อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
Shukur2003@yahoo.co.uk
ระบบคานอำนาจระหว่างศาลตุลาการกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่มีความเป็นอิสระระหว่างกัน
“กรณีเรียนรู้..มูฮัมหมัด อาลี หรือ ชื่อทางการแคสเซียส มาร์เซลลัส เคลย์ เจอาร์. (Cassius Marcellus Clay Jr.)”น่าจะให้บทเรียนสำคัญต่อทุกประเทศและทุกท่าน
#เขาคือใคร?
มูฮัมหมัด อาลี หรือ ชื่อทางการแคสเซียส มาร์เซลลัส เคลย์ เจอาร์. (Cassius Marcellus Clay Jr.) เป็นยอดนักมวยเฮฟวีเวทผิวดำชาวอเมริกัน เริ่มสร้างชื่อด้วยการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกในกรุงโรม ก่อนคว้าแชมป์โลกเมื่อสามารถเอาชนะ ซันนี ลิสตัน (Sonny Liston) อย่างพลิกความคาดหมายในปี 1964 เมื่อเขาอายุได้เพียง 22 ปี จากนั้นก็ประกาศเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น มูฮัมหมัด อาลี หลังละทิ้งศาสนาคริสต์และหันไปนับถือศาสนาอิสลาม
#ทำไมเขาปฏิเสธการ “เกณฑ์ทหาร” ?
ณ เวลานั้นสหรัฐฯ ยังทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม ซึ่งกองทัพยังใช้วิธีการ “เกณฑ์ทหาร” เพื่อดึงกำลังเข้ากรมกอง ซึ่งเบื้องต้น “เคลย์” หรือ “อาลี” ไม่อยู่ในข่ายผู้มีคุณสมบัติพอที่จะได้เป็นทหารรับใช้ชาติเป็นเวลาสองปี เมื่อเขาสอบตกแบบทดสอบความถนัดทางเชาวน์ปัญญา
อาลีต้องทำแบบทดสอบดังกล่าวถึงสองครั้ง เมื่อครั้งแรกผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าผลสอบยังไม่เป็นที่สรุปได้ จนต้องทำการทดสอบซ้ำสองและได้ข้อสรุปว่าเขาสอบตกอย่างแน่แท้ โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเขาได้ทำเต็มที่แล้ว ไม่ได้แกล้งสอบตกเพื่อหนีทหาร และเชื่อว่าเป็นเพราะเขาขาดการศึกษาตามระบบเป็นต้นเหตุ
แต่เมื่อสงครามทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น กองทัพจำเป็นต้องหากำลังเสริมเพิ่มเติม จึงมีการ “ลดสเปก” ว่าที่ทหารเกณฑ์ผลัดใหม่ลง อาลีที่เคยถูกปฏิเสธจากกองทัพไปก่อนหน้า จึงถูกจัดตามเกณฑ์ใหม่ให้เข้ามาอยู่ในกลุ่ม “A-1” (ดี-1) ที่อาจถูกเรียกไปเป็นทหารเกณฑ์ได้
อย่างไรก็ดี เมื่ออาลีทราบข่าวว่าตัวเองอาจถูกเรียกไปเกณฑ์ทหาร เขาก็ออกมาประกาศว่า เขาจะไม่ร่วมรบในนามกองทัพสหรัฐฯ ไม่ว่าจะอยู่ในเงื่อนไขใด ๆ ก็ตาม เพราะขัดต่อหลักความเชื่อ “อิสลาม” ที่เขายึดถือ
“อย่างนี้มุสลิมผิวดำจะเห็นคุณเป็นพวกหนูทรยศรึเปล่า?” นักข่าวรายหนึ่งถาม มูฮัมหมัด อาลี หลังเขาประกาศไม่ยอมเกณฑ์ทหารโดยอ้างความเชื่อทางอิสลาม
“ไม่ใช่มุสลิมผิวดำ มีแต่มุสลิม” อาลีตอบกลับ
“ผมขอโทษ ชาวมุสลิมเห็นคุณเป็นหนูทรยศด้วยมั้ย?” นักข่าวถามอีกรอบ
“ไม่ มีแต่พวกคนขาวที่เห็นเราเป็นหนูสกปรกมากว่า 400 ปีในอเมริกา ชาวมุสลิมคือคนที่ช่วยให้ผมยืนหยัดสอนถึงความจริง และเป็นผู้ช่วยชีวิตผมเอาไว้ ทำให้ผมได้พบศาสดามูฮัมหมัดผู้ทรงเกียรติ ผู้สอนศาสนาอิสลามที่ผมพร้อมที่จะตายและเสียสละทุกอย่างให้
“ส่วนเรื่องที่มีคนมองว่าผมเป็น ‘หนูทรยศ’ พวกที่เห็นผมเป็นหนู และยังเห็นคนอย่างพวกเราเป็นหนูก็คือพวกคนขาว” อาลีตอบ
“บอกผมหน่อยแชมป์ คุณเตรียมตัวที่จะเข้ากองทัพเพื่อรบในสงครามเวียดนามรึยัง?” นักข่าวถามเพื่อยืนยันอีกครั้ง
“ไม่ ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขใดก็ตาม เราจะไม่ร่วมสงครามที่เอาชีวิตของเพื่อนมนุษย์”
การปฏิเสธที่จะรับใช้ชาติของเขาทำให้ชาวอเมริกันตกตะลึง และรับไม่ได้กับคำพูดเสียดแทงคนขาวที่สะท้อนประวัติศาสตร์การกดขี่และเลือกปฏิบัติต่อคนดำที่สืบเนื่องมาตั้งแต่การก่อตั้งอาณานิคมในดินแดนอเมริกา แต่ในอีกทางหนึ่งเขาได้กลายเป็นฮีโรของกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนาม ไปจนถึงกลุ่มเชื้อชาตินิยมผิวดำที่เขาเองให้การสนับสนุน
“จิตสำนึกของผมไม่ยอมให้ผมถือปืนไปฆ่าพี่น้อง หรือคนที่ผิวสีเข้มกว่า หรือคนยากคนจนที่อาศัยอยู่ในเลนในตม เพื่อมหาอำนาจอย่างอเมริกา จะยิงพวกเขาไปทำไม? พวกเขาไม่เคยเรียกผมว่านิโกร พวกเขาไม่เคยจับผมไปลงประชาทัณฑ์ ไม่เคยเอาหมามาไล่กัด ไม่เคยยึดสัญชาติของผมไป ไม่เคยข่มขืนแม่และฆ่าพ่อผม…จะยิงพวกเขาทำไม? ผมจะไปยิงคนจน ๆ ได้ยังไง เอาผมไปขังคุกเลยดีกว่า!” อาลีกล่าวอย่างมีอารมณ์ (คำให้สัมภาษณ์นี้เองที่ถูกเอาไปถอดความว่า “ผมไม่เคยมีปัญหากับพวกเวียดกง”)
#ใช้กระบวนการยุติธรรมต่อสู้
เบื้องต้นเขาเลือกใช้กระบวนการตามรัฐธรรมนูญ เพื่ออ้างสิทธิอันพึงมีในฐานะพลเมืองที่จะได้รับการยกเว้น อ้างว่าเขาเองก็เป็นครูสอนศาสนาอิสลาม ถ้าครูสอนศาสนาคริสต์ได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์ทหารได้ เขาก็ควรได้รับสิทธินั้นเช่นกัน เขาจึงยื่นคำร้องไปถึงคณะกรรมการคัดเลือกทหารเกณฑ์ แต่ทางคณะกรรมการฯ ปฏิเสธที่จะให้เขาได้รับสิทธินั้น
เมื่อคณะกรรมการฯ ตัดสินว่าเขาไม่มีสิทธิที่จะได้รับการยกเว้น แต่เขายังคงฝ่าฝืนไม่ยอมให้สัตย์ปฏิญาณเมื่อถูกเรียกไปรายงานตัวเพื่อรับใช้ชาติเมื่อวันที่ 28 เมษายน ปี 1968 ทำให้อาลีถูกริบตำแหน่งแชมป์โลก และถูกดำเนินคดีทางอาญา ศาลโดยคณะลูกขุนที่ประกอบด้วยคนขาวเพศหญิง 6 คน และคนขาวเพศชายอีก 6 คน ได้มีคำพิพากษาในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ให้เขามีความผิดต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลา 5 ปี และโทษปรับอีก 10,000 ดอลลาร์
อาลียังคงต่อสู้ตามกระบวนการต่อไป จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน 1971 ศาลฎีกาสหรัฐฯ จึงได้มีคำพิพากษากลับให้อาลีพ้นผิด เนื่องจากกระบวนการพิจารณาในขั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยคณะกรรมการพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ขอยกเว้นการเกณฑ์ทหารของอาลี มิได้ให้ “เหตุผล” ว่าทำไมเขาจึงไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธการเกณฑ์ทหารโดยอ้างมโนธรรมเหมือนเช่นชาวคริสต์เคร่งศาสนาที่เคยได้รับสิทธิเดียวกันมาก่อน
“เนื่องจากคณะกรรมการอุทธรณ์มิได้ให้เหตุผลใด ๆ ในการปฏิเสธคำร้องที่จะได้รับการยกเว้นในฐานะผู้ปฏิเสธโดยมโนธรรมแก่ผู้ร้อง มันจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรู้ว่าคณะกรรมการฯ ตัดสินโดยยึดถือหลักการใดในเงื่อนไขสามข้อตามคำแนะนำของกระทรวงยุติธรรม ด้วยเหตุนี้จึงให้กลับคำพิพากษาที่มีต่อผู้ร้องคดี” ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาศาลฎีการะบุ (Clay v. United States)
ในคำพิพากษาเดียวกันได้ระบุถึงเงื่อนไขสามประการ ที่กฎหมายให้การยอมรับว่าบุคคลดังกล่าวถือเป็นผู้ปฏิเสธการเกณฑ์ทหารโดยอ้างมโนธรรม อันประกอบด้วยเงื่อนไขแรกจะต้องมีสำนึกต่อต้านสงครามในทุกรูปแบบ, ต้องแสดงให้เห็นว่าการต่อต้านนั้นอยู่บนฐานของการบำเพ็ญเพียรและความเชื่อทางศาสนา และสุดท้ายจะต้องเป็นการปฏิเสธโดยสุจริตใจ ซึ่งตัวแทนรัฐบาลยอมรับต่อศาลฎีกาว่า อาลีมีคุณสมบัติสองข้อที่เข้าเกณฑ์จริง ๆ แต่ในข้อแรกมีหลักฐานว่าเขาเข้าข่ายขาดคุณสมบัติ เพราะอาลีเคยบอกว่าเขาพร้อมจะสู้ใน “สงครามศักดิ์สิทธิ์” ของอิสลาม
อย่างไรก็ดี การที่ทางคณะกรรมการฯ ไม่ได้ระบุเหตุผลดังกล่าวเอาไว้ให้ผู้ร้องโต้แย้ง รัฐบาลสหรัฐฯ จึงต้องแพ้คดีเพราะเทคนิคของกฎหมายไป (ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญเพื่อความโปร่งใสของผู้ใช้อำนาจที่จะต้องแจกแจงเห็นผลให้ชัดเจน ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ถูกปฏิเสธมีโอกาสโต้แย้งคำสั่งตามเหตุผลนั้น ๆ ได้ถูกเรื่อง)
#เขากลับมายิ่งใหญ่ด้านมวยได้อีกครั้ง
การที่เขาต้องใช้เวลาต่อสู้ทางกฎหมายเป็นระยะเวลาหลายปี ทำให้อาลีห่างเหินจากสังเวียนมวยในเวทีทางการ อันเป็นช่วงเวลาที่เขาน่าจะพัฒนาฝีมือและสร้างเกียรติประวัติทางการกีฬาอย่างมากมาย แต่การต่อสู้ทางกฎหมายของเขาก็ได้สร้างบรรทัดฐานให้เห็นว่า การปฏิเสธการเกณฑ์ทหารโดยอ้างมโนธรรม คนดำผู้นับถืออิสลามก็มีสิทธิเช่นเดียวกับคนขาวคริสเตียน และเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนขบวนการต่อต้านสงครามในยุคนั้น
เมื่อเขาได้รับอนุญาตให้ขึ้นชกได้อีกครั้ง (ปี 1970 ก่อนมีคำพิพิากษา) อาลีก็ค่อย ๆ ฟื้นฟูร่างกายและฝีมือเพื่อกลับสู่เส้นทางแห่งแชมป์เป็นวาระที่สอง แต่ในการท้าชิงครั้งแรกกับ โจ ฟราเซียร์ แชมป์โลกคนใหม่ในช่วงที่เขาร้างเวทีไปในเดือนมีนาคม 1971 อาลีตกเป็นฝ่ายแพ้คะแนนไปอย่างเป็นเอกฉันท์ ก่อนที่จะกลับมาแก้มือใหม่ในปี 1974 ซึ่งคราวนี้เขาชนะคะแนนฟราเซียร์ไปได้ ซึ่งเซียนมวยยกให้เป็นหนึ่งในการชกที่ดีที่สุดของอาลี ตั้งแต่เขากลับมาสู่เส้นทางอาชีพนักมวยอีกรอบ ก่อนเอาชนะน็อก จอร์จ โฟร์แมน ยอดมวยรุ่นใหม่ไปได้ในการยกที่เรียกว่า “Rumble in the Jungle” (ทำนอง “ฟ้าลั่นกลางป่า” เนื่องจากไปต่อยกันที่ซาอีร์ ปัจจุบันคือ คองโก) ในช่วงเดือนตุลาคมปีเดียวกัน
#บทเรียน
การต่อสู้ของอาลีจนได้รับชัยชนะสะท้อนระบบคานอำนาจระหว่างศาลตุลาการกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่มีความเป็นอิสระระหว่างกัน
ซึ่งสหรัฐอเมริกา หนึ่งในประเทศต้นแบบของระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงที่สุดในโลก โดยความมั่นคงนี้ มีปัจจัยสำคัญอยู่ที่ระบบการเมืองของสหรัฐฯ ที่เน้นการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างสถาบันหลัก และนี่มิใช่ครั้งแรก
ซึ่งหัวใจสำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯอันเป็นรากฐานความเป็นชาติของชาวอเมริกัน ก็คือระบอบประชาธิปไตยที่ยึดหลักการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจ 3 ฝ่าย(จริงๆ) ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ โดยทั้งสามฝ่ายต่างมีอำนาจในการตรวจสอบกันและกัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดการใช้อำนาจในทางมิชอบโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
สำหรับสหรัฐฯ ประธานาธิบดีถือเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ เนื่องจากได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แต่อำนาจนี้ก็ถูกถ่วงดุลอย่างมีประสิทธิภาพโดยสภาคองเกรส หรือรัฐสภาของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเพียงองค์กรเดียวที่สามารถถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งได้ หากพบว่ามีความผิดที่สมควร เนื่องจากถือว่าเป็นองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเช่นกันโดยในอดีตที่ผ่านมา มีความพยายามถอดถอนผู้นำสหรัฐฯ เกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง ในจำนวนนี้รวมถึงความพยายามในการถอดถอนประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ในปี 2517 และประธานาธิบดีบิล คลินตัน ในปี 2542
สำหรับบทบาทของฝ่ายตุลาการ ถึงแม้ว่าศาลสูงสุดของสหรัฐฯซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี จะไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะถอดถอนประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ในระบบถ่วงดุลแห่งอำนาจอันสมบูรณ์นี้ ก็ให้อำนาจแก่ศาลในการพิจารณานโยบายและกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาล ซึ่งหากศาลพิจารณาว่ากฎหมายเหล่านี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะสามารถยกเลิกกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยถึงแม้การใช้อำนาจในลักษณะนี้จะไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้ประธานาธิบดีต้องตกอยู่ในภาวะยากลำบากทางการเมือง และถือเป็นการบรรลุเป้าหมายของระบบการถ่วงดุลอำนาจ ที่ต้องการให้อำนาจอธิปไตยแต่ละฝ่ายปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรมของผู้นำประเทศ
กรณีตัวอย่างที่โด่งดังที่สุดของการที่ศาลพิจารณาให้กฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลขัดต่อรัฐธรรมนูญ ได้แก่กรณีของ Patriot Act หรือกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายที่ออกโดยรัฐบาลของนายจอร์ช ดับเบิลยู บุช หลังจากเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11
กฎหมายฉบับนี้ถูกวิพากษวิจารณ์อย่างหนักว่าให้อำนาจแก่รัฐบาลและสำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐฯ หรือ FBI มากเกินไปในการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย จนมีการฟ้องร้องต่อศาลสูงสุด โดยศาลตัดสินให้ส่วนหลักของกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งระบุว่า FBI มีอำนาจในการเรียกดูข้อมูลการใช้งานอินเตอร์เนตของประชาชนโดยไม่ต้องขอหมายศาล เป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยอ้างความมั่นคงแห่งรัฐ
ส่วนกรณีล่าสุดที่ศาลสูงสุดของสหรัฐฯมีบทบาทในการพิจารณากฎหมายที่เป็นนโยบายสำคัของรัฐบาล ก็คือคดี “โอบามาแคร์” หรือการพิจารณากฎหมายปฏิรูประบบประกันสุขภาพของนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนปัจจุบัน กฎหมายฉบับนี้ถูกฟ้องร้องว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญเนื่องจากบังคับให้ชาวอเมริกันทุกคนซื้อประกันสุขภาพ ซึ่งอาจถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ ศาลตัดสินให้กฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของนายโอบามา และประชาชนจำนวนมากที่สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ รวมถึงเป็นตัวอย่างของการตรวจสอบอย่างสร้างสรรค์ ที่ไม่ได้มุ่งแต่เพียงการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล
ด้วยระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพนี้ สหรัฐฯจึงสามารถมีทั้งระบบรัฐสภาที่เข้มแข็งและถ่วงดุลรัฐบาลได้อย่างสร้างสรรค์ ระบบศาลที่ยุติธรรม
และไม่ก้าวก่ายอำนาจรัฐเกินขอบเขต รวมถึงประธานาธิบดีที่มีอำนาจบริหารประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ไม่ปราศจากการตรวจสอบ ซึ่งทำให้สหรัฐฯเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่ยาวนานและมีระบบการเมืองภายในที่เข้มแข็งที่สุดประเทศหนึ่งของโลก(อ้างอิงจาก https://www.voicetv.co.th/read/43688)
หมายเหตุ
1. *แก้ไขข้อมูลผิดพลาด จากเดิมที่ระบุว่า อาลีเอาชนะคะแนนฟราเซียร์แล้วกลับมาเป็นแชมป์โลก เพราะขณะนั้นฟราเซียร์มิได้เป็นแชมป์โลกแล้ว: วันที่ 9 มกราคม 2020
และคัดลอกจาก https://thepeople.co/muhammad-ali-fight-military-draft-vietnam-war/
2.คลิปรายงานเรื่องนี้ https://fb.watch/5pRSoCYpPY/
https://www.facebook.com/1245604111/posts/10225892132230370/?d=n
30,168 total views, 2 views today
More Stories
SEC ภาคใต้กับSEA สงขลา-ปัตตานี
สู่พรบ.สันติภาพ เพื่อประกันกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
ฮัจญ์ไทยในภารกิจทูตสันติภาพใน 3 ภารกิจ จชต.