ผศ.ดร.ฆอซาลี เบ็ญหมัด
โดยหลักการอิสลาม เครื่องมือหลักในการอบรมนั้นใช้วิธีการต่างๆที่มีความสุขุมนุ่มนวล ด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่การใช้ความรุนแรง ดังแนวทางที่ลุกมานสอนลูกในอัลกุรอาน ( ดูอัลกุรอาน ซูเราะฮ์ลุกมาน อายะฮ์ 13 – 19 )
รวมถึงแนวทางสอนลูกๆ ของนบีอิบรอฮีม ที่สอนนบีอิสมาอีล นบียะกู๊บสอนนบียูซุฟ หรือนบีอิสหากสอนลูกๆ ในซูเราะฮ์ต่างๆของอัลกุรอาน หรือแม้แต่การสอนลูกที่เกเรของนบีนุห์ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่ใช้การสอนแบบนุ่มนวล ว่ากันด้วยเหตุผล
และเป็นแนวทางที่ท่านนบี ศอลฯ ใช้ในการอบรมสั่งสอน ดังท่านหญิงอาอิชะฮ์กล่าวว่า
ما ضرب رسول الله – صلى الله عليه وسلم – شيئا قط بيده ولا امرأة ولا خادما إلا أن يجاهد في سبيل الله
❝ ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศอลฯ ไม่เคยตีสิ่งใดด้วยมือของท่าน ไม่ว่าจะเป็นภรรยา หรือคนรับใช้ ยกเว้น(การตีศัตรู)ในกรณีท่านออกสงครามในหนทางของอัลลอฮ์❞ รายงานโดยมุสลิม
ซึ่งอัลลอฮ์ยกย่องท่านนบี ศอลฯ ว่าเป็นผู้สุขุมนุ่มนวล โดยกล่าวว่า
فَبِمَا رَحْمَةٍۢ مِّنَ ٱللَّهِ لِنتَ لَهُمْ ۖ وَلَوْ كُنتَ فَظًّا غَلِيظَ ٱلْقَلْبِ لَٱنفَضُّواْ مِنْ حَوْلِكَ
❝ ดังนั้นด้วยความเมตตาของอัลลอฮ์ ท่านจึงเป็นผู้นุ่มนวลต่อพวกเขา และหากว่าท่านหยาบคาย หัวใจกระด้าง พวกเขาย่อมหนีห่างจากท่าน❞
การใช้ความรุนแรงด้วยคำพูดและการกระทำ รวมถึงการตี เป็นทางเลือกสุดท้ายที่ท่านนบี ศอลฯ อนุญาตให้กระทำได้หลังจากเด็กอายุได้ 10 ปี แม้ว่าจะมีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับสภานะทางกฎหมายอิสลามของการตีในกรณีดังกล่าว ว่าเป็นวาญิบ(สิ่งจำเป็นต้องกระทำ)หรือมันดูบ(สิ่งที่ควรกระทำ)
อันหมายถึง การตี จะเป็นมาตรการสุดท้าย หลักจากที่ใช้มาตรการอื่นๆมาแล้ว เช่น การสอน การจูงใจ การว่ากล่าวตักเตือน การภาคฑัณฑ์ หรืออื่นๆ
อัลอิซ บิน อับดุลซาลาม ( ค.ศ.1181-1262 ) กล่าวว่า
وَمَهْمَا حَصَل التَّأْدِيبُ بِالأَْخَفِّ مِنَ الأَْفْعَال وَالأَْقْوَال، لَمْ يُعْدَل إِلَى الأَْغْلَظِ، إِذْ هُوَ مَفْسَدَةٌ لاَ فَائِدَةَ فِيهِ، لِحُصُول الْغَرَضِ بِمَا دُوْنَهُ
❝ และเมื่อวินัยสัมฤทธิ์ผลได้ด้วยมาตรการทางคำพูดและการกรทำสถานเบา ก็ไม่ต้องหันไปใช้มาตรการที่หนักกว่าเพราะมันเสียหายและไร้ประโยชน์ เพราะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ด้วยมาตรการที่เบากว่า❞
● การบ่น การดุ หรือการแช่งด่า ไม่ถือเป็นการสั่งสอน
ตามทัศนะของนักวิชาการอิสลาม เช่น อิบนุอารอฟะฮ์ (ค.ศ.1316-1401) และมุศตอฟา สิบาอีย์ เห็นว่า มาตรการทางคำพูด หมายถึง การสั่งสอน การตักเตือน และการภาคฑัณฑ์ ส่วนการบ่น การดุ หรือการแช่งด่า ไม่ถือเป็นการสั่งสอน
นักวิชาการอิสลามยุคหลังบางท่านจึงเห็นว่า หากมีการกำหนดให้ใช้รูปแบบการสอนของท่านนบีทั้งหลาย ที่ไม่มีการใช้ความรุนแรง ก็ถือว่าไม่ผิดหลักการแต่อย่างใด
● การตี
การตีไม่ใช่ขั้นตอนแรกในกระบวนการสร้างคน แต่การตีเพื่อสั่งสอนเป็นทางเลือกสุดท้าย เป็นยาขนานสุดท้ายในการเยียวยารักษา
อิบนุกอลดูน ( ค.ศ.1332 1406 ) กล่าวในหนังสือ “อัลมุก๊อดดิมะฮ์” บทที่ 40 ว่า :
❝ การใช้ความรุนแรงเป็นอันตรายต่อผู้เรียน
เนื่องจากการใช้ความรุนแรงในการเรียนการสอนนั้นเป็นอันตรายต่อผู้เรียน โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยๆ เพราะการใช้ความรุนแรงเป็นนิสัยที่ไม่ดี
เด็กๆ ทาส หรือคนรับใช้ที่ถูกเลี้ยงดูมาด้วยการกดดันและการบีบบังคับ จะทำให้
1. พวกเขาขาดการผ่อนคลายและความร่าเริง
2. ทำให้ให้เกียจคร้าน
3. ทำให้โกหกและเลวร้าย แต่จะแสร้งแสดงออกในสิ่งที่แตกต่างจากที่อยู่ในใจ เพราะความกลัวการถูกบีบบังคับ
4. ทำให้เขาเรียนรู้วิธีการหลอกลวงที่จะกลายเป็นนิสัยสันดานของเขาต่อไป
5.ความหมายของมนุษยชาติที่มีในตัวเขาก็จะเสียหายไป โดยเฉพาะในเรื่องการปกป้องรักษาเกียรติของตัวเองและครอบครัว
6.เขาจะกลายเป็นภาระของผู้อื่น ขี้เกียจในการเสาะแสวงคุณธรรมและอุปนิสัยที่ดีงาม
7. ละทิ้งคุณธรรมและมนุษยธรรมอันสูงส่ง และถลำสู่ความตกต่ำในที่สุด
เช่นนั้นแหละคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชาติที่ตกอยู่ภายใต้การกดขี่ ที่ผู้นำไม่ได้เป็นผู้ปกครองดูแลอย่างกัลยาณมิตร
สิ่งเหล่านี้สามารถพบได้ทั่วไปในการสำรวจ ดังเช่น กรณียาฮูดี ที่เป็นที่รู้กันทั่วไปและทุกยุคสมัยว่า เป็นคนมุ่งร้ายและเจ้าเล่ห์เพทุบาย ก็เป็นเพราะสาเหตุที่ได้กล่าวมาข้างต้น
ดังนั้นครูและผู้ปกครองไม่ควรเริ่มการฝึกวินัยในตัวเด็กและลูกๆ ด้วยความรุนแรงและเผด็จการ
มูฮัมหมัด บินอาบีซัยด์ กล่าวในหนังสือของเขาที่เขียนเกี่ยวกับ ปรัชญาสำหรับครูและผู้เรียนว่า “ผู้ฝึกวินัยเด็ก หากจำเป็นก็ไม่ควรดีเกินสามครั้ง”
และจากคำพูดของท่านอุมัร “ผู้ใดที่ศาสนาดัดนิสัยเขาไม่ได้ ก็จะไม่ทางใดดัดได้อีก”
ทั้งนี้ เพื่อปกป้องเด็กจากความรู้สึกอัปยศอดสูในการสร้างวินัย เพราะขอบเขตที่ชะรีอะห์ระบุไว้นั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด เพราะชะรีอะห์รู้ดีที่ว่าประโยชน์สุขของคนอยู่ที่ไหน
และหนึ่งในหลักคำสอนด้านการศึกษาที่ดีที่สุดคือแนวทางที่คอลีฟะฮ์ฮารูน อัรรอชีด ให้กับ คอลัฟ อัลอะหมัร ( อาจารย์อบรมลูกๆของบรรดาคอลีฟะฮ์ยุคราชวงศ์อุมัยยะฮ์และอับบาซียะฮ์ -ผู้แปล) ครูของบุตรชายของท่าน
คอลัฟ อัลอะหมัร กล่าวว่า : คอลีฟะฮ์ฮารูน อัรรอชีด ส่งมุฮัมมัด อัลอะมีน ลูกชายของท่านมาให้ฉันอบรมบ่มนิสัย ท่านได้กล่าวว่า
“โอ้อะหมัร ประมุขของมุสลิมได้ส่งแก้วตาดวงใจมาให้ท่านอบรมสั่งสอน
ให้ท่านมีอำนาจเต็มและเขาต้องเคารพเชื่อฟังต่อท่านโดยไร้ข้อโต้แย้ง
จงเป็นไปตามที่ประมุขของมุสลิมบัญชา
จงสอนอัลกุรอานแก่เขา
สอนเรื่องราวประวัติศาสตร์แก่เขา
และสอนสุนนะฮ์แก่เขา
ให้เขาตระหนักว่าจะใช้คำพูดใดเมื่อใด
จงห้ามเขามิให้หัวเราะยกเว้นตามโอกาสของมัน
จงฝึกให้เขาเคารพต่อผู้นำบนีฮาชิมยามเมื่อพบเจอกับพวกเขา
แม้ว่ามีภารกิจสำคัญก็ต้องงดไว้ก่อนเพื่อให้การต้อนรับพวกเขา
และอย่าให้เวลาฝึกหนึ่งชั่วโมงผ่านไปเว้นแต่ท่านจะใช้ไปในทางเป็นประโยชน์ต่อเขาโดยไม่ทำให้เขาเป็นทุกข์อันจะทำให้หัวใจของเขาตายด้าน
อย่าปล่อยปละละเลยเขาอย่างไม่ระวัง เพราะเขาจะคุ้นชินกับความไร้สาระ
จงฝึกให้เขาเป็นคนดีด้วยการสร้างความใกล้ชิดและความนุ่มนวลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากเขายังคงดื้อดึง ก็ให้ใช้ความรุนแรงได้ ❞
● การอธิบายความหมายหะดีษว่าด้วยการตี
มีรายงานจากอัมรฺ อิบนฺ ชุอัยบฺ จากบิดาของท่าน ว่า ปู่ของท่านบอกว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ. กล่าวว่า
مُرُوا الصِّبْيَانَ بِالصَّلَاةِ لِسَبْعٍ، وَاضْرِبُوهُمْ عَلَيْهَا لِعَشْرٍ وَفَرِّقُوا بَيْنَهُمْ فِي الْمَضَاجِعِ
❝ จงสอนลูกๆ ของพวกท่านให้ละหมาดเมื่อพวกเขาอายุ 7 ขวบ และจงตีพวกเขาหากพวกเขาไม่ละหมาดเมื่ออายุ 10 ขวบ และจงแยกที่นอนของพวกเขา ❞ [ รายงานโดยอบูดาวูด (495) เป็นหะดีษเศาะฮีหฺโดยอัลบานี ในเศาะฮีหฺอบีดาวูด ]
● หลักการตี
1. ในการตีความหะดีษดังกล่าว อิหม่ามอัชเชากานีย์กล่าวว่า
❝ มัซฮับฮานาฟี ชาฟิอี และฮัมบะลีย์ เห็นว่าคำสั่งใช้ให้ตีในหะดีษดังกล่าวเป็นคำสั่งระดับวาญิบ ในขณะที่มัซฮับมาลิกเห็นว่า เป็นคำสั่งระดับมันดูบ(สุนัต)❞
อันหมายถึง ตามทัศนะของมัซฮับฮานาฟี ชาฟิอี และฮัมบะลีย์ เห็นว่า ถ้าเด็กอายุ 10 ขวบ ทำผิดบทบัญญัติศาสนา ขั้นแรกต้องใช้วิธีตักเตือน สั่งสอน ตามลำดับ ถ้ายังฝ่าฝืนก็จำเป็นจะต้องใช้มาตรการตี
ในขณะที่มัซฮับมาลิกเห็นว่า ถ้ายังฝ่าฝืนหลังจากมาตรการอื่นๆมาแล้วไม่ได้ผล ก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้มาตรการตีเสมอไป
2. อายุขั้นต่ำของเด็กที่อนุญาตให้ตีได้
ท่านนบี ศอลฯ ไม่ได้อนุญาตให้ตีเด็กก่อนอายุ 10 ขวบ
เมื่อเด็กอายุไม่ถึง 10 ขวบ กระทำสิ่งผิดท่านนบี ศอลฯ ทำการตักเตือนและแก้ไขด้วยดีเท่านั้น ไม่เคยใช้วิธีตี ดังหะดีษ
عن أبي هريرة رضي الله عنه قال : أخذ الحسن بن علي رضي الله عنهما تمرة من تمر الصدقة ، فجعلها في فيه ، فقال النبي صلى الله عليه وسلم : كخ كخ ليطرحها ، ثم قال : أما شعرت أنا لا نأكل الصدقة رواه البخاري ومسلم
❝ อบูฮุรัยเราะฮ์เล่าว่า หะซัน บุตรอาลี ได้เอาอินทผาลัมซะกาตเข้าปาก ท่านนบี ศอลฯ จึงกล่าวว่า “ข๊าค ข๊าค” เพื่อให้คายออกมา แล้วกล่าวว่า “เธอไม่ทราบหรือว่าเรานั้นไม่กินซะกาต ❞ ( หะดีษรายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม )
การตีเด็กอายุก่อน 10 ปี จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของท่านนบี ศอลฯ แม้ว่าจะมีอุลามาอ์ใหญ่ๆ หลายท่าน เช่น อัลหัซฟะกีย์และอิบนุอาบิดีน (ค.ศ.1784-1836 ) ในหนังสือ “หาชียะฮ์อิบนิอาบิดีน” เห็นว่าอนุญาตให้กระทำได้ ซึ่งเป็นเพียงทัศนะที่ไม่มีการอ้างอิงตัวบทอัลกุรอานหรือหะดีษรองรับแต่อย่างใด
3. อัลอิสนะวีย์ กล่าวว่า จะต้องไม่ทำให้เกิดบาดแผลฟกช้ำ
4. จะต้องไม่โดนอวัยวะที่เป็นอันตราย
5. นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรเกิน 3 ครั้ง
หลักการตีในอิสลามจึงเป็นข้อมูลสำคัญที่พ่อแม่และคุณครูที่สอนเด็กเล็กอายุไม่เกิน 10 ขวบ หรือ ก่อน ป.4 ควรทราบและระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะมีการละเมิดกันอย่างแพร่หลาย.
● อ่านตอนที่ 1-6
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3038694619688773&id=100006447947980
28,652 total views, 4 views today
More Stories
SEC ภาคใต้กับSEA สงขลา-ปัตตานี
สู่พรบ.สันติภาพ เพื่อประกันกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
ฮัจญ์ไทยในภารกิจทูตสันติภาพใน 3 ภารกิจ จชต.