เมษายน 26, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

รายงานพิเศษ…การศึกษาเอกชน จชต.ความร่วมมือการศึกษาไทย –อินโดนีเซียต้องก้าวข้ามเรื่องความมั่นคง

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)shukur2003@yahoo.co.uk

รายงานจากอินโดนีเซีย

 ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมามีนักศึกษาอินโดนีเซียหลายมหาวิทยาลัยเช่นมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งชาติ  มหาวิทยาลัยมุฮัมมาดียะห์ มหาวิทยาลัย อิบนุคอลดูนด้านคุรุศาสตร์ในสาขาการสอนภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับและมลายูนับร้อยชีวิตฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูหรือการสอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง กระบี่ และพังงา

การมาของนักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นผ่านขั้นตอนการทำ MOU กับหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นสมาคมศิษย์เก่านักศึกษาไทยที่เคยเรียนประเทศอินโดนีเซีย สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้  สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามผ่านการรับรู้ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้  สำนักงานการศึกษาเอกชนแต่ละจังหวัด  สถานกงศุลอินโดนีเซีย  และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อเดินเรื่องต่อวีซ่า

สถาบันระดับอุดมศึกษาอินโดนีเซียมีสายตากว้างไกลเมื่อสมาคมอาเซี่ยนเปิดปีพ.ศ.2559 เพื่อให้นักศึกษาเหล่านี้ได้เข้ามาทำงานในสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในไทยเพราะบุคคลากรเหล่านี้มีความรู้อย่างน้อยสามภาษา มลายู  อังกฤษ  อาหรับและสามารถสอนอัลกุรอานได้ที่สำคัญค่าจ้างถูกกว่าการจ้างครูไทยเพราะขั้นต่ำครูไทย 15,000บาท ในขณะที่ชาวอินโดนีเซีย 10,000-13,000 บาทที่สำคัญก่อนนักศึกษาฝึกสอนเหล่านี้เดินทางมาไทยเขาต้องสอบภาษาอังกฤษ  อาหรับและอัลกุรอานทั้งข้อสอบและสัมภาษณ์แถมต้องใช้เงินส่วนตัวในการเดินทางและดำเนินการอื่น

การต้อนรับของมหาวิทยาลัยอินโดนีเซียต่อโรงเรียนในประเทศไทย

ผู้เขียนในฐานะผู้บริหารของสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลาในนำคณะผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลาไปส่งนักศึกษาฝึกสอน 2 ครั้ง คือครั้งที่1 มหาวิทยาลัย UIN เมืองเรียวประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 15-19 มีนาคม 2561 ปรากฎว่าได้รับการต้อนรับจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย และศึกษาธิการจังหวัดนี้อย่างดีมากๆและยังให้สมาคมของเราเชื่อมต่อกับโรงเรียนมัธยมต่างๆในเมืองนี้ทั้งรัฐและเอกชนในการแลกเปลี่ยนครูและนักเรียนเพื่อพัฒนาการศึกษาของคนสองประเทศ  ครั้งที่2 วันที่30 ตุลาคม-7 พฤศจิกายน 2561ผู้เขียนและคณะ  ได้ไปส่งนักศึกษา 26 คน ของมหาวิทยาลัยIAIN เมือง Curup ประเทศอินโดนีเซียที่ไปทำค่ายค่าย 3 ภาษาคืออังกฤษ อาหรับและอินโดนีเซียภายใต้ชื่อLanguages Camp 2018ระหว่างวันที่ 13-26 ตุลาคม 2561 ใน 5โรงเรียนของจังหวัดสงขลา คือโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ ศาสนบำรุง กัลญานชนรังสรรค์มูลนิธิ ธรรมศึกษามูลนิธิเเละสิงหนครอนุสรณ์ซึ่งทางมหาวิทยาลัยIAIN รู้สึกประทับใจที่ทางสมาคมฯได้ดูแลนักศึกษาเขาที่ทำโครงการนี้ในประเทศไทยเเละยินดีทำโครงการนี้ต่อพร้อมทั้งมอบทุนการศึกษา 10 ทุนผ่านสมาคมฯ โดยทุนนี้จะรวมถึงดังนี้1.ค่าเล่าเรียน2.ค่าเดินทางไป-กลับ3.ที่พัก4. ค่าวีซ่า5.เงินเดือนละ 4พันบาท

กล่าวโดยสรุป การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูดังกล่าวเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญที่นักศึกษาอินโดนีเซียจะได้เรียนรู้และพัฒนาการเรียนการสอน และงานในหน้าที่ครูอย่างเข้มข้นและเป็นรูปธรรม  เป็นโอกาสที่จะได้นำความรู้และทฤษฎี ไปประยุกต์ใช้ และสร้างองค์ความรู้ทางการศึกษา  เพื่อสร้างสรรค์และแก้ปัญหาในกระบวนการทำงาน โดยมีครูพี่เลี้ยง  อาจารย์นิเทศ และผู้บริหารสถานศึกษา เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ และความช่วยเหลือทำให้คนไทยเองในสถาบันดังกล่าวพัฒนาไปด้วยโดยเฉพาะด้านภาษาที่จะรองรับอาเซี่ยนและนักศึกษาไทยโดยเฉพาะคนยากจนแต่เรียนดีก็ได้รับโอกาสศึกษาต่อในประเทศอินโดนีเซีย

สำหรับความร่วมมือของโรงเรียนเอกชนโดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนากับอินโดนีเซียในรอบหลายปีนี้กล่าวได้ว่าเป็นความกล้าหาญ คิดนอกกรอบจนสามารถ ทะลุสู่ความร่วมมือกับประเทศอาเซี่ยนอันเป็นการสนองตอบทั้งนโยบายการก้าวสู่ประชาคมอาเซี่ยนที่มากกว่านำธงมาแขวนหน้าโรงเรียน    ทั้งๆในหน่วยความมั่นคงยังมองประเทศอินโดนีเซียในแง่ลบอยู่โดยเฉพาะเมื่อการประกาศของIS (มีศูนย์บัญชาการที่อินโดนีเซีย) ว่าไทยคือหนึ่งในเป้าหมายการก่อการร้าย

การที่หน่วยความมั่นคงไทยเริ่มเขาไปตรวจ สืบหาข่าวชาวอินโดนีเซียเหล่านี้ตามที่เป็นข่าวของคนพื้นที่ ดังนั้นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามนอกจากที่ได้ประสานกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้   สำนักงานการศึกษาในพื้นที่ สำนักงานตรวจคนเขาเมือง  สถานกงศุลอินโดนีเซียประจำจังหวัดสงขลาแล้วก็จะต้องไม่ลืมหน่วยความมั่นคงในพื้นที่ว่าจะประสานอย่างไรในสื่อสารความเข้าใจ ที่สำคัญหน่วยงานของรัฐทั้งหมดก็เช่นกันจะมีการสิอสารข้อมูลสารสนเทศกับหน่วยความมั่นคงอย่างไรเช่นกันซึ่งผู้เขียนหวังว่าน่าจะไม่ยากสำหรับข้าราชการทุกภาคส่วนในยุค 4.0 เพื่อพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่มาตรฐานอาเซี่ยนและสากลและหวังว่า ความร่วมมือการศึกษาครั้งนี้(ไทย –อินโดนีเซีย)ต้องต้องทะลุก้าวข้ามเรื่องความมั่นคงให้ได้

//////////////////////////////////////////////

 929 total views,  2 views today

You may have missed