เมษายน 26, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ศอ.บต. ลงพื้นที่บ้านตันหยงเปาว์ อำเภอหนองจิก ปัตตานี ติดตามความก้าวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย ย้ำปลายทางการผลักดันคือสร้างอาหารทะเลเพื่อสุขภาพ

แชร์เลย

วันที่ 5 มิถุนายน  2561  เวลา 14.00 น. ที่ ศูนย์เรียนรู้การแปรรูปอาหารทะเลบ้านตันหยงเปาว์  วิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย หมู่ที่ 4 ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี  พลเรือตรี สมเกียรติ  ผลประยูร  รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)  พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักประสานนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม  ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย  ที่ได้ดำเนินการแปรรูปอาหารทะเลในพื้นที่เพื่อสร้างอาชีพ และรายได้สู่ชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจประมงพื้นบ้านของโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

พลเรือตรี สมเกียรติ  ผลประยูร กล่าวถึงการลงพื้นที่ในวันนี้ว่า เป็นการติดตามความก้าวหน้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย  ซึ่งทาง ศอ.บต. ที่นำโดยท่านศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต. ได้ผลักดันพื้นที่แห่งนี้ เพื่อขออนุมัติจากรองนายกรัฐมนตรีจัดสร้างโรงเรือนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อการสร้างงานสร้างรายได้ จนทำให้ในปัจจุบันได้จัดสร้างโรงเรือนนำมาสู่การสร้างอาชีพที่มั่นคง  จนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีผู้รู้จักไปทั่วประเทศ ทั้งนี้การผลักดันต่อไปของ ศอ.บต. คือการสนับสนุนให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ได้รับการรับรองด้านมาตรฐาน   ทั้งมาตรฐาน อย. และมาตรฐานฮาลาล โดยเป้าหมายสูงสุดคือให้เป็นอาหารทะเลอินทรีย์ ที่มีเครื่องมือบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์  หรือ GI  ซึ่งปลายทางที่สำคัญคือต้องเป็นอาหารทะเลเพื่อสุขภาพหรืออาหารออแกนิค โดยในวันที่ 8 มิถุนายนนี้จะนำทีมงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย  ไปร่วมงานแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหวังเป็นการประชาสัมพันธ์ถึงของดีชายแดนใต้และสร้างพื้นที่การรับรู้แก่คนทั่วไปมากยิ่งขึ้น

ด้านนายมูหามะสุกรี  มะสะนิง นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้าน จ.ปัตตานี และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย กล่าวว่า จากการที่ ศอ.บต. สนับสนุนและผลักดันที่ดินในการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจจำนวน 3 ไร่  และให้ทุนในการสร้างโรงเรือน เพื่อขยายโรงเรือนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนั้น ปัจจุบันทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นจำนวน 42 คน สามารถรับซื้อสินค้าที่เป็นปลา กุ้ง และสัตว์น้ำชนิดต่างๆได้ตลอดปี  จากการแปรรูปทำให้สินค้าของกลุ่มได้รับความนิยมจากประชาชนภายนอกเป็นอย่างมาก โดยต้นเดือนกรกฎาคมนี้จะมีหน่วยงานมาตรวจสอบเพื่อรับรองให้เป็นอาหารทะเลที่ปลอดสารพิษ

โดยมีมาตรฐานว่าปลาที่จับได้จากน่านน้ำในพื้นที่ต้องปลอดสารพิษเจือปน อีกทั้งเครื่องมือการจับปลาต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยวิถีประมงพื้นบ้าน และที่สำคัญกระบวนการแปรรูปและการเก็บรักษาต้องเป็นแบบอินทรีย์ หรือออแกนิคที่ปลอดสารพิษ  ซึ่งเมื่อได้รับการตรวจสอบและรับรองก็จะสามารถจัดเป็นอาหารทะเลเพื่อสุขภาพ ที่สามารถสร้างตลาดที่กว้างขึ้นในอนาคตได้ ซึ่งราคาของปลากุเลาก็อยู่ในมาตรฐานที่เหมาะสม  เพราะกระบวนการผลิตของกลุ่มใช้ระยะเวลากว่า45 วันในการผลิตปลากุเลาให้มีคุณภาพ ซึ่งต้องมีการนวดเนื้อปลาอย่างสม่ำเสมอทุกวัน โดยกระบวนการดังกล่าวเป็นภูมิปัญญาดั่งเดิม ทำให้เนื้อปลาแน่น และฟูเมื่อทอด รสชาติอร่อย จนปัจจุบันได้รับความนิยมกันอย่างกว้างขวาง

SPMCnews รายงาน

 1,847 total views,  2 views today

You may have missed