เมษายน 26, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

โลกโซเชี่ยลชายแดนใต้แห่ถล่ม “ทำไมคนไม่ดี ย้ายลงใต้(เป็นประจำ)

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูร บินชาฟิอีย์(อับดุลสุโก ดินอะ)

ภาพนี้ เครดิต คม ชัด ลึก..

(18 พฤศจิกายน 2562) หลังข่าวรัฐย้ายนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตผู้อำนวยการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ที่กำลังโด่งดังหนึ่งในผู้ต้องหาคดีฆ่าบิลลี่ไปประจำพนักงานทรัพยากร จังหวัดปัตตานี (โปรดดูข่าว
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_1757952)
ทำให้โลกโซเซียลชายแดนใต้ถล่มรัฐอย่างรุนแรงว่าทำไมต้องเอาคนมีประวัติไม่ดีมาประจำที่ชายแดนใต้ด้วย (เป็นประจำ)เช่นท่านรักชาติ สุวรรณ รองประธานสภาประชาสังคม กล่าวว่า “
คนที่เป็นผู้ต้องหาฆ่า ย้ายมาตานี
คนที่ถูกกล่าวหาทางการเมืองที่ยะลา ย้ายไปเชียงใหม่.

บทเรียนราคาถูกที่บ้านพี่ เหมือนไกลปืนเที่ยงเลยเนาะ”
เหมือนกับนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ตั้งข้อสังเกตว่า
“ย้าย คณากร ไป เชียงใหม่
เอา ชัยวัฒน มา ปัตตานี?”

นายมุฮำหมัดอัญวัร หะยีเตะ กล่าวล้อเลียนว่า “ผอ.คนใหม่

มาแล้วๆ
ผอ.สนง.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ปัตตานี

จัดขบวนแห่ใหญ่ๆ ต้อนรับหน่อยเร็ว”
ซึ่งมีนักวิชาการ เครือข่ายประชาสังคม และนักเลงคีย์บอร์ด เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า “ทำไมจะต้องย้ายคนไม่ดีมากินตำแหน่งที่ชายแดนใต้เป็นประจำเกือบทุกครั้ง”
อย่างไรก็แล้ว นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการจากนราธิวาส
ก็ติงผู้วิจารณ์ส่วนใหญ่ให้ใจเย็นๆมีสติไม่ไปกล่าวหาใครตราบใดที่เขายังไม่ถูกศาลตัดสินในที่สุดเพราะมันไม่ต่างอะไรกับคนชายแดนใต้ที่ถูกสังคมตัดสินไปเเล้วเเม้เพียงแต่เขาเป็นผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา
ครับอย่างไรก็แล้วแต่สิ่งเหล่านี้คือข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ว่า รัฐไม่ว่าสมัยใดจากอดีตถึงปัจจุบันไม่เคยเปลี่ยน จุดยืนที่จะทำในสิ่งที่คนชายแดนภาคใต้กล่าวหา และ ประวัติศาสตร์เชิงประจักษ์ พบว่า “ข้าราชการเหล่านี้ส่วนใหญ่หนีไม่พ้นมาทำลายคนชายแดนใต้ให้เป็นปัจจัยหนุนไฟใต้กองใหม่ที่แต่ละฝ่ายพยายามจะช่วยกันดับด้วยงบประมาณนับแสนล้าน”
ที่สำคัญที่สุด มีอดีตผู้ใหญ่ชายแดนใต้ท่านหนึ่งที่เดินทางมาดูงานที่ประเทศอินเดียกับผม(ไม่ขอระบุชื่อ)ตั้งข้อสังเกตในรถว่า “หรือมีใครคิดชั่วคิดไกลเกิดสังหารปิดปากนายคนนี้แล้วโยนให้ไฟใต้ มันก็จะเป็นการยิงนกได้หลายตัว ที่แน่ๆมันจะเป็นการตัดตอนให้ไม่ไปสู่ตัวการใหญ่ที่สั่งสังหาร “บิลลี่”อย่างแน่นอน
ท้ายสุดเราลองมาอ่านข้อวิจารณ์จากท่านพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง(อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้)ที่กรุณาอธิบายต่อเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจเอามากๆและมันสะท้อนว่ารัฐผู้มีอำนาจปัจจุบันไม่แยแสความรู้สึกรนชายแดนใต้ดังรายละเอียดดังนี้
การโยกย้ายข้าราชการที่ไม่สนใจความรู้สึกของประชาชนใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้!!!

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ย้ายนายนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งขณะนี้เป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีการเสียชีวิตของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ไปสำนักงานทรัพยากรจังหวัด (ทสจ.) ปัตตานี เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

คำสั่งโยกย้ายดังกล่าวสำหรับพื้นที่ซึ่งมีสถานการณ์ความไม่สงบมีความละเอียดอ่อน การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการไปในพื้นที่ ๓ จังหวัด มีจารีตที่ถือปฏิบัติคือหลักรัฐประศาสโนบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ที่วางไว้สำหรับการปฏิบัติราชการในมณฑลปัตตานี ตามพระราชหัตถเลขาที่ ๓/๗๘ วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๖ ในข้อที่ ๕ คือ

“๕ ข้าราชการที่จะแต่งตั้งออกไปประจำตำแหน่งในมณฑลปัตตานี พึงเลือกเฟ้นแต่คนมีนิสัย ซื่อสัตย์ สุจริต สงบเสงี่ยมเยือกเย็น ไม่ใช่สักแต่ว่าส่งไปบรรจุให้ตำแหน่ง หรือส่งไปเป็นทางลงโทษเพราะเลว

เมื่อจะส่งไปต้องสั่งสอนชี้แจงให้รู้ลักษณะทางการอันพึงประพฤติระมัดระวัง โดยหลักที่กล่าวได้ว่า ในข้อหนึ่งและข้อสี่ข้างบนนั้นแล้ว ผู้ใหญ่ในท้องที่พึงสอดส่องฝึกฝนอบรมกันต่อๆไปในคุณธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่คอยให้พลาดพลั้งลงไปก่อนแล้วจึงว่ากล่าวโทษ…”

การแต่งตั้งนอกจากไม่ยึดหลักรัฐประศาสโนบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ แล้ว ที่เป็นจารีตแล้ว ยังไม่คำนึงถึงความรู้สึกและความทุกข์ของประชาชนที่ต้องอยู่ในสถานการณ์ความไม่สงบที่มีความรู้สึกถูกกดทับ พื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ลงโทษข้าราชการที่มีปัญหา และประชาชนไม่มีความหวังการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ความไม่สงบในพื้นที่อีกด้วย”
ท่านทวี สอดส่องหรือแบสีของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เสนอทิ้งท้ายอีกว่า”การแต่งตั้งด้วยระบบคุณธรรมคือทางออกในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชายแดนภาคใต้”โดยท่านกล่าวว่า
“การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ที่เรียกว่า “ระบบคุณธรรม” สิ่งที่สำคัญยิ่งคือระบบคุณธรรมกับประชาชนด้วย เพราะข้าราชการดำรงชีวิตอยู่จากเงินภาษีของประชาชนจึงเป็น ”หนี้ของประชาชน” (ทวี สอดส่อง กล่าว)

////////////////////////////////////

 701 total views,  2 views today

You may have missed