เมษายน 25, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ชุมชนบ้านแยะนราธิวาส STAY AT HOME กับการฝ่าวิกฤติ Covid-19

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูร บินชาฟิอีย์(อับดุลสุโก ดินอะ)รายงาน
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน


ได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ฆอซาลี ฮาแว แกนนำคณะทำงานชุมชนบ้านแยะ ตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563ความเป็นจริงท่านมีตำแหน่งรองประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ แต่วันนี้จะมาให้ถ่ายทอดการทำงานในชุมชนท่านเองในการจัดการตนเองเกี่ยวกับการฝ่าวิกฤติCovid-19 ซึ่งต้องยอมรับว่าชุมชนของท่าน ตำบลของท่านและอำเภอของท่านคือยี่งอ คือ1/5 อำเภอของจังหวัดนราธิวาสที่ยังไม่สถิติคนได้รับเชื้อนี้
ท่านเล่าให้ฟังว่า

“สถานการณ์และจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสะสมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 103 คน เสียชีวิต 4 คน โดยแบ่งจังหวัดยะลา 45 คน ปัตตานี 44 คน นราธิวาส 14 คน (ข้อมูลวันที่ 2 เมษายน 2563) โดยมีประชากรประมาณ 1 ล้าน 8 แสนคน ใช้ภาษามลายูในการสื่อสาร 79 % ราว ๆ 1 ล้าน 4 แสน โดยมีการสื่อสารผ่านบุคคล เช่น คนสนิท คนใกล้ชิด คนในชุมชนมากกว่าสื่อสารทางอื่นถึง 44.8 % ราว ๆ 8 แสนคน ส่วนการรับข่าวสารผ่านโทรทัศน์มากสุดที่ 65.9 % ใช้โซเชียลมีเดียมีไม่น้อย เฟสบุค 42.3 และ ไลน์ 39.4 % หากจะมองว่าการไม่รับรู้ถึงสถานการณ์โดยเฉพาะวิกติโควิด 19 ก็ไม่น่าจะถูก แต่ถ้าจะมองว่าสื่อเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยมากกว่าภาษามลายูก็อาจจะใช่แต่ไม่ทั้งหมดเพราะคนในพื้นที่สื่อสารในภาษามลายูสูงถึง 79 % แต่ก็มีมิติที่สำคัญกว่าก็คือ ทัศนคติและความเชื่อแบบวิถีของพื้นที่ ปรากฏการณ์โควิดเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏที่จะต้องให้คนกักตัวอยู่ในบ้านถึงขั้นปิดมัสยิดไม่ให้ไปละหมาดรวม ซึ่งเป็นความผูกพันในอัตลักษณ์และจารีตวิถีปฏิบัติ (กลัวโควิดมากกว่ากลัวอัลลอฮฺ พวกที่ไม่ตะวักกัล ฉันก็ไม่ค่อยไปละหมาดที่มัสยิดทุกครั้งหรอกแต่รับไม่ได้กับการไม่ให้ละหมาดที่มัสยิดและปิดมัสยิด

แล้วหากเราไม่ไปละหมาดวันศุกร์ครบสามสัปดาห์ใครจะรับผิดชอบ และเจลที่มีแอลกอฮอล์นั้นฮะรอมนะ รู้หรือเปล่า บางคนกล่าว) หากสถานการณ์โควิดยังดำรงเช่นนี้อีก การทำมาหากินก็จะยิ่งแย่ มาตรการของรัฐจะยิ่งใช้ยาแรงขึ้น สุดท้ายอาจจะถึงขั้นการ LOCK DOWN 100 % คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า ปิดบ้าน ปิดเมือง ไม่มีการออกไปทำงาน ทุกคนต้องอยู่ที่บ้าน ที่นี้สิ่งที่จะกระทบอีกก็คือ การใช้จ่ายในยามวิกฤติหากปิด 1 เดือนก็จะเพียงสำหรับรายได้ 1 เดือน หากเลิกจ้าง หรือ คนที่มีรายได้รายวัน ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้ 100-166 วัน นั้น จะเริ่มหมดลง และหากมีเงินเก็บหรือมีทอง จะขายทอง 1 บาท ก็จะใช้ได้เงินในส่วนนี้อย่างมากก็ 4 เดือนครึ่ง ลองเรามาใคร่ครวญ วันนี้เราอาจจะมีความรู้สึกอึกอัด รู้สึกว่ามันไม่ใช่ รู้สึกว่าผู้นำศาสนาทำไมทำแบบนี้ ลองทำตามคำสั่งหรือประกาศของผู้นำที่ปกครองเรา ผู้นำในทางศาสนาและหมอที่ต้องรักษาคนจำนวนมาก โดยที่อยู่ที่บ้านกับครอบครัว ดูแลตัวเอง ดูแลสังคมให้รอดพ้นจากภัยโควิดนี้ พร้อมกับนั่งขอดูอาจากอัลลอฮฺให้เราทุกคนผ่านพ้นจากบททดสอบนี้โดยเร็ว จากนั้น มอบหมายต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ตะวักกัล)
#StayAtHome #อยู่บ้าน #DudukRumah เพราะ   โควิดไม่ได้ถามว่าคุณ คือ ใคร ขอแค่คุณเป็นมนุษย์ก็มีสิทธิที่จะได้รับเชื้อ ทั้งชาวบ้าน ข้าราชการ ผู้นำ/ผู้บริหารประเทศ นักธุรกิจ จน รวย เด็ก หนุ่ม/สาว ผู้ใหญ่ แก่ชรา มาจาก USA, ปากีสถาน หรือที่ไหนๆ ก็ต้องกักตัวเพื่อรับผิดชอบต่อสังคม

ดังนั้นแต่ละชุมชนจึงจำเป็นต้องร่วมด้วยช่วยกันการจัดการตน ชุมชนเราก็เช่นกันมีการทำงานร่วมจากตัวแทนหลายภาคส่วน ไม่ว่าทีมงานฝ่ายปกครอง ผู้นำศาสนา สตรี นักวิชาการ และทีมเยาวชนที่ร่วมมือร่วมแรงกันในการแบ่งหน้าที่ตามแต่ความสามารถ ร่วมออกแบบ ร่วมกันเคาะประตูบ้าน ร่วมกันอธิบาย ร่วมกันสื่อสารโดยเฉพาะการใช้ภาษามลายูผ่านทุกช่องทาง มีการติดป้ายประกาศทั้งภาษาไทยภาษามลายู เช่นคำว่าหมู่บ้านนี้ไม่ต้อนรับคนไม่ใส่ Mask จะอยู่บ้านหรืออยู่กุโบร์(สุสาน) มีการตักเตือนพร้อมเหตุผลคนไม่ใส่Mask หน้ากากอนามัยพร้อมทั้งการเเจกใบปลิว Mask เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น มีการไปขอความร่วมมือที่รวมคนมากๆเช่นโรงนำ้ชา ศาลาพักผ่อน มีการตั้งด่านและเวรยามคนเข้าออกหมู่บ้าน และอื่นๆ “
นี่แค่หนึ่งตัวอย่างการจัดการชุมชนในการรับมือวิกฤติ Covid-19 ซึ่งมีอีกหลายชุมชนชายแดนภาคใต้

หมายเหตุ
ประมวลภาพและคลิปตัวอย่างการขับเคลื่อนชุมชนแก้ปัญหาCovid-19
1. https://www.facebook.com/1048001725/posts/10218509685187221/?d=n
2. https://www.facebook.com/1048001725/posts/10218506183379678/?d=n

 1,002 total views,  2 views today

You may have missed