เมษายน 28, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ฉีดวัคซีนแล้วสามารถลดอัตราการตายได้

แชร์เลย

ฉีดวัคซีนแล้วสามารถลดอัตราการตายได้
#มุสลิมพูดประโยคนี้ได้หรือไม่
ผศ.มัสลัน มาหะมะ

คำตอบ
ก่อนที่จะตอบได้หรือไม่ได้ เราควรทำข้อตกลงประเด็นสำคัญก่อนดังนี้ครับ

#ประเด็นแรก มุสลิมทุกคนต้องเชื่อศรัทธาต่อกฎสภาวะของอัลลอฮ์ (กอฎออฺกอดัร) เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยต้องรู้ว่ากอฎออฺ มี 2 ประเภทคือ 1) กอฎออฺที่ตายตัวแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทุกอย่างเป็นไปตามที่ลิขิตไว้แล้ว ทางวิชาการเรียกว่า قضاء مبرم ทั้งอายุขัย ปัจจัยยังชีพ โชคดีโชคร้าย แม้กระทั่งจะเข้าสวรรค์หรือตกนรก ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่พระองค์ได้กำหนดไว้ให้แก่ทุกสรรพสิ่ง โดยเฉพาะมนุษย์และญิน ก่อนที่พระองค์จะสร้างฝากฟ้าและแผ่นดิน 50,000 ปี (ตามนัยหะดีษอิบนุอุมัรรายงานโดยมุสลิม/2653) ประเภทที่ 2) กอฎออฺที่สามารถยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงได้ตามเงื่อนไขต่างๆหรือทางวิชาการเรียกว่า قضاء معلق สมมุติว่าอัลลอฮ์ได้กำหนดอายุขัยของนาย ก. มีอายุเพียง 20 ปี แต่หากเขาทำความดี ได้รับพรจากคนที่หวังดี ชอบบริจาคทานหรือเชื่อมสัมพันธ์อันดีกับเครือญาติ ก็เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เขามีอายุมากกว่า 20 ปีก็ได้ ด้วยความประสงค์ของอัลลอฮ์ แต่ทั้งนี้ไม่มีใครสามารถหยั่งรู้กอฎออฺทั้งสองประเภทนี้ได้ ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นผู้วิเศษวิโสแค่ไหนก็ตามและไม่มีใครสามารถต่อรองกับพระองค์โดยตรงเพื่อขอสะเดาะเคราะห์ เสริมดวงหรือต่ออายุได้นอกจากดูอาของคนดีหรือเจ้าตัวที่ใช้ความพยายามหาเหตุปัจจัยที่อิสลามอนุญาตและมอบตนพร้อมหวังดีต่อพระองค์เท่านั้น อิสลามจึงไม่มีพิธีสะเดาะเคราะห์ เสริมดวง แก้วันราหู กลืนดวง หรือต่ออายุ และถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่นำไปสู่การตั้งภาคีต่อพระองค์ ซึ่งถือเป็นบาปใหญ่

#ประเด็นที่2 อิสลามห้ามมิให้มุสลิมยึดมั่นกับเหตุปัจจัยอย่างเดียว โดยไม่เชื่อมโยงกับการอนุมัติของอัลลอฮ์ อิสลามสอนว่า ผู้ที่มีความเชื่อเช่นนี้ ถือเป็นผู้ปฏิเสธอำนาจของพระองค์ เป็นสาวกลัทธิธรรมชาตินิยม ที่เชื่อต่อความพยายามของตนเองเท่านั้น ในขณะเดียวกัน อิสลามไม่อนุญาตให้รอผลอย่างเดียวโดยไม่ใช้ความพยายามหรือดำเนินมาตรการใดๆ แอบอ้างยินยอมรับสภาวะกำหนดของพระองค์ โดยไม่ใช้เหตุปัจจัยอื่นๆที่อิสลามอนุญาต ความเชื่อเช่นนี้ ถือเป็นความเชื่อของผู้หลงผิดและหมดหวังในชีวิตใช้ตรรกะการมอบตนที่ปราศจากความรู้ที่ถูกต้องเพราะอิสลามถือว่า ทั้งเหตุและผลล้วนเป็นการกำหนดสภาวะของอัลลอฮ์ทั้งสิ้น

ชีวิตประจำวันของเราะซูลุลลอฮ์และบรรดาเศาะฮาบัต เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ประยุกต์ใช้หลักเหตุและผล ความพยายามและการมอบตนแด่อัลลอฮ์ ได้อย่างลงตัวที่สุด

#ประเด็นที่3 อัลลอฮ์ได้สร้าง “กฎธรรมชาติ” อย่างลงตัวที่สุด ที่ศัพท์ทางวิขาการเรียกว่า سنة الله في الكون หรือ سنن كونية กฎธรรมชาตินี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดังที่อัลลอฮ์กล่าวว่า

وَلَن تَجِدَ لِسُنَّةِ اللَّهِ تَبْدِيلًا (الأحزاب/٦٢)
ความว่า : และเจ้าจะไม่พบในกฏธรรมชาติของอัลลอฮ์ซึ่งการเปลี่ยนแปลงใดๆ

ดังนั้นการเชื่อต่อกฏธรรมชาติที่อัลลอฮ์ทรงสร้าง จึงไม่ใช่เป็นการปฏิเสธการตัดสินของพระองค์ เช่นกินแล้วอิ่ม แทงด้วยมีดคมแล้วได้รับบาดเจ็บ ปลูกต้นไม้แล้วงอกเติบโต ขับมอเตอร์ไซค์โดยใส่หมวกกันน๊อค จะช่วยลดอุบัติเหตุรุนแรงทางสมอง ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่นเป็นต้น ซึ่งประโยคในลักษณะนี้ เป็นการพูดถึงกฎธรรมชาติทั่วไป หากผู้พูดมีศรัทธามั่นต่อหลักศรัทธาข้อที่ 6 เป็นทุนเดิมแล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นประโยคที่เสี่ยงต่อหลักศรัทธาแต่อย่างใด เพราะเป็นการพูดถึงกฎธรรมชาติ (หุกมอาดัต) ที่เป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดสภาวการณ์ของอัลลอฮ์เช่นกัน

มีเศาฮาบะฮ์ถามนบีว่า การเป่าคนป่วยด้วยดุอาที่อนุมัติ หรือการเยียวยาผู้ป่วย ถือเป็นการปฏิเสธกฎสภาวะของอัลลอฮ์หรือไม่ นบีตอบว่า การกระทำดังกล่าวก็เป็นการกำหนดสภาวะการณ์ของพระองค์เช่นกัน (หะดีษหะซันรายงานโดยติรมิซีย์/2065 )

เช่นเดียวกันกับนบีสุไลมานที่ได้สาบานว่า ในคืนนี้ ข้าจะร่วมหลับนอนกับบรรดาภรรยาจำนวน 100 คนหรือ 99 คนภายในคืนเดียว เพื่อจะให้มีลูกชายที่เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ แล้วต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ทั้งร้อยคน โดยไม่กล่าว “อินชาอฺ อัลลอฮ์ إن شاء الله ‏ หากอัลลอฮ์ทรงประสงค์
” ตามที่มีสหายคนหนึ่งแนะนำ ปรากฏว่า ภรรยาของเขาไม่มีใครคลอดลูกชายเลย ยกเว้นภรรยาคนหนึ่งที่คลอดลูกชายครึ่งตัว ( นัยหะดีษรายงานโดยอัลบุคอรี/2819)

หะดีษนี้ เพื่อสอนบทเรียนความสำคัญของการกล่าว อินชาอฺ อัลลอฮ์ ไม่ใช่เพื่อตำหนินบีสุไลมานว่า เขามีการศรัทธาที่สุ่มเสี่ยงเนื่องจากเขาไม่เอ่ยถึงประโยคนั้น ด้วยเหตุนี้นบีมูฮัมมัดจึงสาบานว่า หากนบีสุไลมานกล่าวคำว่า อิน ชาอฺ อัลลอฮ์ แล้ว เขาจะได้ลูกชายที่สมบูรณ์ทั้งร้อยคน

นบีสุไลมานจึงกล่าวไปตามบริบทของหุกมอาดัต (กฎทางธรรมชาติ) เพราะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ทุกอย่างอยู่ที่การอนุมัติของพระองค์เท่านั้น

#ประเด็นที่4 การใช้เหตุอย่างถูกต้อง ไม่ได้หมายความว่าปฏิเสธการมอบตนแด่อัลลอฮ์ แต่ถือเป็นการหลีกหนีจากกฎสภาวะของอัลลอฮ์ สู่กฎสภาวะใหม่ของพระองค์ต่างหาก นี่คือความเข้าใจของอะมีรุลมุมินีนอุมัร์ رضي الله عنه ที่สอนแก่อะบูอุบัยดะฮ์ หลังจากที่ทั้งสองมีความคิดเห็นต่างกันหลังทราบข่าวว่าเกิดโรคระบาดที่เมืองอิมวาส ปาเลสไตน์ โดยท่านอุมัร์ตัดสินใจกลับมะดีนะฮ์ ในขณะที่อะบูอุบัยดะฮ์ยืนกรานที่เข้าปาเลสไตน์ ถึงขนาดอะบูอุบัยดะฮ์ถามท่านอุมัร์ว่า ท่านจะหนีจากกฎสภาวะของอัลลอฮ์กระนั้นหรือ (เหมือนจะกล่าวว่า ท่านกลัวตายหรือ) ท่านอุมัร์กล่าวอย่างไม่พอใจว่า หากคนอื่นพูดประโยคนี้จะดีกว่า เราหนีจากกฎสภาะของอัลลอฮ์ สู่กฎสภาวะใหม่ของพระองค์ หากมีทุ่งสองแห่ง แห่งหนึ่งเขียวขจี อีกแห่งแห้งแล้งไร้หญ้า ท่านจะเลี้ยงแกะของท่าน ณ ทุ่งไหน เพราะการเลือกทุ่งใดทุ่งหนึ่ง ถือเป็นกฎสภาวะของอัลลอฮ์ทั้งนั้น (นัยหะดีษอัลบุคอรีย์/5729 และมุสลิม/2219)

การหนีจากกฎสภาวะของอัลลอฮ์สู่กฎสภาวะใหม่ของพระองค์ หมายถึงภาวะที่ไม่ยอมจำนนต่อชะตาชีวิตที่ประสบอยู่ แต่จะต้องหามาตรการเพื่อแก้ปัญหาอย่างสุดความสามารถ ใช้ทักษะการตัดสินใจเลือกแนวทางปฏิบัติ โดยใช้เหตุผลและสติในการแก้ไขปัญหาอย่างรอบคอบ เพื่อให้ปัญหาคลี่คลายไปในทางที่ถูกต้อง และได้รับการแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี (ดูตัฟซีรอัลกุรฏุบีย์ 3/333)

#ประเด็นที่5 ดังนั้นประโยคที่ว่า “การฉีดวัคซีนสามารถลดอัตราการตายได้” หากผู้พูดเป็นมุสลิมและเชื่อศรัทธาต่อกฎสภาวะของอัลลอฮ์เป็นทุนเดิมแล้ว ก็ไม่เป็นประโยคต้องห้ามแต่อย่างใดและไม่ใช่เป็นประโยคนำเข้าด้วยซ้ำ แต่เป็นประโยคที่ใช้กันในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว ถือเป็นมาตรการหนีจากกฎสภาวะของอัลลอฮ์สู่กฎสภาวะใหม่ของพระองค์ เป็นคำพูดที่พูดถึงในบริบทของ”กฎธรรมชาติ” “หุกมอาดัต”หรือ سنن كونية ที่ได้พูดถึงข้างต้นแล้ว เหมือนที่เราพูดประจำว่า من جد وجد (ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น) ซึ่งหากผู้พูดไม่กล่าว อินชาอฺ อัลลอฮ์ ก็ไม่ได้ทำให้เขาต้องสุ่มเสี่ยงต่อการบกพร่องในอะกีดะฮ์แต่ประการใด

#ประเด็นที่6 อย่ามองข้ามความสำคัญของการกล่าว إن شاء الله ‏ หากอัลลอฮ์ทรงประสงค์ โดยเฉพาะเรื่องราวที่เป็นอนาคตหรือการคาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้า ดังที่อัลกุรอานกล่าวว่า
وَلَا تَقُولَنَّ لِشَيْءٍ إِنِّي فَاعِلٌ ذَلِكَ غَدًا *إِلَّا أَنْ يَشَاءَ اللَّه (الكهف/٢٣-٢٤)
ความว่า และเจ้าอย่ากล่าวเกี่ยวกับสิ่งใดว่า “ฉันจะเป็นผู้ทำสิ่งนั้นในวันพรุ่งนี้เว้นแต่อัลลอฮฺทรงประสงค์”

พระองค์ยังกล่าวอีกว่า
وَلَا تَقْفُ مَا لَيْسَ لَكَ بِهِ عِلْمٌ ۚ ( الإسراء/٣٦)
ความว่า : เจ้าอย่าไปตัดสินในสิ่งที่เจ้าไม่มีความรู้ต่อสิ่งนั้น

ดังนั้น หากกล่าวท้ายด้วยประโยคว่า إن شاء الله กับสิ่งที่เป็นเรื่องราวในอนาคตหรือการคาดเดา ถือเป็นประโยคที่สมบูรณ์ที่สุด ถูกต้องที่สุดและมีมารยาทต่ออัลลอฮ์มากที่สุด เช่น การฉีดวัคซีนสามารถลดอัตราการตายได้ إن شاء الله การใส่หมวกกันน๊อคหรือคาดเข็มขัดนิรภัยทำให้ลดอันตรายจากศรีษะกระแทกพื้นได้ إن شاء الله ถือเป็นประโยคที่มุสลิมทุกคนควรกล่าวให้ติดปาก แต่หากไม่กล่าวประโยคดังกล่าวทิ้งท้าย ก็ไม่ได้หมายความว่าการศรัทธาของเขา จะบกพร่องแต่ประการใด ตราบใดที่เขาศรัทธาในหลักศรัทธาทั้ง 6 ประการ เพราะในความเป็นจริง เขากำลังพูดในบริบทกฏธรรมชาติที่เป็นกฎสภาวะของอัลลอฮ์เช่นกัน
والله أعلم

 8,157 total views,  2 views today

You may have missed