พฤศจิกายน 27, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

เรื่องสั้นเพื่อสันติภาพ: กราฟชีวิต กับอัตลักษ์ชายแดนใต้

แชร์เลย
โดย.. ยาการียา กามา อุสตาซ ร.ร.รุ่งโรจน์วิทยาจะนะ จ.สงขลา..
(หมายเหตุเรื่องสั้นนี้เคยเผยแพร่เเล้วในจดหมายข่าวโรงเรียนรุ่งโรจน์วิทยา เมื่อ 21 ธันวาคม 2562)
    เรื่องเล่าที่กระผมจะนำเสนอต่อไปนี้ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าของกระผมเอง ตั้งใจที่อยากจะถ่ายทอดถึงชีวิตความเป็นอยู่ อารมณ์ ความรู้สึก และประสบการณ์ดีๆ ที่เข้ามาในชีวิต เพื่อเป็นข้อเปรียบเทียบจากการใช้ชีวิต ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน โดยการนำเนื้อเรื่องมาเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตประจำวันที่นำเอาหลักทรงงาน ๒๓ ประการ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ซึ่งจะได้รับประโยชน์และประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างแท้จริง
    ช่วงที่กระผมกำลังรอรถไฟมาเทียบชานชะลา นึกตำหนิตัวเองว่าทำไมต้องปล่อยให้เวลามันผ่านไป เดือนกว่าแล้วนะที่ไม่ได้กลับไปบ้านเกิด จนกระทั่งผู้เป็นแม่จะต้องโทรมาบอกให้กลับบ้าน คราวนี้ก็เหมือนกัน ถ้าไม่ใช่งานแต่งของญาติสนิท ก็คงยังไม่กลับเพราะถ้าหากแม่สบายดีไม่เจ็บไม่ป่วย เงินที่เก็บเอาไว้เพื่อใส่น้ำมันรถกลับบ้านเปลี่ยนเป็นส่งให้แม่จะดีกว่า ดั่งที่เขาพูดกันว่าเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เพราะเราก็โทรหากันอยู่แล้ว สักพักได้ยินเสียงรถไฟดังมาแต่ไกล มันฝืนความตื่นเต้นไม่ได้เพราะรถไฟเป็นจุดๆหนึ่งที่ผู้ไม่หวังดีคอยสร้างสถานการณ์ มันรู้สึกเสียวสันหลังยังไงพิกล ก็ได้แต่ขอภาวนาต่อเอกองค์อัลเลาะฮ์อย่าให้มันเกิดเรื่องร้ายๆเถิด (อามีน) เมื่อคิดมาถึงจุดนี้ มันทำให้กระผมคิดถึงแม่จับใจ และอยากให้ถึงจุดหมายปลายทางไวๆ คิดพลางเดินเบียดเสียดขึ้นขบวน
    “ท่านผู้โดยสารโปรดทราบ ที่นี่สถานีรถไฟยะลา ที่นี่สถานีรถไฟยะลา ท่านที่ต้องการจะลงจากขบวนรถขอให้ตรวจสัมภาระของท่านให้เรียบร้อยด้วยครับ” ได้ยินเสียงชัดเจนจากประชาสัมพันธ์ ผมกุลีกุจอเก็บสัมภาระเดินเบียดเสียดลงจากขบวน หลังจากได้ซ่อนกระเป่าสตางค์ให้มิดชิดตรงดิ่งไปหารถสองแถว ไม่อยากจะอยู่นานๆ กลัวลูกหลง ผู้ที่คอยสร้างสถานการณ์หัวใจของเขาทำด้วยอะไรหนอ? มันช่างใจร้ายเหลือเกิน ถ้าเกิดขึ้นกับลูกหลาน ญาติ พี่น้องของเขาเอง เขาจะรู้สึกอย่างไร? เขาจะร้องให้หรือเปล่านะ? คิดทีไรหดหู่ใจทุกครั้งเลย ถ้าเป็นเมื่อก่อนต้องเดินเที่ยวให้เหนื่อย สะใจ ก่อนกลับบ้าน ถึงแม้ว่าเมื่อก่อนยังไม่ได้ปรับภูมิทัศน์ให้เหมือนตอนนี้ แต่มันก็รู้สึกดีไม่น่ากลัว วันนี้โชคดีที่ได้นั่งด้านหน้าข้างโชเฟอร์ คงเห็นกระผมหน้าซีดเหมือนเมารถยนต์หรือเปล่าก็ไม่ทราบ จะอย่างไรก็ช่าง กระผมก็ไม่ได้ใจดำ ถ้าหากมีคนเฒ่าคนแก่มาขอนั่งหลังจากนี้ แต่ถ้าหากเป็นวัยรุ่นคงยาก เพราะเมื่อสมัยกระผมวัยรุ่นก็เคยถูกปฏิเสธทุกครั้ง โชเฟอร์จะให้เหตุผลว่ามีคนจองแล้ว คนที่จองคงไม่พ้นสาวๆ แล้วก็อดนึกขำคนเดียว เพราะโชเฟอร์รถโดยสารมักหลายใจมีภรรยาหลายคน สาวๆก็ใช่ย่อยซะที่ไหน ชอบที่จะเกี้ยวพาราสี เพื่อจะได้นั่งด้านหน้า ตากแอร์เย็นฉ่ำ มิหนำซ้ำแถมขึ้นรถฟรีได้สองเด้ง จะไปว่าเขาสุ่มสี่สุมห้าก็ไม่ได้ ดูตัวเองซิ ถ้าไม่มีเงินสองสามพันคงกลับไม่ได้ ของก็ยากหมากก็แพง แม่ก็เลยเสนอให้กลับกับรถไฟจะได้ประหยัด คิดไปเรื่อยเปื่อย ผ่านด่านไม่รู้กี่ด่าน เลยคิดขำๆคนเดียวอีกว่า คนที่คอยสร้างความไม่สงบหนีไปได้อย่างไรนะ ถ้าหากเปลี่ยนแนวคิดจากด่านบล็อกเป็นการนำใช้หลักทรงงาน ๒๓ ประการของในหลวงคงจะประสบความสำเร็จ
    “จอดตรงไหนครับ” โชเฟอร์ถาม “หน้าศาลาทางหลวงครับ” ผมตอบ กระผมเก็บสัมภาระลงจากรถพลางคิดในใจว่าทำไมมันช่างเงียบเหงาจังเลย บ้านลุงบุญดูรกร้างเหมือนไม่มีใครอยู่ก็เลยคิดถึงสมัยเด็กๆ ใครที่จะอยู่ที่นี่ก็ต้องอดทนกับการทำสวน รายได้หลักของคนที่นี่มาจากสวนยางพารา คนไม่ชอบงานที่ต้องออกแรงก็มักจะออกหางานอื่นทำในเมืองหรือถ้าหากผู้ที่แต่งงานแล้วก็ต้องดูว่าบ้านสามีหรือภรรยาที่น่าจะปักหลักเพื่อทำมาหากิน นอกจากว่าพ่อแม่มีลูกคนเดียวไม่มีใครดูแลก็ต้องจำยอม บางคนถึงกับบังคับลูกไม่ให้แต่งงานไกลบ้าน กระผมนั่งลงพร้อมเอนหลังบนเก้าอี้หน้าบ้านเพื่อหยุดพักเหนื่อยจากการเดินทาง
    “แอบุง แอบุง แอบุง‘’ได้ยินพ่อของกระผมเรียกลุงบุญเวลาเช้าตรู่ผ่านรั้วกินได้ และหมอกหนาหลังจากที่พ่อของกระผมกลับจากการปฏิบัติศาสนกิจละหมาดซุบฮี คือ ละหมาดที่ถูกกำหนดระหว่างเวลา 5-6 โมงเช้า เพราะเมื่อคืนฝนตกหนักชาวบ้านไม่กรีดยาง ถือเป็นวันหยุดสำหรับชาวสวนยาง แต่สำหรับผู้ที่มีความขยันและมีความเพียรก็จะคอยเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสไปถางหญ้าถางป่าตามแนวร่องต้นยาง บางคนก็จะไปหาปลาตามคลองหลังหมู่บ้าน บางคนก็จะตัดกล้วยไปขาย และที่ชาวบ้านนิยมกันก็คือ ถือโอกาสเก็บยางแห้งและขี้ยางไปขายเพื่อไม่ให้เวลามันผ่านไปโดยไร้ประโยชน์ (แอบุง) คือ นายบุญเป็นลุงข้างบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ เป็นเพื่อนบ้านที่คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เรานิยมกั้นรั้วแบ่งเขตจากโครงการรั้วกินได้ของในหลวง ช่วงนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่จะนิยมปลูกต้นลองกองสลับกับต้นทุเรียนและ เสริมด้วยพืชผักสวนครัว
    “ตะเดาะ ยอฆีเกอดา’’ กะนิแอบุงตอบมาจากใต้ถุนบ้านว่า “ไม่อยู่จ๊ะลุงแกไปตลาด” (แอ) จากคำว่า
แอบุง เป็นคำนำหน้า ที่ไทยอิสลามใช้เรียกไทยพุทธ โดยที่ไม่มีนัยยะอะไรแอบแฝงและก็ไม่มีใครถือสา แม้ว่าทุกคนก็ทราบคำว่า (แอ) คงมาจากคำว่า (ไอ้) ซึ่งเป็นคำที่อาจจะดูไม่สุภาพสำหรับนักวิชาการสมัยใหม่ที่ชอบแปลความหมายจนทำให้คำที่ไม่มีใครถือสาเป็นคำที่ทำให้รู้สึกแย่ และมันไม่ดีเลย คนชายแดนภาคใต้จะนิยมเรียกกันอย่างนี้ เพราะรู้สึกเป็นกันเอง ชื่อไพโรจน์ จะเรียก “แอโร๊ะ” ชื่อนายมะยม จะเรียก ”แอยง” ชื่อนายสมหวัง จะเรียก “แอแว” เป็นต้น หรือถ้าหากเป็นผู้หญิงก็จะเพิ่มคำนำหน้าว่า (กะนิ)และต่อด้วยชื่อสามี เช่น กะนิแอบุง คือ ภรรยาของลุงบุญ แปลง่ายๆก็คือมาดามของลุงบุญนั่นเอง คนที่นี่จะร่วมกันใช้ชีวิตแบบพหุวัฒนธรรม กระผมจำความได้ก็นับตั้งแต่รัฐได้ให้โอกาสแก่ประชาชนเพื่อมีที่ดินทำมาหากิน ซึ่งจะนิยมเรียกกันว่า (ที่ดินนิคมสร้างตนเอง) คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธกับคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามจะมีสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจต่างกันคือ วัดสำหรับคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ และมัสยิดสำหรับคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามช่วงเช้าไทยอิสลามไปมัสยิดส่วนพระจะออกบิณฑบาตโดยที่มีเด็กผู้ชายสะพายกระเป๋าพร้อมสุนัขเดินตามหลังฝ่าหมอกยามเช้าซึ่งภาพเหล่านี้ไม่มีให้เห็นแล้ว กิจกรรมจากวัดที่ส่งเสียงดังแค่ไหนก็จะไม่รู้สึกว่าเป็นการรบกวน หรือเสียงอาซานจากมัสยิดทุกๆวัน ๕ เวลา ก็จะไม่รู้สึกเป็นการรบกวนเช่นกัน
  แอบุง (ลุงบุญ) วันนี้ยังไม่เห็นหน้าก็เลยถามข่าวคราวด้วยความห่วงใยเพราะบางวันหรือเกือบทุกวัน ลุงแกจะมาถางหญ้าใต้ต้นไม้แนวรั้วที่จะสลับกับต้นของกระผมปลูกห่างกันเยื้องๆแค่ครึ่งเมตร แค่ให้เห็นเป็นขอบเขตโดยที่ไม่ได้หวังผลจากต้นไม้สักเท่าไหร่นัก ซึ่งคนที่นี่ไม่นิยมกั้นรั้วปิดตาย เพราะชาวบ้านจะหาว่าเป็นคนหยิ่ง คบค้าสมาคมกับใครไม่เป็น เมื่อมีปัญหาอะไรชาวบ้านก็ไม่ไปยุ่งไม่ไปช่วยเหลือ
    วันต่อมา ได้ยินลุงบุญเรียกพร้อมยื่นหัวข้ามแนวรั้วมาว่า “บอมุงอาดอเดาะ?” (พ่ออยู่ไหม?) บอ หรือ อาเยาะห์ เป็นคำที่คนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้เรียกบิดาผู้บังเกิดเกล้าและคำว่า “บอ” ที่ย่อมาจากคำว่า บาบอ และ มามา หรือแมะ ใช้เรียกมารดา นั่นเป็นคำที่คนที่นี่ชอบที่สุด ไม่ใช่ว่าเป็นคำเฉพาะที่ใช้เรียกเจ้าของสถาบันปอเนาะอย่างที่ได้ยินกันเพียงอย่างเดียว ลุงบุญถาม “บอมุงอาดอเดาะ?” บอ คือ พ่อ มุง คือ เธอหรือคุณ อาดอ คือ มี เดาะ คือ ไหม? กระผมตอบไปว่า “ตะเดาะ บอฆีบูเกะ” ตะเดาะ คือ ไม่อยู่ ฆี คือ ไป บูเกะคือสวน (ไม่อยู่ครับ พ่อไปสวน)
    ลุงบุญ และเกือบทุกคนที่เป็นไทยพุทธในหมู่บ้าน จะพูดภาษามลายูยาวีได้คล่องมากจนบางครั้ง คนต่างถิ่นที่ไม่รู้จัก จะแยกแยะไม่ได้ว่าเป็นไทยพุทธหรืออิสลาม ถ้าหากไม่สังเกตที่ผ้าคลุมหัว และหมวกกือปีเยาะฮ หรือถ้าพูดไม่เป็น ก็จะเข้าใจในสื่อภาษาได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียวเชียว หลักฐานชัดเจนเราสังเกตได้จากที่เวลาลุงแกจาม ลุงบุญจะอุทานออกมาเป็นการขอบคุณพระเจ้าเหมือนกับไทยอิสลามคือจะกล่าว (อัลฮัมดูลิลลาฮ) ซึ่งเป็นภาษาอาหรับและลุงบุญก็ไม่ทราบว่ามันมีความหมายเยี่ยงใด  หรือแม้แต่เวลาลุงแกสะดุดตอไม้หรือมีการตกใจกับเรื่องอะไรสักอย่างก็จะกล่าว (อัลเลาะห์ฮูอักบัร) ซึ่งเป็นภาษาอาหรับเช่นกันมีความหมายว่า พระเจ้าอัลลอฮผู้ทรงยิ่งใหญ่นั่นเอง
    “กะนิ กะนิ กะนิ มารับตูปะด้วยครับ” ผมตะโกนเรียกพร้อมเห็นกะนิแอบุงกุลีกุจอลงบันไดบ้านยกพื้นมีใต้ถุน ”ขอบใจมากจ๊ะ หิวพอดีเลย” กะนิตอบพร้อมกับรอยยิ้ม (ตูปะ)ที่ย่อมาจาก กือตูปะ เป็นข้าวต้มที่นิยมห่อด้วยใบกะพ้อคนที่นี่เรียกว่า ”ตูปะดาวุนปาละฮ์” จะทำขึ้นในวันรายอ(ตรุษอิสลาม) ซึ่งจะมี ๒ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ จะเฉลิมฉลองหลังจากได้ปฏิบัติถือศีลอดครบ ๑  เดือนเต็มในเดือนอาหรับรอมฎอน ครั้งที่ ๒ จะเฉลิมฉลองด้วยการเชือดพลีที่จะใช้เวลา ๔ วัน และจะเพิ่มความสนุกอีกรอบสำหรับผู้มาเยือนที่มาในช่วงหลังเจ็ดวัน นับจากตรุษรอมฎอนซึ่งคนที่นี่จะเรียกว่า รายอแน (ตรุษหก) เพราะในศาสนาอิสลามส่งเสริมให้มีการถือศีลอดอีกหกวัน หลังจากจากหกวันก็จะเฉลิมฉลอง และมันอาจจะดูอลังการกว่าเดิม เนื่องจากว่ามีโอกาสและเวลาพอ เพื่อที่จะพบปะสังสรรค์มากเป็นพิเศษ เช่นจะนัดกันไปเยี่ยม (กูโบร์) สุสาน ต่อด้วยชายหาด น้ำตก และห้าง ทุกๆปี เราก็จะยื่นตูปะให้เพื่อนบ้าน บ้านละ๕-๖ ลูก หรือจะนิยมผูกเป็นพวงสวยงาม บางบ้านก็จะเตรียมเงินในซองอั่งเปาสำหรับเด็กๆที่มาเยี่ยมบ้าน และที่เด็กชอบที่สุดคือช่วงหลังเสร็จสิ้นภารกิจละหมาด ที่ศาสนาอิสลามส่งเสริมให้มีการละหมาดวันตรุษ ผู้นำศาสนาร่วมกับชาวบ้านจัดให้เด็กเข้าแถวเป็นระเบียบเพื่อบริจาคทาน (ศอดาเกาะฮ์) เงินบริจาคถือเป็นอั่งเปาให้แก่เด็กๆที่ทางผู้นำศาสนาเก็บรวบรวมจากชาวบ้านที่มาละหมาดในเช้าวันตรุษ และมาบวกลบคูณหารแบ่งให้ได้เท่าๆกัน มิหนำซ้ำมีขนมนมเนยแจกอีกคนละถุง จนทำให้หลายๆคนฝันที่อยากจะกลับมาเป็นเด็กอีกครั้ง
    เราฝันที่จะย้อนไปสู่อดีต อดีตที่มีแต่ความสวยงามในสังคมพหุวัฒนธรรม อดีตที่มีแต่ความทรงจำดีๆ มีธุระในเวลากลางค่ำกลางคืนดึกดื่นก็ไม่น่ากลัว หลายๆคนสนุกสนานใต้ศาลาทางหลวงจนสว่าง ไม่มีเสียงปืน เสียงระเบิด เหมือนทุกวันนี้ มีแต่เสียงนกเสียงสัตว์อื่นๆมากมายจากป่าสงวนของในหลวงที่ร้องระงมเซ่งแซ่ออกมา บ่งบอกว่าป่ามีความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นบางสิ่งบางอย่างที่ดีดีที่น่าจดจำก็ควรจะเก็บมันไว้ และบางเรื่องที่ไม่ดีที่ผ่านมาแล้ว ก็ขอให้มันเป็นแค่เรื่องของประวัติศาสตร์ อย่าเก็บไว้ให้เป็นสิ่งที่เปรียบเสมือนก้างปลา หรือหนาม ที่คอยทิ่มแทง บั่นทอนขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ
  อายุของคนเราเมื่อถึงวัยกลางคน จะรู้สึกว่ามันผ่านเรื่องราวอะไรมากมาย ซึ่งจะต้องใช้เวลาไม่ใช่น้อยที่จะเล่าให้ลูกหลานหรือใครฟัง ถ้าหากจะลากเส้นเป็น กราฟแห่งชีวิต ของแต่ละคนนั้น จะเหมือนรูปทรงปีระมิด ที่ตั้งตระหง่านในประเทศอียิปต์นั้นเอง ซึ่งได้ซ่อนเรื่องราวมากมายหลายอย่างอนึ่งชีวิตของคนเราแรกเกิดจนถึงอายุ ๓๐ ปี เป็นช่วงทางขึ้นที่จะต้องใช้ทั้งแรงกายแรงใจ ความพยายาม ความเพียรมุมานะอดทนเพื่อที่จะไขว่คว้าให้ถึงเป้าหมายที่วาดและหวังไว้ แต่เมื่ออายุถึงช่วงลงก็จะต้องรู้จักชะลอความเร็วในการเดินทาง ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงในการใช้ชีวิตถ้าหากเรานำหลักการทรงงาน ๒๓ ประการของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันก็จะประสบความสำเร็จทั้งในด้านตัวบุคลและส่วนรวมเป็นอย่างยิ่ง
    จำความได้ช่วงกระผมมีอายุ ๗ ปี ได้มีโอกาสได้เข้าเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ครูได้สอนและเน้นย้ำถึงปณิธานของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงเล็งเห็นการพัฒนาประเทศไทยด้วยการสร้างคน ให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกัน กระผมก็เชื่อและศรัทธาว่าเมื่อคนได้รับการศึกษา คนก็จะฉลาดและเมื่อคนฉลาด ชาติก็จะเจริญ คนที่ได้รับการศึกษาที่ดี มีความรู้มากๆนั้น คือ ความฝันและเป็นแรงบันดาลใจของกระผม พร้อมอีกหลายๆคนในท้องถิ่น ซึ่งจะสอดคล้องกับศาสนาอิสลามที่กระผมนับถืออยู่ มีหลักฐานชัดเจนในหลักคำสอนของศาสดามูฮำหมัดได้กล่าวว่า : (สูเจ้าจงเรียนรู้จนถึงหลุมฝังศพหรือวัยชรานั้นเอง และสูเจ้าจงเสาะแสวงหาความรู้ ถึงแม้ว่ามันจะต้องเดินทางไกลถึงประเทศจีนก็ตาม)
    ช่วงสามสิบกว่าปีก่อน รถราที่โลดแล่นบนท้องถนน โดยเฉพาะเส้นทางนอกเมืองมีน้อยมาก น้อยจนทำให้พวกเราในวัยเด็กได้มีกิจกรรมเพิ่มจากหลายๆกิจกรรมหลังเลิกเรียน คือกิจกรรมนับรถบนถนนทางหลวงที่มาจากขวามือหรือซ้ายมือผ่านมามากที่สุด เด็กๆจะชวนกันมาเล่นใต้ศาลาริมทางหลวงที่มีสีน้ำตาลและหลังคาสังกะสีทาสีเหลืองเกือบทุกวัน และมันก็ดีกว่าที่เด็กบางคนจะพาหนังสติกไปยิงนกเพราะมันบาป
    “เธอจะเลือกขวาหรือซ้าย?” เพื่อนไทยพุทธที่มีชื่อว่า (จุก) เอ่ยถามหลังจากหาที่นั่งห้อยเท้าสองข้างไปมา “ฉันเลือกขวามือ” ผมตอบ “ไม่ได้นะ ฉันเลือกขวามือดีกว่า” เพื่อนรู้ทันกระผม เพราะว่าทางขวามือรถกลับมาจากในเมืองจะผ่านมากกว่า นี่ก็เย็นมากแล้ว ผู้คนที่ขับรถราจะไม่ไปในเมืองนอกจากว่าจะมีธุระจำเป็น “ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องเป่ายิงชุบ” ผมตอบกลับ การเป่ายิงชุบนี้เป็นการสื่อกับมือเป็นรูปต่างๆ เช่นกำปั้นแทนหินเป็นต้น ซึ่งเป็นทฤษฏีที่จะกำหนดแพ้ชนะได้ โชคดีที่กระผมชนะ เลยได้ขวามือไปครอง แต่จะอย่างไรก็ตามมันก็ยังไม่แน่ใจว่ารถจะผ่านมามากหรือเปล่า ถ้าหากรถผ่านมาฝั่งที่เราเลือก ๑๐ คัน ก็จะมีโอกาสได้เขกหัวเข่าเพื่อน ๑๐ ที เกมที่ว่านี้มันสนุกอย่าบอกใครเชียว แม้ว่าการลงโทษฝ่ายตรงข้ามด้วยการเขกหัวเข่านั้นมันสะใจ แต่ก็เป็นแค่ทฤษฎีเท่านั้น จริงๆแล้วเราแค่เขกเบาๆพอเป็นพิธีเท่านั้นเอง สุดท้ายเราก็หัวเราะกันสนั่นศาลาเลยทีเดียว “กลับบ้านได้แล้วลูก เสียงอาซานจากมัสยิดดังแล้วนะ” เสียงแม่เรียกมาแต่ไกล “ครับแม่” ผมตอบอย่างไม่รีรอ เพราะมันมืดจนมองไม่เห็นขนบนแขนสะแล้ว (อาซาน) คือคำจากภาษาอาหรับ เป็นการเรียกให้ผู้คนมาละหมาดร่วมกันหลายๆคนที่มัสยิด เพราะอิสลามถือว่าได้ผลบุญมากกว่าการละหมาดคนเดียวที่บ้าน ๑๐ เท่า ความหมายในประโยคอาซานที่สรุปได้ดังนี้คือ กล่าวความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า มูฮำหมัดเป็นศาสดา ใครที่ต้องการผลบุญจากสิ่งที่ดีๆ ก็ให้สูเจ้ามาละหมาดเถิด
    “ละหมาดเสร็จแล้ว เรียนกุรอ่านด้วยนะลูก” แม่เอ่ยสั่ง “ครับ เดี๋ยวรอเพื่อนก่อน” อิสลามนิยมที่จะเรียนอัลกุรอ่านหลังละหมาดมัฆริบหรือละหมาดช่วงค่ำ  พ่อของกระผมอาสาสอนลูกหลานเพื่อนบ้านเพราะเป็นอีหม่ำ คือ เป็นหัวหน้าหมู่บ้านด้านกิจกรรมทางศาสนาอิสลาม เพื่อนๆที่มาเรียนก็ต้องช่วยกันขนน้ำจากบ่อใส่โอ่งเพื่อเก็บไว้ล้างเท้า เพราะยังไม่มีน้ำประปาใช้ ส่วนไฟฟ้าไม่มี เราใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด บางคนจะพามาจากบ้านจะทำเป็นกล่องจากสังกะสีกันลมเป่า และมีมือจับข้างบนใส่ตะเกียงขนาดสั้นข้างใน ก็ส่องทางเดินให้สว่างได้สบายเลย คิดไปแล้วภูมิปัญญาท้องถิ่นนี่มันก็ไม่เลว บันไดและที่ล้างเท้าของบ้าน นิยมทำด้วยไม้กลมๆ หรือไม้ไผ่ เพราะเวลาล้างเท้า พื้นก็จะไม่แฉะเพราะน้ำจะไหลไปใต้ถุนบ้าน พร้อมขุดร่องน้ำไว้ด้านล่างเพื่อไม่ให้เป็นโคลนส่งกลิ่นฉุน พอได้ยินเสียงอาซานรอบ ๒ คือ ละหมาดอีซาหรือละหมาดสุดท้ายของกลางคืน พวกเพื่อนๆก็แยกย้ายกันกลับบ้าน บางคนขากลับยังไม่ถึงบ้าน ก็จะนัดกันเล่นซ่อนหาและตีไม้บนถนนทางหลวงที่ไร้ซึ่งรถราผ่าน ด้วยการอาศัยแสงจากดวงจันทร์และดวงดาวบนท้องฟ้า
    “เมื่อวานสนุกจังเลย รถจากซ้ายมือผ่านมาเยอะ” วันรุ่งขึ้นเพื่อนที่ชื่อจุกเดินเข้ามาทักพร้อมรอยยิ้มพลางเดินหิ้วปิ่นโตและกระเป๋าไปโรงเรียน “ใช่นายโชคดีจัง แต่ก็มากกว่าฉันแค่ ๓ คันเองนะ” ผมตอบยอมรับ
    ศาลาริมทางหลวงมีประโยชน์กับพวกเรามากมาย เราเล่นขายของ หมากเก็บ เป่ายาง ปาลูกแก้วและกระโดดยางกัน เวลาหิวเราจะล้วงเอาเครื่องบะหมี่แห้งมากินกับผลฝรั่งป่าที่อยู่ข้างศาลาทางหลวง มันช่างมีความสุขและมีเสน่ห์กับชีวิตเรียบง่ายอะไรอย่างนี้ สนุกสนานจนบางเรื่องต้องเก็บมาพูดและเล่าต่อซ้ำๆ
    “อย่าตัดไม้ในเขตทางหลวงนะ” พ่อกระผมจะคอยสอนคอยเตือนตลอดเวลาเมื่อมีโอกาส พ่อและชาวบ้านเกรงกลัวและเคร่งครัดในการปฏิบัติต่อป่าสงวนมาก แม้แต่ไม้ไผ่ หน่อไม้ ต้นกล้วย ก็ไม่ให้ไปยุ่ง เพราะพ่อกลัวถูกจับ ผมพึ่งรู้ว่าเป็นเหตุผลที่พ่อบอกกับเราวัยเด็กๆให้เข้าใจได้โดยง่าย แต่จริงๆแล้วประโยชน์ที่ตามมาจากการไม่ตัดไม้ทำลายป่านั้นมีประโยชน์มหาศาลในหลวงทรงปลูกป่าในใจคนจริงๆ ถ้าหากมีความจำเป็นที่จะต้องตัดไม้ในสวนของตัวเอง ก็จะต้องปลูกทดแทนด้วยต้นยางหรือต้นไม้ที่ให้ผลผลิตแก่เรา เมื่อคนๆนั้นรักในหน้าที่การงานของตัวเอง เขาจะทำงานอย่างมีความสุขบนเนื้อที่ที่เขามีสิทธิ บวกกับความเพียรของพวกเขา ทำให้พวกเขาชนะกับปัญหาทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิต เพราะพวกเขาศรัทธาว่าการเป็นผู้ให้และเสียสละในหลักการขาดทุนคือกำไร ไม่โลภมากนั้นมันช่างเป็นหลักการที่ให้ความสุขอย่างแท้จริง
    พ่อกระผมพูดเสมอว่า “เราจะต้องรู้จักอยู่กับธรรมชาติ” เพราะถ้าหากเราคอยแต่ตัดต้นไม้ทำลายป่า สักวันกฎเกณฑ์ธรรมชาติจะลงโทษเรา เช่น ทำให้น้ำป่าไหลหลาก ไม่มีการดูดซึมของรากจากต้นไม้ใหญ่ น้ำก็จะท่วมและเกิดสภาวะแห้งแล้ง ด้วยหลักการใช้อธรรมปราบอธรรมของในหลวง เป็นแนวทางปฏิบัติในการแก้ปัญหาที่ประสบผลสำเร็จและยั่งยืน ถึงตอนนั้นกระผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมรุ่นพ่อแม่เรา มีกำลังส่งเสียลูกหลานเรียนสูงๆ กับสวนยางพาราที่มีไม่กี่ไร่ และปลูกสวนผสมไม่กี่ต้นตามแนวรั้ว ก็ไม่ใช่อื่นใดนอกจากหลักการที่ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติอย่างถูกวิธีของในหลวงอีกเช่นกัน แม้ช่วงนั้นเราไม่รู้จัก เซเว่น อีเลเว่น ห้างก็ไม่มี แต่เรามีรั้วกินได้ อเมริกันแอบเปิ้ล สาลีญี่ปุ่น เราไม่มี แต่เรามีผลฝรั่งข้างทาง ลำไยป่าตามริมคลอง และปลาน้ำจืดในคลองหลังหมู่บ้านที่มีเนื้อหอมหวานอร่อยอย่าบอกใครเชียว มันก็เพียงพอแล้ว
    “เรียนสูงๆนะลูก อย่าให้เป็นเหมือนพ่อ อยากได้อะไร ขาดอะไร ก็บอกมา” นั่นคือคำพูดของพ่อที่คอยย้ำเตือน อยากได้อะไรพ่อแม่ก็หามาให้ เพราะพวกเขารู้จักประหยัด อดออม อยู่อย่างเรียบง่ายและได้ประโยชน์สูงสุด พวกเขายึดหลักพออยู่พอกิน พยายามอดออมเพื่อใช้จ่ายในเวลาจำเป็น ถึงพวกเขาเรียนน้อย มีความรู้น้อย พวกเขาก็รู้จักประมาณการใช้จ่ายในครัวเรือน คือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงนั่นเอง เป็นหลักปรัชญาที่ทั่วโลกยอมรับ และยังสอดคล้องกับคำสอนศาสนาอิสลามที่แม้แต่เสื้อที่สวมใส่จะขาดก็จะส่งเสริมเย็บปักซ่อมแซมให้ใช้การได้ เพียงแค่ซักให้สะอาดสะอ้านอยู่ตลอดเวลาโดยที่ไม่จำเป็นซื้อใหม่ พวกเขาศรัทธาปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในหลักคำสอน ไม่เที่ยวเตร่ ไม่เที่ยวกลางคืน ไม่ดื่มเหล้าเคล้านารี เพราะผู้ที่จะทำการละหมาดห้าเวลาในทุกๆวันนั้น ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในภาวะปกติทั้ง กาย ใจ และสติปัญญา ดังนั้นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามคนใดขาดละหมาด อนึ่งเขายอมและกล้าที่จะกระทำสิ่งที่ไม่ดีถ้าหากมีโอกาสเพราะได้ขาดซึ่งเสาหลักของศาสนา นั่นก็คือละหมาดห้าเวลาในทุกๆวัน พวกเขาเหนื่อยจากการทำงานกลางวัน พวกเขาได้หลับใหลตั้งแต่หัวค่ำ ได้พักผ่อนเพียงพอ พรุ่งนี้ก็ตื่นไปทำงานวนเวียนอย่างนี้ไปจนจะจากโลกนี้ไป
    “เสียงระฆังดังขึ้นแล้ว เรารีบไปเข้าแถวกันเถอะ” ผมกล่าวกับเพื่อน ทุกคนรู้หน้าที่ที่จะต้องยืนตรงในการเคารพธงชาติ ซึ่งสื่อให้เห็นว่า ทุกคนจะต้องรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ความเป็นอยู่ในรั้วโรงเรียน ไทยพุทธ ไทยอิสลาม กลมเกลียวรู้รักสามัคคี   ก่อนคาบเรียนก็จะมีการสวดมนต์ของแต่ละศาสนาสลับกัน จนถึงตอนนี้กระผมก็ยังจำทุกคำแม้ว่าไม่ทราบความหมายของบท และกระผมถือโอกาสขอประทานอภัย ณ ตอนนี้หากผิดในคำที่ผมเขียนมาซึ่งมาจากการฟังทุกวันจนชินเราก็เลยจำโดยปริยาย ชัดบ้าง ไม่ชัดบ้างตามความจำของแต่ละคนคือ
    “อาราหัง สัมมา สัมพุทโธ พะกาวา พุทธัง พะกะวะทัง อภิวาเทหมิ สวาค้าโต พะกะวะตา ธรรมโม ธรรมมัง มาสาหมิ” และเพื่อนๆไทยพุทธก็แบมือทั้งสองข้างก้มลงกราบบนโต๊ะ ๓ ครั้ง ส่วนไทยอิสลามจะอ่านบท “ฟาตีฮะห์” ซึ่งจะอยู่บทแรกในอัลกุรอ่านที่มีการส่งเสริมให้อ่าน เปิดในงานต่างๆเกือบทุกเรื่องทุกงาน ด้วยวัยไร้เดียงสาเราก็มีการล้อเลียนคำบางคำในบทสวดไทยพุทธและไทยอิสลาม แต่ก็ไม่ได้ถือสาอะไรเพราะเรารู้รักสามัคคี ซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน พักเที่ยงเราก็ให้เกียรติซึ่งกันและกันด้วยการแยกกันรับประทานอาหารที่ทุกคนได้เตรียมมาจากบ้าน
    เสียงระฆังดังขึ้นบอกว่าถึงเวลาเลิกเรียนบ่าย ๓โมง “คืนนี้ฉันจะไปดูละครแก้วหน้าม้าบ้านเธอ จุกช่วยไล่หมาให้ด้วยนะ” ผมเอ่ยกับไอ้จุก เพื่อไทยพุทธที่สนิดที่สุด ซึ่งที่บ้านของเขามีโทรทัศน์ “ได้เลยเพื่อน แล้วเจอกัน” เพื่อนตอบด้วยความยินดี ในช่วงนั้นโทรทัศน์หาดูได้ยากมาก จอก็ยังไม่มีสีซึ่งจะมีเป็นขาวดำ ถ้ามีในหมู่บ้านก็คงต้องเป็นบ้านไทยพุทธ หรือไม่ก็ ที่ศาลาอเนกประสงค์ประจำหมู่บ้าน ซึ่งจะเปิดดูได้แค่เป็นช่วงๆ เพราะเป็นของส่วนรวม ส่วนบ้านของไทยอิสลามก็แทบจะไม่มีเลย เพราะตอนนั้นผู้นำศาสนาห้าม และยังไม่ยอมรับ เพราะในโทรทัศน์จะโชว์เนื้อหนังสรีระของผู้หญิงที่ไม่ใช่ภรรยาของเรา และเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮารอม) ช่วงหลังๆก็มีการยอมรับ แต่เลือกดูเฉพาะบางรายการเท่านั้น เช่น ดูรายการข่าว สารคดี มันเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนมาก จนบางครั้งจะรู้สึกเกินไป แม้กระทั่งใครที่มีโทรทัศน์ที่บ้านเมื่อทราบว่าญาติจะมาเยี่ยมบ้านก็จะรีบนำเอาผ้ามาคลุมซ่อนไว้ จนบางครั้งรู้สึกว่าละเอียดจนทำให้เป็นทางตันกับหลายๆเรื่องที่มีประโยชน์ อย่างไรก็ตามมันก็ดีมากมายเพราะเป็นการสอนไปด้วยเช่นให้เรารู้จักแบ่งเวลาเป็นต้น
    “แม่ครับคืนนี้คืนศุกร์ ผมจะไปดูโทรทัศน์บ้านเพื่อน” กระผมเอ่ยขออนุญาตแม่ทุกครั้ง “จ๊ะ แต่อย่ากลับดึกมากล่ะ” แม่ตอบ  คืนวันศุกร์ของไทยอิสลามคือวันพฤหัสบดีนั่นแหละ คืนวันศุกร์เป็นคืนที่ประเสริฐสำหรับมุสลิม เชื่อและศรัทธาว่าถ้าปฏิบัติศาสนกิจมากๆในคืนดังกล่าวจะได้รับผลบุญหลายเท่าตัว แต่ที่น่าแปลกใจก็คือเป็นวันหยุดสำหรับเด็กๆที่ไม่ต้องเรียนอัลกุรอ่าน  “แก้วหน้าม้าจะจบแล้วแม่” ผมเอ่ยกับแม่ก่อนเปิดประตูบ้าน “จ๊ะ!แล้วอย่าลืมกลับมาเล่าให้แม่ฟังด้วยละ แม่ขี้เกียจไป หมามันดุ” แม่ตอบ พร้อมทำหน้าสะบัดไปมา แม้ว่าต้องฝ่าดงหมาดุยังไงเราก็ยอมไป ถึงแม้จะมีลูกเล็กที่บ้านก็พากันอุ้มไปเหมือนกับไปดูหนังตะลุงกลางแปลงไม่มีผิดไม่เหมือนก็ตรงที่ไม่ต้องพาเสื่อเพื่อไปรองนั่งเพราะเจ้าบ้านใจดี
    “ไป ไป ไอ้ด่าง” เจ้าของบ้านต้อนรับอย่างดีด้วยการช่วยกันไล่สุนัข ซึ่งไทยพุทธนิยมชมชอบในการเลี้ยงสุนัขไว้เฝ้าบ้าน จะแตกต่างจากไทยมุสลิมถือว่าอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่ห้ามเลี้ยง จนกระทั้งว่าถ้าหากสุนัขเลียบางส่วนของร่างกายจำเป็นที่จะต้องล้างหกครั้งด้วยน้ำสะอาดและหนึ่งครั้งด้วยน้ำที่ปนกับดินโคลนสะอาด ก็ถือว่าสะอาดตามหลักศาสนาอิสลาม
    “กลับก่อนนะ ขอบคุณมากเลย วันเสาร์จะมาดูกระบี่ไร้เทียมทานต่อ” ผมเอ่ยกับไอ้จุก เมื่อละครได้จบลง แต่ทุกคนก็ไม่วายตื่นเต้นอีกรอบกับเสียงเห่าของสุนัข คิดๆไปมันมีทั้งตื่นเต้นและสนุก ยังดีที่สุนัขที่ดุอีกหลายตัวได้ถูกเจ้าของล่ามโซ่ไว้ ไม่อย่างนั้นคงได้วิ่งจนผ้าโสร่งหลุดเป็นแน่แท้ บ่นไม่ทันขาดคำ
    “อย่าวิ่งนะ” เสียงเจ้าของบ้านเตือนลูกชายเพื่อนบ้านคนหนึ่ง ที่ทำท่าจะวิ่งเมื่อเห็นสุนัขตัวหนึ่งเข้ามาใกล้ตัว แม้ว่าทุกคนก็ทราบดีว่าถ้าหากเราวิ่งหนี สุนัขก็จะไล่กัดทันที ทางแก้ก็คือเราต้องนั่งลงและเอาอะไรก็ได้ที่อยู่ใกล้ตัวสะบัดไล่ ทำเป็นใจดีสู้เสือ แค่นี้ก็ปลอดภัยหายห่วง
    “วันนี้เธอเลือกรถที่มาจากทางขวาหรือซ้าย” เพื่อนเอ่ยถามผมตอนเช้าวันรุ่งขึ้นใต้ศาลาเช่นเคย ผมกับเพื่อนเล่นอย่างสนุกสนานได้สักพัก ก็มีรถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซร์หรือมอไซร์) ภาษามลายูท้องถิ่นเรียกว่า (มูตู) ยี่ห้อดังจากบิริษัทยามาฮ้ารุ่นเบล (Yamaha bell) สีเหลือง รุ่นนี้ในตอนนั้น ใครมีไว้ครอบครองก็เท่ากับว่าเรียกเสียงกรี๊ดจากสาวๆข้างถนนได้สบาย ผู้ขับกับผู้ที่ซ้อนท้ายเป็นวัยรุ่นอายุประมาน ๑๗-๑๘ ปีแต่งกายด้วยผ้าโสร่งติดตราด้วยตราเก้าอี้ ซึ่งคนมุสลิม (ผู้ชายที่นับถือศาสนาอิสลาม) จะนิยมสวมใส่เพราะเป็นผ้าที่ใส่สบาย ไม่ร้อน ไม่ระคายเคืองผิวหนัง บวกกับเสื้อคอจีนผ่ากลางติดกระดุมเรียงห้าถึงหกเม็ด ภาษามลายูจะเรียกเสื้อตัวนี้ว่า (บายูตือโละบือลางอ) และบนหัวของทั้งสองคนจะเสริมความหล่อด้วยหมวกสีขาวจะเรียกว่า (กือปีเยาะ) ทับศัพท์มาจากภาษาอาหรับ ชุดที่สวมใส่ดังกล่าวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะถือว่าเป็นชุดที่เรียบร้อยและเท่ดูดีมากสำหรับผู้ชาย เสมือนว่าผู้ใส่เป็นผู้รอบรู้เก่งกล้าในวิชาความรู้อะไรจะขนาดนั้นเชียว  และดูดีในสายตาของคนที่นี่โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่จะปลื้มและให้ความไว้วางใจ ตรงกันข้ามจะเกลียดวัยรุ่นที่แต่งตัวด้วยกางเกงยีนเสื้อคอกลมสีดำสกรีนรูปภาพแปลกๆทั้งหน้าและหลัง ครอบด้วยหมวกแก๊ป ทั้งๆที่ใส่เพื่อบังแดด แต่คนที่นี่ยอมรับไม่ได้เพราะมันดูเหมือนเด็กเกเร ชอบทำตัวมีปัญหาเที่ยวเตร่ ขาดละหมาดนั้นเอง คนที่ใส่ชุดโสร่งเสื้อสีขาวหมวกกีอปีเยาะที่กล่าวมานั้นคนที่นี่จะเรียก (โตะปาเก) เป็นคำเรียกผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ที่ (ปอเนาะ) สถาบันปอเนาะ หรือ (ซือโกละฮ์ปอเนาะ)โรงเรียนเอกชนสอนอิสลามควบคู่สามัญ จะว่าไปใส่ผ้าโสร่ง รับได้ถ้าหากอยู่กับบ้าน แต่ถ้าต้องออกไปในเมืองที่ต้องโหนรถเมล์นั้น อย่าเลยเชียว เพราะจะเห็นภาพโดยไม่ต้องอธิบายสะด้วยซ้ำ ตรงกันข้ามใส่ชุดโต๊ะปาเกไปไหนมาไหนในปัจจุบันจะรู้สึกว่าสังคมกำลังมองไปในทางที่ไม่ดี ยิ่งไปกว่านั้นจะไว้หนวดไว้เคราก็ต้องคิดหนัก
    “ถ้าหากลูกฉันเรียนจบ ป.๖ ปีหน้า ฉันก็จะรีบส่งไปเรียนปอเนาะจะได้สบายใจ” กระผมและเพื่อนที่กำลังเล่นอย่างสนุกสนานได้ยินเสียงมาจากด้านหลัง ซึ่งมีผู้ชายรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อกระผม ๒-๓ คนที่กำลังนั่งอีกมุมของศาลา ใช่ซิ ถึงแม้ว่าพ่อแม่มีความสุขกับอาชีพที่ทำอยู่ แต่ก็เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนก็อยากจะเห็นลูกมีอนาคตที่ดี ด้วยการส่งเสริมให้ลูกมีการศึกษาที่ดี อีกอย่างลูกก็จะได้พึ่งพาตนเองตามหลักทรงงานของในหลวงเพราะสักวันพ่อแม่ก็จะจากเราไป ถ้าหากว่าเราไม่ตายไปเสียก่อน
    “พ่อครับปีหน้าจบ ป.๖ ผมจะไปเรียนต่อที่ปอเนาะ” ผมเอ่ยกับพ่อหลังเสร็จสิ้นจากการละหมาดช่วงเย็น “จริงนะ?” พ่อถามแกมย้ำให้แน่ใจ “ครับพ่อ” กระผมตอบยืนยัน ความหวังของพ่อแม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในตอนนั้น ถ้าหากได้ส่งเสียลูกๆเรียนศาสนาที่ปอเนาะ อนึ่งลูกกำลังทดแทนพระคุณของผู้บังเกิดเกล้า หรือถ้าหากเป็นไทยพุทธเสมือนได้ไปบวชเป็นพระที่วัดทดแทนพระคุณพ่อแม่ ผู้ปกครองบางคนจะไม่ให้ลูกกลับบ้านเลยหลังจากได้ส่งไปปอเนาะ นอกจากว่าปอเนาะจะปิดการเรียนการสอน ที่มีแค่สองช่วง ช่วงที่หนึ่งคือช่วงเดือนรอมฎอนเป็นเดือนถือศีลอดหนึ่งเดือนเต็มนับจากได้เห็นจันทร์เสี้ยว วันสุดท้ายของเดือนชะบานช่วงพระอาทิตย์ตกดิน ช่วงที่สองคือเดือนเมาลิดหรือเดือนรอบีอุลเอาวัลที่ภาษาท้องถิ่นที่นี่เรียกว่า (บูแลเมาะโละ) เป็นเดือนคล้ายเดือนประสูติศาสดามูฮำหมัด ทั้งสองเดือนนี้ในทุกพื้นที่จะคึกคักเป็นพิเศษจนทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นจากการทำมาค้าขาย เพราะเป็นเดือนเฉลิมฉลองของอิสลาม เงินที่เก็บออมก็จะเอาออกมาใช้จ่ายอย่างมีความสุข และมันก็ไม่ต่างกับวันตรุษจีน วันลอยกระทงที่มีอยู่ในประเทศไทยนั้นเอง
    เหตุผลหลักๆที่พ่อแม่ไม่ให้ลูกกลับบ้านหลังจากส่งไปปอเนาะคือ ห่างไกลกับสิ่งแวดล้อมที่อาจจะไปคลุกคลีกับเพื่อนบ้านที่มั่วสุมกับยาเสพติด ประหยัดค่าใช้จ่าย  ความคิดความอ่านเป็นผู้ใหญ่ขึ้น และให้ลูกรู้จักการพึ่งพาตนเอง ดังนั้นสถาบันปอเนาะเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่สร้างคนดี สร้างคนให้มีจิตอาสาคอยเอื้อประโยชน์แก่ส่วนรวม (กีตาบ) คำทับศัพท์มาจากภาษาอาหรับหรือหนังสือเรียนที่ (บาบอ) หรือครูที่ทำการสอนเน้นบทที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆเพื่อให้ถูกต้องและปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน และจะปูพื้นฐานภาษา หลักการอ่านการเขียนด้วยหลักไวยากรณ์ภาษาอาหรับ แต่ไม่ได้เน้นการพูด การสอนจะเน้นการอธิบายและวิเคราะห์บทเรียนให้แม่นยำและชัดเจนเพื่อปฏิบัติได้ถูกต้อง ที่ยากสุดคือหนังสือที่เป็นภาษาอาหรับที่ต้องใช้ความชำนาญในด้านหลักไวยากรณ์และแปลความหมายรวมทั้งสรุปบทเรียนได้ดี ที่ปอเนาะจะแบ่งชั้นเรียนแยกระดับด้วยชนิดของหนังสือ หนังสือเล่มเล็กสำหรับพื้นฐาน และหนังสือเล่มหนาสำหรับผู้ที่ชำนาญในหลักไวยากรณ์อาหรับที่ประเมินได้จากการตอบคำถามแม่นยำชัดเจนและถูกต้องเมื่อครูซักถาม และประเมินจากการท่องจำบทต่างๆที่ครูสั่ง ที่สำคัญประเมินจากการที่ได้ออกฝึกสอนตามหมู่บ้านและมัสยิดต่างๆทั้งในและนอกหมู่บ้าน โดยไม่มีการสอบ ไม่มีห้องเรียนแต่จะใช้ห้องโถงเรียกว่า (บาลาย)
    การเรียนปอเนาะในตอนนั้นไม่มีหลักประกันอะไรด้านอาชีพการงานในอนาคตให้แก่นักเรียน เพียงแค่ช่วงปอเนาะปิด อยู่บ้านเป็นลูกที่ดี ขยันปฏิบัติศาสนกิจละหมาดร่วมห้าเวลาที่มัสยิด ถือศีลอดไม่ขาดในเดือนรอมฎอน ขยันช่วยเหลือพ่อแม่ ไม่สร้างปัญหาให้กับครอบครัว และออกงานเพื่อสังคมต่างๆเช่น การร่วมละหมาดศพ (ละหมาดมายัต) และร่วมส่งไปฝังที่สุสาน (กูโบร์) หลังจากนั้นบางครอบครัวจะทำการเชิญคนในหมู่บ้านเดียวกันและหมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อเป็นตัวแทนประมาณ ๕-๑๐ คนมาช่วยกันอ่านอัลกุรอ่านหรืออ่านบทขอพรที่เรียกว่า (ดุอาร์)ให้แก่ทุกคนและผู้ที่ล่วงลับ การรวมตัวเยี่ยงนี้เรียกว่า (มัจลีสอัรวาฮ์)ซึ่งลูกหลานของผู้ตายถือว่าเป็นการตอบแทนพระคุณ หรือแทนความคิดถึงด้วยการเลี้ยงอาหารเลิศรสต่างๆนานา ทั้งๆที่ในศาสนาอิสลามก็ไม่ได้บังคับให้กระทำ การรวมตัวในจังหวัดชายแดนภาคใต้สำหรับไทยอิสลามมีหลายกิจกรรมด้วยกันหลักๆ นอกจากการร่วมกันละหมาดห้าเวลาในแต่ละวัน ก็จะปฏิบัติในหนึ่งวันของสัปดาห์คือละหมาดร่วมในวันศุกร์ที่จำเป็นสำหรับผู้ชาย ก่อนละหมาดก็มีการให้โอวาทโดยผู้นำศาสนาที่เรียกว่า (โต๊ะคอเต็บ) ส่วนผู้นำศาสนาอีกคนคือ (โต๊ะบีลาล) เป็นผู้นำที่รับผิดชอบในด้านการ (อาซาน) หรือคนที่นี่เรียกว่า (บัง)เรียกผู้คนมาละหมาดที่มัสยิด เป็นสื่อที่ให้ความหมายว่า ถึงเวลาที่ต้องเข้าเฝ้าพระเจ้าไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม ณ เวลานั้นเราเท่าเทียมกันหมด และผู้นำสูงสุดในทุกเรื่องด้านศาสนาที่เรียกว่า (โต๊ะอีหม่ำ) ด้วยกันนั้น จะรับผิดชอบโดยตรงในเรื่องการนำละหมาดห้าเวลา การบริหารงานในมัสยิดจะเน้นหลักทรงงานของในหลวงมาปรับใช้ คือถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นในหมู่บ้านจะเริ่มทำงานเป็นขั้นเป็นตอน ศึกษาปัญหาและวิธีแก้แบบองค์รวม พร้อมศึกษาข้อมูลให้เป็นระบบ เรื่องที่ดูยากและซับซ้อนพยายามทำให้ดูง่ายและทำอะไรก็จะทำให้ง่าย ช่วยกันระดมความคิด เสนอแนะพร้อมหาวิธีแก้โดยคำนึงถึงจุดเล็กๆจนกระทั่งการทำงานเกิดการระเบิดจากภายใน และเมื่อทุกคนเข้าใจในงานนั้นๆจริง งานก็จะสำเร็จลุล่วงด้วยดี กรรมการมัสยิดที่คอยช่วยเหลืออีก ๑๒ คนได้มีส่วนร่วมในการทำงาน ยึดประโยชน์แก่ส่วนรวม ไม่ติดตำราหรือยึดติดทฤษฎีจนเกินไป จนทำให้ยุ่งยาก เวลาเริ่มงานก็จะทำตามลำดับขั้น พร้อมยึดหลักภูมิสังคม ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์
    ส่วนผู้ที่มีโอกาสได้เรียนต่อก็จะเลือกศึกษาต่อต่างประเทศ เช่นในประเทศเพื่อนบ้านหรือในแถบแอฟริกาหรือคาบสมุทรอาหรับ เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมความเป็นอยู่ เนื่องจากศาสนาอิสลามได้เผยแผ่มาจากคาบสมุทรอาหรับ การที่ได้เรียนรู้ภาษาอาหรับเป็นสิ่งที่ประเสริฐมากสำหรับอิสลาม เพราะเราเชื่อและศรัทธาว่ามันเป็นคำสอนที่มาจากพระเจ้าอัลเลาะฮ์ เป็นภาษาที่จะต้องใช้ในโลกหน้า โลกที่ทุกคนจะฟื้นคืนชีพอีกครั้งหลังจากได้ตายไป เพื่อพระเจ้าจะกำหนดสวรรค์หรือนรก และเป็นภาษาของชาวสวรรค์ ที่สำคัญเช่นกันนั้นเป็นภาษาในคำภีย์อัลกุรอ่านซึ่งบางบทจำเป็นจะต้องอ่านในทุกๆการละหมาด ผู้ที่ไม่เรียนรู้ภาษาอาหรับและอัลกุรอ่าน คนที่นี่จะถือว่าไร้การศึกษา ดังนั้นคนในพื้นที่พยายามไขว่คว้าความฝันเพื่อให้ได้ไปศึกษาต่อในระดับต่างประเทศ แม้ว่ายังไม่ทราบอนาคตของตัวเองด้านอาชีพการงาน แต่ก็ทราบว่าอาชีพครูสอนสายศาสนายังไม่เป็นที่ยอมรับและไม่มีที่รองรับ ถ้าหากรับก็คงเป็นครูสอนภาษาอาหรับมากกว่าซึ่งต้องอาศัยโรงเรียนเอกชนสอนอิสลามควบคู่สามัญ ที่ทางโรงเรียนพยายามเจียดค่าตอบแทนให้ บางคนจะถามครูสอนศาสนาว่า สอนให้นักเรียนได้อะไร? ผมตอบได้เลยว่าสอนให้เป็นคนดีที่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง การสอนเน้นด้านคุณธรรมจริยธรรมแล้วเราจะเอาอะไรอีก ถ้าหากฉลาด เก่งแต่ขาดดี คุณธรรม ชาติก็คงล่มจม
    ถ้าหากคิดมากในเรื่องค่าตอบแทน คงไม่พอกับการเล่าเรียนมา มันชั่งยากเย็นสำหรับเราที่จะต้องไปเรียนรู้ภาษาอื่น บางคนต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะจบ แต่เราก็สนุกกับการเรียน เรามีสมาคมนักเรียนไทยของในหลวงที่เป็นศูนย์รวมจิตใจ เรามีสถานทูตให้เราร่วมงานต่างๆเช่นงาน ๕ ธันวามหาราช ลงคะแนนเลือกตั้งผู้แทนและกิจกรรมอีกมากมาย แม้ว่าเราจะอยู่ต่างถิ่น เรามีความใฝ่ฝันว่าเมื่อเรียนจบเราจะกลับบ้าน มีการงานที่ดี มีชีวิตที่ดี มีหน้ามีตาในสังคมที่ดี แต่บางคนบางที่ถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี อายุนำหน้าเลขสามเลขสี่คงคิดได้อย่างเดียวคือต้องทำงานเพื่อสร้างครอบครัวให้เข็มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ดั่งปณิธานของในหลวง
   เป็นที่น่าเสียดายกับสังคมพหุวัฒนธรรมที่เคยมีความสุข เคยเข้าใจซึ่งกันและกัน กลับมีรอยแยกซึ่งไม่ทราบว่าเมื่อไหร่จะเชื่อมให้เป็นเนื้อเดียวกัน ได้แต่ภาวนาให้มีวันนั้น …เมื่อไหร่หนอ…เมื่อไหร่? ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบกระผมเชื่อว่าทุกคนคงภาวนาว่า ผู้ที่ถูกผลกระทบและผู้ที่ถูกกล่าวหา ขออย่าให้เป็นผู้บริสุทธิ์ มิเช่นนั้นเขาจะน่าสงสารมากเลย กระผมเคยพูดกับตัวเองว่าถ้าหากรัฐเกิดระแวงใครสักคนที่อาจจะเป็นผู้ที่ก่อความไม่สงบ น่าจะใช้โครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ ใช้วิธีเดียวกัน แต่สถานที่ต่างกันคือส่งใครก็ได้ให้มาอยู่กับครอบครัวผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าวันๆเขาใช้ชีวิตอย่างไร เขาคิดอะไร เขาทำอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้ข้อมูลหลักฐานข้อเท็จจริงที่ชัดเจน และเมื่อนั้นก็จะรู้ซึ้งถึงความหมายของคำว่า เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และที่สำคัญที่สุดหากเราชาวบ้าน องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ถ้าหากนำหลักทรงงาน ๒๓ ประการของในหลวงไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันกระผมเชื่อและศรัทธาว่าเรื่องร้ายๆก็คงไม่เกิดขึ้นแน่นอน
    “อ้าวมาถึงเมื่อไหร่ ทำไมไม่เข้าบ้านละ” แม่แง้มประตูเรียก “สักพักแล้วครับแม่ เห็นบ้านลุงบุญมันเงียบก็เลยคิดอะไรเพลินไปหน่อยครับแม่” ผมตอบพลางหิ้วของฝากเข้าไปในบ้าน
    สุดท้ายนี้ ถึงแม้ว่าช่วงเวลาดีๆที่เคยมีมา เราย้อนกลับไปไม่ได้ แต่เราก็นำเอาช่วงเวลานั้นๆมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้และคงมีประโยชน์อย่างยิ่งไม่ใช่หรือ? กระผมหวังว่าเรื่องเล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อย ขอบคุณครับ
            ขอความสันติสุขจงมีแด่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 1,629 total views,  2 views today

You may have missed