พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

#เปิดร่าง บันทึก ช่วยจำ ก่อนธรรมนัสสัญญาลูกผู้ชาย “เริ่มนับหนึ่งใหม่”โครงการจะนะเมืองอุตสาหกรรมในรูปแบบคณะอนุกรรมการ

แชร์เลย

รายงาน..พิเศษ..
(อ่านรายงานก่อนหน้านี้ในhttp://spmcnews.com/?p=36127)
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
การลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น กับผู้แทนรัฐบาล


#ร่าง บันทึก ช่วยจำ

วันที่ 28 ธันวาคม 2563
​ตามที่ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะได้ลงพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในวันนี้ (28 ธันวาคม 2563) เพื่อศึกษาและติดตามสภาพปัญหากรณีโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา อันเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ระหว่างเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กับรัฐบาล ทั้งนี้เป็นไปตามคำสั่งของรองนายกรัฐมนตรีประวิตร วงศ์สุวรรณ ซึ่งผลจากการลงพื้นที่มีข้อสรุปเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในโอกาสต่อไป ดังนี้

1. เห็นด้วยกับข้อเสนอในการตั้งคณะอนุกรรมการกำกับ ติดตามการแก้ไขปัญหากรณีโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้
1) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์​ประธานอนุกรรมการ
(ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า)
2) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน​รองประธานอนุกรรมการ
(ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์)
3) ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี​อนุกรรมการ
(นายประสาน หวังรัตนปราณี)
4) แม่ทัพภาคที่ ๔​อนุกรรมการ
5) ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9​อนุกรรมการ
6) ปลัด หรือผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม​อนุกรรมการ
7) ปลัด หรือผู้แทนกระทรวงแรงงาน​อนุกรรมการ
😎 ปลัด หรือผู้แทนกระทรวงพลังงาน​อนุกรรมการ
9) ปลัด หรือผู้แทนกระทรวงมหาดไทย​อนุกรรมการ
10) ผู้อำนวยการกองรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4​อนุกรรมการ
11) ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อนุกรรมการ
12) นายบรรจง นะแส​อนุกรรมการ
13) นายสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ​อนุกรรมการ
14) นายกิตติภพ สุทธิสว่าง​อนุกรรมการ
15) นายสินาด ตรีวรรณไชย​อนุกรรมการ
16) นายรุ่งเรือง ระหมันยะ​อนุกรรมการ
17) นายไวนี สะอุ​อนุกรรมการ
18) ดร.มังโสด หมะเต๊ะ อนุกรรมการ
19) ฮุสณี บินหะยีคอเนาะ อนุกรรมการ
20) ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน​ อนุกรรมการ
21) รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อนุกรรมการและเลขานุการ
(ที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมาย)
22) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 2 คน​และผู้ช่วยเลขานุการ
23) นายสมบูรณ์ คำแหง​อนุกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ

อำนาจ และหน้าที่
2. ศึกษา ตรวจสอบปัญหา รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
3. เสนอแนะแนวทาง และมาตรการในการดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างทางออกของประชาชนในพื้นที่โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
4. รายงานผลการดำเนินการ ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เพื่อนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการต่อไป
5. เชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็น รวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาตามความจำเป็น
6. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลง
7. ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมมอบหมาย

หมายเหตุ : ให้คณะอนุกรรมการชุดนี้ทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน และหากไม่สามารถดำเนินการได้ตามระยะเวลาที่กำหนดให้สามารถต่ออายุการปฏิบัติงานได้คราวละ 2 เดือน

2. ระหว่างนี้รัฐบาลต้องยุติการดำเนินการใดๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ทั้งหมด
โดยเฉพาะกระบวนการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา พ.ศ.2559 โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 เมือง การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA, EHIA และรวมถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ จนกว่าผลการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA. (ตามข้อ 3) จะแล้วเสร็จ

3. รัฐบาลต้องจัดให้มีการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) จังหวัดสงขลา โดยมีหลักการประเมินบนฐานทรัพยากรของพื้นที่ศักยภาพของระบบนิเวศ การประเมินจะต้องยึดถือหลักการว่าจะพัฒนาพื้นที่สงขลาบนฐานศักยภาพของทรัพยากรอย่างไร การประเมินยุทธศาสตร์เพื่อออกแบบการพัฒนาต้องคำนึงถึงการเติบโตของคนท้องถิ่นเป็นหลัก ส่วนกลุ่มทุนภายนอกเป็นปัจจัยเสริมเพื่อเข้ามาต่อยอดศักยภาพของพื้นที่ และการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ให้ยึดหลักการการกระจายรายได้ของประชาชน ความเป็นธรรมของคนและระบบนิเวศ มีการเติบโตอย่างยั่งยืน อันเป็นการสร้างชุดข้อมูลทางวิชาการที่มีคุณภาพประกอบการตัดสินใจทางเลือกการพัฒนาจังหวัดสงขลาที่เหมาะสม
โดยการะบวนการจะต้องตั้งคณะทำงานซึ่งมีสัดส่วนการของภาคประชาชน และนักวิชาการที่ภาคประชาชนเสนอในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อวางกรอบการศึกษาการเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ร่วมกัน โดยกระบวนการทำงานให้ดำเนินการประเมินศักยภาพทรัพยากร และพัฒนาต่อยอดจากทรัพยากรของท้องถิ่น ซึ่งในการศึกษานี้ต้องไม่มี ศอ.บต. เป็นผู้จัดทำ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้วางตัวอย่างเหมาะสมต่อโครงการนี้

4. ต้องตรวจสอบความผิดปกติกรณีการเปลี่ยนมือที่ดินในพื้นที่ทั้ง 3 ตำบลของอำเภอจะนะ โดยเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรม อย่างเช่นกรณี
​- ตรวจสอบการซื้อขายที่ดินในช่วงเวลาที่คณะรัฐมนตรีได้มีความเห็นชอบการดำเนินงานในโครงการนี้ครั้งแรก จนถึงปัจจุบัน
​- ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของชาวบ้านหลายราย จนเกิดข้อพิพาทระหว่างบริษัททีพีไอพีพี (TPIPP.) /เอกชนรายอื่นๆ กับชาวบ้านดั้งเดิมในพื้นที่
​- ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์การทับที่สาธารณะ

5. ตรวจสอบกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามที่ศูนย์อำนายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เป็นผู้ดำเนินการ ดังนี้
– ตรวจสอบเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนทั้งเวทีระดับชุมชน และเวทีประชาพิจารณ์ใหญ่เมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม 2563 ว่ามีความถูกต้องชอบธรรม และเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นประชาชน หรือไม่อย่างไร
– ตรวจสอบการได้มีซึ่งรายชื่อของประชาชนกว่า 1 หมื่นรายชื่อที่ ศอ.บต. นำอ้างว่าเป็นผู้สนับสนุนโครงการในพื้นที่ จนมีการนำเสนอรายชื่อเหล่านั้นให้คณะกรรมการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต.รับรอง และได้นำไปเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ จนนำไปสู่การมีมติคณะรัฐมนตรีให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนสีผังเมืองเป็นสีม่วง รวมถึงการสร้างเหตุจูงใจด้วยวิธีการอันมิชอบ (ให้อามิสสินจ้าง และแจกหุ้นฟรี) เสมือนเป็นการล่อลวงเพื่อให้มีการผู้สนับสนุนโครงการโดยมิชอบ

6. ตรวจสอบกระบวนการแก้ไขผังเมืองของกรมโยธาธิการและผังเมือง ว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ และขั้นตอนของระเบียบกฎหมายผังเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่

7. ตรวจสอบการใช้อำนาจตามมาตรา 10 ของ พรบ.ศูนย์อำนายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ต่อโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฏหมายหรือไม่

8. รัฐบาลควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมอำเภอจะนะ ได้มีส่วนร่วมการออกแบบการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเองบนฐานศักยภาพของสังคม วิถีวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างทางออกในการดำเนินชีวิตที่มีความมั่นคงยั่งยืนอย่างแท้จริง

​ทั้งนี้ เพื่อให้มีการนำข้อหารือเหล่านี้ไปสู่การพิจารณาเพื่อดำเนินการในคณะอนุกรรมการกำกับ ติดตามเพื่อการแก้ไขปัญหาโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่จะมีการแต่งตั้งในโอกาสต่อไป

ลงชื่อ…………………………………………….​​​ลงชื่อ……………………………………………….
(ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า)​​​ (ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์)
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์​​ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน​

ลงชื่อ……………………………………….​​ ลงชื่อ………………………………………………..
(รุ่งเรือง ระหมันยะ)​​​ (มังโสด หมะเต๊ะ)
เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น​​ เครือข่ายโรงเรียนเอกชนอำเภอจะนะ

ลงชื่อ………………………………………………………
ประยงค์ ดอกลำไย)
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
นายสมบูรณ์ คำแหงสะท้อนต่อเรื่องนี้ว่า
“มันคือก้าวแรก ในการยุติความขัดแย้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะอันจะเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจรัฐบาลโดยสิ่งที่ได้จากการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีธรรมนัสและคณะครั้งนี้ คือ การทำให้เห็นว่ามีชาวบ้านในพื้นที่ทั้ง 3 ตำบล(ตลิ่งชัน นาทับและสะกอม) และรอบๆได้ออกมาแสดงพลังไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้อย่างชัดเจน พร้อมกับมีข้อมูลหลายมิติ นำเสนอให้คณะของท่านธรรมนัสได้รับทราบเบื้องต้นในระหว่างการเดินทางไปแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน บางเรื่องมีการยื่นหลักฐานที่เป็นเอกสารเพื่อให้มีการตรวจสอบต่อไปโดยเฉพาะประเด็นที่ดินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่พบว่ามีกลุ่มการเมือง ข้าราชการ และกลุ่มธุรกิจอยู่เบื้องหลังผลประโยชน์อันมหาศาลนี้โดยมีการทำเรื่องนี้กันอย่างเป็นขบวนการซึ่งความผิดปกติดังกล่าวเห็นได้ถึง 3 ประเด็นคือ การออกเอกสารสิทธิ์ครอบที่ดินของประชาชนในพื้นที่จำนวนหลายร้อยไร่ การเข้าครอบครองพื้นที่สาธารณะอีกจำนวนหลายร้อยไร่ และยังพบข้อมูลว่ามีการสลับ หรือโยกย้ายระหว่างที่ดินสาธารณะกับที่ดินเอกชน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ได้ยื่นเอกสารบางส่วนเพื่อให้มีการตรวจสอบหลังจากนี้ต่อไป

ส่วนการนำเสนอในที่ประชุม พวกเราได้ยกร่างบันทึกความเข้าใจซึ่งจะทำไว้ทั้งหมด 8 ข้อซึ่งโดยรวมแล้วคณะของรัฐมนตรีธรรมนัสเห็นด้วยในหลักการทั้งหมด ยกเว้นประเด็นสัดส่วนคณะกรรมการที่จะต้องมีการหารือกันอีกครั้งหลังจากนี้ ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้จะนำไปสู่ภารกิจที่คณะอนุกรรมการกำกับติดตามและแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมจะนะที่จะมีการแต่งตั้งหลังจากนี้จะต้องนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยคาดว่าจะมีการแต่งตั้งในเดือนมกราคมและสามารถปฏิบัติงานได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และอาจจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปีเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ปัญหาทั้งหมด รัฐมนตรีธรรมนัส ได้ให้คำมั่นในที่ประชุมอีกครั้งหนึ่งว่า ในระหว่างการทำงานของกลไกนี้จะไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการเปลี่ยนสีผังเมือง การจัดทำ eia ทั้ง 6 ฉบับของบริษัท TPIPP. รวมถึงกิจการหรือโครงการอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงถือเป็นก้าวแรกที่จะทำให้เรื่องความขัดแย้งในโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ถูกนำมาตั้งบนโต๊ะอย่างเป็นทางการ และมีตัวแทนของรัฐบาลมาเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ ซึ่งหวังว่าจะนำไปสู่ทางออกในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ หากทุกฝ่ายมีความตั้งใจ จริงใจ และมุ่งมั่นที่จะให้สันติสุขกับคืนมาในพื้นที่แห่งนี้อีกครั้ง

หลังจากการดำเนินการที่ผิดพลาดขององค์การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. กว่า 1 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามพี่น้องในอำเภอจะนะก็ยังจะต้องลงแรงกันอย่างแข็งขันเพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นว่าทางเลือกในการพัฒนาที่ดีกว่านิคมอุตสาหกรรมยังมีความเป็นไปได้มากกว่าที่คนบางกลุ่มคิดฝัน…”

หมายเหตุ..ลิงค์หนังสือ บันทึกช่วยจำ..

บันทึกช่วยจำจะนะ-28-ธ.ค.-63

 

 1,512 total views,  4 views today

You may have missed