“ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ”ต่วนอิสกันดาร์ ดาโต๊ะมูลียอ
.
ผมเอาตัวเข้าคลุกคลีในวงการการศึกษามุสลิมไทยอยู่บ้าง มีประสบการณ์ในรั้วโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามมาก็หลายปี
.
คุณแม่เองก็เป็นข้าราชการครู เป็นอาจารย์ในโรงเรียนมัธยมที่มีนักเรียนมุสลิมร้อยเปอร์เซ็นต์ มีวันศุกร์เป็นวันหยุดราชการ ท่านรับใช้ชาติด้วยความเป็นครูจวบจนเกษียณ เรื่องราวมากมายผมก็ได้ยินกันอยู่
.
ปกติแล้วชนิดของสถาบันการศึกษาสำหรับมุสลิมเรามักแบ่งกันหยาบๆ พื้นๆ ก็มีอยู่สามประเภท คือหนึ่ง เรียนในปอเนาะ สองเรียนในโรงเรียนสามัญทั่วไป และสามคือเรียนในโรงเรียนชีวิต หรือเรียกว่าเรียนรู้จากประสบการณ์ล้วนๆ
.
ต่างฝ่ายก็มีข้อดี ข้อเสียต่างกันไป ไม่ขอพูดถึง และไม่ต้องการเปรียบเทียบ
.
ที่อยากจะเอ่ยถึงในงานเขียนนี้คือคนทั่วไปมักเข้าใจว่าเด็กนักเรียนในปอเนาะมักมีภาพของการสูบบุหรี่สูง บางคราวอาจจะสูงกว่าโรงเรียนชีวิตด้วยซ้ำ
.
ทั้งๆที่ผมเชื่อว่า “ไม่เกี่ยวกัน” แต่ก็ยังได้ยินอยู่เรื่อยมาว่าอยู่ปอเนาะ สูบบุหรี่เป็นเรื่องธรรมดา
.
ใคร่อยากขอเอ่ยว่า “เด็กปอเนาะ” ระดับโลกอย่าง “ดร.สุรินทร์” ก็เป็นข้อแย้งที่ดี ว่าเด็กปอเนาะไม่ได้ต้องสูบบุหรี่เสมอไป
.
ท่านเป็นคนที่ไม่สูบบุหรี่ ไม่ใช่ไม่สูบอย่างเดียว
ท่านไม่ชอบเลยล่ะ ได้กลิ่นบุหรี่ทีไร ท่านก็ออกอาการไม่พึงพอใจ เท่าที่สังเกตท่านมักไม่นั่งอยู่ในวงบุหรี่นานหรอก
.
เอากันตรงๆ ผมก็ไม่เคยเห็นท่านอยู่ในวงบุหรี่เลยสักครั้ง
ฉะนั้น เรื่องที่ท่านสูบบุหรี่นี่ เลิกคิดไปได้เลย
.
ในปี พ.ศ.๒๕๓๒ มีความพยายามจากบริษัทบุหรี่รายใหญ่ของโลก ล็อบบี้ให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ส่งสัญญานให้เมืองไทยเปิดเสรีทางการค้าบุหรี่ พร้อมขอให้ยกเลิกการห้ามโฆษณาบุหรี่ด้วยเหตุผลถึง “เสรีทางการค้าและความเสมอภาค” ในการทำการตลาดในเมืองไทย
.
ดร.สุรินทร์ได้รับทาบทามจากคุณหมอประกิต วาทีสาธกกิจ ผู้ที่ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อต่อต้านพิษภัยจากบุหรี่ ให้เดินทางไปให้การต่อการทำประชาพิจารณ์ว่าด้วยเรื่องนี้ เพราะมีผลโดยตรงต่อสุขภาพและอนาคตของประชาชนคนไทย
.
ดร.สุรินทร์ตอบรับ และเมื่อขึ้นเวทีประชาพิจารณ์ต่อสำนักผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกา ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประโยคเด็ดๆไม่ขาดสายก็ถูกกล่าวออกมา
.
“ประเทศไทยก็มีสินค้าดีมาก ที่สามเหลี่ยมทองคำ แต่เราไม่ส่งออก เราปราบปราม” กลายเป็นประโยคคมกริบ ที่ทำให้ทุกฝ่ายตะหนักถึงความไม่เห็นด้วยของไทยในคราวนั้น
.
หลายท่านอาจเข้าใจว่า “ดร.สุรินทร์” เชียร์อเมริกา แต่วันนั้นท่านได้ตำหนิสหรัฐฯอย่างเต็มที่ เพราะข้อมูลก็ประจักษ์กันดีอยู่ว่าทางบริษัทบุหรี่จะเอายาพิษเข้าประเทศไทยอีกมากมายหากไม่ยับยั้ง
.
“(หรือ)สหรัฐฯจะส่งออกยาเสพติดที่ทำร้ายคนไปทั่วโลก !” มันไม่ใช่คำถาม แต่มันเป็นคำตำหนิที่เอาจริง ต่อต้านแข็งขัน
.
และนั้นก็กลายเป็นการ “ปิดประตู” ต่อนโยบายที่ต้องการให้บุหรี่อเมริกันเข้าเมืองไทยโดยไม่เสียภาษี และยกเลิกโฆษณาต่อต้านบุหรี่ที่ไม่ง่ายเลยที่เราจะมีกฏข้อนี้มา
.
หากท่านไปประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเราอย่างอินโดนีเซีย กัมพูชา เราจะทราบดีว่านโยบายหรือแผนการต่อต้านบุหรี่ของเมืองไทยเราล้ำกว่ามาก
.
ส่วนหนึ่งก็คือการที่เราไม่ได้ทำลายหรือยกเลิกในสิ่งที่ผู้รักสุขภาพเขาสร้างกันมา
.
ซึ่งไม่แน่ว่าหากวันนั้น ดร.สุรินทร์ คุณหมอประกิต ไม่ไปหรือโน้มน้าวไม่สำเร็จละก็ …
.
บุหรี่อาจจะแพร่หลายและหาซื้อกันง่ายขึ้นในบ้านนี้เมืองนี้ก็เป็นได้
.
ผมเชื่อว่าประสบการณ์ครั้งนั้นก็สร้างจุดยืนให้กับ ดร.สุรินทร์ มาไม่น้อย ยิ่งเมื่อท่านดำรงตำแหน่ง “เลขาธิการอาเซียน” ท่านมักเน้นถึง “สามเสาหลัก” ของอาเซียน ได้แก่ ๑.การเมืองความมั่นคงอาเซียน ๒.เศรษฐกิจอาเซียน และ ๓.สังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
.
ที่เราคุ้นหูกันดีคือเสาที่สอง “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือที่เรียกย่อๆว่า “AEC”
.
เพราะมันเป็นเสาที่ก่อร่างได้ง่ายและพูดจากันรู้เรื่องมากที่สุด เป็นรากฐานของความไว้วางใจกัน อันสามารถตั้งเสาที่เหลือต่อไปได้
.
“ดร.สุรินทร์” ก็มุ่งไปทางนั้น โฟกัสในเรื่องของการค้า การลงทุน และการสร้างโอกาสในอาชีพ
.
เราเลยมีโอกาสได้เห็นนวัตกรรมทางภาษี ได้ยินเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีในภูมิภาค ได้สัมผัสถึงความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนมากขึ้น
.
ประสบการณ์เรื่องต่อต้านบุหรี่ในคราวนั้น ได้กลายเป็นแผนงานในการค้าการขายในอาเซียน กล่าวคืออาเซียนจะสนับสนุนให้มีการค้า การขายในแทบทุกประเภทสินค้า นอกจากสินค้าสารพิษ ยาเสพติด !
.
เรื่องยาดองของเมา เหล้ายาบาระกู่ บุหรี่ นี้ ไม่ถือเป็นสินค้าเสรีที่อาเซียนสนับสนุน กลับเป็นเรื่องที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อต้านอีกต่างหาก
.
เราเรียกนโยบายนี้ว่า “green and safe trade”
.
นั้นเกิดในยุคของ “ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” เด็กปอเนาะจากเมืองไทย
.
ผมมีความฝันนะ ว่าอยากอยู่ในสังคมที่ไม่มีพิษภัยของยาเสพติด ที่แม้แต่บุหรี่ก็ยังถูกปฏิเสธ
.
ทำใจได้ลำบากว่าหากลูกเรา หลานเรา ต้องได้รับยาพิษจากบุหรี่ ยาเสพติด แล้วชักดิ้นชักงอ เจียนตาย เพราะความไม่สนใจที่จะต่อต้านมันแม้จะเล็กน้อย
.
มองในจุดนี้ก็พอจะเห็นในอีกทางหนึ่งว่า “อำนาจ” นั้นก็เป็นอาวุธหนึ่งที่สามารถทำให้สังคมดีขึ้นได้ หากใช้ให้ถูกที่ มีเหตุผล และเน้นในเรื่องป้องกันภัย
.
แต่ไม่จำเป็นต้องใคร่ถึงการมีตำแหน่งใหญ่โต เงินเดือนมากโข “อำนาจ”ที่ทรงพลังยิ่งคือ “ตัวเรา ใจเรา” หากปฏิเสธสิ่งที่ทำร้ายร่างกายเรา เราก็จะเข้มแข็ง เราจะไม่อ่อนแอ
.
คงจะดีมากเลยล่ะ หากบรรดานักเรียนเด็กปอเนาะ ลด ละ เลิก บุหรี่ และพิสูจน์ให้สังคมรับรู้ว่าเมื่อคุณเป็นเด็กปอเนาะ บุหรี่และยาเสพติดทั้งหลายจะกลายป็นศัตรูของคุณ
.
เมื่อนั้นคุณอาจช่วย “รักษา” สังคมไว้ให้อยู่ในสถานะปลอดภัยได้ เหมือนดั่งที่ “เด็กปอเนาะอับดุลฮาลีม (สุรินทร์) พิศสุวรรณ” เคยยืนหยัดมาแล้ว .
#PrinceAlessandro
03-12-2017
ปล.งานเขียนนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากความในใจของ “ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ” วีรบุรุษการต่อต้านพิษภัยบุหรี่โลกจากประเทศไทย.
1,079 total views, 2 views today
More Stories
SEC ภาคใต้กับSEA สงขลา-ปัตตานี
สู่พรบ.สันติภาพ เพื่อประกันกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
ฮัจญ์ไทยในภารกิจทูตสันติภาพใน 3 ภารกิจ จชต.