โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ…
(2 พฤศจิกายน 2562) จิตวิญญาณหรืออุดมการณ์หลักในการร่างรัฐธรรมนูญคือหัวใจที่ทำให้รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีความแตกต่างกัน รัฐธรรมนูญฉบับธงเขียว 2540 เกิดจากจิตวิญญาณของภาคประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตยเต็มใบที่ไปให้พ้นจากการครอบงำของฝ่ายทหาร และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างในยุคเผด็จการ คสช. นี้ ชัดเจนว่า มีจิตวิญญาณหรืออุดมการณ์หลักที่ร่างเพื่อสืบทอดรักษาฐานอำนาจเผด็จการ คสช.ไว้ให้ยาวนานที่สุดและรวมทั้ง เสริมสร้างฐานความเข้มแข็งของรัฐราชการให้แข็งแกร่ง หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ “เพิ่มอำนาจรัฐ ขจัดอำนาจประชาชน”
กลับมาดูปัญหาปากท้องในภาคใต้ กับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ภาคใต้เป็นภาคที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีเขาป่านาเลพรุที่เคยสมบูรณ์ แต่ด้วยนโยบายการพัฒนาที่ไม่ตั้งอยู่บนการปกป้องชุมชนและฐานทรัพยากร ปัจจุบันคนใต้ที่มีความสุขและมีวิถีชีวิตที่กินอิ่มนอนหลับ คนใต้และภาคใต้กำลังอยู่บนทางสองแพร่ง
ราคายางและปาล์มที่ตกต่ำยาวนานและไร้อนาคตนั้นมีส่วนทำให้ปากท้องคนใต้มีความยากลำบาก แต่แนวทางการทำสวนยางยั่งยืนที่ภาคประชาชนกำลังยืนหยัดแก้ปัญหาด้วยตนเอง การใช้กากปาล์มทางปาล์มในการผลิตไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชีวมวลชุมชนและน้ำมันบี 100 ก็กำลังเป็นคำตอบที่ชาวบ้านและทุนท้องถิ่นกำลังพยายามจัดการตนเอง
ที่นาในภาคใต้กำลังหดหาย นาข้าวที่มีอยู่ก็เป็นนาเคมี สวนผลไม้เชิงเดี่ยวก็เคมี สวนผักที่มีไม่มากก็เคมี วิถีเกษตรกรที่เดินในกระแสทุนนิยมนั้นคือเกษตรกระแสหลักที่แม้จะไม่มีความหวัง แต่การเปลี่ยนแปลงเกษตรกรรมภาคใต้และทั้งประเทศมาสู่การเป็นเกษตรอินทรีย์ยังเป็นเพียงวาทกรรมของรัฐ แต่ก็มีเกษตรกรส่วนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาประกาศศักดา สร้างต้นแบบเกษตรอินทรีย์
ทะเลที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวประมงพื้นบ้านและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการประมงนั้นก็ถูกการประมงทำลายล้างด้วยอวนรุนอวนลากอวนตาถี่ของนายทุนจากแดนไกลจนถึงขั้นวิกฤต แต่ชาวประมงพื้นบ้านหลายพื้นที่แม้ยังเป็นส่วนน้อยก็ได้ลุกขึ้นมาปกป้องทะเลหน้าบ้านของเขา
การบุกรุกที่ดินที่เป็นป่าเขาและที่ดินพรุทำให้เกิดการเผาป่าพรุควนเคร็งจนเกิดกระแสไฟและหมอกควันพิษครั้งเลวร้ายในภาคใต้ที่ไม่ได้มาจากอินโดนีเซีย คนที่มีทุนมากก็กำลังมีที่ดินมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนคนจนก็ทยอยขายที่ดินด้วยความจำเป็นเพื่อล้างหนี้สินที่ล้นพ้นตัว ส่วนหนึ่งกลายมาเป็นคนจนเมือง ส่วนหนึ่งเข้าไปเป็นแรงงานไร้ฝีมือในโรงงาน อีกส่วนสิ้นหวังในชนบท รัฐให้นายทุนต่างชาติหรือทุนไทยเช่าที่ดิน 49 ปีบ้าง 99 ปีบ้างนั้นรัฐคิดได้และผลักดันทำจริง แต่ข้อเสนอจากภาคประชาชนในการปฏิรูปที่ดิน โฉนดชุมชน ป่าชุมชน การแก้ปัญหาการทับซ้อนของที่ดิน ไม่เคยได้รับการใส่ใจจริงจังและจริงใจจากรัฐไทย
ชาวเล มันนิ ไทยพลัดถิ่น พี่น้องมลายู ซึ่งมีจุดเด่นที่มีอัตลักษณ์ของตนเอง มีวิถีชีวิตที่แปลกแยก ไม่ได้รับการสนับสนุนให้ดำรงอัตลักษณ์ของเขาที่งดงามจากรัฐไทย ไม่ได้แก้ปัญหาด้านสิทธิชุมชนคนส่วนน้อยให้กับเขา เขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อทุนต่างชาติเรามีได้ แต่เขตวัฒนธรรมพิเศษเราไม่เคยมี
ในด้านพลังงาน ภาคใต้เป็นเป้าหมายของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่ภาคประชาชนต้องการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล แต่การส่งเสริมที่แท้จริงทั้งนโยบาย net metering หรือการลดเงื่อนไขของภาคประชาชนหรืออุตสาหกรรมท้องถิ่นในการผลิตไฟฟ้าใช้เองหรือขายไฟเข้าระบบ ยังมีอุปสรรคที่รัฐไม่สนใจแก้ไข
ด้านการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นตลอดแนวชายหาดอันสวยงามของภาคใต้ กำลังกลายเป็นหาดหินหรือหาดกระสอบทราย ซึ่งสูญเสียความสวยงามของหาดทรายธรรมชาติ สิ้นเปลืองงบประมาณ และเป็นทัศนอุจาดทำลายการท่องเที่ยวของภาคใต้ในระยะยาว
ด้านการจัดการน้ำก็เป็นอีกปัญหาที่กระทบปากท้อง ภาครัฐยังคิดถึงการจัดการน้ำแบบรวมศูนย์ สร้างเขื่อน สร้างอ่างเก็บน้ำ สร้างคลองผันน้ำ ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์จริงคือผู้รับเหมาและผู้อนุมัติ แต่จำนำความแห้งแล้ง ความผันผวนของธรรมชาติมายังพื้นที่ ในขณะที่ชาวบ้านนั้นเขากลับมีข้อเสนอที่ก้าวหน้า ด้ยรูปธรรมการจัดการน้ำด้วยฝายมีชีวิตนับพันๆตัว ที่สามารถยังความชุ่มชื้นให้แผ่นดิน คืนธรรมชาติให้สองฝั่งคลอง
ในด้านการศึกษา การเรียนการสอนที่ทำให้เด็กเรียนแล้วประกอบอาชีพไม่เป็น การแข่งขันที่เกินกว่าเหตุ หลักสูตรที่เน้นเอาคนออกจากชนบท การกระจายอำนาจทางการศึกษาไม่มี มีแต่การรวบอำนาจและการผูกขาดที่ทำลายความคิดสร้างสรรค์และพลังการเรียนรู้ของเยาวชน
ในด้านเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งเป็นหัวใจของการพึ่งตนเองอย่างเกื้อกูลของระบบเศรษฐกิจชุมชน กำลังถูกทำลายจากทุนชาติที่เป็นทุนขนาดใหญ่ รัฐในมุมหนึ่งแม้จะสนับสนุนSME แต่ที่แท้จริงนั้นคือการปล่อยปละให้ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นกำลังถูกเขมือบหรือปิดกิจการจากทุนชาติและทุนต่างชาติที่รุกรานอย่างรุนแรง
ในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจภาคใต้ที่ยั่งยืน ก็มีความเสี่ยงทั้งในมุมรัฐเห็นภาคใต้เป็นพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมหนักเช่นเดียวกับมาบตาพุด จะสร้างทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน สร้างนิคมอุตสาหกรรม สร้างท่าเรือน้ำลึก ขุดคลองไทยและพัฒนาที่ดินเป็นพื้นที่โรงงาน ระเบิดเขาทำเหมือง เป็นต้น ซึ่งสะท้อนความสับสนในทิศทางการพัฒนาของรัฐที่สวนทางกับแนวคิดของภาคประชาชนที่ต้องการการพัฒนาในแนวของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
ทั้งหมดนี้ พอจะเห็นได้ชัดเจนว่า ปัญหาของคนใต้นั้น รัฐไทยคืออุปสรรคอันสำคัญยิ่ง ทั้งในแง่ของการละเลยการทำหน้าที่ที่ควรจะทำในการปกป้องและดูแลประชาชน และทั้งในเง่ของการที่รัฐไทยทำตัวเป็นผู้นำการทำลายล้างเสียเอง แล้วเราภาคประชาชนจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร ประท้วงไปทีละประเด็นประเด็นไปกระนั้นหรือ ยื่นหนังสือฉบับที่นับไม่ถ้วนกระนั้นหรือ บุกศาลากลางบุกทำเนียบด้วยความเหนื่อยยากอีกแล้วหรือ
ดังนั้นเมื่อรัฐไทยคือตัวปัญหา และกลไกของรัฐไทยคือกลไกราชการเป็นอุปสรรคของการแก้ปัญหา ทั้งด้วยการติดที่วิธีคิด ติดข้อกฏหมายและระเบียบที่รุงรังยิ่งกว่าสายไฟบนท้องถนน รวมถึงติดขัดที่ความไร้ประสิทธิภาพของระบบในการทำหน้าที่ การแก้ปัญหาทีละประเด็นคงไม่ไหวแน่ เช่นนี้แล้วการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นคำตอบแห่งความหวังที่ไปแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาคือรัฐไทยที่ไร้ประสิทธิภาพและไร้ซึ่งจุดยืนในการยืนข้างประชาชนได้หรือไม่ นี่คือคำถามสำคัญของสังคมไทย
สำหรับผม ปัญหาปากท้องไม่ได้เกิดจากชาวบ้านขี้เกียจทำกิน ไม่ได้เกิดจากชาวบ้านมีความรู้น้อยจึงโง่จนเจ็บ แต่ที่ยังจนยังลำบากและการที่คนทั่วไปทำงานขยันขันแข็งทั้งชีวิตแต่ก็ยังไม่สามารถเงยหน้าอ้าปากได้ เป็นเพราะโครงสร้างทางสังคมและโครงสร้างรัฐไทยที่พิกลพิการ การต่อสู้แก้ปัญหาทีละประเด็นคงไปไม่ถึงไหนแน่ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจส่วนบนคือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น หากต้องการนำพาประเทศไทยให้ก้าวพ้นวิกฤต ไม่ใช่การทำตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี แต่คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อวางโครงสร้างของรัฐไทยใหม่ ให้เป็น “ประเทศไทยที่อำนาจรัฐส่วนกลางลดลง เพิ่มอำนาจประชาชนในการจัดการตนเองเพิ่มขึ้น”
ยิ่งเมื่อวิญญาณของรัฐธรรมนูญปี 2560 นี้ ไม่มีวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตย แต่กลับเน้นไปที่การรักษาฐานอำนาจเผด็จการและเสริมสร้างพลังอำนาจในการนำพาประเทศด้วยรัฐราขการที่คร่ำครึและไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังกดทับสิทธิเสรีภาพ เบียดขับบทบาทภาคประชาชน เมินเฉยการกระจายอำนาจ ละเลยการปฏิรูป ไม่เห็นกลไกการแก้ความเหลื่อมล้ำ และไม่เห็นอนาคตที่หวังได้ในการนำประเทศชาติในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของโลก
การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ใหม่ทั้งฉบับจึงมีเป็นวาระร่วมที่จำเป็นอย่างยิ่งของประชาชนทุกคนในสังคมไทย
หมายเหตุ
คำประกาศพัทลุง
คนใต้ยืนยันจะร่วมผลักดันร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
เพื่อสถาปนาอำนาจของประชาชน
รัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนขึ้นมาเพื่อสานต่ออำนาจเผด็จการ เอาความมั่นคงเป็นตัวตั้ง เห็นคนไม่เท่ากัน อำนาจอธิปไตยของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่ใช่ของปวงชน แต่เป็นเพียงของคนกลุ่มเล็กๆ ร่างโดยนักรัฐธรรมนูญรับจ้าง ชนชั้นใดร่างกฏหมายก็รับใช้ชนชั้นนั้น ที่มาเกิดจากคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ปืนใช้กำลังยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิม จึงเป็นที่มาที่ไม่ชอบ เนื้อหาก็ร่างให้แต่เพียงกลุ่มคนเดิมๆได้ประโยชน์ การบังคับใช้ก็ไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม ขาดการยอมรับและความเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ส่วนใหญ่ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จึงเท่ากับว่าต้องเป็นการร่างใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่เพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดิม เพื่อให้กฎหมายรัฐธรรมนูญนี้เป็นกฏหมายสูงสุดของคนไทยทุกคนอย่างแท้จริง
หลายความเห็นในเวที มีความรู้สึกร่วมที่ชัดเจนว่า ฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญโจรเขียน ที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับโจร” เพราะใช้ปืนปล้นอำนาจมา เราคนใต้ไม่ยอมรับ เราคนใต้ต้องกำหนดชีวิตของเราเอง จึงมีความเห็นร่วมว่า ขอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไปเลย แล้วทำใหม่เขียนใหม่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม กระบวนการให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ก็ต้องเดินตามระบบแม้ระบบจะบิดเบี้ยว และเคารพสิทธิเคารพเสียงของประชาชนคนไทย
เจตนารมณ์ของภาคประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 นั้น ต้องไปให้ไกลกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 และควรต้องมีบทบัญญัติที่รองรับอำนาจของภาคพลเมืองหรือภาคประชาชน ต้องลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ปัญหาของพี่น้องประชาชน ต้องเห็นทางออกและเห็นความหวังจากกลไกใหม่ที่ระบุในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน
ความตื่นตัวของภาคประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การเห็นปัญหาและความต้องการของประชาชนในประเทศในการจะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ร่วมกันนั้นมีความสำคัญมาก เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในครั้งนี้ ดังนั้นในขั้นตอนของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องไม่เน้นการรับฟังเชิงเทคนิคทางกฏหมายรายมาตรา แต่เน้นการเขียนอนาคตและออกแบบประเทศไทยร่วมกัน ต้องมีการเปิดการรับฟังกว้างขวาง มีช่องทางในการรับฟังที่หลากหลาย มาตราไม่ต้องมาก แต่มีจุดยืนในการลดอำนาจรัฐและสถาปนาอำนาจของประชาชน
รัฐธรรมนูญต้องเป็นกฎหมายสูงสุดจริงๆ ไม่ใช่ให้กฎหมายลูกหรือ พรบ.อื่นๆมาจำกัดสิทธิในรัฐธรรมนูญ ต้องมีเนื้อหาที่เกื้อหนุนให้ประชาธิปไตยและส่งเสริมให้ประชาชนเติบใหญ่ และยุติการรัฐประหารได้อย่างถาวร
เราทุกคนที่ต่างมุ่งมั่นและเห็นด้วยกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องเดินเข้าหาภาคประชาชน ที่ส่วนใหญ่ยังไม่ชัดว่าควรจะเขียนแก้ตรงไหนข้อไหน จะจับปลาต้องลงน้ำ ดังนั้นแต่ละคนต้องไปศึกษาและลงพื้นที่ทำงานกับพี่น้องประชาชน
คนใต้ต้องเริ่มต้นในการประกาศให้มีองค์กรและเครือข่ายในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ใช้การสื่อสารให้สังคมเข้าใจ ชูธงนำและพร้อมจะนำพาประชาชนในการผลักดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ทำให้ภาคประชาชนแต่ละประเด็นปัญหา รวมตัวกันเป็นองค์กรร่วมในการร่วมเขียนประเทศไทยขึ้นมาใหม่ และผลักดันให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้จงได้ เพื่อให้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในครั้งนี้ คือการวางกรอบอำนาจหรือการเรียงอำนาจในระบอบประชาธิปไตยใหม่ เพื่อให้อำนาจนั้นยึดโยงกับประชาชน แก้ปัญหาประชาชนได้อย่างแท้จริง และกำหนดอนาคตของประเทศไทยที่ประชาชนมีความหวังในอนาคต
ประชาชนคนใต้และประชาชนคนไทย จะต้องผนึกกำลัง ผลักดันการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อการยึดคืนประเทศไทยจากโจร และยืนยันว่า “อำนาจการสถาปนารัฐธรรมนูญนั้นเป็นอำนาจของประชาชน”
2 พฤศจิกายน 2562
เวที แก้ปัญหาปากท้องประชาชน ต้องแก้รัฐธรรมนูญ
โรงแรมชัยคณาธานี ณ จังหวัดพัทลุง
994 total views, 2 views today
More Stories
SEC ภาคใต้กับSEA สงขลา-ปัตตานี
สู่พรบ.สันติภาพ เพื่อประกันกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
ฮัจญ์ไทยในภารกิจทูตสันติภาพใน 3 ภารกิจ จชต.