พฤษภาคม 6, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

สัมภาษณ์พิเศษ รองศาสตราจารย์ เจะเหล๊าะ แขกพงศ์ อิสลามศึกษาและภาษาอาหรับมนร.กับภารกิจการศึกษาชายแดนใต้

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูร บินชาฟิอีย์(อับดุลสุโก ดินอะ)

  1. อะไรคือภารกิจหลักสถาบันอิสลามศึกษาและอาหรับศึกษา

สถาบันอิสลามศึกษาและอาหรับศึกษา มีภารกิจหลักเช่นเดียวกับคณะหรือสถาบันในระดับอุดมศึกษา คือ ผลิตบัณฑิต วิจัย บริการวิชาการ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และบริหารจัดการ โดยมุ่งเน้นด้านการผลิตบัณฑิตเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันดำเนินการผลิตบัณฑิตหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต ใน 3 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชากฎหมายอิสลาม สาขาวิชาอิสลามศึกษา และสาขาวิชาภาษาอาหรับ (หลักสูตรนานาชาติ)

  1. กี่ปีเเล้วที่ตั้งมาจนถึงปัจจุบัน

ประมาณ 12 ปีย่างเข้าสู่ปีที่ 13 โดยเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2550 ขณะนี้มีบัณฑิตแล้ว 8 รุ่น จำนวนมากกว่า 800 คน ส่วนใหญ่เป็นครูผู้สอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ครูประจำศูนย์ตาดีกา ทำงานอยู่ในองค์กรทางศาสนาอิสลาม เป็นนักวิชาการอิสลามศึกษา เป็นล่ามภาษาอาหรับ รับจ้างทั่วไป และประกอบอาชีพอิสระต่างๆ

3.ได้บทเรียนอะไรบ้าง

ได้บทเรียนดีๆ หลายอย่าง ที่สำคัญ เช่น การเปิดสถาบันแห่งนี้เป็นสิ่งสะท้อนถึงการตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และมีความจำเป็นจะต้องศึกษาเรียนรู้บัญญัติทางศาสนาให้มีความลึกซึ้งกว้างขวางเช่นเดียวกับการศึกษาวิชาทางสามัญ จากเดิมที่นักศึกษามุสลิมต้องเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะอียิปต์และตะวันออกกลาง หรือไม่ก็ศึกษาอยู่ในปอเนาะหลายๆ ปี โดยไม่มีคุณวุฒิรับรอง เมื่อสถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา ได้รับอนุมัติให้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่สามารถเชื่อมโยงกับหลักสูตรต่างๆ ทางด้านอิสลามและภาษาอาหรับของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และครอบคลุมเนื้อวิชาการอิสลามที่มีการศึกษาในปอเนาะ จบแล้วมีคุณวุฒิรับรองอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล จึงเป็นโอกาสสำหรับนักศึกษาไทยมุสลิมได้ศึกษาวิชาการทางศาสนาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย มีการพัฒนาองค์ความรู้และวิชาการอิสลามที่เหมาะสมกับยุคสมัยและบริบทสังคมไทย ทั้งยังเป็นโอกาสให้กับประชาชนคนไทยได้ศึกษาอิสลามอย่างเป็นระบบอีกด้วย

อีกประการ การจัดการเรียนการสอนของสถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา ตลอดจนของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ในสาขาวิชาต่างๆ ในภาพรวมทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและศักยภาพของลูกหลานไทยมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เมื่อได้รับการพัฒนาด้วยระบบการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ จะสามารถพัฒนาตนเป็นพลเมืองดีของประเทศและเป็นพลโลกที่มีคุณภาพได้ไม่น้อยไปกว่าคนในภูมิภาคอื่น ผมเชื่อและมั่นใจว่าบัณฑิตจากสถาบันแห่งนี้จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาและสร้างสรรค์สังคมสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคต เพราะการศึกษาคือการพัฒนาที่ยั่งยืน การศึกษาอิสลามที่ถูกต้องคือรากฐานของการสร้างสันติสุขและสันติภาพอย่างแท้จริง

  1. อะไรคือความท้าทาย

ความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน การพัฒนาสู่ความเป็นสากล/นานาชาติ ซึ่งขณะนี้ที่สถาบันฯ มีหลักสูตรสาขาวิชาภาษาอาหรับเป็นหลักสูตรนานาชาติเพียงหลักสูตรเดียวของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ การพัฒนาสู่ความเป็นเลิศและความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในต่างประเทศและประชาคมอาเซียน การแลกเปลี่ยนนักศึกษา คณาจารย์ และพัฒนาองค์ความรู้สู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ในบริบทเชิงอิสลาม ท่ามกลางเสียงปืนเสียงระเบิดและเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากรัฐที่ค่อนข้างจำกัด และสถานะทางเศรษฐกิจครอบครัวของนักศึกษาในพื้นที่ส่วนใหญ่ยากจน เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ท้าทายสถาบันฯ ซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องจัดการศึกษาให้กับทุกคนที่สนใจโดยไม่ทิ้งคนใดไว้ข้างหลัง ทั้งจะต้องจัดให้อย่างดีที่สุดตามนโยบายของมหาวิทยาลัยฯ

นอกจากนั้น กระแสการมีงานทำที่ตรงตามสาขาและการสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพในโลกนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักศึกษาและผู้ปกครองส่วนใหญ่เลือกที่จะให้ลูกเรียนในสาขาวิชาที่มีงานรองรับ เช่น แพทย์ พยาบาล เป็นอันดับต้นๆ ส่วนหลักสูตรกฎหมายอิสลาม อิสลามศึกษา หรือแม้แต่ภาษาอาหรับ อยู่ในลำดับท้ายๆ ประกอบกับจำนวนนักเรียนที่เข้าสู่อุดมศึกษาลดน้อยลง ทำให้สถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา ไม่ค่อยมีโอกาสคัดเลือกผู้เรียนที่เก่งๆ มากนัก ทั้งที่การเรียนในสาขาเหล่านี้มีความสำคัญต่อครอบครัวและสังคม บางทีไม่น้อยไปกว่าแพทย์หรือพยาบาล เพราะต้องศึกษาบทบัญญัติแห่งพระเจ้าเพื่อเยียวยาและพัฒนามนุษย์ทั้งเรือนร่างและจิตวิญญาณ  พระเจ้าทรงเลือกผู้ที่มีความสมบูรณ์พร้อมที่สุดในการเป็นศาสทูตของพระองค์ในทุกยุคสมัย เฉพาะอย่างยิ่งในยุคสุดท้ายทรงเลือกท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) สุดยอดของมนุษย์ทั้งมวลให้เป็นผู้รับบทบัญญัติแห่งพระองค์และเป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่ชาวโลก

  1. จะฝากอะไรกับน้องนักเรียน ม. 6 ที่ยังไม่ตัดสินใจเรื่องเรียนเเละคิดว่า สถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา มนร. คือทางเลือกหนึ่ง

ฝากข้อคิดจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ได้แนะนำเรื่องการเรียนต่อให้กับลูกว่า “ให้จงเลือกเรียนในสาขาที่สามารถนำมาใช้ในการดำเนินชีวิต ศึกษาความรู้ที่ไม่มีวันเกษียณอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ที่จะทำให้ลูกมีค่าแม้ในวันที่พันจากตำแหน่งหน้าที่ทั้งปวง มีค่าทั้งในสายตาของมนุษย์และพระเจ้า  ให้ลูกจงพิจารณาดูวงศาคณาญาติของเราเป็นตัวอย่างระหว่างคนที่เคยเป็นนายตำรวจ นายทหาร เคยเป็นนายพล นายพัน วันนี้เมื่อเกษียณอายุราชการแล้วเป็นอย่างไร กับคุณลุงอีกคนที่ร่ำเรียนทางด้านศาสนา ให้ความรู้กับผู้คนจนเป็นที่เคารพนับถือมากมาย วาระสุดท้ายของเขาต่างกันอย่างสิ้นเชิง…” การตัดสินใจเลือกเรียนจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตในบั้นปลาย สถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มีความพร้อมให้การศึกษาและพัฒนาลูกๆ น้องๆ นักเรียนให้สามารถก้าวทันความเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณภาพและมีคุณค่าทั้งชีวิตในดุนยาตลอดจนอาคิเราะฮ์ /อินชาอัลลอฮุตาอะลา/

รศ.เจ๊ะเหล๊าะ  แขกพงศ์  ผู้อำนวยการสถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา

มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

หมายเหตุ…ลิ้งค์ 10 ปีก่อตั้ง สถาบันฯ

 

 1,489 total views,  2 views today

You may have missed