มีนาคม 29, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

รายงานพิเศษ..ในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ปวงชนชาวไทย ชาวมุสลิมและชาวใต้ ทุกคนจงรักภักดี “ทรงพระเจริญ” RAJA KITA ย้อนดูพลวัตสัมพันธ์มุสลิมอดีตถึงปัจจุบัน

แชร์เลย

รายงานโดย อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) Shukur2003@yahoo.co.uk

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในรัชกาลที่ 10 “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทุกท่านจะเห็นภาพประทับใจจากประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ที่ร่วมราชพิธี ทุกสื่อทั้งสื่อไทยและสื่อต่างประเทศเทศ หนึ่งในจำนวนนั้นมีตัวแทนมุสลิมนำโดยนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ท่านเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย อ.ชารีฟ ศรีเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี อ.อรุณ บุญชม รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะเข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ณ มหาราชวัง
ส่วนก่อนหน้านั้นวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ในหลวงรัชกาลที.10 ก็ได้ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาพลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา เป็นสมเด็จพระราชินี สุทิดา ถูกต้องตามกฎหมาย และราชประเพณีหากย้อนดูพระราชประวัติสมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 10 พระองค์ทรงเป็นคนสงขลา ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ดีสำหรับมุสลิมและชาวใต้ ที่ต่างปลื้มปิติ จนล้นพ้น ด้วยเหตุผลดังนี้

1.พลวัตความสัมพันธ์มุสลิมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน
พลวัตความสัมพันธ์มุสลิมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยจากอดีตสู่ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า จุฬาราชมนตรีมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมมุสลิมในประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วโดยเฉพาะสมัย ร.9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 — 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559) จนคนมลายูมุลิมเรียกพระองค์ว่ารายอกีตอ(Raja Kita) แปลว่าพระเจ้าแผ่นดินของเรา

จุฬาราชมนตรี เป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย และเป็นตำแหน่งฝ่ายมุสลิมให้ข้อปรึกษาด้านศาสนาอิสลามแก่รัฐบาลไทย โดยเฉพาะแก่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงวัฒนธรรม มีประวัติมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในทำเนียบศักดินาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทำเนียบตำแหน่งขุนนาง ซึ่งในชั้นหลังเรียกว่า “กรมท่าขวา” มี “พระจุลาราชมนตรี” เป็นหัวหน้าฝ่ายแขก คู่กับ หลวงโชฎึกราชเศรษฐี หัวหน้าฝ่ายจีน
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์และเป็นคนในสายสกุลเฉกอะหมัดที่นับถือนิกายชีอะหฺมาตลอด เปลี่ยนมาเป็นการเลือกตั้งโดยตัวแทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและผู้ที่ได้รับเลือกเป็นผู้นับถือนิกายสุหนี่ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของมุสลิมในประเทศไทย
เริ่มแรกในรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ ได้รื้อฟื้นตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2488 โดยให้เป็นที่ปรึกษาราชการขององค์พระมหากษัตริย์ ในด้านกิจการศาสนาอิสลาม จนกระทั่ง พ.ศ. 2491 รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนให้จุฬาราชมนตรีเป็นที่ปรึกษากรมการศาสนาในกระทรวงศึกษาธิการ อย่างไรก็ดีหลังจากที่การประกาศใช้พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ได้มีการระบุไว้ในกฎหมายนี้ว่า จุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่ดังต่อไปนี้


• ให้คำปรึกษา และความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม
• แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติศาสนาอิสลาม
• ประกาศผลการดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา
• ออกประกาศเกี่ยวกับวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
• เป็นประธานอำนวยการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย
กฎหมายฉบับนี้ ยังให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยให้เป็นกิจลักษณะ โดยมีจุฬาราชมนตรีเป็นประธานและกรรมการอื่นจากผู้แทนของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและกรรมการที่จุฬาราชมนตรีเสนอชื่อ ซึ่งจะมีบทบาทในด้านการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ขณะที่สำนักจุฬาราชมนตรีนั้นเป็นหน่วยธุรการของจุฬาราชมนตรี
หลังจากประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวไม่นานนายประเสริฐ มะหะหมัด จุฬาราชมนตรีในขณะนั้นได้ถึงแก่อนิจกรรม และผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนต่อมาคือนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ขณะมีอายุได้ 94 ปีเศษ ซึ่งเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งตามกฎหมายฉบับนี้ โดยดำรงตำแหน่งจนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2553 และวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ที่ประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศได้มีมติให้นายอาศิส พิทักษ์คุมพล (ถือเป็นคนใต้คนแรกที่ได้ตำแหน่งนี้) เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีต่อจากนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553
ในจำนวนจุฬาราชมนตรี ทั้งหมดพบว่า นายอาศิส พิทักษ์คุมพล เป็นจุฬาราชมนตี ในสองแผ่นดิน ทั้งร.9และร.10 สำหรับในหลวงรัชกาลที่ 10 กับ พสกนิกรชาวไทยมุสลิมนั้นมีเรื่องประทับใจมากมายตั้งแต่พระองค์ท่านยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
1. พระองค์ทรงเสด็จเป็นประธานในพิธีเปิดงานเมาลิดกลาง ณ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ เป็นประจำทุกปีโดย 2 ปีหลังท่านดำรงตำแหน่งเป็นพระมหากษัตริย์
2. พระองค์ทรงมีพระราชปณิธานอย่างแน่วแน่ที่จะสานต่อพระราชดำริของ “เสด็จพ่อ” ในการแปลพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอ่าน ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ชาวมุสลิมไม่เคยลืมเลือน…
3. ทรงมีความผูกพันธ์กับพสกนิกรชาวมุสลิม โดยเฉพาะชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้พระองค์ก็ยังเป็นเจ้าของวลี “ยังไงเราก็ต้องมา” ทำให้ชาวมุสลิมในพื้นที่รู้สึกปลาบปลื้มเป็นอย่างมาก
4. ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานในการพระราชทานถ้วยรางวัลการทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอ่านระดับประเทศ เป็นประจำทุกปี
5. ทรงสนับสนุนการทำงานของบุคลากรมุสลิมในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยพระองค์ได้เป็นผู้พระราชทานรางวัลแก่ ผู้แทนโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียน ครู และนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ที่มีความประพฤติดีและมีผลงานดีเด่น เป็นประจำทุกปีก่อนปี2540 (รวมทั้งปีผู้เขียนรับรางวัลครูศาสนาดีเด่น 2 ปีซ้อนคือปี พ.ศ.2544-2545)
ดังนั้นภาพประทับใจ ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ณ มหาราชวัง
จึงมีจุฬาราชมนตรีไปในนามตัวแทนมุสลิมไทยเข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคลด้วยเช่นกัน เพียงในการเคารพภักดีของท่านและมุสลิมอาจแตกต่างในการวางตัว เช่นไม่เห็นภาพการกราบ เพราะ หน่วยราชการต่างๆ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เชิญข้าราชการมุสลิม บรรดาโต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม และประชาชนมุสลิม ในพิธีครั้งนี้เพราะแก่นแท้สาระของการเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์ มิได้อยู่ที่การกราบ แต่อยู่ที่การประพฤติดีต่างหาก
ในพจนานุกรมไทย หน้า 285 ได้ให้ความหมายความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไว้ว่า “ผูกใจรักด้วยความเคารพนับถือหรือรู้คุณอย่างยิ่ง”
จากประโยคดังกล่าว เราสามารถให้ความหมายได้ดังนี้
รัก หมายถึง มีจิตใจผูกพันด้วยความห่วงใย (พจนานุกรมหน้า 939)
เคารพ หมายถึง แสดงอาการนับถือ (พจนานุกรม หน้า 264)
นับถือ หมายถึง เชื่อถือยึดมั่น (พจนานุกรม หน้า 571)
ดังนั้น ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จุดเริ่มต้นคือ การเริ่มด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ และแสดงเป็นภาคผลของการกระทำที่ตรงกับจิตใจ การแสดงความจงรักภักดีทางพิธีกรรมในวันสำคัญต่างๆ การแสดงการจงรักภักดีของผู้นำมุสลิม หรือมุสลิมอื่นๆอาจแตกต่างจากพสกนิกรชาวไทยอื่นๆ แต่มิได้หมายความว่าพวกเขา ไม่รักในหลวง ซึ่งพร้อมเทิดทูนด้วยใจ และแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันตลอดไป
2.โอกาสสำหรับพื้นที่ภาคใต้มากขึ้น
นอกจากเราจะเห็นความผูกพันระหว่างในหลวงรัชการที่.10 กับ มุสลิมซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนใต้แล้ว เมื่อดูประวัติ สมเด็จพระราชินี สุทิดา ทรงเป็นคน ต.บ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัด สงขลา ยิ่งทำให้ทั้งสองพระองค์มีโอกาสเดินทางลงมาภาคใต้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีในภาพรวมทั้ง การศึกษา สังคม การคมนาคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนภาพรวมที่ดีของภาคใต้

/////////////////////////////////////////////////

 1,920 total views,  2 views today

You may have missed