มีนาคม 29, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ภาษามลายู ภาษาที่สองอาเซียน ทุกศาสนิกในอาเซียนก็เรียนได้โปรดอย่านำประเด็นสร้างความแตกแยก

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก
ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน


จากที่มีผู้ใช้บัญชีเฟสบุ๊ก ชื่อ Pasika Suwachun และ ชื่อ Pasika Pat Suwachan ได้โพสต์ ลงเฟสบุ๊ก เกี่ยวกับเรื่องการจัดคาบเรียนวิชาภาษามลายู ตามรายละเอียด ดังรูป ซึ่งอาจจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของผู้โพสต์เฟสบุ๊ก
จนมีคนไม่หวังดีนำไปขยายสร้างความแตกแยกระหว่างคนพุทธ-มุสลิมในประเทศไทยซึ่งนับวันถ้าเราตามสื่อโซเชี่ยลจะพบ
เพื่อความเข้าใจตรงกันทางโรงเรียนสะบ้าย้อยวิทยาได้ชี้แจงผ่านเพจงานโสต ทัศนศึกษาโรงเรียน กล่าวคือ”โรงเรียนสะบ้าย้อยวิทยาเป็นโรงเรียนในฝันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 และได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนดีประจำอำเภอเมื่อปี 2562 และโรงเรียนที่มีได้รับคัดเลือกกลุ่มนี้ จะได้รับเกียรติให้เป็นโรงเรียนที่จะพัฒนาต่อให้เป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล และในหลักสูตรโรงเรียนมาตรฐานสากล นักเรียนต้องมีความรู้และสื่อสารภาษาต่างประเทศที่ 2 เพิ่มจากภาษาอังกฤษ และเพื่อการสื่อสารกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน(กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน) จึงมีความจำเป็นจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้ภาษาเพิ่มขึ้น โดยในชั้น ม.1 บังคับเรียนภาษามลายูและภาษาจีน พอขึ้นชั้น ต่อไปก็ให้เลือกเรียนในภาษาที่ตนเองสนใจ สิ่งที่ทางโรงเรียนอยากจะบอกก็คือ ภาษาไม่ใช่ศาสนา ไม่ควรนำเอามาปนกันครับ เช่นเดียวกับภาษาอังกฤษก็ไม่เกี่ยวกับศาสนาใด ๆ ทั้งนี้เพื่อให้สร้างโอกาสให้นักเรียนมีพื้นฐานทางภาษาที่เหมาะสมกับภูมิภาค…ขอขอบคุณที่เข้าใจการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาต่างประเทศ เพื่อให้ลูกหลานชาวอำเภอสะบ้าย้อยได้พัฒนาทักษะทางด้านภาษาต่อไป”
คำตอบของโรงเรียนสะบ้าย้อยวิทยา สอดคล้องกับ ทัศนะผู้มีวิสัยทัศน์ระดับอาเซียนเช่น (อัลมัรฮูม)
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนให้ทัศนะว่า ประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกของสมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นประชาคมที่มีความหลากหลายทางภาษาและชาติพันธุ์ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับประชาคมอื่นในองค์การระหว่างประเทศด้วยกันที่มีอยู่ขณะนี้ แม้ว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการของประชาคมอาเซียนในการติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการก็ตาม ประชากรส่วนใหญ่ของประชาคมก็เป็นกลุ่มประชากรที่มีภาษามลายูเป็นภาษาที่หนึ่งอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไนดารุสสลาม ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและพูดภาษามลายูเป็นภาษาที่หนึ่ง และบางส่วนในสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ พม่า กัมปงจามในเขมร และจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยซึ่งมีการใช้ภาษามลายูในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกัน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ภาษามลายูมีความสำคัญในประชาคมอาเซียนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในมิติของประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ากลุ่มประชากรที่ใช้ภาษามลายูในการสื่อสารในชีวิตประจำวันเหล่านี้มีรากเหง้าเดียวกันทางภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตอันจะส่งผลต่อการเสริมสร้าง หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคมของอาเซียน ให้บรรลุตามเป้าหมายที่ได้วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป”

ในขณะนักวิชาการจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไนดารุสสลาม สิงคโปร์ รวมทั้งไทยมีความคิดเห็นสอดคล้องกับอดีตเลขาธิการอาเซียนแต่การเสริมสร้างความเข้มแข็งภาษามลายูแต่ละประเทศถึงแม้สำเนียงจะแตกต่างกันจะต้องมีหน่วยงานกลางจากรัฐหรือภาคประชาชนด้านภาษามลายูโดยเฉพาะในการเสริมสร้างความเข้มแข็งดังกล่าวพร้อมทั้งสามารถประสานระหว่างกันโดยเฉพาะในประเด็นวิชาการและการวิจัย”

สำหรับการศึกษาภาษามลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า

“ความเป็นจริงการศึกษาภาษามลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นผ่านหนังสือศาสนาอักษรยาวีในสถาบันปอเนาะซึ่งหนังสือดังกล่าวนิพนธ์โดยนักปราชญ์มุสลิมปาตานีหรือชายแดนใต้ เช่นชัยค์ดาวุด และชัยค์อะหมัด อัลฟาฏอนีย์นับร้อยปี แต่การศึกษาที่เป็นวิชาภาษามลายูทั้งอักษรยาวีและรูมีจะอยู่ในหลักสูตรอิสลามศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันตาดีกาประจำชุมชน ศูนย์อบรมคุณธรรมจริยธรรมประจำมัสยิดตลอดห้าสิบปีที่ผ่านมาจนปัจจุบันภาษามลายูอยู่ในหลักสูตรอิสลามศึกษา พุทธศักราช 2546 สำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ภาษามลายูอยู่ในหลักสูตรอิสลามศึกษา พุทธศักราช 2548 สำหรับสถาบันตาดีกา ศูนย์อบรมประจำมัสยิด ภาษามลายูอยู่ในหลักสูตรอิสลามศึกษา พุทธศักราช 2551 สำหรับโรงเรียนของรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใช้หลักสูตรอิสลามศึกษาแบบเข้ม หรือโรงเรียนของรัฐภาษามลายูอยูในสาระเพิ่มเติมหรือ หลักสูตรท้องถิ่น ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2550”

นายนิสิต ชายภักตร์ ผู้อำนวยการสำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจังหวัดสตูล(ผอ.สพป.สตูล) ได้เปิด เผยว่า จังหวัดสตูล จัดทำหลักสูตรการสอนภาษามลายูกลางหรือรูมี นำร่องใช้ในโรงเรียน 7แห่งรับประชาคมอาเซียน ชี้ผลงานน่าพอใจ นักเรียนสามารถสื่อสารกับชาวมาเลเซียได้… ประชาชนใน จังหวัดสตูล หลายอำเภอ มีจุดแข็งตรงที่สามารถพูดภาษามลายูท้องถิ่นได้ การเตรียมความพร้อมด้านภาษาให้แก่นักเรียนที่จะรองรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว ภาษามลายูก็มีความสำคัญเช่นกัน จึงมอบหมายให้ศึกษานิเทศก์ครู ร่วมกันจัดทำหลักสูตรการสอนภาษามลายูกลาง (รูมี) ลงในหลักสูตรท้องถิ่น ปีการศึกษา 2550 และให้ใช้นำร่องใน 7 โรง คือ โรงเรียนบ้านควน โรงเรียนบ้านเจ๊ะบิลัง โรงเรียนบ้านทุ่งมะปรัง โรงเรียนบ้านแป-ระเหนือ โรงเรียนบ้านสนกลาง โรงเรียนบ้านปากบารา และโรงเรียนปากละงู”
หมายเหตุ
ความสำคัญของภาษามลายูในอาเซียน
อ่านเพิ่มเติมใน
https://deepsouthwatch.org/dsj/th/3643

 

 2,137 total views,  2 views today

You may have missed