พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ซะกาต:แนวทางอิสลาม สังคมสงเคราะห์ ภาคประชาชน

แชร์เลย

รายงานโดย:อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10219526540134546&set=a.3589519657067&type=3&theater

สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ฆอซาลี เบ็ญหมัด คณบดี คณะอิสลามศึกษามหาวิทยาลัยฟาตอนี

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

วันที่ 4หรือ 5 มิถุนายน ปีนี้เป็นวัน “อีดิลฟิฏรฺ” (ฉลองหลังถือศีลอด) ของชาวมุสลิม

 “วันอีด” เป็นวันสำคัญของประชาชาติมุสลิมทั่วโลกซึ่งมีขึ้นเมื่อกว่า 1,400 ปีมาแล้ว ซึ่งจะมีด้วยกัน 2 วัน คือ “วันอีดิ้ลฟิฏรฺ” และ “วันอีดิ้ลอัฎฮา”

โดยท่านศาสนทูตมูฮัมมัดได้กล่าวไว้ความว่า “อัลลอฮฺทรงเปลี่ยนสองวันนี้ (ที่พวกท่านกำลังฉลองอยู่ตามประเพณีอาหรับโบราณ) ด้วยสองวันอันประเสริฐยิ่งกว่า คือ วันอีดิ้ลฟิฏรฺ และวันอีดิ้ลอัฎฮา”

วันอีดิ้ลฟิฏรฺนั้นจะมีขึ้นหลังจากถือศีลอด ในขณะที่วันอีดิ้ลอัฎฮาจะเป็นช่วงที่มุสลิมไปทำฮัจญ์ ซึ่งจะห่างจากวันอีดิ้ลฟิฏรฺ 2 เดือน 10 วัน

สิ่งที่เราเห็นและทราบเป็นประจำก็คือการปฏิบัติศาสนกิจที่มัสยิดด้วยการละหมาดเพื่อขอบคุณพระเจ้าที่สามารถผ่านบททดสอบได้ตลอดหนึ่งเดือน เป็นการเสริมจิตวิญญาณให้แข็งแกร่งเพิ่มขึ้น แต่มีผู้คนน้อยมากที่ทราบว่าในวันดังกล่าวยังเป็นวันสังคมสงเคราะห์ของชาวมุสลิมทั่วโลก ซึ่งคนยากคนจนตั้งตารอคอยนับปี ในขณะที่ปีนี้จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดเดือนรอมฎอนสื่อนำเสนอแต่ระเบิด ความรุนแรง แม้แต่ช่วงวันอีด หน่วยข่าวกรองก็ออกมาเตือนให้ระวังเหตุร้าย ทำให้สิ่งดีๆ ตลอดทั้งเดือนไม่ค่อยถูกเสนอ

เรื่องดีๆ ที่ควรถูกตีแผ่คือการ “สังคมสงเคราะห์” ของชาวมุสลิมต่อคนยากจน กล่าวคือ ในคืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอนหรือช่วงเช้าของวันอีด (ฮารีรายอ) จะเห็นชาวบ้านจำนวนมากจะออกจากบ้านไปหาคนยากจนหรือเจ้าหน้าที่มัสยิดเพื่อ จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์

ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับดร.ฆอซาลี เบ็ญหมัด คณบดี คณะอิสลามศึกษามหาวิทยาลัยฟาตอนีซึ่งจะช่วยอธิบายในเรื่องนี้ดังนี้

อยากให้ท่านเกร่นนำ สักนิดต่อเรื่องนี้

ซะกาตเป็นการสังคมสงเคราะห์ภาคบังคับ ไม่ใช่การบริจาคตามสมัครใจ เป็นระบบหนึ่งของสังคมที่อยู่ภายใต้การอำนวยการของรัฐ มีหน่วยงานบริหารที่เป็นระบบ

ซะกาตฟิฏเราะฮ์เป็นส่วนหนึ่งของระบบซะกาต ที่เป็นองค์ประกอบหลักของศาสนาอิสลาม หากว่าสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์ มีประสิทธิภาพ ตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์กฎหมายอิสลาม ก็จะสามารถแก้ปัญหาต่างๆตามเจตนารมณ์ของการบัญญัติซะกาตได้

นอกจากซะกาตฟิฏเราะฮ์แล้ว ในเดือนรอมฏอน ควรถือเป็นโอกาสจ่ายซะกาตประจำปีของมุสลิม เพราะนอกจากจะได้ผลบุญคุณค่าของการจ่ายซะกาตแล้ว ยังจะได้ผลบุญคุณค่าของการทำความดีในเดือนรอมฎอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 10 วันสุดท้าย ที่อาจได้ผลบุญทวีคูณ 1,000 เดือน หากว่าได้จ่ายซะกาตตรงกับค่ำคืนลัยละตุลกอดร์

  • อะไรคือสถานภาพของซะกาตฟิฏเราะฮ์ในทางบทบัญญัติอิสลาม

ซะกาตฟิฏเราะฮ์เป็นฟัรฎู ดังรายงานจากท่านอิบนุอุมัรว่า
“ท่านรอซูล ได้บัญญัติการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์ เป็นผลอินทผลัม 1 ศออ์ หรือข้าวบาเล่ย์จำนวน 1 ศออ์ จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน เป็นไท เป็นทาส ชายหรือหญิง ”

  • หลักการและเหตุผลในการบัญญัติซะกาตฟิฏเราะฮ์นั่นมีว่าอย่างไร

หลักการและเหตุผลในการบัญญัติซะกาตทั่วไปและซะกาตฟิฏเราะฮ์ ตามทัศนะของชัยค์กอรฎอวีย์ ( ฟิกฮ์ซะกาต. เล่ม 2. เบรุต : มุอัสสะสะฮ์อัรริสาละฮ์. 1973, หน้า 851 – 914) แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่เกี่ยวกับผู้จ่ายซะกาตโดยตรง ที่เกี่ยวกับผู้รับ และที่เกี่ยวกับสังคมที่ได้รับผลพลอยได้

ผลต่อผู้ให้
1) ลบล้างนิสัยเห็นแก่ตัว
2) ฝึกการให้และการเสียสละ
3) เป็นการขอบคุณเนี๊ยะมัตของอัลลอฮ์
4) ทำให้จิตใจผ่อนคลายจากพันธกิจทางโลก
5) เสริมสร้างจรรยาบรรณเศรษฐี
6) สร้างความรักใคร่กลมเกลียว
7) ชำระมลทินของทรัพย์

ผลต่อผู้รับ
1) ช่วยให้พ้นจากความยากลำบาก
2) ลบล้างความรู้สึกโกรธเกลียด

ผลต่อสังคม
1) เป็นระบบประกันสังคมครั้งแรกในประวัติศาสตร์
2) แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในส้งคม
3) แก้ปัญหาการขอทาน คนไร้ที่อยู่อาศัยและคนเร่ร่อน
4) ประกันค่าครองชีพขั้นต่ำสำหรับสมาชิกในส้งคม
5) แก้ปัญหาความอาฆาตพยาบาทระหว่างคนในสังคม
6) ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ

นอกจากนั้น เฉพาะซะกาตฟิฏเราะฮ์ จะชำระความผิดพลาดหรือข้อบกพร่องต่างๆ ของผู้ถือศีลอด และทำให้คนยากจนได้รับความช่วยเหลือ ไม่ให้รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันเฉลิมฉลอง
ท่านนบี กล่าวว่า
أُغْنُواهم في هذا اليوم
ความว่า “จงให้พวกเขาอย่างเพียงพอในวันนี้”

อิบนุอับบาส กล่าวว่า
“ท่านรอซูลุลลอฮ์ ได้กำหนดจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์เหนือผู้ที่ถือศีลอด เพื่อเป็นการชำระคำพูดที่เหลวไหลและหยาบคาย และเป็นอาหารให้กับผู้ที่ขัดสน”

  • ใครคือผู้ที่ต้องจ่ายซะกาตฟิฎเราะฮ์

ซะกาตฟิฎเราะฮ์เป็นซะกาตบังคับสำหรับมุสลิมทุกคน ทั้งผู้ชายหรือผู้หญิง ผู้ใหญ่หรือเด็ก โดยผู้มีหน้าที่จ่ายคือ ผู้ที่มีหน้าที่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู

อิบนุอุมัร กล่าวว่า
“ท่านรอซูล ได้กำหนดการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์เป็นผลอินทผลัมจำนวน 1 ศออ์ หรือข้าวบาเล่ย์จำนวน 1 ศออ์จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นทาส เป็นไท ชาย หญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ ”

ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขว่า มีทรัพย์เหลือจากใช้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู ในวันอีด ส่วนบุคคลที่ยากจน ไม่ต้องจ่ายฟิฏเราะฮ์

  • จะจ่ายเป็นตัวอาหารหรือมูลค่า

มัซฮับชาฟิอีย์ มาลิกีย์และฮัมบะลีย์ เห็นว่า ซะกาตฟิฏเราะฮ์นั้นจะต้องจ่ายเป็นตัวอาหารหลักของท้องถิ่นนั้นๆ เท่านั้น ไม่อนุญาตให้จ่ายเป็นตัวเงินหรือมูลค่า ดังหะดีษรายงานจากอิบนุอุมัรดังกล่าวข้างต้น

ส่วนมัซฮับอบูหะนีฟะฮ์ เห็นว่าอนุญาตให้จ่ายเป็นตัวเงินที่มีมูลค่าเท่ากันแทนอาหารหลักได้

โดยอ้างอิงอัลกุรอานและหะดีษต่างๆ
อัลลอฮ์ กล่าวว่า
خُذْ مِنْ أَمْوَالِهِمْ صَدَقَةً تُطَهِّرُهُمْ وَتُزَكِّيهِمْ بِهَا
“จงเอาซอดะเกาะฮ์ (หมายถึง ซะกาต) จากบรรดาทรัพย์ต่างๆ ของพวกเขา อันที่จะเป็นการใช้มันชำระขัดเกลาพวกเขา”

ตามหลักทั่วไปในอายะฮ์นี้มีความว่า อัลลอฮ์ให้เก็บเอาซะกาตเป็นทรัพย์สินใดๆ ก็ได้

นอกจากนั้น ยังมีหะดีษรายงานโดยอัลบัยฮะกีย์ และหะดีษมุอัลลักของอัลบุคอรีย์ว่า มุอาซ บินยะมาน กล่าวกับชาวเยเมนว่า

“จงเอาเสื้อผ้าหรือเครี่องนุ่งห่มของพวกท่านมา ฉันจะเอาแทนซะกาต มันสะดวกสำหรับพวกท่าน และมีประโยชน์มากกว่าสำหรับมุฮาญิรีนที่นครมะดีนะฮ์”

ในบางสำนวน ระบุชัดว่า มุอ๊าซ กล่าวว่า

“จงเอาเสื้อผ้าหรือเครี่องนุ่งห่มของพวกท่านมา ฉันจะเอาแทนข้าวโพดและข้าวบาเล่ห์”

ทั้งนี้ เนื่องจากชาวเยเมนมีชื่อเสียงในการทอผ้า จึงมีความสะดวกในการจ่ายมากกว่าการจ่ายเป็นพืชผล อีกทั้งในขณะนั้น ชาวนครมะดีนะฮ์มีความจำเป็นต่อเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม

ดร.ยูซุฟอัลกอรฎอวีย์ จึงเห็นว่า ในยุคปัจจุบัน การจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์ด้วยตัวเงินจะเป็นประโยชน์ต่อคนจนและสะดวกสำหรับผู้จ่ายมากกว่า

  • ปริมาณของซะกาตฟิฏเราะฮ์มีระบุไหม

ปริมาณของซะกาตฟิฏเราะฮ์ต่อหนึ่งคนเท่ากับ 1 ศออ์

“ศออ์” เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการตวง อิหม่ามนะวะวีย์ เห็นว่า 1 ศออ์ มีปริมาณเท่ากับ 4 กอบของมือคนปกติทั่วไป

ส่วนการเทียบกับน้ำหนักเป็นกิโลกรัม นักวิชาการอิสลามยุคปัจจุบันที่ได้ศึกษาขนาดของ “ศออ์” ที่เก็บไว้ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนตามข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ในตำรา มีหลากหลายทัศนะ

บ้างเห็นว่าขึ้นอยู่กับน้ำหนัก

บ้างเห็นว่าขึ้นอยู่กับปริมาณ

บางทัศนะ เช่น อาลี มุบาร๊อก เห็นว่า 1ศออ์ มีปริมาณเท่ากับ 2,176 กรัม ซึ่งเป็นทัศนะที่ ดร.ยูซุฟอัลกอรฎอวีย์ เห็นว่าเป็นทัศนะที่มีน้ำหนักที่สุด และเป็นทัศนะที่สารานุกรมกฎหมายอิสลามของคูเวต الموسوعة الفقهية الكويتية นำไปใช้อ้างอิง

ส่วนคณะกรรมการฟัตวาของคูเวตมีทัศนะว่า หากเป็นข้าวสาลี ให้จ่ายปริมาณเท่ากับ 2,176 กรัม หากเป็นข้าวสาร ให้จ่ายปริมาณเท่ากับ 2,500 กรัม

ในส่วนของประเทศไทย จุฬาราชมนตรีซึ่งมีอำนาจฟัตวาตาม พรบ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ได้ฟัตวาว่า 1 ศออ์ เท่ากับ 2.7 กก.

เพราะฉะนั้นในการตีราคาซะกาตฟิฏเราะฮ์ด้วยเงินจึงมีความแตกต่างกันตามทัศนะและตามค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละปี ผู้นำองค์กรศาสนาอิสลามในหลายๆประเทศ จึงทำหน้าที่วินิจฉัยกำหนดราคากลางประจำปีเพื่ออำนวยความสะดวกในการจ่ายซะกาต

  • จะจ่ายในไหน

เวลาจ่ายซะกาตฟิฎเราะฮ์มัซฮับชาฟิอีย์มีทัศนะว่าสามารถจ่ายได้ตั้งแต่เริ่มเข้าเดือนรอมฏอนไปจนกระทั่งละหมาดอีด แต่ที่ดีที่สุดควรจ่ายก่อนการละหมาดอีด

สำหรับอุละมาอ์สายมัซฮับมาลิกีย์ และٍฮัมบะลีย์อนุญาติให้จ่ายล่วงหน้าก่อนวันอีด2-3 วัน

มัซฮับอบูหะนีฟะฮ์เห็นว่า อนุญาตให้จ่ายในเวลาก่อนเดือนรอมฏอนได้

  • ใครคือบุคคลผู้มีสิทธิได้รับซะกาตฟิฏเราะฮ์

อิหม่ามชาฟิอีย์และอุลามาอ์ส่วนใหญ่เห็นว่า ซะกาตฟิฏเราะฮ์ให้แจกจ่ายให้แก่บุคคลประเภทต่างๆ ทั้ง 8 ประเภท ได้แก่ 1) คนยากจน 2) คนขัดสน 3) เจ้าหน้าที่ซะกาต4) มุสลิมใหม่ 5) ไถ่ทาส 6) ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว 7) ผู้เดินทาง 😎 ฟีสะบีลิลลาฮ์-ในหนทางของอัลลอฮ์ เหมือนเช่นซะกาตอื่นๆ

ในขณะที่อุละมาอ์สายมัซฮับมาลิกมีทัศนะว่าให้แจกจ่ายเฉพาะบุคคลที่ยากจนเท่านั้น

ข้อควรระวัง
1. เด็กกำพร้า หญิงหม้าย คนชรา ไม่มีสิทธิรับซะกาตเพราะการนั้นโดยตรง แต่อาจรับได้หากเป็นกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดใน 8 ประเภทของผู้มีสิทธิรับซะกาต
2. ผู้รับซะกาตฟิฏเราะฮ์ ควรเน้นประเภทคนยากจน เพื่อให้พ้นจากความเห็นต่างระหว่างปราชญ์อิสลาม เช่น อิหม่ามมาลิก ที่เห็นว่าผู้มีสิทธิรับซะกาตฟิฏเราะฮ์คือคนยากคนเท่านั้น

  • ช่วยแนะนำเรื่อง “แนวทางการแจกจ่ายซะกาต”

การแจกจ่ายซะกาตควรเน้นประสิทธิผลในการแก้ปัญหา หรือการพัฒนา ตามแนวทางของท่านอุมัรบินค๊อตตอบ ที่กล่าวว่า
إذا أعطيتم فأغنوا
“เมื่อให้(ซะกาต) ก็ให้จนเพียงพอ”
«كَرِّرُوا عَلَيْهِمُ الصَّدَقَةَ، وَإِنْ رَاحَ عَلَى أَحَدِهِمْ مِائَةٌ مِنَ الْإِبِلِ»
“จงให้แก่พวกเขามากๆ แม้ว่าบางคนจะได้อูฐถึง 100 ตัว ก็ตาม” ( อบูอุบัยด์.2007. อัลอัมวาล. เล่ม 2 . มันศูเราะฮ์ : ดาร ฮัดยิลนะบะวีย์. หน้า 241 )

จะเห็นได้ว่านโยบายการให้ซะกาตของท่านอุมัร จะเน้นการแก้ปัญหาความยากจนให้ได้ผล การให้อูฐจำนวน 100 ตัว ซึ่งในปัจจุบัน คิดเป็นเงินบาทได้ราวๆ 3 ล้านบาท แก่คนๆหนึ่งนั้น ทำให้สามารถตั้งตัวได้

การจ่ายซะกาตแบบเบี้ยหัวแตก น่าจะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ซะกาตในการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน มากกว่าการให้ทานตามฤดูกาล

ในยุคปัจจุบัน มีการแจกจ่ายซะกาตในรูปของการให้เครื่องมือทำมาหากิน หรือทุนการศึกษา อันเป็นการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติซะกาตอีกรูปแบบหนึ่ง

  • เวลาจะจ่ายต้องกล่าวว่าอย่างไร

คำกล่าวขณะรับซะกาต

สุนัตให้ขอดุอาอ์ให้แก่ผู้จ่ายซะกาตด้วยดุอาอ์ใดๆ ก็ได้ อิหม่ามนะวะวีย์ รายงานว่า อิหม่ามชาฟิอีย์กล่าวว่า ฉันชอบให้กล่าวว่า
أَجَرَكَ اللهُ فِيْمَا أَعْطَيْتَ، وَجَعَلَهُ لَكَ طَهوْرًا، وَبَارَكَ فيْمَا أَبْقَيْتَ
“ขอให้อัลลอฮ์ตอบแทนผลบุญแก่ท่าน และชำระทรัพย์สินของท่านให้สะอาดบริสุทธิ์ และให้ทรัพย์ที่คงเหลืออยู่ได้บะรอกะฮ์”

  • การบริหารจัดการซะกาตที่ดีสำหรับยุคอดีตแล้วจะปรับสู่ยุคปัจจุบันได้อย่างไร

การบริหารจัดการซะกาต ทั้งการจัดเก็บและแจกจ่าย มิใช่เป็นภารกิจของปัจเจก แต่เป็นภาระหน้าที่ของรัฐ องค์กรของรัฐมีหน้าที่บริหารจัดการซะกาต

ในยุคท่านนบี และคุลาฟาอ์รอชิดีน มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปจัดเก็บซะกาตประเภทต่างๆ

อิบนุหะญัรอัลอัสกอลานีย์ กล่าวในตำรา “อัตตัลคีศอัลหะบัยร์” ( ตัลคีศอัลหะบัยร์.2. ไคโร : มุอัสสะสะฮ์กุรตุบะฮ์. 1995, หน้า 311) ว่า

“ท่านนบี และคุลาฟาอ์รอชิดีนหลังจากท่าน มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปจัดเก็บซะกาต”

จากหลักดังกล่าว จึงกล่าวได้ว่าการบริหารจัดการซะกาตมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จะต้องมีองค์กรศาสนาอิสลามทำหน้าที่บริหารจัดการ ควรให้มี อามิลีน -เจ้าหน้าที่ซะกาต- ทำหน้าที่จัดเก็บ แจกจ่าย จัดทำบัญชีผู้จ่าย-ผู้รับซะกาต ตลอดจนการสรุปผลและทำรายงานเสนอต่อสาธารณชน รวมถึงนักวิชาการอิสลามผู้ให้คำปรึกษาและตรวจสอบความถูกต้องด้านหลักการศาสนา เพื่อให้การจัดเก็บและแจกจ่ายซะกาตเป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

หมายเหตุสามารถค้นคว้าหนังสืออ้างอิงภาษอาหรับได้ที่

ยูซุฟอัลกอรฎอวีย์. 1973. فقه الزكاةฟิกฮ์ซะกาต. เล่ม 2. เบรุต : มุอัสสะสะฮ์อัรริสาละฮ์.

อัลเคาะฏีบอัชชัรบีนีย์, مغني المحتاجมุฆนีอัลมุหฺตาจญ์. เล่ม 1. เบรุต : ดารุลฟิกร์,

อัลชีรอซีย์. 1992. المهذبอัลมุฮัซซับ. เล่ม 1. ดามัสกัส : ดารุลกอลัม

อันนะวะวีย์ .1405. روضة الطالبينเราฎอตุตตอลิบีน. เล่ม 2. เบรุต : อัลมักตับ อัลอิสลามีย์

อิบนุหะญัรอัลอัสกอลานี,1995. تلخيص الحبيرตัลคีศอัลหะบัยร์. เล่ม 2. ไคโร : มุอัสสะสะฮ์กุรตุบะฮ์.

อบูอุบัยด์.2007. الأموالอัลอัมวาล. เล่ม 2 . มันศูเราะฮ์ ดาร ฮัดยิลนะบะวีย์.

 

หรืออ่านหนังสือเพิ่มเติมของผู้เขียน “ซะกาต :สวัสดิการชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ “

http://k4ds.psu.ac.th/k4ds_search/pdf/books/1286.pdf

 3,720 total views,  6 views today

You may have missed