใจที่ยึดมั่นในอัลลอฮฺ   โลกมนุษย์ในปัจจุบัน เต็มไปด้วยเหตุการณ์รุนแรง และนำความโศกสลดมาสู่ผู้คน เช่น เหตุการณ์รุกราน ขับไล่ และเข่นฆ่าชาวปาเลสไตน์ เหตุการณ์กราดยิงในมัสยิดที่นิวซีแลนด์ เหตุการณ์ระเบิดในศรีลังกา การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญาในพม่า และสงความที่ทำลายผู้คนเป็นหมื่นเป็นแสนในโลกอาหรับ เหตุการณ์เหล่านี้บ่งชี้ว่า โลกกำลังเผชิญสภาวะบางอย่างซึ่งทำให้คนที่ไม่มีหลักยึดเหนี่ยวใจอย่างถูกต้อง กลายเป็นคนที่มีความคิดสุดโต่ง และอาจลงมือกระทำการรุนแรงได้ตลอดเวลา ความรุนแรงดังกล่าว อาจทำให้พี่น้องของเราจำนวนไม่น้อย ไม่สามารถเฉลิมฉลองวันอีด อย่างร่าเริงเบิกบานได้เหมือนที่พวกเรากำลังฉลอง แต่พวกเขากำลังทุกข์ระทมกับความเจ็บปวดจากบาดแผลในร่างกาย หรือจากการสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รัก หรือบ้านที่พังทลายไปก็ได้
ดังนั้นขณะที่เรากำลังมีความสุขท่ามกลางญาติมิตรมากมายอยู่นี้ อย่าลืมเผื่อใจดุอาแก่คนที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนจำนวนมาก ต้องละหมาดอย่างเดียวดายในแผ่นดินของคนแปลกหน้า ไม่มีญาติมิตรมาร่วมแบ่งปันเสียงหัวเราะ และไร้ซึ่งคนปลอบใจให้คลายความเงียบเหงา และเราก็จงดุอาต่ออัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าให้ประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรานี้ เป็นดินแดนแห่งความสงบร่มเย็น ที่ผู้คนทั้งมุสลิม และมิใช่มุสลิมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีมิตรภาพ ภราดรภาพ และร่วมกันพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าสืบไปได้
พี่น้องที่รักของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮฺทุกท่าน
อันการที่สังคมหนึ่ง ๆ จะมีความสุขสงบโดยรวมได้นั้น ผู้คนในสังคมดังกล่าวต้องมีวิถีชีวิต มีแนวคิดที่ไม่สุดโต่ง และไม่หย่อนยานเกินไป พูดอีกนัยหนึ่ง คือ มีความคิด และวิถีชีวิตอยู่บนทางสายกลาง หรือความพอดีนั่นเอง และทางสายกลางนี้จะเกิดขึ้นได้จริง ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ คือ
1. ความรู้
2. ความอดทน
3. การสักการะต่ออัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าอย่างถูกต้อง

اللهُ أَكْبَرُ! اللهُ أَكْبَرُ! اللهُ أَكْبَرُ وَلِلهِ الحَمْدُ
1. ความรู้
แม้มนุษย์จะเป็นสิ่งถูกสร้างที่ประกอบด้วย สติปัญญาอันล้ำเลิศ แต่การใช้สติปัญญาเพียงลำพังเพื่อค้นหาความจริง และความถูกต้อง ย่อมไม่อาจทำให้บุคคลบรรลุสู่ทางสายกลางแห่งชีวิตจริง ๆ ได้ เพราะสติปัญญาย่อมมีข้อจำกัด เช่นเดียวกับการมองเห็นภายนอกของเราที่มีข้อจำกัด และต้องมีตัวช่วยในการมองเห็น ตัวช่วยที่จะทำให้ปัญญามองเห็นทางสายกลางได้ คือ ความรู้ที่มาจากองค์พระผู้ทรงสร้างมนุษย์ และผู้ทรงประทานทางสายกลางมาให้ ซึ่งก็คือ ความรู้จากอัลกุรอาน และซุนนะฮฺนั่นเอง เป็นองค์ความรู้ที่มิใช่เพียงทฤษฎีตัวอักษร แต่ได้ผ่านการพิสูจน์เชิงปฏิบัติมาแล้วว่าสามารถสร้างสันติสุขและความร่มเย็นขึ้นได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติโดยบรมศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ นบีมุหัมมัด ﷺ ดังอัลลอฮฺได้ทรงมีพระดำรัสไว้ใน ซูรอฮฺ อาล อิมรอน : 164
لَقَدۡ مَنَّ ٱللَّهُ عَلَى ٱلۡمُؤۡمِنِينَ إِذۡ بَعَثَ فِيهِمۡ رَسُولٗا مِّنۡ أَنفُسِهِمۡ يَتۡلُواْ عَلَيۡهِمۡ ءَايَٰتِهِۦ وَيُزَكِّيهِمۡ وَيُعَلِّمُهُمُ ٱلۡكِتَٰبَ وَٱلۡحِكۡمَةَ وَإِن كَانُواْ مِن قَبۡلُ لَفِي ضَلَٰلٖ مُّبِينٍ ١٦٤
“แท้จริงอัลลอฮฺทรงมีพระมหากรุณาธิคุณใหญ่หลวงต่อปวงผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อพระองค์ส่งศาสนทูตมายังพวกเขา มาทำหน้าที่เผยแพร่โองการแห่งอัลลอฮฺให้พวกเขาฟัง ขัดเกลาพวกเขา และสอนพวกเขา ให้รู้วิถีชีวิตตามคัมภีร์รวมถึงวิทยปัญญาต่าง ๆ แม้ก่อนหน้านั้นพวกเขาจะอยู่ในภาวะของความหลงผิดอย่างชัดเจนก็ตาม”
การเรียนรู้วิถีชีวิตที่บรมศาสนทูตได้ปฏิบัติตามคำสอนจากคัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิม หาไม่แล้วมุสลิมคงหาทางสายกลางไม่เจอ และการหาทางสายกลางไม่เจอ ก็ทำให้มุสลิมมีสถานภาพเป็นผู้หลงทาง 2 แบบ คือ หากไม่เป็นผู้ลุ่มหลงทางโลกจนกลายเป็นคนที่ทุ่มเทชีวิตทั้งหมดเพียงเพื่อความสุขฉาบฉวย ก็อาจกลายเป็นคนหลงทางในการเดินไปสู่สวรรค์ได้เช่นกัน การหลงทางที่นำสู่สวรรค์อาจพบได้ทั้งในรูปแบบของการใช้ความรุนแรง สังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เห็นด้วยกับตนในนามของการญิฮาด หรือการปฏิบัติศาสนกิจที่มุ่งหวังสวรรค์ในอาคิรอฮฺ แต่ขาดความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ของตนบนโลกนี้ เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ ความรู้ที่นำไปสู่การยึดมั่นต่ออัลกุรอานและซุนนะฮฺจึงจำเป็น และการขาดความรู้ในเรื่องดังกล่าวก็มีแต่ที่ให้เราหลงทิศผิดทางมากขึ้น ดังที่ท่านบรมศาสนทูตยืนยันว่า
تَرَكْتُ فِيكُمْ أَمْرَيْنِ لَنْ تَضِلُّوا مَا تَمَسَّكْتُمْ بِهِمَا كِتَابَ اللَّهِ وَسُنَّةَ رسول الله صلى الله عليه وسلم (رواه مالك عن أبي هريرة رضي الله عنه)
“ฉันได้ทิ้งสองอย่างไว้แก่พวกท่าน ซึ่งหากพวกท่านยึดมั่นสองอย่างนี้ไว้ ก็จะไม่มีวันหลงทาง คัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ และวัตรปฏิบัติแห่งศาสนทูตของพระองค์”
اللهُ أَكْبَرُ! اللهُ أَكْبَرُ! اللهُ أَكْبَرُ وَلِلهِ الحَمْدُ
2. ความอดทน
การบรรลุสู่เป้าหมายดี ๆ ในชีวิต ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป แต่ก็ไม่ง่ายเสียทีเดียว อุปสรรคสำคัญส่วนใหญ่อยู่ที่จิตใจของเราเอง ซึงมักยึดความสุขสบายจนไม่อยากต่อสู้ โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อความมั่นคงทางศาสนา เพื่อให้ได้มาซึ่งสวรรค์อันสถาพร ซึ่งเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺวางแนวทางไว้ว่า บุคคลจะบรรลุสู่สวรรค์ได้นั้น จะต้องผ่านบททดสอบของพระองค์เสียก่อน
أَمْ حَسِبْتُمْ أَن تَدْخُلُوا الْجَنَّةَ وَلَمَّا يَعْلَمِ اللَّهُ الَّذِينَ جَاهَدُوا مِنكُمْ وَيَعْلَمَ الصَّابِرِينَ (آل عمران : 142)
“พวกเจ้าคิดหรือว่าจะได้เข้าสวรรค์ โดยที่อัลลอฮฺยังไม่ทรงทำให้ประจักษ์ว่าผู้ใดได้ต่อสู้บ้าง และผู้ใดที่อดทนบ้าง”
ทางสายกลางในชีวิตตามแบบฉบับอิสลาม ยามที่โลกคุกรุ่นด้วยไฟแห่งความลุ่มหลงในมายาคติ เป็นสิ่งแปลกหน้า ที่ผู้คนบางกลุ่มพากันต่อต้านอย่างรุนแรง และใช้วิธีการอันหลากหลาย
وَدُّوا لَوْ تَكْفُرُونَ كَمَا كَفَرُوا فَتَكُونُونَ سَوَاءً ۖ…(النساء : 89)
“พวกเขาปรารถนาจะให้พวกเจ้าปฏิเสธ เหมือนที่พวกเขาปฏิเสธ พวกเจ้าก็ จะได้เท่าเทียมกัน(กับพวกเขา)…”
การเรียนรู้ให้เข้าใจทางสายกลาง และลงมือปฏิบัติจริง จึงมีความจำเป็นต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างสูง การขาดความอดทนอาจทำให้เป็นผู้ขาดความรู้ หรือรู้ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ ซึ่งย่อมกลายเป็นเหยื่อได้ ไม่เป็นเหยื่อของแนวคิดสุดโต่งบางอย่างก็เป็นเหยื่อของกระบวนการ “ทำให้ปฏิเสธ” อิสลามได้ แม้จะมีความรู้แล้ว แต่ขาดความอดทน เราก็คงไม่อาจสร้างทางสายกลางขึ้นในสังคมนั้นได้ เพราะการสร้างทางสายกลางดังกล่าวจะต้องต่อสู้กับหลาย ๆ อุปสรรค ทั้งจากมุสลิมกันเอง บางกลุ่มที่ทำตัวขัดขวางการเติบโตของอิสลามเสียเอง เพราะความโฉดเขลาเบาปัญญา หรือเพราะหวงอำนาจยศถาที่ตนดำรงอยู่ ดังที่เราเห็นได้จากการที่อุละมาอฺสายกลาง หลายท่านในโลกอาหรับต้องเผชิญกับการถูกจับกุมคุมขัง ทรมาน และถึงขั้นประหารชีวิต โดยไม่มีข้อหาใด นอกจากไม่เห็นด้วยกับผู้มีอำนาจในการทำให้อิสลาม หรือมุสลิมเสียหาย ขณะที่ในศรีลังกา มุสลิมกำลังถูกไล่ล่าสังหารจากผลการกระทำของขบวนการก่อการร้ายไอสิส
ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า การสถาปนาทางสายกลางมิใช่เรื่องง่าย แต่เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม ซึ่งเราจะต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างสูง จึงจะประสบชัยชนะ กระนั้นก็ตามแม้จะยากเย็นเพียงใด เราต้องมั่นใจในชัยชนะเสมอ เพราะอัลลอฮฺทรงสัญญาไว้ว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اصْبِرُوا وَصَابِرُوا وَرَابِطُوا وَاتَّقُوا اللَّهَ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ
(آل عمران : 200)
“โอ ผู้มีศรัทธาทั้งหลาย จงมีความอดทนในส่วนตัวของพวกเจ้า จงอดทนในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จงตื่นตัวพร้อมระวังภัยจากศัตรูอยู่เสมอ และจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด เพื่อพวกเจ้าจะประสบความสำเร็จแท้จริง”
اللهُ أَكْبَرُ! اللهُ أَكْبَرُ! اللهُ أَكْبَرُ وَلِلهِ الحَمْدُ
3. การมีอิบาดะฮฺเป็นฐานการดำเนินชีวิต
การทุ่มเทสรรพกำลัง โดยหวังแค่ความสุขทางโลก ทำให้ความสมดุลของชีวิต และสังคมเบี่ยงเบนไป การถือวัตถุเป็นสรณะของชีวิต ทำให้ความความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนเปราะบางและห่างเหิน ซ้ำยังสามารถทำร้ายกันได้ตลอดเวลา ด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่เต็มไปด้วยความอธรรม ความเลวร้ายนี้แผ่ลามไปยังสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการบริโภคที่เกินพอดีสร้างเศษซากที่ถูกทิ้งสู่ระบบนิเวศมากมาย ซ้ำร้ายความโลภโมโทสันก็ยังกระตุ้นให้คนเรารุกเข้าทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง แม้ทรัพยากรเหล่านั้นจะเป็นปัจจัยหลักในการดำรงอยู่ของตนก็ตาม
การทำให้สังคมกลับสู่ความสมดุลระหว่างมิติทางวัตถุกับมิติทางจิตวิญญาณจึงมีความจำเป็น และสามารถทำได้ด้วยการสร้างพื้นที่ให้คนเรามีความตระหนักและสำนึกว่าเรามิได้อยู่เพื่อแสวงหาวัตถุ แต่อยู่เพื่ออัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้า และวัตถุก็เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการช่วยให้เราเดินไปสู่เป้าหมายนั้น
พื้นที่แห่งจิตสำนึกเช่นนี้ มีอยู่เต็มเปี่ยมในการประกอบศาสนากิจต่าง ๆ ที่อิสลามกำหนดขึ้น ตั้งแต่การกล่าวปฏิญาณตน การละหมาด การซะกาต การถือศีลอด และการประกอบพิธีฮัจญ์ ทุกศาสนกิจที่กล่าวถึงล้วนเป็นเป็นสิ่งที่ช่วยตอกย้ำ ผลิตซ้ำ อุดมการณ์แห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่เชื่อมโยงกับอัลลอฮฺเป็นหลัก คอยฉุดดึงผู้ปฏิบัติมิให้หลงเพริดไปกับค่านิยมต่าง ๆ ที่ทำให้หลงลืมพระองค์ ตลอดจนวางระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ที่เปี่ยมด้วยวิทยปัญญา อันบุคคลสามารถนำไปเป็นวิถีชีวิตของตนได้ ซึ่งจะก่อเกิดคุณประโยชน์อันมหาศาล ทั้งต่อตัวผู้ปฏิบัติเองและสังคมส่วนรวมด้วย
การรู้จักนำระเบียบแบบแผนแห่งการอิบาดะฮฺมาเป็นแบบแผนแห่งการดำเนินชีวิต ถือได้ว่าเป็นการนำฮิกมะฮฺที่อัลลอฮฺทรงสอน และศาสนทูต ﷺ ได้ปฏิบัติมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง สมดังที่องค์อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ว่า
…وَيُعَلِّمُهُمُ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ…(البقرة : 129)
“ ทรงสอนพวกเจ้าให้รู้จัก (กฎเกณฑ์ใน) คัมภีร์ และ (ทรงสอนให้รู้จัก) วิทยปัญญา ”
ระบบอิบาดะฮฺเช่นนี้ จึงเป็นการสร้างสมดุลขึ้นในวิถีชีวิตของคนเรา มิให้เป็นทาสของความสุขทางโลกจนหลงลืมอาคิรอฮฺ ขณะเดียวกันก็มิได้กำหนดให้ต้องขวนขวายสู่อาคิรอฮฺ โดยละทิ้งภาคผลทางโลกไปอย่างสิ้นเชิง แต่สามารถหาความสุข ความรื่นเริงบนโลกได้ ในกรอบของการสร้างความเข้มแข็ง

(รพี  มามะ  บรรณาธิการข่าว)

////////////////////////////////////////////////

 2,274 total views,  6 views today

You may have missed