มีนาคม 29, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ภาคเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ยัน ศอ.บต. และหน่วยรัฐทุกหน่วยให้การดูแลและอำนวยความสะดวกกับภาคธุรกิจเป็นอย่างดี

แชร์เลย

ภาคเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ยัน ศอ.บต. และหน่วยรัฐทุกหน่วยให้การดูแลและอำนวยความสะดวกกับภาคธุรกิจเป็นอย่างดี ย้ำไม่มีหน่วยใดทิ้งเอกชน พ้ออย่าให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อเศรษฐกิจชายแดนใต้อีกจะซ้ำเติมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

จากการที่มีบริษัทฯ หนึ่งในพื้นที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมผสมผสานตามนโยบายเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของรัฐบาล โดยมี ศอ.บต.   เป็นหน่วยบูรณาการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ให้สัมภาษณ์ข่าวเกี่ยวกับความจำเป็น ในการเลิกจ้างพนักงาน 200 คน เพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือตามที่ร้องขอจากรัฐมาปีกว่า แม้ว่าจะมีการลงนามของนายกรัฐมนตรีแล้วก็ตาม

จากการลงพื้นที่สำรวจโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และอำเภอข้างเคียงตามที่มี ศอ.บต. ทำหน้าที่เป็นหน่วยอำนวยการสนับสนุนการทำงาน ของภาคเอกชนเช่นเดียวกับกรณีของบริษัทฯ กลับพบข้อมูลที่แตกต่างกันออกไป และเป็นความน่าเห็นใจ ของหน่วยอย่าง ศอ.บต. ที่ต้องรับหน้าอย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในฐานะหน่วยงานบูรณาการด้านการพัฒนาบนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งนี้

นายประเสริฐ  คณานุรักษ์ ผู้บริหาร บริษัท ม่านกู่หวางฟู๊ด จำกัด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานภาคเอกชนที่ไปลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี ศอ.บต. ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกเช่นกัน ได้ให้                       คำสัมภาษณ์ว่า บริษัท ม่านกู่หวางฟู๊ดฯ ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจาก ศอ.บต. และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง       ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ก่อนเริ่มการลงทุน ได้มีการจัดทำแผนธุรกิจไปหารือร่วมกัน กำหนดขั้นตอนการทำงานเพื่อให้ ศอ.บต. มีความเข้าใจและเริ่มทำงานไปด้วยกัน หลักสำคัญที่ทำให้บริษัทเดินไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่อง คือ พันธะสัญญานั้น ต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา และทำตามที่กำหนดร่วมกันไว้ ในส่วนปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ศอ.บต. ก็ทำหน้าที่ประสานงานและอำนวยความสะดวก ไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี เช่น บริษัทฯ ติดปัญหาเรื่องที่ดิน ศอ.บต. ก็ทำหน้าที่เคลียกับกรมที่ดินทั้งในระดับส่วนกลาง ระดับจังหวัดและระดับอำเภอ จนทำให้ออกเอกสารที่ดินได้ ทำหน้าที่ประสานกับ BOI เพื่อขอสิทธิบัตรการลงทุนก็ทำได้เร็วกว่าระบบปกติมาก การจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก ศอ.บต. ก็ช่วยเหลือได้ดีมาก เพราะช่วงนั้น บริษัทฯ เกิดปัญหาเยอะ หากไม่สามารถมีใบรับรองมาตรฐานเพราะประเทศจีนมีข้อจำกัดการนำเข้าทุเรียน ศอ.บต. ก็ทำหน้าที่ประสานงานกับกรมวิชาการเกษตร และกรมวิชาการเกษตรก็ช่วยเหลือได้เป็นอย่างดี            ในระยะเวลาที่รวดเร็วจนไม่กระทบต่อธุรกิจ

ที่ผ่านมาก็ยังช่วยเหลือประสานงานเรื่องแรงงานเชี่ยวชาญจากจีนให้ลงมาทำงานในพื้นที่ได้ ที่สำคัญที่สุด ต้องนับถือใจของผู้บริหาร ศอ.บต. ที่ซื่อสัตย์สุจริต มือสะอาดมาก เพราะไม่เคยรับการช่วยเหลือจากเอกชนเลยแม้กระทั่งการไปศึกษาดูงานในโรงงานประเทศจีน แม้ว่า ศอ.บต. จะให้การช่วยเหลือเป็นอย่างมากก็ตาม โดยในส่วนนี้ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะนายเซียวเย่าเหิง เจ้าของโรงงานได้ตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิต            และเพิ่มการผลิตสินค้าเกษตรประเภทอื่นด้วย จากเดิมเมื่อหมดหน้าทุเรียนแล้ว จะยังคงการจ้างแรงงานไว้ร้อยละ 40 วันนี้ บริษัทฯ มีแผนจะทำผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวและหมากในพื้นที่ รวมถึงผลิตผลทางการเกษตรอื่น ๆ ที่เป็นผลิตผลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงผลผลิตของเกษตรกรเข้าสู่การแปรรูป                           ของอุตสาหกรรมที่สำคัญ นั้นคือ การจ้างงานในพื้นที่ ซึ่งไม่เพียงแต่การจ้างงานร้อยละ 100 เท่านั้น ยังจะมีการสร้างโรงงานเพิ่มในพื้นที่ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีความสนใจจะเข้ายื่นประมูลการใช้ประโยชน์ จากโรงงานร้างของกรมธนารักษ์ เพราะผลผลิตของบริษัทฯ มาจากผลิตผลของเกษตรกรในพื้นที่ร้อยละ 100 และยังจ้างงานแรงงานในพื้นที่ด้วย ที่สำคัญ บริษัทมีแผนจะลงไปส่งเสริมการทำทุเรียนคุณภาพให้ได้ผลผลิต ไร่ละ 40 ตัน และทำพันธะสัญญาการประกันราคาสินค้าเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ด้วย โดยมีการประชุมหารือร่วมกับสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา และจังหวัดอื่น ๆ ไปเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา

ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มแห่งเดียวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมา ศอ.บต. ได้ให้ความช่วยเหลือและประสานงานในหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง กับการอำนวยความสะดวกกับบริษัทเป็นอย่างมากหากมีเรื่องติดขัดหรือไม่อาจดำเนินการได้ เช่น ปัญหาการจัดตั้งโรงงานมะพร้าว ปัญหาการเพิ่มกำลังการผลิตของเครื่องจักร ปัญหาโรงงานไฟฟ้าในพื้นที่อุตสาหกรรม ปัญหาการดูแลผลิตผลของเกษตรกรให้มีคุณภาพเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับโรงงานก็จะได้ประสานความช่วยเหลือไปยัง ศอ.บต. หลาย ๆ เรื่อง สามารถทำได้ประสบผลสำเร็จราบรื่นดี อย่างไรก็ตาม เข้าใจข้อจำกัดการทำงานของ ศอ.บต. ที่อาจจะไม่มีอำนาจหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือนั้นโดยตรงเพราะการตัดสินใจหลายเรื่องอยู่กับราชการส่วนกลาง ศอ.บต. ได้ทำหน้าที่เร่งรัด ติดตาม ประสานงานไว้เป็นอย่างดี การดำเนินการบางเรื่อง ต้องเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมายก็ถือว่ายอมรับและเข้าใจได้ แต่หากทำให้กระบวนการอนุมัติ อนุญาตนั้นทำได้เร็วมากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่ใช่มีเพียงปัญหาความมั่นคง ยังมีปัญหาคุณภาพชีวิตประชาชน ก็จะเป็นผลดีต่อการพัฒนาในพื้นที่ด้วย นอกจาก การทำงานร่วมกับ ศอ.บต. ในการแก้ไขปัญหาของบริษัทเองแล้ว ศอ.บต. ยังได้ร่วมมือที่จะเข้าไปพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มในพื้นที่ทั้งจังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา ให้เน้น        การปลูกปาล์มที่มีคุณภาพมากขึ้น จะทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น ในส่วนนี้ ก็มีการวางแผนการทำงานร่วมและทำอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องการให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น

ทางด้านนายตติยะ ฉิมพาลี ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้และรองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ ในฐานะที่ต้องดูแลภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ปัตตานี แสดงความกังวลใจต่อกรณีดังกล่าวว่าไม่อยากให้เป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ทำลายความเชื่อมั่นภาคเศรษฐกิจในพื้นที่ เพราะตอนนี้มีอีกหลายธุรกิจที่ต้องการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ และภาคธุรกิจก็ยังต้องใช้บริการของ ศอ.บต. และอยากให้ยกระดับเป็นหน่วยบริการเบ็ดเสร็จ   หรือ One Stop Service ที่แท้จริงให้ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การลงทุนในพื้นที่ ตนมองว่าปัญหาเรื่องนี้ อาจจะมีความคลาดเคลื่อนการทำงานของทุกหน่วยต่อกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้น การที่เอกชนไม่สามารถดำเนินงานได้ตามกรอบการทำงานที่วางไว้ร่วมกัน อาจจะทำให้หน่วยงานรัฐ มีความลำบากใจในการทำงาน เพราะบางเรื่องเป็นเรื่องที่ ศอ.บต. ไม่สามารถดำเนินการได้ และจะต้องประสานงานไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ก็จะมีจังหวะเวลาและขั้นตอนการทำงานตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง บางเรื่องอาจจะไปสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งทั้งในทางธุรกิจและในวงราชการกันเอง ก็จะต้องทำงานอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ดี อยากให้ทุกฝ่ายมาหารือร่วมกันว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยนำผลประโยชน์ของประชาชนเป็นเป้าหมายสำคัญ ทั้งรัฐ เอกชนในพื้นที่ นอกพื้นที่และองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง อยากให้ราชการส่วนกลางได้พิจารณาเงื่อนไขการทำงานในพื้นที่เป็นกรณีพิเศษด้วย   เพราะหลายเรื่องในพื้นที่มีความละเอียดอ่อนต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และต้องการให้ผู้แทนภาคเอกชนในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมการบริหารจัดการในระดับส่วนกลางมากขึ้น เพื่อจะได้ให้ส่วนกลางเห็นบริบท        การทำงานของพื้นที่ และจะได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะหน่วยงานที่เป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ เช่น อาชีวะศึกษา เป็นต้น เนื่องจากเป็นหัวใจ           การสร้างแรงงานที่มีทักษะอาชีพที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างกำลังคนที่สำคัญในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป วันนี้ ไม่อยากให้ภาคเอกชนและประชาชนนอกพื้นที่เอาประเด็นดังกล่าวไปเหมารวมเรื่องการพัฒนาในพื้นที่เพราะทุกส่วนก็ต้องการทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนเช่นกัน อยากให้ยึดประโยชน์ของพื้นที่และประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก รัฐบาล ศอ.บต. องค์กรทุกภาคส่วนล้วนมีความตั้งใจ เต็มใจที่จะทำงานเพื่อประชาชนต่อไป

 

 1,431 total views,  2 views today

You may have missed