พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ท่าอากาศยานเบตง ความหวังในการกระตุ้นการท่องเที่ยวในสามจังหวัดชายแดนใต้ ตามโครงการเมืองต้นแบบ “ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ” พร้อมที่จะเปิดให้บริการในปี 2563

แชร์เลย

ทีมข่าว เบตงนิวส์ รายงาน…

อำเภอเบตง มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ สามารถสร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดยะลา เป็นรองจากอำเภอเมืองเท่านั้น แต่เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของอำเภอเบตงตั้งอยู่ในระหว่างเทือกเขา ทำให้การคมนาคมขนส่งทางรถยนต์ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักมีความล่าช้าใช้เวลาในการเดินทางมากและมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อทำให้การคมนาคมของอำเภอเบตงและพื้นที่ใกล้เคียงมีความสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้  คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 ในกรอบวงเงิน 1,900 ล้านบาท โดยให้กรมท่าอากาศยานรับผิดชอบดำเนินโครงการก่อสร้างในพื้นที่ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จำนวน 920 ไร่ และได้ดำเนินการว่าจ้าง บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน ระบบไฟฟ้าสนามบิน ถนนภายในและองค์ประกอบอื่นๆ  มีค่างานตามสัญญาเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,316 ล้านบาท โดยเริ่มสัญญาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2559 และสิ้นสุดสัญญาวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 รวมระยะเวลาในการก่อสร้าง 990 วัน นอกจากนี้ได้ดำเนินการว่าจ้าง บริษัท ลิงค์ อินโนว่า พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ดำเนินการในโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร และอาคารประกอบในวงเงิน 338 ล้านบาท

พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รักษาราชการแทน เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การก่อสร้างสนานบินเบตงเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในพื้นที่ รวมไปถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และในสามจังหวัดชายแดนใต้ ตามโครงการเมืองต้นแบบ “ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ” โดยมี ศอ.บต.เป็นหน่วยงานหลักในการเชื่อมโยงการขับเคลื่อน ประสานการทำงานในทุกมิติ ในการบูรณาการรวมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้เกิดการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน  ขณะนี้มีความคืบหน้าผลงานรวมในเดือนมีนาคม กว่า 70 %  ซึ่งล่าสุดงานก่อสร้างพื้นที่ทางวิ่งกว้าง 30 เมตร และยาว 1,800 เมตร   มีความก้าวหน้า 93 %  และมีแผนจะขยายอีก 300 เมตร เป็น 2,100 เมตร เพื่อรองรับสายการบินพาณิชย์ในอนาคต ส่วนงานก่อสร้างพื้นที่ทางขับ TAXWAY 51 % งานก่อสร้างลานจอดเครื่องบิน ขนาด 94 x 180 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาด ATR72 และ Q -400 (จำนวน 80 ที่นั่ง) ได้ 3 ลำในเวลาเดียวกัน  มีความก้าวหน้า  98 %  งานก่อสร้างถนนในโครงการ 62 % งานก่อสร้างรางระบายน้ำ 92 % การก่อสร้างรั้วโครงการ 75% งาน LANDSCAPE 50 % งานระบบไฟฟ้าและสื่อสาร 41 % งานก่อสร้างบ้านพักเจ้าหน้าที่และอาคารประกอบอื่นๆ 60 % งานสร้างทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบินและอื่นๆ 73 % และงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร TERMINAL 77 %

ด้านนางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา ซึ่งเป็นท่าอากาศยานแห่งใหม่ล่าสุด ลำดับที่ 29 ของกรมท่าอากาศยาน  ขณะนี้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.), บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) และกรมอุตุนิยมวิทยา มาติดตามความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการของท่าอากาศยานเบตง ซึ่งทุกหน่วยงานต่างรายงานแผนการเตรียมความพร้อม อาทิ การติดตั้งเครื่องช่วยการเดินอากาศยาน, หอบังคับการบิน, เครื่องมือตรวจอากาศ และการขอใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ ซึ่งทางกรมท่าอากาศยาน ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งท่าอากาศยานเบตง มีความพร้อมเปิดให้บริการทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ขณะนี้เริ่มหารือกับ 3 สายการบินแล้ว ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส, สายการบินนกแอร์ และสายการบินมาลินโดแอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเบื้องต้นแต่ละสายการบินให้ความสนใจ ขอไปจัดทำแผนการบินก่อน โดยเฉพาะสายการบินมาลินโดแอร์ สนใจเปิดเส้นทางมาเลเซีย-เบตง  คาดว่าภายในเดือน มี.ค.62 จะทราบผลชัดเจนว่าจะมีสายการบินใดมาเปิดทำการบิน และให้บริการในเส้นทางใดบ้าง ทั้งนี้ท่าอากาศยานเบตง สามารถรองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน 300 คนต่อชั่วโมง รองรับผู้โดยสารได้ 876,000 คนต่อปี และพร้อมที่จะเปิดให้บริการในปี 2563 นี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และบริเวณจังหวัดใกล้เคียงทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ คาดว่าจะมีประชาชน และนักท่องเที่ยว เดินทางมาเที่ยวเมืองเบตง ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ต่อปี

ส่วนทางด้านนายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า อ.เบตง จ.ยะลา เป็นหนึ่งในโครงการเศรษฐกิจสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปสู่เมืองที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานอย่างสนามบินมีความพร้อมให้บริการ จะทำให้เกิดการพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจของ จ.ยะลา โดยเฉพาะการขนส่งและนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1 ล้านคน/ปี ช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของจังหวัด 10% จากปัจจุบันมีรายได้ 4.7 หมื่นล้านบาท/ปี รองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้นจากปีละ 6 แสนคน เป็น 1 ล้านคน/ปี คิดเป็นอัตราเติบโต 66% และมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 4,000 ล้านบาท/ปี  หากตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้นเม็ดเงินจะกระจายลงสู่ท้องถิ่นทำให้ประชาชนมีหน้าที่การงานและรายได้ในการเลี้ยงชีพ ซึ่งหากสามารถทำให้ทุกคนอิ่มท้องและมีความสุขในชีวิตได้ ก็จะมีโอกาสไปทำเรื่องเลวร้ายลดลงและสร้างทัศนคติที่ดีขึ้น นำไปสู่การลดปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ขณะที่ ร.ต.ต อุดม ลักษณะ นายกสมาคมการท่องเที่ยวอำเภอเบตง กล่าวว่า อ.เบตง เป็นหนึ่งในพื้นที่ของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อันประกอบด้วย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle หรือ IMT-GT) โดยการลงทุนเดินหน้าก่อสร้างสนามบินเบตง จะส่งผลให้ตัวเลขการค้าไทย-มาเลเซียบริเวณด่านชายแดนเบตงเพิ่มขึ้น เนื่องจาก อ.เบตง เป็นพื้นที่ติดชายแดน รัฐเปรัค และรัฐเคดาห์ ของประเทศมาเลเซีย การเปิดใช้สนามบินเบตง จะช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางมากกว่าไปใช้สนามบินปีนัง ที่เดินทางประมาณ 90 กม. หากนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ในรัฐเปรัค รัฐเคดาห์มาใช้สนามบินเบตง เชื่อมั่นว่าทำให้เศรษฐกิจเบตงเติบโต เพราะเบตงเป็นเมืองที่มีความพร้อมด้านแหล่งท่องเที่ยว อากาศ อาหาร ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเบตง

/////////////////// รพี มามะ บรรณาธิการข่าว..///////////////////

 1,055 total views,  2 views today

You may have missed