อุสตาซอับดุชชะกูร บินชาฟิอีย์(อับดุลสุโก ดินอะ)
ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน
(12 ธันวาคม 2562) เครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนประมาณ 200 คน ประชุมสัมนาเชิงปฎิบัติการ “สมัชชาสันติภาพปาตานี / ชายแดนใต้ 2019 ณ ศูยน์ประชุมราชกาล(ศ.อ.บ.ต) โดยมีมติในการเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
“สันติภาพ การพัฒนาและความยุติธรรม”
ตระหนัก ว่าการสร้างประเด็นปัญหานโยบาย (Problematic) ในแบบใหม่ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในการกำหนดประเด็นปัญหาและนำไปสู่วาระเชิงนโยบายสาธารณะที่ก้าวหน้า จะส่งผลต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน มากกว่าเป็นนโยบายสาธารณะที่กำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญระดับสูงหรือชนชั้นนำแต่เพียงอย่างเดียว
กังวล ต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มมีความรุนแรงอย่างชัดเจนในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ และมีความต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ นับเป็นเวลาได้ ๑๖ ปีแล้ว ปัญหาที่ทำให้เหตุการณ์ขยายตัวลุกลามมาจนถึงปัจจุบัน มีลักษณะพิเศษที่ในทางวิชาการที่เรียกว่าความขัดแย้งเชิงโครงสร้างการเมืองการปกครอง (Political Structure) และเชิงอัตลักษณ์ (Identity Conflict)
ชื่นชม ว่าท่ามกลางการเกิดพลวัตของความขัดแย้งแต่ก็ยังเกิดกลุ่มพลังทางสังคมหลายกลุ่ม ทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคการเมืองและภาครัฐ ที่ร่วมดำเนินการเพื่อสร้างสันติสุขในพื้นที่ ซึ่งก็ส่งผลให้ระดับความรุนแรงจำกัดตัวในระดับหนึ่ง
รับทราบ ว่าสาเหตุหลักที่เป็นรากเหง้าปัญหาก็คือ ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ คนมลายูมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์มุสลิม มลายูปาตานี โดยสำนึกทางประวัติศาสตร์ แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกับคนไทยพุทธซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่ในสังคมหลากหลายทางวัฒนธรรมได้ อีกด้านหนึ่งประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งกับรัฐในอดีตก็ยังคงส่งผลมาถึงปัจจุบันด้วย เนื่องจากในอดีต รัฐไทยพยายามเปลี่ยนรัฐปาตานีเก่าให้มีโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง ระบบการศึกษา ระบบกฎหมาย วัฒนธรรมและภาษาให้เป็นแบบไทยอย่างเข้มข้นภายใต้นโยบายที่เรียกว่าการผสมกลมกลืน (Assimilation) และเกิดการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหลายอย่างจากเจ้าหน้าที่รัฐในอดีต ความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมทำให้เกิดขบวนการการต่อต้านทั้งที่ใช้ความรุนแรงและไม่ใช้ความรุนแรง
เห็นว่า ปัญหาความรุนแรงทางตรง ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม จะได้รับการแก้ไข ต้องอาศัยการสร้างพื้นที่กลาง (Common Space) โดยภาคประชาชนจากทุกฝ่าย สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เป็นกระบวนการที่ให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเรียนรู้อย่างสมานฉันท์เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะ นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่ โดยจัดให้มีการประชุมอย่างเป็นระบบและมีส่วนร่วมด้วยการใช้ประเด็นสาธารณะเป็นตัวตั้งในการดำเนินการ เป็นกระบวนการที่มีความสอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน
จึงมีมติดังต่อไปนี้
ด้านกระบวนการสันติภาพ
- ขอให้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค ๔ สน.) คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและสำนักจุฬาราชมนตรี กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ ดำเนินการดังต่อไปนี้
๑.๑ สนับสนุนการสร้างกลไกภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักการเมือง ภาคเอกชน ภาครัฐ และทุกกลุ่มที่หนุนเสริมและเป็นตาข่ายนิรภัย (Safety Net) รองรับการพูดคุยสันติภาพ
๑.๒ ส่งเสริมกลไกแบบมีส่วนร่วมที่มีอยู่ระดับหมู่บ้านและตำบลในพื้นที่ให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อรับทราบความต้องการของชุมชนและถอดบทเรียนการสร้างสันติภาพ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม
๑.๓ สนับสนุนให้มีการจัดพิมพ์เผยแพร่แนวทางการปฏิบัติของมุสลิม เกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในด้านศาสนาอิสวลาม (ตำตอบจุฬาราชมนตรี ประเสริฐ มะหะมัด) 23 ข้อที่ออกโดยสำนัก
จุฬาราชมนตรี ต่อสาธารณะ
๑.๔ สนับสนุนการสร้างเวทีของเครือข่าย เพื่อรวบรวมข้อเสนอจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นำเสนอต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุข
๑.๕ พัฒนากลไกภาคประชาสังคมและเครือข่าย เพื่อสนับสนุนการสื่อสารสันติภาพและการ
เปลี่ยนแปลงสังคม
๑.๖ รับรองสิทธิในการสื่อสารของประชาชนและเสรีภาพของสื่อ จรรยาบรรณ
๑.๗.ขอให้กระบวนการพูดคุยสันติสุขทั้ง 2 ฝ่าย เปิดช่องทางให้ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุย ติดตาม รับรู้ความคืบหน้าและผลการพูดคุยในช่วงเวลาที่เหมาะสม
- ขอให้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการดังต่อไปนี้
๒.๑ สนับสนุนการสร้างห้องเรียนสันติภาพในสถาบันการศึกษาทั้งในและนอกระบบในทุกระดับตั้งแต่ปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ถึงระดับมหาวิทยาลัย การจัดเวทีการศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สนับสนุนโดยสถาบันวิชาการ จัดหลักสูตรวิชาสันติศึกษา การสร้างคู่มือพหุวัฒนธรรม
๒.๒ สนับสนุนให้มีการจัดการศึกษา วิจัยและเรียนรู้รูปแบบการเมืองการปกครองที่หลากหลายในระบอบประชาธิปไตย ภายใต้หลักการกระจายอำนาจที่เหมาะสมกับพื้นที่และเป็นทางออกในกระบวนการสร้างสันติภาพในประเด็นรูปแบบการกระจายอำนาจและการเรียนรู้ต่างศาสนิกที่เหมาะสมกับพื้นที่ ในรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่และเป็นทางออกในกระบวนการสร้างสันติภาพ
๒.๓ ส่งเสริมการสร้าง พัฒนาและขยายเครือข่ายเด็กเยาวชนและสตรีเพื่อเรียนรู้และส่งเสริมสันติภาพและสร้างวัฒนธรรมสันติภาพและรับรองการขับเคลื่อนกิจกรรมการเรียนรู้สันติภาพของเด็กและเยาวชนทั้งในระบบและนอกระบบห้องเรียน
๒.๔ สนับสนุนหลักปฏิบัติตามอัตลักษณ์ของคนทุกศาสนาและวัฒนธรรมในพื้นที่
ด้านการพัฒนา
- ขอให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับ กองอำนวยการความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 ส่วนหน้า หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับจังหวัดที่อยู่ภายใต้กระทรวงต่างๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ เกษตรจังหวัด ชลประทานจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด สถาบันการเงินในพื้นที่ (สหกรณ์) และสภาเกษตรจังหวัด ดำเนินการดังนี้
๑.๑ สร้างกลไกและกระบวนการในภาคประชาสังคมที่ส่งเสริมการรักษา พัฒนาและใช้
ทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน และการสร้างความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหาร
๑.๒ ส่งเสริมให้ชุมชนมีการทำเกษตรทางเลือกที่ยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร และการสร้างระบบเศรษฐกิจชีวภาพ
๑.๓ พัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจชุมชนในการพึ่งพาตนเอง และเชื่อมโยงในกระบวนการสร้างสันติภาพ
๑.๔ สนับสนุนงบประมาณและจัดตั้งกองทุนในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากและยกระดับสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพ
๑.๕ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่รวมทั้งการศึกษา ทบทวน ติดตาม ประเมินผลนโยบายสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อลดและไม่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งอันเกิดจากการพัฒนาและให้เกิดสันติสุข โดยให้มีกลไกภาครัฐและภาคประชาชนร่วมดำเนินการ
๑.๖ สร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อโครงการพัฒนาที่มาจากภาครัฐ เช่น โครงการขุดคลองชลประทาน โครงการเมกะโปรเจก(โครงการใหญ่) และอื่น ๆ
๑.๗ ให้ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเด็กและสตรีในการดูแลสุขภาวะและการป้องกันโรค
๑.๘ ให้สนับสนุนส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาในพื้นที่ของภาคประชาชน
ด้านการสร้างความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
- ขอให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 ส่วนหน้า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภาคประชาสังคมและขบวนการที่เห็นต่างจากรัฐ ดำเนินการดังต่อไปนี้
๑.๑ การสร้างกลไกที่มาจากภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อติดตามและประเมินผลกระทบจากปัญหาความยุติธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากทุกฝ่ายในความขัดแย้งอย่างใกล้ชิด
๑.๒ ศึกษา เผยแพร่และทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกพื้นที่โดยภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคประชาชนเพื่อสร้างเป็นข้อเสนอทางนโยบายทางเลือกในการบังคับใช้กฎหมายของรัฐที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมกระบวนการสันติภาพ
๑.๓ รณรงค์ส่งเสริมให้ทุกฝ่ายในความขัดแย้งยึดหลักมาตรฐานสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน (International Norm) และหลักมนุษยธรรม (Humanitarian) ในการปกป้องคุ้มครองชุมชนและภาคพลเรือน มิให้ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่ายไม่ว่าฝ่ายผู้มีความเห็นต่างจากรัฐและฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ
๑.๔ ใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมและเสมอภาค
1,099 total views, 2 views today
More Stories
SEC ภาคใต้กับSEA สงขลา-ปัตตานี
สู่พรบ.สันติภาพ เพื่อประกันกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
ฮัจญ์ไทยในภารกิจทูตสันติภาพใน 3 ภารกิจ จชต.