พฤศจิกายน 27, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ฮุกมปากัต “ยุติธรรมทางเลือก” แนวคิดสภ.ยะหา ยะลา “ใครมีทางเลือกดีกว่า เสนอ โมเดล แก้ปัญหาได้”

แชร์เลย
  1. ฮุกมปากัต “ยุติธรรมทางเลือก” แนวคิดสภ.ยะหา ยะลา
    จากสื่อโลกโซเซียลถกเถียง :
    ใครมีทางเลือกการแก้ปัญหาที่ดีกว่าเสนอโมเดลที่สามารถแก้ปัญหาได้

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
กรณีสถานีตำรวจภูธรยะหา จ.ยะลา ออกประกาศมาตรการทางสังคม นำร่อง (สื่อพาดหัวข่าว)นำร่องจับ “แต่งงาน” หากพบเห็น “ชาย/หญิง” ที่มิใช่สามีภรรยา มีพฤติกรรมในลักษณะเชิงชู้สาว ในที่สาธารณะหรือที่ลับตาคน หากพบเห็นหรือจับได้ สถานีตำรวจภูธรยะหาและคณะกรรมการมัสยิดจะดำเนินการตามมาตรการทางสังคม ยุติธรรมทางเลือก หรือ ฮูกมปากัต 4 ฝ่าย ดังนี้
นำส่งคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด เรียกผู้ปกครองเพื่อทำพิธีแต่งงานตามหลักศาสนาให้ถูกต้อง
ดำเนิการตามกระบวนการทางกฎหมาย ในข้อหา “กระทำอนาจาร” หรือ “กระทำชำเรา” และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ผลของประกาศครั้งนี้ ในเชิงปฏิบัติเพียงวันเดียวัยรุ่นคนหนุ่มสาวที่จับคู่ พูดคุย ส่อเชิงชู้สาวหายเกรียง ไม่กล้าออกมาเหมือนที่ผ่านๆมายังผลให้กระแสตอบรับในสังคมมุสลิมสูง เพราะเป็นที่ทราบดีว่า “ปัญหาเชิงชู้สาวสังคมมุสลิมโดยทั่วไปรับไม่ได้ต่างกับสังคมโลกเสรีมานานแล้วแต่ไม่ถูกแก้ไขเชิงประจักษ์”
ดร.อับดุลฮาฟิซ ฮิเลประธานเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ทัศนะว่า “อีหม่ามอัลฆอซาลี กล่าวว่า หลักศาสนา คือ แนวปฎิบัติ อำนาจของผู้นำ คือ การปกป้อง รักษาหลักการศาสนา ถ้าอำนาจผู้นำไม่นำหลักการศาสนามาปฎิบัติ ก็จะหลงทาง ถ้าหลักการศาสนา ไม่ได้รับการปกป้อง การนำปฎิบัติจากอำนาจผู้นำ ก็จะไร้ประโยชน์ ขอชื่นชม ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรยะหา ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม (อินซาอัลลอฮ.)สังคมต้องการผู้นำอย่างท่าน เพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ อามีน”
นายอับดุลการีม อัสมะแอ อาจารย์กฎหมายมหาวิทยาลัยฟาฏอนีและเลขาธิการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ให้ทัศนะว่า “เอาหน่า!!
เราให้กำลังใจตำรวจยะหา ที่เขาตั้งใจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย โดยใช้มาตรการเพื่อปรามน้องๆวัยรุ่น และสร้างความอุ่นใจให้ชาวบ้านในระดับหนึ่งแล้ว ส่วนกระบวนการขั้นตอนที่ตำรวจและผู้นำศาสนาจะเอาโทษเอาผิด ต่อเยาวชนก็ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม กฎหมายบ้านเมือง อย่าได้ฝ่าฝืนและปฏิบัติการภายใต้อำนาจตามกฎหมาย ส่วนการดำเนินการเพื่อสร้างความสมดุลในการแก้ปัญหาการจับแต่งของวัยรุ่นที่ไม่พร้อมและจะสร้างปัญหาสังคมต่อไปนั้น ก็เป็นโจทย์ให้เราต้องมาแก้ร่วมกัน ทั้งผู้นำศาสนา สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐ “

อย่างไรก็แล้วแต่ในเมื่อประเทศไทยมีต่างศาสนิก มีแนวคิดเสรีนิยม เมื่อข่าวนี้ถูกแพร่จะถูกวิจารณ์ในทางลบก็มีเยอะในโลกโซเชี่ยล หรือนักสิทธิมนุษยชนบางท่าน “ควรมีการตรวจสอบคำสั่งหรือนโยบายของผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรยะหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง และชอบด้วยคำสั่งทางปกครองหรือไม่”
ผู้เขียนได้พูดคุยกับ พ.ต.อ.สายูตี กาเต๊ะ ผู้กำกับสภ.ยะหา (เพื่อนสมัยเรียนโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิสมัย 30ปีที่ผ่านมา)ต่อเรื่องนี้โดยท่านให้ทัศนะว่า “เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามมาตรการทางสังคม ยุติธรรมทางเลือก หรือ ฮูกมปากัต 4 ฝ่าย  เราเอาเฉพาะ ที่กฎหมาย เข้าไม่ถึง ภาพที่เห็นหลังปฏิบัติการ วัยรุ่น หนุ่มสาว มุสลีมีน มุสลีมะห์ หายหมดแล้วครับ…กับมาตราการทางสังคม สภ.ยะหาและ ชมรมอีหม่ามประจำอำเภอยะหา อยู่บ้านกันนะครับปลอดภัยที่สุด…ครับนี่คือหลักศาสนา ที่เข้าถึงดีกว่าปล่อยเลยตามเลย และจะนำสู่ผลของการปฏิบัติที่ประกาศก็ต้องสอบถามความสมัครใจในการดำเนินการ หากผู้ใดยืนยันจะขอปฏิบัติตามกฎหมาย เราก็มิสามารถบังคับ”

สำหรับผู้เขียนขอให้มีคณะทำงานจากทุกภาคส่วนประเมินเสนอให้มีทำงานทุกภาคส่วนประเมินผลการปฏิบัติงานและในทางวิชาการ ขอเสนอให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ลงพื้นที่ทำการวิจัยในนวัตกรรมกฎหมายทางเลือกนี้ ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวและยั่งยืนทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกันหาทางออก ส่วนใครมีทางเลือกการแก้ปัญหาที่ดีกว่า สามารถเสนอโมเดลที่สามารถแก้ปัญหาได้มา
หมายเหตุสำหรับฮุกมปากัตในสังคมมุสลิมเคยใช้ เช่นเรื่องยาเสพติดที่อำเภอจะนะ สมัยท่านอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา ((โปรดดู https://mgronline.com/south/detail/9510000036105)แนวคิดนี้มีผลการวิจัยสะท้อนว่า “สภาพปัญหายาเสพติดในพื้นที่ไม่มีผู้จำหน่าย แต่มีผู้เสพยาเสพ ติดชนิดยาเสพติดที่แพร่ระบาดมากที่สุดอันดับแรก คือ นำ้กระท่อม นอกจากนั้นยังพบว่าชุมชนมีผู้นำที่มีความสามารถในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดได้เป็นอย่างดี ส่วนแนวทางในการแก้ไข ปัญหายาเสพติด ได้แก่ ผู้นำชุมชนจะเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมในการจัดโครงการกิจกรรมที่ผ่านการ อบรมคุณธรรม จริยธรรม การให้ความรู้ถึงโทษ พิษภัยของยาเสพติด การพัฒนาในด้านการกีฬาและ การสร้างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว อีกทั้งมีการจัดตั้งกฎระเบียบของตาบลที่เรียกว่า “ฮูกุมปากัต” และมีการจัดตั้งศูนย์บาบัดรักษายาเสพติดเป็นของตำบลตนเองที่เรียกว่า “บ้านแสนสุข” รวมถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นอกจากนี้เยาวชนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและ ผู้ปกครองให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และผู้นำชุมชนตำบลบาราเฮาะยังมีบทบาทสร้างความร่วมมือ จากกลุ่มผู้นำด้วยกันเองที่สามารถทางานเป็นทีมและสร้างระบบเครือข่าย มีรูปแบบบูรณาการทำงาน อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มผู้นำชุมชนให้รวมเป็นหนึ่งเดียวและประชาชนใน พื้นที่”(อ่านเพิ่มเติมใน https://kb.psu.ac.th/psukb/bitstream/2016/12325/2/กรรณทิวา%20มุณีแนม.pdf)

 3,291 total views,  2 views today

You may have missed