พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

รอมฎอนสร้างรายได้ ให้เจ้าของเกษตรไร่อ้อย หลังพบว่าขาดตลาดชาวมุสลิมซื้อหาไปแก้บวช “พลิกวิกฤติ เป็นโอกาส”

แชร์เลย


นายดอเลาะ นิมะเซ็ง อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 92 บ้านรายอ ม.8 ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นเจ้าของไร่อ้อยที่ได้เลิกการทำนาและใช้พื้นที่ดังกล่าว จำนวน 4 ไร่ หันมาปลูกต้นอ้อยสายพันธุ์น้ำผึ้ง ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า พันธุ์มาดู โดยซื้อหาพันธุ์ต้นอ้อยจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งการปลูก 1 ครั้ง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 5 ปี ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่าการทำนา ที่ในแต่ละปีมีน้ำท่วมขังและมีความแห้งแล้งไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
และภายหลังจากหันมาปลูกไร่อ้อยแทนการทำนา สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวซึ่งอยู่กินกัน 6 ชีวิต โดยที่ไม่ขัดสนเหมือนกับการยึดอาชีพทำนา ซึ่งมีรายได้จากการทำไร่อ้อยต่อปีโดยเฉลี่ยเกือบ 200,000 บาท โดยเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอน หรือ เทศกาลถือศีลอดของพี่น้องชาวมุสลิม จะมีรายได้จากตัดอ้อยส่งขาย และมีพ่อค้ามารับถึงสวน โดยจะขายในราคาเดียวกัน คือ กิโลกรัมละ 10 บาท ซึ่งปีนี้มีราคาดีกว่าปีที่ผ่านมาที่ขายต้นอ้อยได้เพียงกิโลกรัมละ 8บาทเท่านั้น


ประการสำคัญในทุกๆปีจะลูกค้าเพิ่มเติมขึ้นต่อเนื่อง อันเป็นผลพวงมาจากอ้อยที่มีสายพันธุ์ดีและเป็นที่นิยมของตลาดจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ลำต้นอ้อยจะมีสีม่วงออกแดง มีรสหวานฉ่ำและชานอ้อยจะนิ่ม และเมื่อนำไปเข้าเครื่องบดจะได้ปริมาณน้ำอ้อยที่มากกว่าอ้อยสายพันธุ์อื่น และด้วยความนิยมของชาวมุสลิมที่จะซื้อหาน้ำอ้อยไปรับประทานแก้บวช ส่งผลทำให้ต้นอ้อยในพื้นที่ขาดตลาด และมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่ จ.นราธิวาส
นายดอเลาะ เจ้าของไร่อ้อย จึงได้พลิกวิกฤติเป็นโอกาสโดยเฉพาะในช่วงรอมฎอน หรือ การถือศีลอดของพี่น้องชาวไทยมุสลิมในทุกๆปี นอกจากจะตัดอ้อยให้กับลูกค้าซึ่งอยู่ต่างอำเภอ อาทิ แว้ง สุไหงโก-ลก เมืองนราธิวาสและตากใบมารับซื้อถึงสวนแล้ว ก็จะใช้เวลาที่เหลือตัดอ้อยในสวนมาบดส่งขายร้านค้าในหมู่บ้าน โดยขายในราคาถุงละ 10 บาท เหมือนกับที่ส่งขายในช่วงวันปกติทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในอีกทางหนึ่ง


โดยนายดอเลาะ เจ้าของไร่อ้อยได้แนะให้ผู้ที่สนใจหรือเบื่อหน่ายจากการทำสวนชนิดอื่นๆ ลองหันมายึดอาชีพปลูกไร่อ้อย เนื่องจากลงทุนครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 5 ปี และประการสำคัญดูแลง่ายเพียงแต่ใส่ปุ๋ยตามวาระในการบำรุงต้น เพื่อให้ผลผลิตที่ออกมาสมบูรณ์และมีคุณค่าทางโภชนาการ


ส่วนนายมาฮาโซ มือเยาะ พ่อค้าขายน้ำอ้อยซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ที่เดินทางมาซื้ออ้อยถึงสวนของนายดอเลาะ กล่าวว่า ในทุกๆปีชาวมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะนิยมบริโภคน้ำอ้อยในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งราคาอ้อยปีนี้ขึ้นมากิโลกรัมละ 2 บาท ปีก่อนขายในราคากิโลกรัมละ 8 บาท มาปีนี้ขายในราคากิโลกรัมละ 10 บาท แถมผลผลิตยังขาดตลาด ตนจึงได้ชวนเพื่อนที่รู้จักกับเจ้าของสวน เดินทางมาซื้อต้นอ้อยถึงที่ในการนำไปแปรรูปเป็นน้ำอ้อยสดขาย เนื่องจากลูกค้าขาประจำมีความต้องการที่จะบริโภค ตนจึงจำเป็นต้องเซาะหาอ้อยไปจำหน่ายให้จงได้ แม้ว่าจะมีราคาแพงกว่าปีที่ผ่านมา

อัสอารี สะมะแอ SPMCNEWS รายงาน

 1,141 total views,  4 views today

You may have missed