พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

สุดเจ๋ง อดีตพนักงานบริษัท ผันตัวเองมาทำการเกษตร เลี้ยงปลานิลระบบสายน้ำไหลผ่าน จำหน่ายทั้งตลาด ภายในและต่างประเทศ ประสบผลสำเร็จ จนได้รับเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ

แชร์เลย


นายชนธัญ นฤเศวตานนท์ ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาบ้านบ่อน้ำร้อน เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ปี 2559 ผู้รวมกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาบ้านบ่อน้ำร้อน เพื่อมาเลี้ยงปลานิลระบบสายน้ำไหลผ่าน จนกลายมาเป็นหมู่บ้านปลา ที่แม่ทัพภาคที่ 4 ให้การสนับสนุนตามแผนปฏิบัติการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม เศรษฐกิจ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เป็นพื้นที่นำร่องในการยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้ด้านการประมง การเลี้ยงปลานิลเชิงพาณิชย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ม.2 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา อย่างต่อเนื่อง


นายชนธัญ นฤเศวตานนท์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาบ้านบ่อน้ำร้อน เล่าว่า หลังจากที่ตนเรียนจบจากสาขาวิศวะกรรมศาสตร์ ก็เข้าไปทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศหลายแห่งที่กรุงเทพฯ นานนับ 10 ปี จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิดมาดูแลพ่อแม่ที่ อ.เบตง จ.ยะลา จากเริ่มแรกที่รู้จะประกอบอาชีพอะไร จึงลองทำอาชีพเกษตรกรรม โดยเริ่มศึกษาและน้อมนำการทำเกษตรตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานให้กับชาวไทยมาปรับใช้ โดยเริ่มจากการเลี้ยงปลานิล เนื่องจากปลานิล เป็นปลาเศรษฐกิจเลี้ยงง่าย โตเร็ว ได้รับความนิยมในทุกระดับ นำมาแปรรูปได้หลายอย่าง โตเร็วทำให้ปริมาณปลานิลมีมากพอที่จะส่งขายตลาดได้ในราคาที่ ไม่สูงมากนัก จึงได้ทดลองเลี้ยงปลานิลระบบสายน้ำไหลผ่าน โดยการต่อท่อน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่เกิดจากภูเขาซึ่งไหลตลอดทั้งปีผ่านบ่อปลาแบบขั้นบันไดที่มีความสูงต่ำตามไหล่เขา มีความได้เปรียบในเรื่องการทำความสะอาดบ่อปลา ซึ่งมีขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร ลึกประมาณ 1 – 1.5 เมตร โดยใช้วิธีการเพิ่มออกซิเจนลงในน้ำที่เรียกว่า VENTURI คือการใช้พลังงานจากน้ำธรรมชาติไหลผ่านท่อ ปล่อยให้ตกลงมาจากที่สูง เกิดเป็นพลังงานกล และดูดอากาศเข้ามาผสมกับน้ำแล้วใส่ลงไปในบ่อเลี้ยง ทำให้ปลามีออกซิเจนอย่างเพียงพอ มีโอกาสรอดสูง เจริญเติบโตไว ทำให้เลี้ยงง่าย อยู่ง่าย เพราะสภาพแวดล้อมมีการเคลื่อนไหว ไม่ตกตะกอนก้นบ่อ น้ำจึงไม่เหม็นเมื่อเทียบกับบ่อที่เป็นน้ำนิ่ง อีกทั้งตลาดมีความต้องการมาก เนื่องจากปลาไม่มีกลิ่นคาว โต ตามมาตรฐาน จี เอ พี (GAP) ที่กรมประมงกำหนด

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาบ้านบ่อน้ำร้อน เล่าอีกว่า หลังจากที่ตนประสบความสำเร็จแล้ว ต้องการจะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชาวบ้าน จึงรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาบ้านบ่อน้ำร้อน เลี้ยงปลานิลเชิงพาณิชย์ขึ้น โดยมีสมาชิก 11 คน และมีการขยายบ่อเพิ่มขึ้น โดยนำพันธุ์ปลานิลที่อนุบาลแล้ว ประมาณ 2 เดือน มาปล่อยในบ่อจริง บ่อละ 2500 ตัว ใช้เวลาเลี้ยง 5-6 เดือน เมื่อได้ปลาขนาดตัวละ 1-1.2 กิโลกรัม จึงคัดขาย วันละ 200-300 กิโลกรัม ต่อวัน ขายส่งราคากิโลกรัมละ 90 -100 บาท ซึ่งทางกลุ่มได้รับมาตรฐาน จี เอ พี (GAP) จากกรมประมงแล้ว ว่าปลานิลของกลุ่มมีคุณภาพ สามารถจำหน่ายออกสู่ท้องตลาดทั้งในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา และประเทศมาเลเซีย ทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่สมาชิกรับจ้างกรีดยางอย่างเดียว มีรายได้ ปีละ 70,000 บาทต่อปี ตอนนี้หลังจากเข้าร่วมกลุ่มเลี้ยงปลานิล มีรายได้เพิ่มขึ้น ปีละ 400,000 บาทต่อปีเลยทีเดียว การทำงานของกลุ่มจะยึดหลักไม่เอาเปรียบกัน ซื่อสัตย์ เสียสละ และรักในอาชีพเลี้ยงปลา ซึ่งขณะนี้ทางกลุ่มได้มีการเลี้ยงปลาจีน และปลากือเลาะห์ หรือ ปลาพลวงชมพู ปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงปลาคาร์ฟ ปลาสวยงาม เพื่อเลี้ยงส่งให้ฟาร์มปลาในภาคกลางด้วย ขณะเดียวกันได้วางเป้าหมายต่อยอดพัฒนาศูนย์แห่งนี้ให้เป็นแหล่งส่งเสริมศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลาและ เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไปในอนาคตอีกด้วย


สำหรับเกษตรกรที่สนใจจะศึกษาวิธีการเลี้ยงหรือสอบถามขั้นตอนต่างๆ สามารถติดต่อ ได้ที่ คุณชนธัญ นฤเศวตานนท์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาบ้านบ่อน้ำร้อน 089-7326555
ภาพ/ข่าว อดินันท์ มะลี อ.เบตง จ.ยะลา

 1,362 total views,  4 views today

You may have missed