เมษายน 20, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ชาวบ้านจะนะค้าน TPIจัดเวที “ขัดต่อหลักกฎหมาย หลักการทางสิ่งแวดล้อม และไม่เป็นธรรมต่อประชาชน”

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) :รายงาน
Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
เมื่อวันพุธที่24 พฤศจิกายน 2564 หน้าอบต.สะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ชาวบ้านจะนะออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน บริษัท TPIจัดเวที “ขัดต่อหลักกฎหมาย หลักการทางสิ่งแวดล้อม และไม่เป็นธรรมต่อประชาชน”
ในขณะที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นยื่นหนังสือผู้ว่าราชการจังหวัด สงขลา เรียกร้องขอให้หยุดเวที นี้เช่นกันเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2564 ณ ศาลากลางจังหวัดสงขลา ส่วน25 พฤศจิกายน (ช่วงบ่าย)นางสาวไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนนักเคลื่อนไหวและเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงถามความคืบหน้าการยกเลิกการสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะจากรัฐบาล ซึ่งเมื่อ 1 ปีที่แล้ว นางสาวไครียะห์​พร้อมชาวบ้านในชุมชนจะนะ ได้ออกมาเรียกร้องให้ยุติการสร้างโครงการดังกล่าว แต่กลับไม่ได้รับความคืบหน้า

#ความเห็นทางกฎหมาย
กรณีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 4 โครงการของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้แผนจัดตั้งเมืองอุตสาหกรรมอำเภอ #จะนะ จังหวัดสงขลา
.
ตามที่ปรากฏข้อมูลว่า บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) มีกำหนดจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ในระหว่างวันที่ 13-23 ธันวาคม 2564 เพื่อประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการกิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (EHIA) รวมจำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์และท่าเทียบเรือน้ำลึกทีพีไอสงขลา 2) โครงการท่าเทียบเรือก๊าซธรรมชาติเหลวและน้ำมันสำเร็จรูปทีพีไอสงขลา 3) โครงการโรงไฟฟ้าทีพีไอสงขลา และ 4) โครงการสวนอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา ระยะที่ 1 โดยทางบริษัทฯ ระบุว่าเป็นการดำเนินการภายใต้แผนการจัดตั้งเมืองอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา นั้น
.
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายและความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชน เห็นว่าแผนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนดังกล่าวมีปัญหาขัดต่อหลักกฎหมาย หลักการทางสิ่งแวดล้อม และไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการเมืองอุตสาหกรรมขนาด 16,700 ไร่ ในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ด้วยเหตุผลดังนี้


.
1) กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2559 ซึ่งยังคงมีผลใช้บังคับอยู่จนถึงปัจจุบัน ได้กำหนดให้พื้นที่ส่วนใหญ่ในบริเวณตำบลนาทับ ตำบลสะกอม และตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่สีเขียวหรือเขตชนบทและเกษตรกรรมและพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้ และมีข้อกำหนดห้ามดำเนินโครงการด้านอุตสาหกรรม โดยข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมืองรวมดังกล่าวได้รับการกำหนดขึ้นโดยผ่านกระบวนการศึกษาศักยภาพความเหมาะสมของพื้นที่และการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในขั้นตอนการวางและจัดทำผังเมืองรวมมาแล้ว และตามร่างผังเมืองรวมชุมชนจะนะที่อยู่ระหว่างการวางและจัดทำโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาและได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 4 ครั้งตั้งแต่เริ่มกระบวนการวางผังเมืองในปี พ.ศ.2559 ก็ได้กำหนดให้พื้นที่พื้นที่ตำบลสะกอม ตำบลตลิ่งชัน และตำบลนาทับ อำเภอจะนะ เป็นเขตที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมที่ไม่อนุญาตให้มีการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมและโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ข้อกำหนดผังเมืองดังกล่าวจึงมีสถานะเป็นทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความไม่เหมาะสมของแผนโครงการจัดตั้งเมืองอุตสาหกรรมในพื้นที่อำเภอจะนะ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและสุขภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางและรุนแรง
.
2) แม้ปัจจุบันจะมีความพยายามจากหน่วยงานรัฐและเอกชนในการแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2559 และร่างผังเมืองรวมชุมชนจะนะ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยอ้างว่าเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี แต่มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากกระบวนการผลักดันโครงการเมืองอุตสาหกรรมจะนะโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่มีปัญหาความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญในการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดผังเมืองเพียงเพื่อรองรับนโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจตามมติคณะรัฐมนตรีโดยไม่คำนึงถึงคำนึงศักยภาพและความเหมาะสมของพื้นที่ ย่อมเสมือนเป็นการใช้มติคณะรัฐมนตรีมายกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง โดยขัดต่อเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของกฎหมายผังเมืองในการทำหน้าที่วางกรอบและนโยบายการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน วิถีชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงในอนาคต อันเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญที่บัญญัติรับรองคุ้มครองสิทธิของประชาชนไว้ตามรัฐธรรมนูญ
.
3) เนื่องจากโครงการเมืองอุตสาหกรรมจะนะถือเป็นแผนพัฒนาด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่บนพื้นที่กว่า 16,700 ไร่ และประกอบด้วยโครงการอุตสาหกรรมหนักและเบาจำนวนหลายโครงการที่มีความเสี่ยงสูงในการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตของประชาชนอย่างกว้างขวางและมีผลกระทบเชื่อมโยงกันในหลายมิติทั้งในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียงในภูมิภาค จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment – SEA) ให้แล้วเสร็จก่อนการตัดสินใจดำเนินโครงการ เพื่อให้มีการศึกษาประเมินผลกระทบในภาพรวมอย่างรอบด้านประกอบการตัดสินใจในระดับนโยบายอย่างระมัดระวัง ทั้งนี้ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ” ซึ่งแตกต่างจากการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA / EHIA) แบบรายโครงการที่บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กำลังดำเนินการอยู่ ที่ไม่ครอบคลุมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากแผนพัฒนาโครงการเมืองอุตสาหกรรมจะนะทั้งหมด และเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบในการใช้สิทธิมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อโครงการ


.
นอกจากนี้ การศึกษาจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ยังเป็นหนึ่งในข้อตกลงที่รัฐบาลได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับภาคประชาชนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นไว้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ด้วยว่าจะต้องมีการตั้งคณะทำงานที่มีสัดส่วนของภาคประชาชนและนักวิชาการที่เหมาะสม ขึ้นมาศึกษา SEA แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังมิได้มีความคืบหน้าในการดำเนินการตามข้อตกลงแต่อย่างใด
.
ด้วยเหตุผลดังกล่าว การที่บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เตรียมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำรายงาน EIA และ EHIA ของ 4 โครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อหลักกฎหมายผังเมืองและหลักการทางสิ่งแวดล้อมของกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่เคารพต่อสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนและสิทธิการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน และจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่
.
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เห็นว่า บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) รวมถึงหน่วยงานรัฐและเอกชนทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ควรยุติการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หรือโครงการเมืองอุตสาหกรรมจะนะ เอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีการศึกษาจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เสร็จสิ้นและได้ข้อสรุปร่วมกันเป็นที่เรียบร้อย อันจะเป็นผลดีต่อทุกภาคส่วนในการพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบคอบ บนพื้นฐานของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
.
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
27 พฤศจิกายน 2564

ไฟล์ PDF ความเห็นทางกฎหมายฯ: https://enlawfoundation.org/wp-content/uploads/2021/11/211127-LegalOpinion-4TPIPP-Chana-PublicHearing.pdf

https://www.facebook.com/414368681969602/posts/6462948117111598/

 12,598 total views,  2 views today

You may have missed