พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

เเถลงการณ์ 9 ข้อ กรณีสำนักข่าวอิศราตีข่าว บ.จริยวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 3 ล้านบาท จากกองทุนสื่อฯ ประจำปีงบประมาณ 63

แชร์เลย

เเถลงการณ์กรณีสำนักข่าวอิศรารายงานข่าวว่า บริษัท จริยวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 3 ล้านบาท จากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในการจัดทำโครงการเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงจังหวัดชายแดนใต้ (1)
.
จากกรณีที่สำนักข่าวอิศราได้รายงานข่าวว่า บริษัท จริยวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ได้รับการสนับสนุนการผลิตสื่อของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 300 ล้านบาท นั้น กระผม นายมะรูฟ เจะบือราเฮง ประธานกลุ่มดิจิทัลเพื่อสันติภาพ และประธาน บริษัท จริยวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ขอชี้เเจงรายละเอียดดังต่อไปนี้
.
1. ดิจิทัลเพื่อสันติภาพ (Digital4Peace) เป็นการรวมตัวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มุ่งหวังที่จะนำ สื่อ เทคโนโลยี และ นวัตกรรม มาขับเคลื่อนสันติภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในจังหวัดชายเเดนภาคใต้ อย่างต่อเนื่องมาตั้งเเต่ปี 2561 (https://web.facebook.com/digital4peace) ‘ดิจิทัลเพื่อสันติภาพ’ ได้ จดทะเบียนเป็น #บริษัท_จริยวิสาหกิจเพื่อสังคม_จำกัด โดยมุ่งหวังที่จะแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งเป็นเเนวโน้ม (เทรนด์) ใหม่ขององค์กรพัฒนาสังคม เพื่อให้ตัวองค์กรเองและการเเก้ไขปัญหานั้นมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
.
2. บริษัท จริยวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 มีรายละเอียดทั้งที่ตั้งของบริษัทและชื่อผู้ถือหุ้น ตามที่สำนักข่าวอิศรารายงาน “#จริง” เเต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีประสบการณ์ในการทำกิจกรรมพัฒนาสังคมเลย ตามที่กล่าวไว้ในข้างต้น เราได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาเชิงประจักษ์และเป็นรูปธรรมในนาม ‘ดิจิทัลเพื่อสันติภาพ’ มาก่อนหน้าการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
.
3. ในด้านที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสันติภาพด้วยสื่อ ‘ดิจิทัลเพื่อสันติภาพ’ ได้ดำเนินหลายโครงการเพื่อลดข้อมูลเท็จและสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อ หนึ่งในนั้นคือ โครงการ Fighting Fake News Hackathon (แฮคกาธอนเพื่อศึกษาสถานการณ์ข่าวลวงในจังหวัดชายแดนภาคใต้) (2) (3) (4) ต่อมา ‘ดิจิทัลเพื่อสันติภาพ’ ได้เป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วม หรือ โคแฟค (CoFact – Collarobarive Fact Checking – https://cofact.org/) (5) (6) ร่วมกับภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา องค์กรสื่อ หลายองค์กรทั่วประเทศ เครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงจึงมีการเติบโตขยับขยายไปยังทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งในภาคใต้นั้น ‘ดิจิทัลเพื่อสันติภาพ’ ได้อาสาทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลักของเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงภาคใต้ เหล่านี้จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการ #เครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เสนอขอทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 3 ล้านบาท
.
4. เงื่อนไขของการเปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนทุนประจำปี 2563 วงเงินไม่เกิน 300 ล้านบาท ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ระบุว่า ผู้มีสิทธิยื่นข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรม ต้องเป็น (ก) บุคคลธรรมดา (ข) นิติบุคคล (ค) องค์กรชุมชน (ง) องค์กรเอกชน (จ) องค์กรสาธารณะประโยชน์ บริษัท จริยวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด #เป็นผู้มีสิทธิยื่นข้อเสนอโครงการตามข้อ (ข) นิติบุคคล ซึ่ง #อยู่ในเงื่อนไข ที่สามารถขอรับทุนได้ #มิได้ทำผิดเงื่อนไขใดใด (7)
.
5. ส่วนประเด็นที่สำนักข่าวอิศราระบุว่า นายมะรูฟ เจะบือราเฮง เป็น 1 ใน 67 คนของ คณะประสานงานระดับพื้นที่ ตามคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า นั้น “เป็นข้อเท็จจริง” ‘ดิจิทัลเพื่อสันติภาพ’ เชื่อว่า การที่จะลดความรุนแรงและสร้างสันติภาพในจังหวัดชายเเดนภาคใต้ได้นั้น จำเป็นต้องทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นประชาชน สถาบันการศึกษา สื่อท้องถิ่น สถาบันทางศาสนา องค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานรัฐในระดับท้องถิ่น ฝ่ายความมั่นคง ไปจนถึงผู้เห็นต่างจากรัฐ การสร้างพื้นที่กลางที่สามารถแลกเปลี่ยน พูดคุย เสนอความคิดเห็นได้อย่างเสรีและปราศจากความรุนแรงเป็นสิ่งที่เราส่งเสริมเสมอมา ‘ดิจิทัลเพื่อสันติภาพ’ เอง ได้มีข้อเสนอให้ทุกฝ่ายทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐพยายามลดการใช้การสื่อสารเชิงลบ และส่งเสริมให้มีการสื่อสารเชิงบวกและส่งเสริมให้มีการเเสดงความคิดเห็นอย่างเสรีบนโลกออนไลน์ (8)
6. โครงการ เครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงจังหวัดชายแดนภาคใต้ #ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดใด กับคณะประสานงานระดับพื้นที่ไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง และ #ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จากตำเเหน่งดังกล่าวในการยื่นเสนอทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน เราเชื่อว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยความเป็นกลางและด้วยพลังของพลเมืองด้วยกันเองจะเป็นการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
.
7. สำนักข่าวอิศราระบุว่า “ทั้งนี้ ในช่วงเช้าวันที่ 29 ก.ย.2563 สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง สมาคมดิจิทัลเพื่อสันติภาพ ตามที่อยู่เลขที่ 7/8 หมู่ที่ 3 ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นสถานที่ตั้ง ของ บริษัท จริยะวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เพื่อขอสัมภาษณ์ นาย มะรูฟ เจะบือราเฮง” นั้น “#ไม่เป็นความจริง” ไม่มีผู้ใดจากสำนักข่าวอิศราติดต่อมายังที่อยู่ดังกล่าวเพื่อสัมภาษณ์
.
8. สำนักข่าวอิศราระบุว่า “…แต่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ไม่สามารถติดต่อเบอร์โทรศัพท์ดังกล่าวได้” นั้น ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่นายมะรูฟ เจะบือราเฮงกำลังเข้าร่วมและบรรยายอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง (9) และขอยืนยันว่า “#ไม่มีสายโทรเข้าจากผู้ใด” และ “#ไม่มีสายที่ไม่ได้รับ” ในช่วงเวลาที่สำนักข่าวอิศราอ้างไว้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ #มีหลักฐานที่สามารถเเสดงได้ ต่อมา จากการพูดคุยกับนักข่าวสำนักข่าวอิศราในช่วงค่ำ ทางนักข่าวกล่าวว่าได้โทรมาจำนวน 1 ครั้ง และมีหลักฐานว่าได้โทรติดต่อมาด้วยเช่นกัน
.
9. เราเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีพัฒนาการมาจากองค์กรภาคประชาสังคมที่ส่งเสริมให้เกิดสันติภาพและสังคมประชาธิปไตย เราเชื่อมั่นว่าสื่อมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการทำหน้าที่ที่จะคอยช่วยตรวจสอบ ถ่วงดุล ตั้งคำถาม สร้างพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยน ถกเถียง กับทุกคนและทุกฝ่าย ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าคนนั้นเป็นใคร หรือเเม้กระทั่งตัวเราเอง ด้วยหลักการที่เราเชื่อมั่นนี้ เราขอสนับสนุนและขอเเสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สำนักข่าวอิศราทำหน้าที่นี้เป็นอย่างดี ด้วยหลักการที่เรายึดมั่นนี้ เราพร้อมเปิดรับให้ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบเราได้อย่างเต็ม และ #ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบความจริงร่วมกัน
.
.
มะรูฟ เจะบือราเฮง
ประธานกลุ่มดิจิทัลเพื่อสันติภาพ
และ ประธานบริษัท จริยวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด
(29 / 9 / 2020)
.
.
(1) จัดตั้ง 4 ด.เศษ กองทุนสื่อฯให้งบ 3 ล.! เปิดตัวบ.ทำโครงการเครือข่ายตรวจสอบจว.ชายแดนใต้ https://www.isranews.org/…/92353-repoer03-46.html…
.
(2) สกุ้ป : ข่าวลวงกับสถานการณ์ ต้าน Fake news ชายแดนใต้ http://www.chaidantai.com/?p=41944
.
(3) “ปฏิญญาปัตตานีในการสื่อสารเพื่อสันติภาพ”จากเวทีเสวนา http://spmcnews.com/?p=20232
.
(4) ปฏิญญาปัตตานี : เพื่อต่อต้านเฟคนิวส์ หนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ https://www.facebook.com/digital4peace/photos/a.2027646780867239/2179162265715689
.
(5) เครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วม CoFact – โคแฟค https://web.facebook.com/CofactThailand/
.
(6) สกัดข่าวลวง! เปิดตัว”Cofact”พื้นที่ออนไลน์ภาคพลเมืองช่วยตรวจสอบ https://www.isranews.org/…/isranews…/87719-news-28.html
.
(7) คู่มือการดำเนินงานโครงการหรือกิจกรรมที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
http://granting.thaimediafund.or.th/…/20200818-%E0%B8…
.
(8) นายมะรูฟ เจะบือราเฮง ประธานสมาคมดิจิทัลเพื่อสันติภาพ นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ Fake News ในเวทีประชุมคณะประสานงานระดับพื้นที่ในกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ https://siamrath.co.th/n/118256
.
(9) การบรรยายเกี่ยวกับนักศึกษาสร้างนวัตกรรม https://web.facebook.com/FTU.INNOVATOR/posts/105097564692461
.
——–
.
ดาวน์โหลดไฟล์เเถลงการณ์ได้ที่นี่ : https://drive.google.com/…/1TfLuwBLxkhfINZ9kVzD…/view…
.
——–
.
#สำนักข่าวอิศรา
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
#CoFact #FightingFakeNewsHackathon
#Digital4Peace #ดิจิทัลเพื่อสันติภาพ #จริยวิสาหกิจเพื่อสังคม

 1,624 total views,  4 views today

You may have missed