พฤศจิกายน 27, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

กระแสสุดโต่งในโลกมุสลิม: Islamophobia ภาพสะท้อนจากรายงานของ UNDP มุสลิมไทยจะเผชิญความท้าทายนี้อย่างไร!!

แชร์เลย

โดย..ดร.ศราวุธ อารีย์..

ย้อนวันที่ 17 ธันวาคมเมื่อปีที่แล้ว ทางสำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกับสถาบันวะสะฏียะฮ์ สำนักจุฬาราชมนตรี และศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาวิชาการประมาณว่าเป็นเรื่อง “แนวคิดสุดโต่งในโลกมุสลิม” อันเป็นประเด็นที่มีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในแวดวงวิชาการระดับโลก เวทีการเมืองระหว่างประเทศ และการถกเถียงพูดคุยกันในระดับชาติและระดับชุมชนของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

อาจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี ชวนผมให้ขึ้นเวทีร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้ด้วย ร่วมกับนักวิชาการคนอื่น ๆ อีกบางท่าน เรื่องที่ผมเอาไปแลกเปลี่ยนเป็นเนื้อหาที่ได้จากรายงานของ UNDP ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อปลายปี 2017 ว่าด้วยเรื่อง “Journey to Extremism in Africa”

ต้องยอมรับว่ารายงานชิ้นนี้มีความน่าสนใจยิ่งครับ อ่านแล้วก็พอสรุปคร่าว ๆ ได้ว่า อิสลามสามารถเป็นได้ทั้งยาพิษจากการที่ถูกอ้างใช้โดยผู้นิยมความสุดโต่ง ขณะเดียวกันอิสลามก็สามารถเป็นยารักษาโรคสำหรับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหา “ความสุดโต่งทางศาสนา” ได้เช่นกัน

ความน่าสนใจของรายงานชิ้นนี้อยู่ที่การสะท้อนทัศนคติของสมาชิกกลุ่มสุดโต่งในแอฟริกา ทั้งกลุ่ม Boko Haram และ Al-Shabaab จำนวน 495 คน คำถามสำคัญที่ผู้ศึกษาได้สอบถามคนกลุ่มนี้คือแรงจูงใจที่ทำให้พวกเขาเข้าร่วมกับกลุ่มแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง

ปรากฏว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 50 อธิบายว่าปัจจัยอันทำให้พวกเขาตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมกับพวกสุดโต่งคือเรื่องอุดมการณ์หรือความเชื่อความศรัทธาในศาสนาที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากผู้นำ

ผลการศึกษาที่ออกมาอย่างนี้สามารถอธิบายตีความกันได้หลายแง่มุมครับ แต่สำหรับผมมันสะท้อนประเด็นสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งคือ อิสลามถูกใช้เป็นอาวุธร้ายสำหรับผู้นิยมความสุดโต่ง อันเป็นเครื่องมือที่ปลุกเร้าให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยหันมาเห็นดีเห็นงามกับแนวทางการใช้ความรุนแรง

บางคนอาจอ้างว่าจริง ๆ แล้วแรงจูงใจให้ผู้คนหันไปยึดแนวทางสุดโต่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งสาเหตุด้านเศรษฐกิจเรื่องความยากจนและการว่างงาน ตลอดจนสภาพทางครอบครัวที่พ่อแม่ไม่สนใจดูแลลูกหลาน ครอบครัวแตกแยก ความทุกข์ระทมในวัยเด็ก ฯลฯ หรือแม้แต่สาเหตุทางการเมืองจากการกดขี่โดยรัฐ การขาดสิทธิเสรีภาพ และการคุกคามแทรกแซงโดยมหาอำนาจโลก

แต่ผลการศึกษาจากรายงานชิ้นนี้พบว่า ปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นในตัวของมันเองอาจยังไม่มีพลังมากพอที่จะผลักดันให้ผู้คนหันไปยึดแนวทางสุดโต่งรุนแรงหากไม่มีกรอบอุดมการณ์หรือความเชื่อทางศาสนาที่ทำหน้าที่รองรับความอึดอัดคับแค้นที่ดำรงอยู่ในอารมณ์ของผู้คน

ด้วยเหตุนี้ภาษาทางศาสนาหรือการตีความศาสนาของผู้นิยมความสุดโต่งจึงทรงอิทธิพลยิ่งต่อการตัดสินใจของผู้คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

พูดอีกอย่างหนึ่งคืออุดมการณ์ศาสนา (สำหรับผู้นิยมความสุดโต่ง) คืออาวุธสำคัญที่เป็นเครื่องมือแพร่กระจายแนวคิดสุดโต่ง ผ่านการสื่อสารไปยังผู้คนที่มีอารมณ์ขุ่นข้องหมองใจในปัจจัยด้านหนึ่งด้านใดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

แต่ในอีกด้านหนึ่ง รายงานของ UNDP ก็อธิบายข้อค้นพบที่สำคัญยิ่งอีกประการคือ ผู้ตอบแบบสอบถามที่เคยเป็นแนวร่วมของพวกสุดโต่งเกือบร้อยละ 60 จากจำนวน 495 คน คือมุสลิมที่ไม่สามารถอ่านอัล-กุรอาน ไม่เข้าใจ และไม่มีความรู้พื้นฐานของศาสนาที่ตนเองนับถือ

ผลการศึกษาข้อนี้สำคัญ เพราะมันชี้ให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ถูกปลูกฝังความสุดโต่งโดยปราศจากภูมิความรู้พื้นฐานทางศาสนา อันเป็นสาเหตุสำคัญทำให้แนวคิดสุดโต่งแพร่กระจายออกไปรวดเร็ว

ผลการศึกษาที่ออกมาอย่างนี้ยังสรุปได้อีกอย่างว่า หากความไม่รู้ในอิสลามคือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนถูกชักจูงไปตามกระแสแนวคิดสุดโต่ง ทางออกที่ดีที่สุดของการแก้ปัญหาความสุดโต่งในสังคมโลกขณะนี้ ก็คงไม่มีวิธีไหนที่จะดีเท่าการปลูกฝังพื้นฐานความรู้ทางศาสนา

พูดอีกอย่างคือ การเรียนการสอนศาสนาเป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อการดำรงตนเป็นมุสลิม และเป็นภูมิคุ้มกันโรคภัยทางสังคมทั้งหลาย รวมถึงกระแสแนวคิดสุดโต่งที่แพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบันด้วย

ด้วยเหตุนี้จึงอาจสรุปได้ว่า อิสลามไม่ได้เป็นปัญหาครับ ปัญหาคือความไม่รู้ในอิสลาม การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่การต่อต้านการเรียนการสอนอิสลาม (เพราะเข้าใจเอาเองว่ายิ่งมุสลิมเรียนศาสนา ยิ่งมุสลิมเคร่งครัดในศาสนา ยิ่งจะสร้างปัญหาการแพร่กระจายแนวคิดรุนแรง) แต่การแก้ปัญหาคือเพิ่มความใส่ใจและเพิ่มคุณภาพการเรียนการสอนอิสลาม รัฐจะต้องใส่ใจกับเรื่องนี้ครับ ขณะที่ชุมชนมุสลิมยิ่งต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ยิ่งกว่า

ความจริงรายงานของหน่วยข่าวกรองอังกฤษอย่าง MI-5 ก็สรุปออกมาคล้าย ๆ กันครับว่า พลเมืองอังกฤษผู้กลายเป็นแนวร่วมกลุ่มสุดโต่งอย่างไอซีสส่วนใหญ่คือผู้ไม่มีความรู้พื้นฐานศาสนา ส่วนใหญ่เป็นพวกที่ไม่เอาศาสนามาก่อน เพราะฉะนั้น แนวทางการแก้ปัญหาความสุดโต่งในประเทศคือ อังกฤษต้องการ “More Islam” ไม่ใช่ “Less Islam” ครับ

พูดอีกอย่างก็คือ อังกฤษต้องส่งเสริมมุสลิมที่เป็นพลเมืองของตนเองให้ได้เรียนรู้ทำความเข้าใจในศาสนา พร้อมกับเปิดพื้นที่ให้อิสลามได้ถูกนำไปปฏิบัติใช้ในปริมณฑลสาธารณะ (More Islam) มิใช่หวาดระแวงจนนำไปสู่การปิดกั้นการเรียนรู้และปิดกั้นการแสดงออกตามหลักคำสอนของศาสนา เพราะมองว่าความเคร่งครัดของมุสลิมจะนำไปสู่ปัญหาความสุดโต่ง (Less Islam)
สำหรับบทเรียนก็เป็นความท้าทายสำหรับมุสลิมไทยเช่นกันท่ามกลางบรรยากาศIslamophobia ในสังคมไทยเช่นการต่อต้านสร้างมัสยิด และอื่นๆ

 881 total views,  2 views today

You may have missed