อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2564 เวลา 9.30 น.นายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา ได้ไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ณ ศาลากลางจังหวัดสงขลา มีผู้แทนจากศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด เป็นผู้รับมอบแทน เพื่อขอเสนอข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(กนศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เพื่อชะลอการส่งหนังสือแสดงเจตจำนงค์เข้าร่วม CPTPP
รศ.ดร.เริงชัย ตันสกุล นายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา เปิดเผยว่า “ด้วยเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้บริโภคในทุกด้าน ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๖๒ ปัจจุบันสภาองค์กรของผู้บริโภคมีสมาชิกเป็นองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จำนวน ๑๙๕ องค์กร พระราชบัญญัติการจัดตั้งกำหนดไว้ในมาตรา ๑๒(๔) กำหนดให้สภาองค์กรของผู้บริโภคมีโครงสร้างขององค์กรซึ่งอย่างน้อยต้องมีสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภคและหน่วยงานประจำจังหวัด ซึ่งสมาคมผู้บริโภคสงขลา เป็นหน่วยงานประจำจังหวัด หรือสมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเป็นตัวแทนผู้บริโภคและมีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน รวมทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาลไทย มีนโยบายจะที่เข้าร่วม CPTPP นั้น สมาคมผู้บริโภคสงขลา ได้ศึกษาข้อมูลจากผลการศึกษาตามแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดจ้าง สรุปได้ว่า การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว โดย GDP จะขยายตัว ๐.๑๒% คิดเป็นมูลค่า ๑๓,๓๒๐ ล้านบาท การลงทุนขยายตัว ๕.๑๔% คิดเป็นมูลค่า ๑๔๘,๒๔๐ ล้านบาทนั้น ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ศึกษา CPTPP สภาผู้แทนราษฎร ตั้งข้อสังเกตว่า ผลการศึกษาดังกล่าว ยังมิได้คำนึงถึงบริบททางสังคมและบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องที่มิใช่รัฐ (Non-state actor) นอกจากนี้ เป็นการศึกษาเชิงมหภาคซึ่งไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อประเด็นรายละเอียดเชิงลึกได้ การตั้งสมมุติฐานการเปิดเสรีการค้าทันที 100% ของผลการศึกษา ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง การวิเคราะห์ผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยแบบจำลอง ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ อาทิ ศักยภาพการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบในประเทศที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุน เป็นต้น ดังนั้น การเข้าร่วม CPTPP อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ไทยได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯศึกษา CPTPP หน้า ๗๗-๗๘ (https://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/25motion_cptpp/more_news.php?cid=141&filename=129)
ส่วนผลกระทบด้านลบต่องบประมาณหรือค่าใช้จ่ายของประเทศนั้น จากข้อเสนอของสภาเภสัชกรรมต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา พบว่า จะเกิดผลกระทบไม่น้อยกว่า ๔๒๐,๐๐๐ ล้านบาท ในระยะเวลา ๓๐ ปี รวมทั้งมูลค่าของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลงสูงสุดถึง ๑ แสนล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่องบประมาณของรัฐในการจัดบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากข้อมูลผลการวิจัยของ รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ และคณะ พบว่า อุตสาหกรรมยาขนาดเล็ก ต้องพึ่งพิงการนำเข้าเป็นหลัก ในปีพ.ศ. ๒๕๖๒ มีบริษัทที่มีขนาดตลาดมากกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาทขึ้นไป เพียงร้อยละ ๑๗ จำนวนบริษัท ๒๑ แห่ง จากทั้งหมด ๑๒๓ แห่ง ทำให้สัดส่วนการผลิตยาในประเทศ เมื่อเทียบกับ การนำเข้ายา จะเห็นว่า มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากร้อยละ ๖๙ ในปี ๒๕๓๐ ลดลงเหลือเพียง ร้อยละ ๒๙ ในปี ๒๕๖๒ และมีแนวโน้มการนำเข้ายาสูงขึ้นทุกปี และการคาดการณ์ผลกระทบของ CPTPP ในระยะเวลาประมาณ ๓๐ ปี (๒๕๖๒-๒๕๙๐) ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศที่เพิ่มขึ้นมาจาก ราคายาสูงขึ้น ประเทศไทยพึ่งพิงยานำเข้าเพิ่มขึ้น โดยสรุปดังนี้
๑) ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นสูงสุด เฉลี่ยปีละ ๑๔,๐๐๐ ล้านบาท
๒) สัดส่วนการพึ่งพิงนำเข้ายาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันร้อยละ ๗๑ เพิ่มเป็นร้อยละ ๘๙
๓) มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่าตลาดที่หายไปสูงสุดถึง ๑ แสนล้านบาท
การพึ่งพิงการนำเข้ายาที่สูงมาก ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านยาของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นสมาคมผู้บริโภคสงขลาและตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสงขลา ขอส่งข้อเสนอดังกล่าวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อส่งต่อข้อเสนอขององค์กรผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ขอให้ท่านตระหนักในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนไทยทั้งประเทศ หากมีการเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ผ่านการพิจารณาด้วยความรอบคอบและมองประโยชน์ของประชาชนที่เป็นผู้บริโภคส่วนใหญ่ มากกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มคนส่วนน้อยของประเทศ ดังนั้น สมาคมผู้บริโภคสงขลาและตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสงขลา ขอให้ชะลอการส่งหนังสือแสดงเจตจำนงค์เข้าร่วม CPTPP ตามข้อเสนอนโยบายและมาตรการ โดยมีรายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย”
5,937 total views, 2 views today
More Stories
SEC ภาคใต้กับSEA สงขลา-ปัตตานี
สู่พรบ.สันติภาพ เพื่อประกันกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
ฮัจญ์ไทยในภารกิจทูตสันติภาพใน 3 ภารกิจ จชต.