เมษายน 29, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

Satun Sandbox “ ก้าวข้ามขีดจำกัด “การจัดการศึกษาช่วงโควิดท่ามกลางข้อถกเถียงการหยุดเรียน 1 ปี ?

แชร์เลย


อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
ต้องยอมรับว่า สตูลน่าจะเป็นจังหวัดต้นๆของประเทศไทยที่สามารถจัดการศึกษา รับวิกฤติโควิดได้ดี ด้วยทุนทางสังคมและการขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนในนามของสมัชชาการศึกษา จังหวัด ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งคนที่นี่เรียกติดปากว่า “ Satun Sandbox “ ก้าวข้ามขีดจำกัดโควิด
#ด้วยวิกฤติคุณภาพการศึกษาในปัจจุบันและวิกฤตโควิดในปี 2 ปีนี้ ที่ไม่อาจคาดหวังการสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยคนนอกหรือภาคนโยบายอีกต่อไป โดยเฉพาะศูนย์รวมอำนาจกระทรวงศึกษาธการที่กรุงเทพมหานคร ผู้เขียนได้เห็นความพยายามของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน หลังจากเข้าร่วมถอดบทเรียนสองครั้งในเวทีสมัชชาการศึกษา จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 10 และ 13 สิงหาคม 2564 เราจึงเริ่มเห็นตัวอย่างความพยายามในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาแม้ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติโควิด และหลายเรื่องได้ดำเนินการก่อนคำสั่งจากกระทรวงศึกษาธิการเสียอีก
เรื่องเหล่านี้น่าจะเป็นทุนเดิมเมื่อปี2561 กล่าวคือ ปี 2561 จังหวัดสตูล หนึ่งในพื้นที่นำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จากทั้งหมด 9 จังหวัด 6 พื้นที่* ความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัด หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัด ชุมชน ร่วมมือกับโรงเรียนนำร่อง 10 แห่ง ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนโดยใช้โครงงานฐานวิจัยในฐานะเครื่องมือการเรียนรู้ใหม่ของเด็กๆ ด้วยปรัชญาของกลุ่มคนทำงานที่ว่า “การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากคนใน โดยคนใน เพื่อคนใน”
#
ข้อค้นพบ
จากการฟังการถอดบทเรียนทั้งสองวัน พบว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาด้วยกา
ขับเคลื่อน สี่ประการเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัด
หนึ่ง”Active Learning”
การใช้โครงงานฐานวิจัยเป็นเครื่องมือในการสอน เป็นการเรียนรู้แบบ Active Learning อยู่แล้ว แต่เป้าหมายของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ต้องทำให้เป็น Active Learning 100 เปอร์เซ็นต์ โดยมีโครงงานฐานวิจัยเป็นตัวนำร่อง ให้ครูสามารถนำกระบวนการไปใช้กับการเรียนการสอนในวิชาอื่น ๆ ด้วย แต่เราไม่สามารถทำให้ครูเปลี่ยนแปลงได้ในทันที จึงใช้โครงงานฐานวิจัยเปิดประตูสู่การทำเรื่องนี้ต่อไป ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน เปลี่ยนจากครูเป็นโค้ช เป็นนักจัดกระบวนการ ต้องเปลี่ยนที่ครู เปลี่ยนที่ผู้อำนวยการ ไม่ใช่เปลี่ยนที่เด็ก
สอง”Learning Space”
พื้นที่การเรียนรู้ หรือ Learning Space คือการลดอำนาจ เพิ่มการมีส่วนร่วม ยกเลิกคำว่าผิดหรือถูก ออกไปจากพื้นที่นวัตกรรม ครูสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้คุณภาพให้กับผู้เรียนจากฐานทุนเดิมที่มีในโรงเรียนและสามารถทำด้วยตัวเองได้ทันที และสามารถเชื่อมโยงกับการจัดการเรียนรู้ที่โรงเรียนดำเนินการ อีกทั้งสร้างสรรค์ต่อยอดใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง
พื้นที่แห่งการเรียนรู้ จึงเป็นพื้นที่ระหว่าง ครูกับเด็ก – ครูกับครู – ผอ.กับครู – พ่อแม่กับเด็ก และเด็กกับชุมชน สรุปได้ว่า เด็ก ครู ผอ. ผู้ปกครอง และสุดท้ายคือชุมชน ร่วมกันทำให้ทุกพื้นที่สร้างการเรียนรู้ได้หมด เด็กไปอยู่ตรงไหนให้มีครูในบริบทต่าง ๆ เป็นโค้ชคอยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นครูพ่อแม่ หรือครูในชุมชน โดยมีครูในโรงเรียนทำหน้าที่เป็นนักวางแผนชั้นสุดยอดที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ทั้งหมดขึ้นได้
สาม”ครูสามเส้า”
พื้นที่การเรียนรู้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าครูทำคนเดียว เพราะเด็กอยู่กับครูแค่ 7-8 ชั่วโมง ส่วนเวลาที่เหลือเด็กอยู่บ้าน โดยเฉพาะปัจจุบันเด็กเรียนออนไลน์ที่บ้าน ไม่สามารถไปโรงเรียนหลายเดือนแล้วแล้วสถานการณ์นี้อาจจะอยู่กับเราอีกนาน ฉะนั้นครูอีก 2 เส้า จะช่วยจัดการเรียนรู้อย่างไร เราเพียงเริ่มต้นที่ครูในโรงเรียนให้เป็นนักวางแผน เป็นนักจัดการ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของทั้งหมด สามารถวัดผลทักษะ A S K ได้ (Attitude Skill และ Knowledge ตามลำดับ) ว่าเด็กมีทักษะอะไรเกิดขึ้นบ้างนอกจากความรู้ ดังนั้นเครื่องมือนาฬิกา 24 ชั่วโมง เป็นสิ่งที่ควรนำมาใช้ เพื่อทำให้คนในครอบครัวได้ใช้เวลาลงมือทำและเรียนรู้ในสิ่งเดียวกัน พื้นที่นวัตกรรมจึงต้องพัฒนาหลักสูตรครูสามเส้า สร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้อยู่ในวิถีชีวิตของเด็ก ไม่ว่าอยู่ตรงไหนจะทำอะไรให้เกิดการเรียนรู้ตลอด
สี่
“กลไกการจัดการ”
ทำอย่างไรให้ครูที่บ้าน ครูชุมชน ครูที่โรงเรียน สร้างการมีส่วนร่วม เราต้องเป็นผู้สร้างระบบการศึกษาใหม่ ในพื้นที่นวัตกรรม โดยเริ่มต้นจากปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน ให้เป็น active learning ก่อน แล้วจึงค่อยปรับให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ สร้างครูสามเส้า และสร้างกลไก นี่คือนิยามความหมายของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ที่ว่าโรงเรียนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา ไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่พื้นที่นวัตกรรมคาดหวังไม่ได้อยู่ในโรงเรียนที่เดียว แต่จะทำให้โรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นที่จะไปสร้างระบบการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลต่อไป จากกระบวนการทั้งสี่


“กระบวนการจัดการเรียนรู้ ร่วมกัน ของหลายภาคส่วน ที่บูรณาการกัน เน้นไปที่สมรรถนะของผู้เรียน สมรรถนะไม่ได้อยู่ที่การให้สื่อหรือจัดการสอนรูปแบบเดียวกัน แต่อยู่ที่การสนับสนุนผู้เรียนที่แตกต่างบนความเชื่อว่าทุกคนมีโอกาสประสบความสำเร็จในแบบฉบับตนเอง จังหวะการเรียนรู้และเส้นทางการเรียนรู้ จึงสำคัญมาก”
การที่ให้ความความสำคัญ กับ สมรรถนะผู้เรียนจะทำสตูลไปได้ไหลลื่นกับหลักสูตรสมรรถนะ 6 ด้าน ของกระทรวงศึกษาที่กำลังจะประกาศให้ทุกโรงเรียนในประเทศไทยใช้ในอนาคตอันใกล้ สำหรับสมรรถนะ 6 ด้าน นั้นประกอบด้วย 1.การจัดการตนเองอย่างมีสุขภาวะ 2.การคิดขั้นสูงและการเรียนรู้ 3.การสื่อสารด้วยภาษา 4.การจัดการและการทำงานเป็นทีม 5.การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และ 6.การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน โดยเน้นมิติด้านคุณธรรม จริยธรรม รวมถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์และความเป็นไทย และชุมชนมากขึ้น ซึ่งการเพิ่มสมรรถนะ “การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน” เพื่อให้เด็กไทยมีสมรรถนะทั้งด้านวิทยาศาสตร์ รู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล และอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน”
ส่วนการจัดการเรียนรู้วิชาศาสนา เพื่อชีวิต มิได้เรียนเป็นวิชา แต่บูรณาการผ่านวิถีชีวิตประจำวันสอดคล้องกับปรัชญาการศึกษาอิสลามอย่างมาก(ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีสมัชชาการศึกษาจังหวัดสตูล #1เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 โปรดฟังย้อนหลังใน https://www.facebook.com/SandboxSatun/videos/418029479608200/)
สำหรับข้อถกเถียงเรื่อง “หยุดเรียน 1 ปี”

 

ผศ.ดร.วุฒิศักดิ์ พิศสุวรรณให้ทัศนะ ว่า “ความเห็นของนักวิชาการ 3 กลุ่มข้อเสนอ พบว่า จริงๆ แล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่ข้อเสนอให้หยุดเรียน 1 ปี แต่เนิ้อแท้ คือ #ปัญหาการเรียนออนไลน์ ซึ่งการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในปัจจุบัน รร ไม่สามารถดิ้นออกจากกรอบได้ จึงต้องเอาการเรียนการสอนในภาวะปกติมาอยู่ในโลกออนไลน์กรอบที่สำคัญ คือ ท้ายที่สุด รร ยังคงต้องตัดเกรด 8 กลุ่มสาระ ประเมิน 1 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนอยู่ดี ถ้ายังมีกรอบตรงนี้ มันหนีไม่พ้น ต้องกลับไปสอนตามสาระการเรียนรู้ ตามตัวชี้วัด จัดกระบวนการวัดและประเมินผล ตัดเกรดตามระดับผลการเรียน ผลคะแนนของผู้เรียน และตัดสินจบช่วงชั้น ปัญหาคือการเรียนออนไลน์ที่ยังต้องยึดกรอบตามนี้มากกว่า #คำถามสำคัญของผม คือ ถ้าท้ายที่สุด รร ยังต้องออกเกรด แต่คิดจะไม่เดินตามกรอบนี้ ใครแนะนำได้ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ให้การวัดและประเมินผลนั้นสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ? ส่วนข้อเสนอของอีก 2 กลุ่มนั้นผมเห็นด้วยนะ แต่ในระบบการศึกษาที่ยังต้องฟังส่วนกลางแบบของเรานั้น ถ้าส่วนกลางไม่ขยับ รร ในฐานะผู้ปฏิบัติไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะข้อเสนออีก 2 ทางนั้น มันเกี่ยวข้องกระทบกับกรอบข้างบนนั่นแหละ

ส่วนกลางต้องรีบตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร และท่านก็ต้องรีบสร้างเกณฑ์การจบช่วงชั้น และกระบวนการในการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในช่วงชั้นถัดไปให้ชัดเจนด้วย “
อย่างไรก็แล้วแต่เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นว่าการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิดควรให้อิสระกับโรงเรียนในการนับเวลาเรียน จัดการเรียนการสอน และการวัดและประเมินผลนักเรียน โดยเฉพาะการสอบปลายภาคของภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนตัดสินใจว่าควรจะสอบหรือไม่ โดยให้พิจารณาดูความพร้อมของนักเรียนเป็นหลัก หากไม่สอบปลายภาคของภาคเรียนที่ 1/2564 สถานศึกษาอาจจะปรับวิธีการวัดและประเมินผลอย่างไร เช่น อาจไปสอบภาคเรียนที่ 2/2564 ครั้งเดียว เป็นต้น

หมายเหตุ
สมัชชาการศึกษาจังหวัดสตูล #2
“ทางออกทางการศึกษา เมื่อเด็กไม่ได้ไปโรงเรียน”
วันที่ 13 สิงหาคม 2564 เวทีสมัชชาการศึกษาจังหวัดสตูล
เวลา 08:30 – 12:00 น.
เสวนาหัวข้อ “โอกาสท่ามกลางวิกฤต การเรียนรู้ในภาวะโรคระบาดโควิด-19”
ฟังย้อนหลัง(ใน https://www.facebook.com/SandboxSatun/videos/189719093192136/)

 12,008 total views,  2 views today

You may have missed