พฤศจิกายน 27, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

หลัง ผบ.ทบ.ลงพื้นที่:ข้อสังเกตและเสนอแนะคดี กรณีสำคัญผิด!! ยิงชาวบ้านบนเขาตะเวเสียชีวิต บ้านอาแน นราธิวาส

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูร บินชาฟิอีย์(อับดุลสุโก ดินอะ)


หลังจากเป็นแน่ชัดแล้วว่าคนของรัฐ  สังหารประชาชน 3 คนบนภูเขาตะเว จังหวัดนราธิวาสดังข่าวช่วงแรกบอกว่า มีการปะทะกับกองกำลังติดอาวุธเพื่อให้รัฐเองสามารถรีบแก้ปัญหานำคนผิดมาลงโทษ ดังที่คำสั่งผู้บัญชาการทหารบก ลงพื้นที่ชายแดนใต้ล่าสุด ที่จะยึดมั่นกระบวนการยุติธรรมและไม่ปกป้องทหารที่ทำผิด
ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสียในเหตุการณ์ดังกล่าว และเบื้องต้นขอชื่นชมที่ทางกอ.รมน.ได้แสดงความเสียใจและแถลงข้อเท็จจริงบางส่วนสู่สาธารณะเพื่อเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้
รวมทั้งเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า รัฐมีหน้าที่สำคัญในการปกป้องคุ้มครองประชาชนจากเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้รัฐบาลสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังนี้
พลตำรวจตรีจำรูญ เด่นอุดม ให้ข้อสังเกตว่า
“ประสบการณ์ กับคดีวิสามัญฆาตรกรรม
๑.เจ้าหน้าที่ยิงผู้อื่นเสียชีวิตโดย อ้างว่า เป็นการป้องกันตัว หรือ วิสามัญฆาตรกรรม แต่ ภายหลังปรากฏว่า ผู้ตายมิได้เป็นผู้ร้าย แต่ยิงเขาตายโดยสำคัญผิด ไม่เป็นการ่ป้องกัน แต่ “ฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา” สิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่จะต้องรีบทำคือ ปิดกั้นห้ามใครๆเข้าในพื้นที่เกิดเหตุ แล้วรีบเร่งสร้างหลักฐาน.-
๑.หาอาวุธปืน(เถื่อน)ให้ผู้ตาย เพืิ่อจะอ้างว่าผู้ตายใช้ปืนดังกล่าวยิงเจ้าหน้าที่ก่อน
๒ ยิงปืนให้มีกระสุนตกในที่เกิดพอสมควร
๓ สร้างร่องรอยหลักฐานให้มีกระสุน ถูกวัตถุสิ่งของ เช่นต้นไม้ ใบไม้ ฝาบ้าน เป้นต้น เพื่อแสดงว่าผู้ตายใช้ปืนดังกล่าวยิ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่(ปะทะ)
๔.ตัวศพ จะต้องมีเครื่องแต่งกายให้เหมือนผู้ก่อการร้ายเช่นเปลี่ยนเสื้อผ้าศพ เป็นชุดเขียว หรือชุดดำ
๕.บาดแผล ที่ศพจะต้องแสดง ให้หมอที่มาตรวจศพเชื่อว่าคนร้ายยิงต่อสู้ และถูกเจ้าหน้าที่ยิงโต้ ถูกหน้าอก ใบหน้า
๖.สร้างพยานหลักฐาน ในที่เกิดเหตุ แสดงว่าผู้ตายเป็นผู้ก่อการร้าย เช่น มีเป้สนาม แผนที่ เสื้อผ้า เอกสารบางอย่างเท่าที่จะหาได้ว่า ผู้ตายเป็นผูก่อการร้าย และ ฯลฯ
เพียงเท่านี้ อัยการ ศาล ก็เชื่อแล้วว่าเจ้าหน้าที่ยิงปะทะกับผู้กอ่การร้ายจริงๆ หลังศาลไต่สวนคดีวิสามัญ(ชันสูตรพลิกศพ) ศาลจะส่งคำสั่งให้อัยการ และพนักงานสอบสวน แล้ว พนักงานสอบสวนก็จะทำสำนวน เห็นควรสั่งไม่ฟ้องส่งอัยการ อัยการก็จะสั่งไม่ฟ้องตาม คดีเป็นอันยุติ ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดต้องขึ้นศาลหรือต้องรับโทษใดๆ ดังนั้น ผู้สืบสวน ข้อเท็จจริงจะต้องเข้าใจสิ่งเหล่านี้ ในเบื้องต้น”


นางสาวอัญชนา หีมมีหนะ จากกลุ่มด้วยใจ ได้มีข้อสังเกตและเสนอแนะเพื่อไม่ให้ปัญหานี้ เป็นปัจจัย ที่ทำให้การแก้ปัญหายิ่งยากขึ้นโดยท่านมีทัศนะว่า
“สถานที่ บนเทือกเขา บริเวณหลังหมู่บ้านอาแน หมู่ 8 ต.บองอ อ.ระแงะ เป็นภูเขามีความลาดชัน มีเครื่องเลื่อยไม้ 2 เครื่องพร้อมแกลลอนน้ำมัน
วันที่ 16 ธันวาคม 2562
เวลา ประมาณ 10:00 น มีชาวบ้านได้ยินเสียงปืน
ประกาศว่ามีการปะทะเวลา 18:00 น
อาวุธที่พบ อ้างว่าตรวจยึดอาวุธปืนได้ 2 กระบอก เป็นอาวุธปืนอาก้า 1 กระบอก พร้อมกระสุนบรรจุในแม็กกาซีน และอาวุธปืนพกขนาด 9 มม.อีก 1 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุน และสัมภาระอีกจำนวนหนึ่ง
แต่ในภาพถ่ายที่ปรากฏไม่พบรูปปืนที่ถูกอ้างถึง ใกล้บริเวณที่พบศพ
พยาน 3 คน ที่ได้ยินเสียงปืนและวิ่งกลับมาบอกชาวบ้านในหมู่บ้าน
สภาพศพ
ศพที่ 1 ชายใส่เสื้อสีฟ้าแขนยาว สวมกางเกง นอนเสียชีวิตข้างกองไม้ที่เลื่อยไว้ มือข้างขวาพาดไปบนไม้มือข้างซ้ายอยู่ตรงหน้าขารอยเลือดไหลจากศรีษะไปทางขวาของลำตัว ศรีษะสวมหมวกคล้ายหมวกกันน๊อคลายขาวดำ
ศพที่ 2 ชายไม่สวมเสื้อ สวมกางเกงสีเขียวขี้ม้านอนคว่ำหน้าบนทางลาดมือข้างขวาอยู่ใต้ลำตัวมือข้างซ้ายงอติดกับลำตัว มีรูขนาดใหญ่บริเวณแขนช่วงบนทะลุอีกฝั่ง รูขนาดใหญ่ ไม่มีอาวุธปืนข้างลำตัว ขางอโดยมีลำตัวอยู่ข้างบน
ศพที่ 3 ชายไม่สวมเสื้อสวมกางเกงสีแดงแถบขาวนอนคว่ำหน้าไปทิศทางเดียวกับศพที่ 2 มือด้านขวาอยู่ใต้ลำตัวมือด้านซ้ายพาดอยู่บนพื้นห่างจากศพที่ 2 1 ช่วงแขนมีรูบริเวณคาง
ข้อสังเกต
1. เป็นปฏิบัติการที่เป็นนโยบายของหน่วยงานที่เรียกว่าหน่วยจรยุทธ์
2. ปฏิบัติการเริ่มต้นตั้งแต่ 10 โมงเช้าของวันที่ 16 ธันวาคม 2562 จากกรณีที่ชาวบ้านได้ยินเสียงปืน แต่ประกาศว่ามีการปะทะประมาณ 18:00 น และมีการนำศพลงจากสถานที่เกิดเหตุประมาณ 15:00 น ของวันที่ 17 ธันวาคม 2562
3. สภาพศพบ่งชี้ว่าก่อนเสียชีวิตผุ้ตายอาจอยู่ในท่านั่ง 2 ศพ
4. อีกศพถูกยิงที่ศรีษะจากข้างหลังเนื่องจากไม่มีรอยปรากฏที่ด้านหน้า
5. ตามภาพที่ปรากฎในสื่อไม่พบภาพอาวุธข้ากายผู้เสียชีวิต
6. การไม่คำนึงถึงหลักการศาสนาที่ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามต้องฝังหลังจากเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง(
ดังนั้นสังคมจึงตั้งคำถามว่ามันเป็น)
การฆ่าตามอำเภอใจ vs การวิสามัญฆาตกรรม”(อย่าลืมว่า”
สิทธิในการมีชีวิตเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐจะต้องดำเนินการให้ประชาชนได้มีชีวิตภายใต้รัฐ
สิทธิในการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
กฎการปะทะ ที่ผู้ปฎิบัติจะต้องดำเนินการจากเบาไปหาหนัก
นอกเหนือไปจากการเยียวยาครอบครัวอย่างเหมาะสมในฐานะที่รัฐเป็นผู้ละเมิดแล้วรัฐจะต้องดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำซ้ำอีก นั่นคือการนำคนผิดมาลงโทษ แต่เมื่อพิจารณากรณีการสำคัญผิดเช่นนี้ไม่เคยมีผู้กระทำถูกลงโทษเลยแม้แต่คนเดียวภายใต้กฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจในการปกป้องเจ้าหน้าที่ และจากแถลงการณ์ถึงแม้มีการรับว่าสำคัญผิดแต่ก็ปิดทางในการนำคนผิดมาลงโทษด้วยการอ้างว่าผลการตรวจสอบจากคณะกรรมการที่ตั้งมาจะไม่คลอบคลุมการลงโทษ
บทเรียนในครั้งนี้ ควรจบลงที่มีการลงโทษทางวินัยและลงโทษตามกฎหมายเพื่อให้เจ้าหน้าที่ระมัดระวังในปฏิบัติการทางทหารที่นำมาสู่ความสูญเสียเช่นนี้ และในการปฏิบัติการทางทหารควรตระหนักถึงกฎการปะทะเพื่อนำมาซึ่งการสร้างความไว้วางใจและเชื่อมั่นในปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในอนาคต
กองทัพภาค 4ควรทบทวนนโยบายการใช้ความรุนแรงตอบโต้ความรุนแรงและควรส่งเสริมกระบวนการสันติภาพตามแนวทางของรัฐบาล”
ในขณะที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้เสนอแนะไว้ สี่ประการดังนี้
1. ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุดที่เป็นหน่วยงานพลเรือน ทำหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนอย่างตรงไปตรงมาเต็มความสามารถในการแสวงหาความจริงการวิสามัญฆาตกรรมครั้งนี้ โดยทำงานอย่างเป็นอิสระจากอิทธิพลของกองทัพ เพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีไต่สวนการตายและการฟ้องร้องคดีอาญาต่อผู้ต้องหากระทำความผิดให้ถึงที่สุด
2. ขอให้หน่วยงานทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นกองทัพภาคที่ 4 และกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญในการค้นหาความจริง โดยเฉพาะรายชื่อเจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการในวันเกิดเหตุที่เขาตะเวในครั้งนี้ โดยขอให้มีการย้ายผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดออกจากพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการสืบสวนสอบสวน
3. ขอให้รัฐจัดให้มีการเยียวยาความเสียหายต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างเป็นธรรมทั้งในรูปแบบตัวเงิน เชิงสัญลักษณ์เช่นการขอโทษต่อสาธารณะ รวมทั้งการเยียวยาด้านความเป็นธรรมโดยการนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในศาลพลเรือน และดำเนินการลงโทษทางวินัยอย่างจริงจังเปิดเผยต่อสาธารณะ
4. ขอให้มีการปฏิรูปแนวทางการปราบปรามการก่อเหตุความรนแรงทั้งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ การอบรมเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธตามหลักการสากล การปรับทัศนคติการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง การติดตามจับกุมบุคคลต้องสงสัยก่อเหตุฯให้มีความรอบคอบ รอบด้านและปราศจากซึ่งอคติทางเชื้อชาติที่เกิดขึ้นมาตลอดสิบห้าปีที่ผ่านมา รวมทั้งการปรับทิศทางการเจรจาสันติภาพให้เกิดการมีส่วนร่วม (all inclusive)อย่างจริงจัง
กล่าวโดยสรุปผู้มีอำนาจสูงสุดต้องรีบลงมาแก้ปัญหานี้ให้ได้มาตรฐานสากลของกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสเเละตรวจสอบได้ เพราะในทางวิชาการและเชิงประจักษ์ “ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรมหรือความไม่เป็นธรรม เมื่อไม่มีความเป็นธรรม/ยุติธรรมรวมทั้งการปฏิบัติสี่ข้อตามหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน(มาตรฐานสากล)เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีก
คือการค้นหาความจริง การเยียวยา การนำคนผิดมาลงโทษและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
#
Justice delayed is Justice denied
#No Justice No Peace

 879 total views,  4 views today

You may have missed