(1)
“มีถุงไหมครับ” พนักงานถามพลางยิ้มท่ามกลางความหนาวยะเยือกของลมแอร์ พนักงานอีกคนลวกคอตัวเองด้วยกาแฟ
“ไม่มีครับ” ลูกค้าผู้หิวโหยตอบอย่างอิดโรย
“ถุงละ 2 บาท สนใจไหมครับ”
พนักงานถามด้วยความใสซื่อตามจริตและหน้าที่ของลูกจ้างพลางสบตาลูกค้าด้วยความประหม่าเล็กน้อย
ลมเย็นวูบวาบ ลูกค้าคึกคัก ผู้คนพลุกพล่าน
“รับขนมจีบ ซาลาเปาเพิ่มไหมค่ะ”
เขาทอดน่องอย่างเร่งรีบพลางตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับผู้มีอันจะกินในประเทศนี้ ผมเห็นเขาแสดงสีหน้าฝาดแดงผิดปกติ เขานึกในใจพลางก่นด่า
“ถุงละ 2 บาท สนใจไหมครับ”
คำพูดของพนักงานยังฝังแน่นในสมองทื่อ ๆ ของเขา เขานึกพลางล้วงกระเป๋าและเจอเงิน 32 บาทที่เตรียมไว้สำหรับหาอะไรประทังชีวิตในภาคค่ำ
เขาพึมพำในใจ “เรามาถึงยุคที่ต้องซื้อถุงใส่สินค้าที่เราไปซื้อจากเจ้าของร้านแล้วเหรอ”
“บัดซบสิ้นดี” เขาก่นด่าพลางมองป้ายไฟ 7-eleven ไกลลิบผ่านลำแสงสลัว
“นโยบายเลิกใช้ถุงพลาสติก โดยไม่มีการรองรับเพื่อให้บริการลูกค้าในรูปแบบอื่น ถือเป็นนโยบายอันไร้เดียงสาของผู้ประกอบการที่ไม่แยแสต่อสังคมและไร้ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคของตนเอง” เขาสบถออกมา
เขาก็ยังแปลกใจว่า หลายภาคส่วนเห็นดีเห็นงามกับการ “การเลิกใช้ถุง” เนื่องจากเหตุผลสำคัญคือ การช่วยโลกและดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ แต่ลึก ๆ ของผู้ประกอบการอย่างเซเว่นนั้น อาจมองเรื่องนี้อย่างแยบยลและวางแผนมาอย่างยาวนานในการไม่แจกถุง
ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ผ่านชายที่ชื่อว่า “พี่ตูน” ฐานะ “ดาราในดวงใจของชาวไทย” หรือ ดาราคนอื่น ๆ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้กับผู้คนในสังคมเพื่อรักษ์ธรรมชาติและห่วงใยทรัพยากร”
เขาคิดราวกับทำข้อสอบที่ครูเคยให้การบ้านเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว
เขาเรียนหนังสือไม่จบ ออกจากโรงเรียนกลางคัน เพราะปัญหาครอบครัว แม่กับพ่อของเขาแยกทางกันตั้งแต่เขายังแบเบาะ เนื่องจากแต่งงานกันก่อนวัยอันควร
แม่จบ ม. 3 ส่วนพ่อก็ยังไม่จบ ม. 6 ทั้งสองออกจากโรงเรียน แล้วตัดสินใจอยู่กินกัน แต่ไม่นานก็ทิ้งเขาเป็นมรดกชิ้นสำคัญในฐานะพยานแห่งความรักในวัยเรียนของทั้งคู่ แล้วทั้งสองก็จากไป
เขาถูกเลี้ยงโดยคุณยาย จนกระทั่งเขาเริ่มมีอาชีพของตนเอง
เขาทำงานรับจ้างรายวัน เก็บกระดาษและขวดขาย รายได้ไม่แน่นอน หนำซ้ำ ช่วงโควิด-19 เขาก็มีงานเก็บกวาดน้อยลง เพราะประชาชนไม่ค่อยออกจากบ้าน สถานบริการต่าง ๆ ถูกปิด
เขาจึงแสยะยิ้มเมื่อได้ยินโครงการเงิน 5,000 ของรัฐ เขาหวังจะประทังชีวิตจากเงินดังกล่าวในช่วงนี้ แต่ท้ายที่สุด เขาไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อแสดงสิทธิ์ได้ เนื่องจากเขาเข้าไม่ถึงโลกไซเบอร์ เขาไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีห้อง ไร้บ้าน อาศัยสะพานย่านพระราม 9 เป็นแหล่งพักพิง
“ถุงละ 2 บาท สนใจไหมครับ”
เขาพึมพำพลางก้มเก็บขยะ เขาเคยรับรู้มาว่า ซีพี ออลล์เริ่มรณรงค์ “ลดและเลิก” การใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่ปี 2550 ผ่านโครงการ 7 Go Green (เซเว่น โก กรีน) ร่วมกับองค์กรต่าง ๆ จากนั้นได้จัดแคมเปญรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น “ลดวันละถุง…คุณทำได้” ไปจนถึงโครงการ “ลด และ เลิก ใช้ถุง” ส่งผลให้ลดต้นทุนการผลิตถุงพลาสติกจำนวนถุงละ 20 สตางค์ ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2561 – 31 มีนาคม 2562 มีการลดต้นทุนมากถึง 285,515,923 ถุง หรือประมาณ 57 ล้านบาท หรือลดต้นทุนไปวันละ 570,000 บาท ซึ่งระยะเวลา 1 ปี ซีพี ออลล์ลดต้นทุนไปถึง 208,050,000 บาท”
นอกจากนี้วิทยุบ้านข้าง ๆ ยังครางเสียงน่ารำคาญอีกว่า “ซีพีอออล์ยังรณรงค์โครงการ “ปฏิเสธถุง…ได้บุญ”
“ได้บุญกับแม่มึงดิ มึงเห็นแก่ตัวต่างหาก”
เขากลั้วคอด้วยน้ำขวดพลางก่นด่า ขณะผู้สื่อข่าวรายงาน
“การไม่แจกถุงจึงถือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างเซเว่น เพราะต้นทุนการผลิตถุงของเซเว่นนั้นมีมูลค่าค่อนข้างมาก อีกทั้งเพื่อรองรับการขยายตัวของเซเว่น ซึ่งมีประมาณ 10,988 สาขาทั่วประเทศในปี 2018 และ 11,688 สาขาในปี 2019 อีกทั้งในปี 2021 เซเว่นจะมีสูงถึง 13,000 สาขาทั่วประเทศ”
เขารีบสวนแบบทันควันหลังจากผู้สื่อข่าวรายการวิทยุเงียบเสียงลง
“เซเว่นไม่ได้รักษ์สิ่งแวดล้อมขนาดนั้น” เขาบ่นพึมพำให้ผมฟังในวันหนึ่งที่เราเจอกัน
“ในเซเว่นมีสินค้าเกือบทุกชนิดที่เป็นพลาสติก แม้จะประโคมข่าวเพื่อรณรงค์ว่า “การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการขานรับกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม ประกาศจุดยืนงดแจกถุงพลาสติกในวันที่ 1 ม.ค. 63 ที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทั่วประเทศ”
ประสบการณ์การเก็บกวาดพลาสติกของเขายืนยันและเตือนสติเขาได้ดี
“ความจริง เซเว่นพยายามหาทางลดต้นทุนในการผลิตและลดต้นทุนในการประกอบการ รวมทั้งลดรายจ่าย ซึ่งเซเว่นไม่รู้จะจัดการอย่างไร เซเว่นจึงเอาวิกฤติสิ่งแวดล้อมเข้ามาเล่น มันจึงได้ผล” เขาวิเคราะห์ “แต่การตัดสินใจไม่แจกถุงนั้นถือเป็นการประกอบการที่เห็นแก่ตัว เนื่องจากเซเว่นไม่มีช่องทางรองรับการดูแลผู้บริโภค” เขากล่าว
เขาเดินออกจากบ้านเพื่อเก็บข้าวของ มีคนมาแจกของมากมายช่วงโควิด-19 เขาเพ่งมองอยู่นาน เลยตัดสินใจเดินกลับเนื่องจาก ผู้ที่มาแจกนั้น ส่วนมาก มักไม่ค่อยเห็นปัญหาและความเดือดร้อนจริง ๆ ของผู้รับว่าเขาเป็นอย่างไร มีชีวิตอย่าง แต่สิ่งที่ผู้ใจบุญเหล่านั้นทำหลังจากแจกข้าวของคือ การถ่ายรูปลงเฟสบุ๊คเพื่อจะบอกให้โลกรู้ว่า “ตัวเองใจบุญ”
เขาไม่มีพลังแม้แต่จะแจกจ่ายหรือบริจาคอะไรให้กับคนอื่น เพราะเขาแค่เพียงเก็บขยะขาย แต่เขาก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการแจกที่เน้นการถ่ายรูปเพื่ออวดคนอื่น เขาพูดพลางนึกถึงช่วงเย็นวันหนึ่งขณะเก็บขยะ
เขาจำได้ว่า หนังสือฉีกขาดเล่มหนึ่งที่เขาก้มลงเก็บนั้นเป็นของพระไพศาล วิสาโล ซึ่งท่านได้เขียนไว้อย่างสวยหรู นั่นก็คือ “ก้าวให้พ้นกับดักความดี”
เขาจึงระลึกได้ทันทีว่า “ความดีที่ว่าดี มีกับดักมากมายแฝงอยู่ ผู้ทำดีจงพึงตระหนักให้จงมั่น เพราะบางครั้งหลายคนอาจตกหลุมพรางของความดี”
เรื่องนี้อาจเป็นประเด็นใหญ่ เพราะมัสยิดย่านพระราม 9 ก็เคยคุยเรื่องนี้เอาไว้ ขณะเขาล้มตัวลงนอนริมผนังมัสยิดในช่วงวันศุกร์ นักเทศนาธรรมได้บรรยายอย่างน่าสนใจนั่นก็คือ พระเจ้าตรัสว่า
“จงให้อาหารคนยากจน คนขัดสนด้วยความรัก อย่าเรียกร้องค่าตอบแทนจากพวกเขาหรือแม้แต่คำขอบคุณ”
เขาระลึกตลอดถึงคำพูดเหล่านั้น แม้ขณะเข็นรถ 3 ล้อก้มลงเก็บขยะ
(2)
“ไม่แจกถุง แต่ก็มีถุงขาย” วัยรุ่นข้าง ๆ ที่เพิ่งเดินออกจากเซเว่นบ่นพึมพำพร้อมยัดเบอร์เกอร์สำเร็จรูปเข้าปากอย่างอร่อย
“ในจุดนี้ก็ใช้สโลแกนง่าย ๆ คือ “ตัดนิสัยมักง่ายของผู้บริโภคที่ไม่ปรับตัวเองแบบพกถุงมาจากบ้าน”
“ความจริงไม่ได้ตัดนิสัยมักง่ายของผู้คนที่เข้ามาซื้อของในเซเว่น แต่เป็นความเห็นแก่ตัวของผู้ประกอบการ ไม่แจกแล้ว ยังมาขายอีก หากไม่มีการรณรงค์ให้มีคนใช้ ไม่แจกก็ต้องไม่ขายด้วย นั่นแหละถึงจะบอกว่า รักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง” เขาก็บ่นพึมพำตามชายหนุ่มสองคนนั้นพลางกลั้วคอด้วยน้ำเปล่าอีกรอบ
ป้ายหน้าเซเว่นปิดประกาศอย่างชัดเจน “ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เซเว่น “ไม่แจกถุง” เขาอ่านพลางนึกในใจว่า “ไม่แจกถุง” แต่ “ขายถุงให้กับผู้บริโภค” แทนที่เซเว่นจะมีการดูแลลูกค้าที่มาอุดหนุนด้วยการบริการต่าง ๆ แต่เซเว่นกลับกิน 2 ทางในเวลาเดียวกันคือ ลดต้นทุนการผลิตถุง และ ขายถุงเพื่อเพิ่มยอดขาย” เขาพูดพลางหาพลาสติกหน้าร้านสะดวกซื้อที่ตนเองวิพากษ์
“ตรงนี้ต่างหากที่เซเว่นขาดศีลธรรมในการเป็นผู้ประกอบการ หากไม่มีการแจกถุง สิ่งที่จะต้องทำเพื่อรองรับผู้บริโภคคือ ผลิตถุงกระดาษเพื่อให้บริการต่อผู้บริโภค แม้ต้นทุนจะแพงกว่าถุงพลาสติก แต่มันอาจเป็นการแสดงถึงความรักษ์ธรรมชาติ มากกว่า ไม่แจกถุงพลาสติก แต่ขายถุงพลาสติกอย่างแน่นอน”
เขาแสดงแนวคิดอย่างคนจบการศึกษาขั้นสูง ความจริง เขาไม่ได้เรียนอะไร ชีวิตเขาอยู่กับวิทยุตั้งแต่เด็ก เขาฟังผู้สื่อข่าวบรรยายทุกวัน เขาอาจจะได้รับวิธีคิดและการวิพากษ์มาจากผู้ดำเนินรายการวิทยุก็เป็นได้
“อีกอย่าง ไม่มีเหตุผลที่จะบอกว่าเซเว่นรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะอาหารเกือบทุกชนิดในเซเว่นคือ ถุงพลาสติก” เขายืนยันจากประสบการณ์การเก็บกวาดของเขาเอง
เขามองว่า “การรณรงค์เพื่อลดถุง เซเว่นใช้ “พี่ตูน” ในช่วงที่เป็น “ฮีโร่ของสังคมไทย” บวกกับผลักให้รัฐออกนโยบายเพื่อลดถุงพลาสติกนั้น ความจริง ไม่ใช่เป็นการขานรับนโยบายรัฐนั้น แต่การดำเนินการดังกล่าวทั้ง “เอาความเป็นฮีโร่” ของพี่ตูนมาเป็นสื่อ และเอานโยบายรัฐมาเป็นตัวขับเคลื่อนนั้นเป็นกลยุทธ์ในทางการค้า เพราะเซเว่นคือ นักธุรกิจเจ้าใหญ่ที่สนับสนุนการเมืองและนักการเมืองโดยเฉพาะรัฐบาลปัจจุบัน
วิธีการเดียวที่เซเว่นจะลดต้นทุนการผลิตถุงนั้นก็คือ การร่วมมือกับภาครัฐเพื่อออกนโยบายไม่ใช้ถุงพลาสติก เซเว่นไม่ได้ตอบสนองนโยบายรัฐ แต่รัฐต่างหากที่ตอบสนองนโยบาย ซี.พี ออลล์ เนื่องจาก ซีพี่และเพื่อร่วมอุดมการณ์บริจาคเงินให้กับพรรคสูงถึง 622 ล้านบาทเข้าพรรคหลังจากก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งไม่รวมการสนับสนุนรัฐบาลก่อนหน้านี้” เขาเชื่อมโยงเรื่องราวของการเมืองได้อย่างคล่องแคล่ว อาจเป็นเพราะป้ายหาเสียงที่เขาไปแอบเก็บมาใช้เพื่อปูนอนและกั้นห้องใต้สะพานพระราม 9
“อีกทั้งนำเรื่อง “จิตสำนึกอันพึงมีของประชาชน” มาต่อยอดกับนโยบายดังกล่าวด้วยการนำเอาเรื่องเล่าของแพขยะที่เป็นสาเหตุให้ท้องทะเลสกปรก การจากไปของมาเรียม บาดแผลของพะยูนและเต่าทะเลที่ได้รับจากขยะมาเป็นตัวอธิบายถึงความจำเป็นที่เราต้องลดใช้ถุงพลาสติกและรักษ์ธรรมชาติ”
เขามองการไกลอย่างผู้มีวิสัยทัศน์ ความจริง เขามีอาชีพเก็บกวาดเท่านั้นเอง วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนที่สุดของเขาที่ผมรู้จักคือ มองเห็นพลาสติกชิ้นไกล ๆ และทอดน่องเพื่อบรรจุพลาสติกลงถุงของตนเอง
(3)
เขาเคยถามผมเรื่องนี้ แต่ผมก็ตอบไม่ได้ เขาจึงถามว่า เป็นไปได้ไหมที่ การวางกลยุทธ์ 3 ชั้นแบบนี้ทำให้ทุกคนเออออตามทุนยักษ์ของประเทศ” เขาแสดงทรรศนะต่ออีกว่า “เมื่อเบ็ดเสร็จการรณรงค์และประกาศใช้การถุงพลาสติกตามรัฐบาล ซีพีจึงสร้างภาพแห่งความใจบุญด้วยการนำเงินบริจาคให้กับโรคพยาบาลกว่า 200 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากการลดใช้ถุงพลาสติก ซึ่งต้องการแสดงให้เห็นว่า การรณรงค์ดังกล่าวนั้นมีประโยชน์ต่อสังคม แน่นอน รายได้ดังกล่าวนั้น ทาง ซี.พี. ออลล์ก็ไม่ได้การันตีว่า ต้นทุนการผฃิตกว่า 200 ล้านบาทในทุกปีนั้น ซีพีมอบให้กับองค์กรการกุศลตลอดไป”
ผมได้แต่นิ่งเงียบ ไม่แลกเปลี่ยนอะไร ผมไม่มีความรู้มากพอในเรื่องพลาสติก เขาจึงเล่าผมว่า “ความจริงในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น เซเว่นก็พยายามกลบเกลื่อนผลประโยชน์ระยะยาวและเป็นการแสดงเจตจำนงช่วงรอยต่อนั้นเพื่อกลบภาพของการเปลี่ยนผ่านนโยบาย “ลดและเลิก” เพื่อเริ่มต้น “ขายถุง” ซึ่งการรณรงค์เหล่านั้นไม่ใช่เพื่ออื่นใด นอกจาก “ลดแจกถุง” และ “ขายถุง” แทนนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ เซเว่น จึงไม่ได้รักษ์โลกอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่เซเว่นใช้เครื่องมือเชิงสัญลักษณ์ทั้ง “ฮีโร่ของคนไทย” “ความศักดิ์สิทธิ์ของนโยบายรัฐ” รวมทั้ง “ความศรัทธาอันแน่วแน่ในการรักษ์ทรัพยากรและธรรมชาติของผู้คน” มาเป็นสะพานในการลดต้นทุน” เขาอธิบายจนผมอึ้ง เขาไม่เคยเล่าเรื่องแบบนี้ให้ใครฟัง แต่เมื่อเขาเจอผม เขาชอบแลกเปลี่ยน ท้ายที่สุด
เขาจึงทิ้งปริศนาข้อใหญ่ให้ผมได้ฉุดคิดนั่นก็คือ “เลิก “นโยบายแจกถุง” และเริ่มต้น “นโยบายขายถุง” นั่นเอง”
พูดเสร็จเดินจากไปอย่างไม่ใยดี อีกทั้งไม่แยแสเลยว่าผมจะไขปริศนาข้อนั้นได้อย่างไร เขามักทิ้งทวนแบบนี้เสมอเมื่อเจอผม จนบางครั้งเสียงของเขายังแผดดังอย่างมีพลัง
“เลิกแจกถุง” และเข้าสู่ยุคของการ “ขายถุง” นั่นเอง”
ผมเดินกลับห้องพร้อมพกคำพูดของเขามาขบคิดขณะนั่งลงบนเก้าอี้ไม้แล้วงีบหลับไป
เอ. อาร์. มูเก็ม
12 มิถุนายน 2563
3,735 total views, 2 views today
More Stories
SEC ภาคใต้กับSEA สงขลา-ปัตตานี
สู่พรบ.สันติภาพ เพื่อประกันกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
ฮัจญ์ไทยในภารกิจทูตสันติภาพใน 3 ภารกิจ จชต.