(1 เมษายน 2561 )นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานเปิดโครงการ “ประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความเข้าใจแก่เครือข่ายชุมชนสองวิถี ประจำปี 2561” สำนักประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี ศอ.บต. โดยมีนายศิริพงศ์ หมัดศิริ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักประสานงานเครือข่าย
ภาคประชาสังคมและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี ศอ.บต.และประชาชนเข้าร่วมกว่า 500 คน ที่โรงแรมเซาเทรินวิว ปัตตานี
นายภาณุ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุยเป็นกำลังใจ ซึ่งในวันนี้นับได้ว่าเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และกลุ่มองค์กรต่างๆ คือ เสาหลักสำคัญของ “ประชารัฐ” ที่ปฏิบัติงานคู่ขนานกับ รัฐบาล และส่วนราชการต่างๆ ในการขับเคลื่อนโครงการ สำคัญๆ ของรัฐบาล ด้วยจิตอาสาร่วมกันตลอดมา จึงต้องขอขอบคุณ และขอชื่นชมทุกๆ ท่านอย่างจริงใจมา ณ โอกาสนี้ด้วย
โดยสถานการณ์ความขัดแย้ง และความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น วันนี้พี่น้องเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาคประชาชน กลุ่มเครือข่ายองค์กรทุกแขนง ต้องรับรู้และมีความตระหนักร่วมกันว่า เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศ และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในทุกๆ ด้าน เราสูญเสีย ทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และที่สำคัญพื้นที่ “เสียโอกาสทางการพัฒนา” ดังนั้นทุกคน ทุกฝ่าย จำเป็นต้องเรียนรู้ เข้าใจ และต้องร่วมกันแสวงหาทางออกจากปัญหาดังกล่าว ด้วยปัญญา ด้วยองค์ความรู้และด้วยความสามัคคี
“ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหานี้เป็นวาระเร่งด่วน จึงได้จัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในปี 2561 ยังคงมีจุดมุ่งหมายให้ สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความปลอดภัยปราศจากเงื่อนไขความรุนแรง วิถีชีวิตของทุกคนได้รับการปกป้อง มีการพัฒนาบนพื้นฐานสังคมพหุวัฒนธรรม และทุกฝ่าย มีส่วนร่วมในกระบวนการเสริมสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืน”
นายภาณุ กล่าวต่อว่า ซึ่งภายใต้จุดมุ่งหมายดังกล่าวต้องยอมรับว่า ปัจจัยความสำเร็จนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างให้กลไกของสังคมทุกภาคส่วน นับตั้งแต่กลไก ของรัฐ เครือข่ายภาคประชาสังคม ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหา ที่เราเรียกว่า การทำงานแบบ “ประชารัฐ” ซึ่งพวกเราทุกคนในเวทีแห่งนี้ ก็เป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญของ “ประชารัฐ” ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
อีกส่วนหนึ่ง ปัจจุบันปัญหาความขัดแย้งในมิติทางศาสนาและวัฒนธรรม กำลังขยายวงไปทั่วทุกส่วนของโลก ไม่เว้นแม้แต่ชุมชนและสังคมไทย พวกเราทุกคน ต้องรับรู้ และต้องตระหนักในปัญหาดังกล่าว เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งขยายวงออกไป ซึ่งสุดท้ายพวกเราจะตกหลุมพรางไปสู่ กับดักของความรุนแรง นำไปสู่ความสูญเสีย และความไม่สงบของพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกๆ คน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราทุกคนจะต้องทบทวน และช่วยกันฟื้นฟู วิถีความรัก ความเข้าใจ ระหว่างพี่น้อง พุทธ – มุสลิม ที่พวกเราอยู่ร่วมกันมา ภายใต้วิถีพหุวัฒนธรรมอันสงบสุข ร่มเย็นมาเป็นเวลาช้านาน อย่าให้ใครมาสร้างความแตกแยกในวิถีความเป็นอยู่อันดีงามนี้ออกไปจากชุมชนของพวกเรา
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 3 วัน ของการมาร่วมโครงการในครั้งนี้ ขอให้พี่น้องทุกๆ กลุ่ม และทุกๆ ชุมชน ได้ร่วมกันสร้างมิติสัมพันธ์ และช่วยกันเสนอข้อคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ในการวางแนวทาง การสร้างชุมชนพหุวัฒนธรรมร่วมกัน และขอให้โครงการนี้ คือจุดเริ่มต้นของการสร้างชุมชนพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง พี่น้องอยู่กันอย่างเข้าใจ เอื้ออาทรต่อกัน โดยมีเป้าหมาย คือ ชุมชนอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเรามีสันติสุข
“ขอขอบคุณพี่น้อง ทุกชุมชน ทุกกลุ่มองค์กรอีกครั้งหนึ่ง และหวังว่าพวกเราจะเคียงคู่จับมือกันทำงานอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นกับบ้านของพวกเราในเร็ววัน” นายภาณุ กล่าว
ทีมข่าว SPMCNEWS รายงาน
1,197 total views, 2 views today
More Stories
คณะกรรมาธิการสันติภาพฯ ถกแนวคิดหารือทางร่วมข้อคิดเห็น ข้อเสนอระดับพื้นที่ เตรียมผลักดันร่างพรบ.สันติภาพ
ส่งมอบความสุขแก่เด็กและเยาวชน เนื่องในวันเด็กแห่งชาติปี 2566
มหาเดร์สอบตกในขณะอันวาร์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียกับวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งมาเลเซีย รวมทั้งความท้าทาย