มีคำถามเรื่องทำไมการฉีดวัคซีน COVID-19 ถึงต้องมีการลงทะเบียนจองวันฉีดวัคซีนล่วงหน้า ทำไมไม่ทำให้เหมือนกับวัคซีนเด็ก 0-4 ปี ที่เมื่อถึงอายุตามเกณฑ์ ผู้ปกครองก็พาลูกไปฉีดวัคซีนที่อนามัยโดยไม่ต้องลงทะเบียนวันนัด ซึ่งสะดวกกว่ามาก
ผมจะลองเรียบเรียงเหตุผลที่ทำให้การฉีดวัคซีน COVID-19 ต้องบริหารแบบที่เราเป็นอยู่นะครับ
ประการแรกต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับ ว่าระบบวัคซีนของประเทศไทย ปัจจุบันจะมีเพียง 2 ชนิดที่รัฐบาลจัดสรรให้ประชาชน คือ Aztrazeneca และ Sinovac
ผู้ที่มีความประสงค์จะฉีดวัคซีน จะต้องทำการลงทะเบียนผ่านแอพ “หมอพร้อม” โดยจะเริ่มต้นให้ลงทะเบียนสำหรับกลุ่มที่ความเสี่ยงสูง เช่น อายุมากกว่า 60 ปี หรือ กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวก่อน และหลังจากนั้นจึงเริ่มให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียน
ตามหลักทางทฤษฎีแล้ว การกระจายวัคซีนจะมีแนวคิดเริ่มต้นอยู่สองแบบคือ opt in strategy และ opt-out strategy ซึ่งแนวคิดทั้งสองแบบจะนำมาซึ่งการบริหารจัดการที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
สำหรับ opt-out strategy ผมไม่แน่ใจว่ามีคำไทยแปลหรือยัง แต่ความหมายคือ เราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเอาตัวเองออกจากข้อกำหนดนี้ ตัวอย่างเช่น ความคิดตั้งต้นสำหรับผู้บริหารนโยบายต้องคิดว่าประชาชนทุกคน “ต้อง” ได้รับวัคซีน หรือ แปลง่ายกว่านั้นคือ การรับวัคซีนเป็นเรื่องที่รัฐบังคับประชาชนทุกคน ใครไม่รับไม่ได้ ยกเว้นมีข้อเว้นที่สุดวิสัยจริง ๆ กลุยทธ์แบบนี้ตัวอย่างเช่น ถ้าสมมติมีเด็กสักคนเกิดมาในรพ. เด็กคนนั้นจะต้องลงทะเบียนแจ้งเกิด ห้ามหายไปเฉย ๆ ไม่มีสิทธิเลือกว่าจะไม่แจ้งเกิดได้ไหม หรืออีกตัวอย่างหนึ่งเช่น ข้าราชการทุกคนเมื่อเข้าบรรจุรับราชการแล้ว”ต้อง” หักเงินเดือนส่วนหนึ่งให้กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) เราเลือกจะไม่หักเงินส่วนนี้ไม่ได้ มีแค่ช้อยส์ให้เลือกว่า หักมากหรือหักน้อย เช่นเดียวกับพนักงานที่ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ก็ถูกบังคับส่งค่าประกันสังคมทันที
ส่วนอีกทางคือ Opt-in strategy ซึ่งมีความหมายว่า การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นไม่ได้ถูกบังคับมาตั้งแต่ต้น แต่ให้ประชาชนเป็นผู้เลือก ถ้าเป็นเรื่องวัคซีนก็เหมือนกับที่เราเป็นอยู่ตอนนี้ คือ ประชาชนเลือกเอาเองว่าจะรับหรือไม่รับ รัฐไม่ได้บังคับ ไม่มีการออกกฎหมายว่าไม่รับจะผิดกฎหมาย ใช้แรงจูงใจเรื่องอื่นในการเชิญชวนให้คนมารับวัคซีน
ความจริงถ้ารัฐบาลต้องการให้คนฉีดมาก ๆ ในเวลาสั้น ๆ ก็ควรใช้ Opt-out strategy แต่ประเด็นคือ การใช้การบังคับเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทั้งในด้านของความเชื่อมั่นของคน และ การบริหารจัดการ
มาดูเรื่องบริหารจัดการก่อนนะครับ
ตอนนี้รัฐบาลมีความกดดันในการบริหารจัดการวัคซีนหลายอย่าง
ฝั่งธุรกิจ เร่งให้รัฐบาลกระจายวัคซีนเร็ว ๆ เพื่อให้ประเทศกลับมาค้าขายได้ เช่นเดียวกับสาธารณสุข อยากให้ฉีดวัคซีนให้ครบเร็ว ๆ ดีกว่ามาไล่ตามสอบสวนโรค ที่เป็นงานยากกว่า ทำงานเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร และเอาชีวิตของเจ้าหน้าที่ไปเสี่ยง
ดังนั้นเป้าหมายของการฉีดให้ได้มากกว่า 70% จึงถูกบีบด้วยระยะเวลา ต้องใช้เวลาให้สั้นที่สุด เพื่อให้ประเทศกลับมาเปิด และคลายความกังวลของคน ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่
แต่ในด้านของการจัดการ วัคซีนเป็นวัตถุการแพทย์ที่อ่อนไหวมาก ถ้าอยู่ผิดที่ผิดทางแป็บเดียวก็หมดสภาพ ครั้นจะรักษาสภาพวัคซีนให้อยู่ได้นานที่สุดต้องเก็บในอุณหภูมิ -80 องศาเซลเซียส ถ้าเอาเข้าเอาออกจากตู้แช่บ่อย ๆ วัคซีนก็มีแนวโน้มเสื่อม
ลองจินตนาการดู ว่าถ้าเปิดให้คนทั่วไป walk in เข้ามาฉีดวัคซีนกันเป็นวัน ๆ การบริหารจัดการวัคซีนจะลำบากมาก ไม่รู้ว่าวันไหนจะมากันมาก วันไหนจะไม่มา วันไหนจะมากันน้อย ในขณะที่คนที่ทำงาน อุปกรณ์ ต้องเตรียมแบบเดิมทุกวัน แน่นอนว่าอาจเกิดความเสียหายต่อ cold-chain ของวัคซีนได้
วัคซีนเด็กเล็กที่เราสามารถทำให้ walk in มาฉีดได้ ก็เพราะเด็กเป็นประชากรกลุ่มเล็ก ๆ ในสังคม ต่อให้รวมกัน 0-4 ปี ทั้งหมดก็ไม่เกิน 5% ของประชากรทั้งหมด กลุ่มคนเท่านี้เขาจัดการการฉีดง่ายมาก แต่ละวันที่มีการฉีดวัคซีนในเด็ก ต่อให้ยุ่งสุด ๆ ก็มีเด็กมาฉีดวัคซีนในรพ.สต.ไม่เกิน 50 คน แต่เป้าหมายที่กระทรวงตั้งไว้สำหรับการฉีดวัคซีน COVID-19 มากกว่านั้นเยอะเลยครับ สำหรับโรงพยาบาลเล็ก ๆ ตั้งเป้าไว้ที่ 300 คนต่อวัน ส่วนโรงพยาบาลใหญ่ 600 คนต่อวัน
จะเห็นว่าปริมาณงานต่างกันเยอะมาก
คำถามต่อมา ทำไมไม่ให้เจ้าหน้าที่ไประดมฉีดตามบ้าน
คำตอบคือ ยิ่งบริหารจัดการยากกว่าเดิม ใครเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะรู้ดีกว่า การลงไปทำงานที่บ้านประชาชน เก่งแค่ไหนก็ตามบ้านได้ไม่เกินวันละ 10 หลังหรอกครับ ไม่อิ่มน้ำที่ชาวบ้านเตรียมไว้รับแขก ก็คงคอแห้งมาก ๆ เพราะต้องพูดคุยทักทายกับทุกบ้าน หรือไม่ก็ล้าสุด ๆ จากการเดินทาง อย่าลืมว่าทุกพื้นที่ของประเทศไม่ใช่โซนเมืองที่คนอยู่กันหนาแน่น มันมีตำบลที่หน้าตำบลกับท้ายตำบลห่างกัน 20 กม. และไม่แน่เสมอไปว่าไปเยี่ยมบ้านแล้วจะมีคนอยู่กันครบทุกบ้าน นอกจากนั้นขั้นตอนการฉีดมันไม่ใช่แค่ฉีดแล้วกลับบ้านทันที มันมีเรื่องการสังเกตอาการหลังฉีด และ การเตรียมกู้ชีพในกรณีที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงด้วย ดังนั้นวิธีการแบบให้ไปฉีดตามบ้านคงเป็นไปได้ยากมาก
วิธีที่คิดว่าเตรียมแล้วทำให้คนรับและคนให้บริการกันได้ดีที่สุดคือ ลงทะเบียน นัดหมายวันนัดรับกันล่วงหน้า
ทางเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่ดูแล เข้าก็สามารถจัดสถานที่ จัดเตรียมปริมาณวัคซีนที่เหมาะสมกับวันนั้น ๆ ถ้าแผนมันดี คาดการณ์ได้เลยว่าจะได้ 70% ในเวลาไหน
แต่ปรากฎว่า การเชิญชวนให้ประชาชนลงทะเบียนก็สร้างความลำบากให้ชาวบ้านอีก อย่างที่เห็นว่าที่ผ่านมา ให้ประชาชนสูงอายุและกลุ่มที่มีโรคประจำตัวลงทะเบียนรับวัคซีน แต่ผลคือคนลงทะเบียนต่ำกว่า 10% แทบทุกจังหวัด มีเพียงแห่งเดียวที่ประสบความสำเร็จคือ จำหวัดลำปาง ที่มีคนลงทะเบียนกัน 200,000 กว่าคน
ที่เขาทำได้ เพราะทำมากกว่าจังหวัดอื่น เขาคาดการณ์ไว้แล้วว่าอาจจะมีคนลงทะเบียนน้อย ถ้าให้ลงทะเบียนเอง เลยสร้างระบบช่วงลงทะเบียน ให้อสม.ทุกคน ไปรับผิดชอบลงทะเบียนวัคซีนให้บ้านที่ตัวเองรับผิดชอบ
นอกจากนั้นยังสร้าง platform ลงทะเบียนสำรองของตัวเองไว้ กรณีที่แอพหมอพร้อม ไม่พร้อมขึ้นมา ณ ขณะนั้น
ที่เขียนมานี้ ก็เพื่อจะเชิญชวนทุกท่านอีกครั้งให้ช่วยกันรับวัคซีน
แม้จะมีปัญหานิด ๆ หน่อย ๆ แต่อย่าไปตั้งแง่ว่าฉันจะไม่รับแต่ต้นเลย เพราะเหตุผล……. บลา ๆ
วัคซีนเป็นกิจกรรมของส่วนรวม ถ้ามีแค่กระหย่อมเดียวทำ มรรคผลก็ไม่เกิด คงเป็นอีกเรื่องที่ได้ดูพลังความร่วมมือของคนไทย ว่าจะก้าวข้ามเรื่อง COVID-19 ไปได้หรือไม่?
9,096 total views, 2 views today
More Stories
SEC ภาคใต้กับSEA สงขลา-ปัตตานี
สู่พรบ.สันติภาพ เพื่อประกันกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
ฮัจญ์ไทยในภารกิจทูตสันติภาพใน 3 ภารกิจ จชต.