พฤษภาคม 3, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ชายแดนใต้/ปตานีสูญเสียโต๊ะครูวันเดียวถึงสอนท่าน

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)  Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
” إنا لله وإنا إليه راجعون ” ..

8 มิถุนายน 2563 ตรงกับ 16 เชาวาล ฮ.ศ.1441 )ปตานี/ชายแดนภาคใต้สูญเสีย โต๊ะครู 2 ท่าน (แสดงความเสียใจ​กับครอบครัว​ )
1. บาบอฮัจญีซาการียา บิน ฮัจญีอับดุลลาติฟ…ปอเนาะนัดมอลี (ตุยง-บางเขา) อ.หนองจิก ได้กลับสูความเมตตาของอัลลอฮฺเมื่อเวลา 00.20 น.

2.บาบอฮัจญี อับดุลเลาะ บิน ฮัจญียูซูฟ ปอเนาะคอลีกอตอตือร๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลาได้กลับสู่ความเมตตาของอัลลอฮฺเมื่อเวลา 01:00
——————————————การสูญเสียโต๊ะครูทั้งสองเสมือนชายแดนภาคใต้/ปตานีสูญเสียผู้ทรงคุณค่าของสังคมมุสลิมด้านการศึกษาอิสลามและผู้นำวิถีมุสลิมที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะซึ่งดูได้เชิงประจักษ์จากจำนวนผู้ไปละหมาดศพแม้จะเป็นช่วงโควิด-19
อีกประการหนึ่ง
ในสังคมมุสลิม ผู้นำศาสนา หรือตามภาษาพื้นบ้าน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า โต๊ะครู ซึ่งมาจากภาษามลายูกลางว่า ตวนฆูรู หรืออาจมาจากคำว่า ‘คุรุ’ หรือ ‘ครู’ นั้นเอง
แต่ในภาษาอาหรับ หรือในภาษาที่ชาวมุสลิมทั่วไปอาจเรียกอย่างยกย่องว่า อาลิม (ผู้รู้ 1 คน เป็นเอกพจน์)หรือ อุละมาอฺ (ผู้รู้หลายคน เป็นพหูพจน์) โดยมีรากศัพท์ผันมาจาก อิลมฺ คือความรู้
โต๊ะครู หรือ อาลิม และ อุลามาอฺ จึงให้ความหมายถึง ผู้รู้และบรรดาผู้รู้ ในที่นี้คือ รู้ในศาสตร์ของอิสลาม หรืออิสลามศึกษานั่นเอง ในขณะผู้รู้หลายคนมีความรู้ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงรู้ในเรื่องศาสนาเท่านั้น แต่หมายถึงรู้เรื่องอิสลามที่เกี่ยวข้องศาสตร์อื่นๆ อีกด้วย การแพทย์ ดาราศาสตร์ การเมือง และสังคม
ท่านศาสนฑูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวถึงความประเสริฐของบรรดาอุลามะอฺ ว่าเปรียบเสมือนผู้รับมรดกของบรรดานบี (ศาสฑูตทั้งหลาย)
บุคลิกภาพของผู้รู้จะต้องมีภาพสะท้อนของบรรดาศาสดาทั้งหลาย ทรัพย์สินเงินทอง ลาภยศ สรรเสริญ จะต้องไม่เป็นตัวบั่นทอนการนำเสนอสัจธรรมสู่มวลชน หรือสู่สังคม การสงบเสงี่ยม เจียมตัว และอยู่อย่างพอเพียง พึงใจต่อความเมตตาปรานีของอัลลอฮฺ และที่สำคัญที่สุดของภาระหน้าที่ของอุลามาอฺ หรือโต๊ะครู นั่นคือ การรับใช้มนุษย์และสังคม ตลอดจนรับผิดชอบสังคม ในความดี ความชั่วที่เกิดขึ้น


ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา อุละมาอฺในภาคใต้มีบทบาทในสังคมมากในการชี้นำความถูกต้องให้กับสังคม และในบรรดาอุลามาอฺภาคใต้ที่มีอิทธิพลต่อบรรดาอุลามาอฺด้วยกันและชุมชนมุสลิมภาคใต้และประเทศอาเซียนคือ ชัยคฺดาวุด อัลฟะฏอนีย์ เพราะท่านเป็นทั้งครูผู้สอนและแต่งตำราอิสลามศึกษาเกือบ 100 เล่ม และหนังสือของท่านยังเป็นหนังสือเรียนในหลักสูตรอิสลามศึกษาในสถาบันปอเนาะและเป็นหนังสืออ้างอิงในสถาบันการศึกษาอิสลามในกลุ่มประเทศอาเซียน
ผศ.ดร.พีรยศ ราฮิมมูลา อดีตนักวิชาการมอ.ปัตตานีกล่าวว่าภาคใต้ตอนล่างเป็นดินแดนที่อยู่ติดทะเลและเคยมีความสัมพันธ์ทางการค้ามากมาย มีเครือข่ายแลกเปลี่ยนทางการค้า ศาสนา และวัฒนธรรม มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมืองของท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นที่แตกต่างกัน มีประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ถึงศตวรรษที่ 18 ประมาณ 500 ปีเศษ มีวิวัฒนาการที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งเห็นได้จากโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่ชาวมุสลิมในดินแดนแถบนี้ มีความภาคภูมิใจกับนครรัฐมุสลิมปัตตานี 3 ประการหนึ่งในสามคือ ความภูมิใจในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาอิสลามแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 มี 2 สถาบันการศึกษาที่เรียกว่า “ปอเนาะ” และสถาบัน “อูลามาอฺ,” (ผู้รู้หรือนักปราชญ์) ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของโลกมลายูและโลกอาหรับจนถึงทุกวันนี้ มีอูลามะฮ, ปัตตานีที่มีคุณภาพมีความสามารถเชี่ยวชาญ เช่น เช็ค ดาวุด บิน อับดุลเลาะบินอิดริส อัล – ฟาฎอนี (Sheikh Davd bin Abdullah bin Idris al-Fatani) และเช็ค อะหมัด บิน มูฮำมัด เซน บินมุสตอฟา อัล – ฟาฎอนี (Sheikh Ahmad bin Muhammad Zain bin Musfafa al Fatani) ฯลฯ ซึ่งผลงานของท่านเหล่านี้เรียกว่า ” กีตาบยาวี ” (Kitab Jawi) เป็นตำราที่ใช้กันแพร่หลายในสถาบันปอเนาะต่างๆ หรือมัสยิดและสุเหร่าในสังคมมุสลิมแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน

หมายเหตุ
อ่านเพิ่มเติมใน
“อูลามะ ปอเนาะและกีตาบยาวี” องค์ประกอบสำคัญของความเป็นฟาตอนีย์ในโลกอิสลามโดยนักวิชาการดัง “อุสตาซอะหมัด ฟัตฮี” เผยวรรณกรรมกีตาบยาวีปาตานีจาก 7 อูลามะยิ่งใหญ่ที่เขียนกีตาบ 98 เล่ม จากทั้งหมด 193 เล่ม ความสัมพันธ์กับจักรวรรดิออตโตมานและการสร้างคนให้เป็นมุสลิม(อ้างอิงจาก
https://deepsouthwatch.org/dsj/th/8497)

โลกมุสลิมรู้จัก “ฟาตอนีย์” มานับหลายร้อยปี ด้วยปัจจัยที่มาจากองค์ประกอบสำคัญของความเป็นฟาตอนีย์(ปาตานี) ก็คือ “อูลามะ ปอเนาะ และกีตาบยาวี”

อูลามะ หมายถึง นักปราชญ์ทางด้านศาสนาอิสลาม ส่วนปอเนาะ หมายถึงสถานศึกษาทางด้านศาสนาที่สำคัญในพื้นที่ปาตานีหรือในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกีตาบยาวี หมายถึงตำราศาสนาอิสลามที่เขียนด้วยภาษามลายูอักษรยาวี

ในงานสัมมนาวิชาการ“วรรณกรรมมลายูในโลกอิสลาม” ครั้งที่ 1 เรื่อง“ปาตานีในโลกมลายู ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และโลกอิสลามร่วมสมัย” ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระหว่าง 2 -3 เมษายน 2559 ที่จัดโดย วิทยาลัยอิสลามศึกษาร่วมกับมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี มีการพูดถึงองค์ประกอบทั้ง 3 นี้

โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งมาจากอุสตาซอับดุลรอซาก มะห์มูด หรือ อะห์มัด ฟัตฮีย์ ซึ่งเป็นนักวิชาการประวัติศาสตร์ชื่อดังชาวกลันตัน ประเทศมาเลเซียที่เชี่ยวชาญเรื่องปาตานี โดยเขาใช้เวลาเกือบ 10 ปีในการเก็บข้อมูลเพื่อเขียนหนังสือชื่อ “Ulama Besar dari Patani” เมื่อครั้งยังเป็นบรรณาธิการวารสารศาสนาอิสลามที่ชื่อ “Pengasuh” ของสำนักงานบริหารกิจการศาสนาอิสลามของรัฐกลันตัน ที่คนในชายแดนใต้หรือปาตานีติดตามอ่านอย่างมากมายในอดีต

โดยอุสตาซอะหมัด ฟัตฮี นำข้อมูลเหล่านี้มาเปิดเผยผ่านปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “บทบาทของอุละมาอ์ปาตานีในโลกมลายู” ภายในงานเดียวกันนี้ ซึ่งแปลสรุปเป็นภาษาไทยโดยอาจารย์ฮาร่า ชินทาโร่ ดังนี้

วรรณกรรมกีตาบยาวีปาตานี

อุสตาซอะหมัด ฟัตฮี บรรยายว่า งานวิจัยเกี่ยวกับวรรณคดีมลายูส่วนใหญ่ทำโดยชาวต่างชาติ เช่น นักวิชาการอังกฤษชื่อ วินเสตท มีผลงานออกมาในปี 1940 ในหนังสือของเขามีคำอธิบายเกี่ยวกับวรรณคดีเชิงศาสนา ไม่ว่าจะมาจากอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน หรือที่ไหนก็ตาม ต่อมาปี 1950 มีนักวิชาการจากประเทศจีน ชื่อเนียวลุฟา ทำวิจัยเกี่ยวกับ กีตาบภาษามลายู แต่การเก็บข้อมูลของทั้งสองคนก็ยังไม่เป็นที่พอใจ

เมื่อไม่กี่ปีมานี้มีนักวิชาการมาเลเซียบอกว่า มีหนังสือชื่อ Sastra Melayu (วรรณคดีมลายู) ในศตวรรษที่ 19 ผู้เขียนชื่อ Siti Awah Aareh อธิบายเกี่ยวกับวรรณคดีเชิงศาสนาที่ครบถ้วน แบ่งเป็น 4 ส่วนโดยมีส่วนหนึ่งที่มาจากวรรณคดีที่เป็นกีตาบหรือตำราศาสนา

วรรณคดีในทีนี้ไม่ได้หมายความว่า นวนิยาย หรือ เรื่องเล่า แต่เจาะจงไปที่เนื้อหาของความศรัทธา คำสอนศาสนา ซึ่งกีตาบยาวีในที่นี้อธิบายว่าเป็นกีตาบกูนิง หมายถึงหนังสือที่มีสีเหลือง ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า กระดาษที่พิมพ์หนังสื่อก็เป็นสีเหลือง จึงเรียกว่ากีตาบกูนิง

กีตาบกูนิงที่เขียนด้วยภาษามลายูอักษรยาวีไม่ได้พบที่ปาตานีอย่างเดียว แต่พบโดยทั่วไปในโรงเรียน สถาบันต่างๆ ที่มีลักษณะเหมือนกับปอเนาะที่ปาตานี แต่ที่อาเจะห์เรียกดายะ ที่ปาเล็มบังเรียกว่าสุเรา ที่อินโดนีเซียเรียกว่าเปอร์ซันเตรน ซึ่งสถาบันเหล่านี้มีลักษณะเดียวกัน คือเป็นโรงเรียนสอนศาสนาที่ใช้กีตาบสอน

กีตาบยาวีพบหลายแห่ง ไม่ว่ามาจากอาเจะห์ มินังกาเบา บันยา เรียว และอื่นๆ ซึ่งเราจะสามารถรู้ว่าผู้เขียนมาจากไหนก็จะมีตอนท้ายของชื่อผู้เขียนซึ่งบอกชื่อสถานที่ เช่น ผู้เขียนมาจากปาตานีก็จะเขียนว่า อัลฟาตอนีย์

7 อูลามะที่ยิ่งใหญ่เขียนกีตาบ 98 เล่ม จาก 193 เล่ม

อุสตาซอะหมัด ฟัตฮี บรรยายต่อไปว่า ตามการสำรวจของตน พบว่า มีกีตาบยาวี 193 เล่มที่เขียนโดยอูลามะหรือปัญญาชนอิสลาม(นักปราชญ์)ที่มาจากปาตานี จากอูลามะ 36 คนที่มีงานเขียนและได้รับการตีพิมพ์แล้ว แต่สันนิษฐานว่ายังมีผลงานที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์อีกจำนวนมากกว่านี้ แต่ในที่นี้จะพูดเฉพาะที่ได้รับการตีพิมพ์

ในจำนวน 193 เล่ม มี 98 เล่มที่เขียนโดยปัญญาชนอิสลามปาตานี 7 ท่าน ซึ่งตนเรียกว่าอูลามะบือซาร์ปาตานี (Ulama Besar Patani) หรือนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ของปาตานี ส่วนเล่มที่เหลือเขียนโดยอูลามะประมาณ 20 กว่าคน บางคนเขียนคนละเล่มหรือสองเล่ม แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาเขียนเพียงแค่นั้น เพราะอาจจะมีผลงานที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์อีกจำนวนมาก

ดังนั้นบทบาทของอูลามะปาตานีในการสร้างผลงานทางวิชาการในรูปแบบกีตาบยาวี จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเชคดาวูด อัล ฟาตอนีย์ หรือ เชคอะหมัด อัล ฟาตอนีย์ และคนอื่นๆ

บทบาทไม่ได้มีแค่ที่ปาตานี

อุสตาซอะหมัด ฟัตฮี อธิบายว่า เนื้อหาของกีตาบยาวีเหล่านี้มีอะไรบ้าง เนื้อหากีตาบไม่ใช่นวนิยายหรือเรื่องเล่า แต่มีสาระสำคัญ 4 อย่าง คือ 1.ปรัชญาอิสลามและความศรัทธา ซึ่งจากการประมวลเนื้อหาถือว่าอูลามะปาตานีเป็นแชมป์เปี้ยนในเรื่องนี้ เพราะสามารถอธิบายเรื่องปรัชญาอิสลามที่ละเอียดมากซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องความศรัทธา

2.เรื่องกฎหมายอิสลาม ซึ่งผู้เขียนเรื่องนี้ที่มีบทบาทสำคัญคือเชคดาวูด อัล ฟาตอนีย์ 3.หลักการอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน หรือที่เรียกว่า ตัจวีด 4.ประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นในอิสลาม

อูลามะปาตานี ไม่ได้มีบทบาทเฉพาะในพื้นที่เท่านั้น อูลามะปาตานีได้รับความไว้วางใจจากที่อื่นด้วย เช่น ในส่วนหนึ่งของเกาะสุลาเวสีมีกษัตริย์คนหนึ่งที่นับถือศาสนาฮินดู อูลามะปาตานีที่ไปที่นั่นสามารถทำให้กษัตริย์เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม และเปลี่ยนชื่อเป็นสุลต่านค็อยรุดดีน และชื่ออูลามะคนนี้ก็กลายเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของเกาะสุลาเวสี

อูลามะปาตานีกระจายไปทั่วและได้รับความไว้วางใจที่หลากหลาย ไม่ว่าจะให้เป็นอูลามะประจำหรือเป็นอิหม่าม เป็นต้น

ความสัมพันธ์กับจักรวรรดิออตโตมาน

อุสตาซอะหมัด ฟัตฮี อธิบายว่า สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับกีตาบยาวีเหล่านี้คือ สถานที่พิมพ์ เนื่องจากในปาตานีในช่วงแรกๆ ยังไม่มีโรงพิมพ์ ดังนั้นกีตาบยาวีส่วนใหญ่ได้รับการตีพิมพ์ที่นครมักกะห์(ประเทศซาอุดีอาระเบีย) โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ถึงศตวรรษที่ 20 ซึ่งนครมักกะห์ช่วงนั้นอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลออตโตมานหรืออุษมานียะห์

รัฐบาลอุษมานียะห์ให้การสนับสนุนอูลามะปาตานีและแต่งตั้งคนปาตานีเป็นผู้ดูแลโรงพิมพ์ ทำให้กีตาบปาตานีได้รับการตีพิมพ์จำนวนมาก จนกระทั่งจักรวรรดิอุษมานียะห์แพ้สงครามในสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากนั้นก็หยุดการตีพิมพ์

โดยกีตาบยาวีเล่มสุดท้ายที่ตีพิมพ์ที่นครมักกะห์ ลงวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1914 หรือประมาณ 100 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นกีตาบยาวีปาตานีถูกนำไปตีพิมพ์ในที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นที่กลันตัน สิงคโปร์ อีโปห์ ปีนั่ง หรือที่มักกะห์บางส่วนและที่อียิปต์

กีตาบยาวีสร้างคนให้เป็นมุสลิม

อุสตาซอะหมัด ฟัตฮี กล่าวว่า บทบาทที่สำคัญของกีตาบยาวีปาตานีในที่อื่นๆ เช่นที่ยะโฮร์ ถ้าใช้กีตาบยาวีที่ใช้ภาษามลายูปาตานีบางคำคนยะโฮร์อาจไม่เข้าใจหรือไม่รู้ความหมาย จึงมีนักวิชาการคนหนึ่งจัดทำปทานุกรมขึ้นมาเพื่อใช้ประกอบการเรียนรู้กีตาบยาวีปาตานี บ่งบอกถึงความสำคัญของกีตาบยาวีปาตานีในการเรียนการสอนศาสนาอิสลาม

เนื่องจากกีตาบยาวีของคนปาตานีมีความน่าเชื่อถือมากและความรู้ที่มาจากกีตาบยาวีปาตานีนั้น ทำให้คนมลายูปาตานีเป็นคนมุสลิม หรือแม้แต่คนกลันตันก็เป็นคนมุสลิมด้วย เช่น คนมลายูปาตานีได้เรียนรู้วิธีการละหมาด เรียนรู้เรื่องฮาลาลฮารอม เรื่องบุคลิกภาพ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะมาจากไหนถ้าไม่มาจากกีตาบยาวี ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะอารยธรรมมลายู

สุดท้าย กีตาบยาวีเหล่านี้มีความน่าเชื่อถือสูง ถือว่าไม่ใช่หนังสือธรรมดา เนื่องจาก หนังสือเหล่านี้เขียนโดยมหาปัญญาชน และมีหนังสือรับรองจากปัญญาชนอื่นๆว่า หนังสือเหล่านี้สามารถใช้ได้เนื่องจากมีลักษณะที่น่าเชื่อถือสูง สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงความสำคัญของกีตาบยาวีปาตานี

 

 2,865 total views,  2 views today

You may have missed