เมษายน 18, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

บทเรียนอินโดนีเซียกับการฟ้องร้องรัฐต่อนักการเมืองและนักวิชาการในพื้นที่ชายแดนใต้ ข้อเสนอและทัศนะ จากนางอังคณา นีละไพจิตร

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูร บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) รายงาน…

“ในฐานะที่ทำงานและติดตามสถานการณ์ จชต.มายาวนานในต่างหน้าที่และบทบาท รู้สึกกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ใน จชต. ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา นับแต่ #กรณีการขาดอากาศหายใจระหว่างถูกควบคุมตัวจนต่อมาเสียชีวิตของนายอัลดุลเลาะ อีซอมูซอ ถึงกรณี #สันติบาลมีหนังสือถึงมหาวิทยาลัยต่างๆเพื่อขอทราบข้อมูลการทำกิจกรรมของนักศึกษามุสลิม จนถึงกรณีการที่ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นแก่คนทำงานภาคประชาสังคม นักวิชาการ และแกนนำพรรคฝ่ายค้าน 12 คน ที่เข้าร่วมเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่บริเวณลานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2562 และล่าสุด #กรณีท่านผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลาที่ทำร้ายตัวเอง จากอ้างถึงการแทรกแซง แม้แต่ละกรณีจะเป็นคนละเรื่อง แต่ก็น่าจะส่งผลต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐและประชาชนรวมถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ซึ่งสุดท้ายก็ย่อมจะส่งผลต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง และการสร้างสันติภาพอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ที่จริงแนวคิดเรื่องการปรับปรุงรัฐธรรมนูญมาตรา ๑ มีมานาน มิใช่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ในช่วงรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะในการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ขณะที่ยังเป็นประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อนุกรรมการฯก็เคยมีความเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ปรับปรุงรัฐธรรมนูญมาตรา ๑ โดยให้เพิ่มเติมถ้อยคำว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศพหุวัฒนธรรม จะแบ่งแยกมิได้” และเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2562 ในเวทีเสวนา “วัฒนธรรมชาติพันธุ์กับความเป็นอยู่ในสังคมไทย” ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ ทางกลุ่มชาติพันธุ์ ก็ได้มีข้อเสนอแนะให้มีการปรับปรุงรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑ ว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรพหุวัฒนธรรม จะแบ่งแยกมิได้” (https://www.komchadluek.net/news/regional/390928) ทั้งนี้เหตุผลของหลายฝ่ายในการเพิ่มถ้อยคำ “#พหุวัฒนธรรม” ในมาตรา ๑ ของรัฐธรรมนูญ ก็เนื่องจากในความเป็นจริงประเทศไทยประกอบด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และมีชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous People – IDPs) หลายกลุ่ม จึงเห็นควรกำหนดความเป็นพหุวัฒนธรรมในรัฐธรรมนูญ เพื่อมุ่งผลักดันด้านกฎหมาย ให้กลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนร่วมในการออกแบบพระราชบัญญัติสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ เขตวัฒนธรรมพิเศษ หรือการปกป้องการดำรงอัตลักษณ์ไม่ให้หายไป เช่น ภาษา ความเชื่อ ศาสนา หรือวัฒนธรรมต่างๆ รวมถึงเพื่อให้มีกลไกคุ้มครองในการดำเนินชีวิตตามความเชื่อและวัฒนธรรมของตน และเพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจหรือกฎหมายเพื่อคุกคามการดำเนินชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์

ส่วนตัวมีข้อสังเกตว่า ข้อเสนอของกลุ่มชาติพันธุ์จากพื้นที่อื่นนอก จชต. ที่เสนอในวันที่ 29 กันยายน นั้น กอ รมน. มิได้คิดดำเนินการฟ้องร้องกล่าวโทษบุคคลใดเช่นเดียวกับการฟ้องร้องกล่าวโทษตามผิดข้อหาร้ายแรงต่อบรรดาวิทยากรที่ร่วมเสวนาในเรื่องเดียวกันใน จชต. นอกจากนั้นเรื่องนี้ยังถูกทำให้เป็นเรื่องการเมืองโดยล่าสุดนักการเมืองพรรครัฐบาลได้ยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภาเพื่อส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสมาชิกภาพ 6 ส.ส. พรรคฝ่ายค้านที่เข้าร่วมเสวนา โดยมองว่าเป็นอาจเป็นการทำลายประเทศชาติ ทำลายรัฐบาล รวมถึงทำลายสถาบันตุลาการ

กรณีท่านผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลาก็ไม่ต่างจากกรณีอื่นที่ถูกโยงว่าเป็นเรื่องการเมืองทั้งที่ กต. เพิ่งตั้งกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งการตรวจสอบต้องทำอย่างรอบคอบและระมัดระวัง เพราะหลักเรื่องความเป็นอิสระของศาลถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างที่สุด แต่ก็มีหลายคนที่ด่วนสรุปให้ความเห็นไปแล้วทั้งความเห็นที่ว่าตุลาการใน จชต. อาจถูกแทรกแซงทั้งหมดทุกคดี หรืออีกฝ่ายที่เห็นว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับพรรคการเมืองที่เห็นต่างจากรัฐอยู่เบื้องหลังทั้งที่ไม่น่าจะโยงไปได้ไกลถึงขนาดนั้น กลายเป็นเรื่องนี้มีผู้รู้เยอะแยะไปหมด หนักกว่านั้นคือมีการคาดการณ์ว่าหลายเรื่องๆที่เกิดขึ้นช่วงนี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรมากขึ้นไปอีก

ด้วยความเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของทุกท่าน แต่อยากเตือนสติการกระทำและการให้ความเห็นที่อาจกระทบต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงใน จชต. ที่มีความเปราะบางและซับซ้อนอย่างยิ่งโดยเฉพาะเรื่องปัญหาการสร้างความไว้วางใจ (Trust Building) ระหว่างรัฐกับประชาชน หากได้ศึกษาในรายงานวิจัยเกี่ยวกับ จชต. ทั้งในและต่างประเทศจะพบว่าปัญหาสำคัญที่สุด คือความหวาดระแวง และความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมกรณีเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทั้งเรื่องปัญหาการปฏิบัติของ จนท. ภายใต้กฎหมายพิเศษ การทรมาน การบังคับสูญหาย หรือกรณีกรือเซะ ตากใบ ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่พบมี จนท.คนใดต้องรับผิด หรือรับผิดชอบ

อยากแนะนำให้อ่านปาฐกถาของดร. ฮัสซัน วิรายูดา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย และหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพอาเจะห์ ที่แสดงความเห็นในการแสดงปาฐกถาสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร เกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law-IHL) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 62 ที่กระทรวงการต่างประเทศ เรื่อง “กระบวนการสันติภาพอาเจะห์ (ค.ศ. 1999-2005) กุญแจสำคัญสู่ทางออกที่ยั่งยืน” ดร.วิรายูดา เน้นย้ำสิ่งที่สำคัญ คือ #Reformasi หรือ การปรับปรุงนโยบายและแนวทางปฏิบัติในอดีต และพัฒนานโยบายใหม่ๆในหลายๆด้านที่เกี่ยวข้องกับวิถีความเป็นรัฐ
ดร.วิรายูดา ได้กล่าวช่วงหนึ่งว่า “ .. Reformasi ทำให้เกิดโอกาสในการประเมินข้อผิดพลาดของนโยบายในอดีต ภายหลังการปฏิรูป ทหารได้ถูกลดอำนาจลงอย่างมีนัยสำคัญ (significantly reduced) ทหารเคยเป็นสถาบันที่มีอำนาจที่มีอำนาจมากที่สุดในประเทศและมีสองบทบาททั้งทางทหารและทางการเมือง Refoemasi ได้ปลดเปลื้องบทบาททางการเมืองของทหารอย่างได้ผล ส่งผลให้ทหารเน้นการสร้างเสริมความเป็นมืออาชีพได้มากขึ้น กระบวนการปฏิรูปทหารภายในประเทศจึงได้ #คืนทหารกลับสู่ค่าย (returned the military to their barracks) และยอมรับอำนาจรัฐบาลพละเรือนที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย”

ทั้งนี้ ดร.วิรายูดา กล่าวสรุปปาฐกถาของท่านว่า “ … กุญแจสำคัญที่ทำให้กระบวนการพูดคุยประสบความสำเร็จ คือการที่อินโดนีเซียเปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ในสังคมพหุวัฒนธรรม เราควรเปิดกว้างและยอมรับความแตกต่าง จงเอื้ออารีต่อศัตรู เพราะถึงอย่างไรเขาก็เป็นเพื่อนร่วมชาติของเรา” ประโยคสุดท้ายที่ ดร.วิรายูดา กล่าวเน้นย้ำ คือ “อย่าทิ้งปัญหาของเราให้กับคนรุ่นหลัง พึงระลึกว่า ความขัดแย้งที่ดูสงบนิ่งโดยเฉพาะความขัดแย้งที่มีนัยทางศาสนานั้น อาจเชื้อเชิญให้กลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ผิดแผกเข้ามาร่วม ซึ่งอาจทำให้การทางออกมีความซับซ้อนมากขึ้น”

เรื่องทั้งหมดนี้หากผู้เกี่ยวข้องไม่เปิดใจให้กว้างและอดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่โยงทุกเรื่องให้เป็นเรื่องความมั่นคง หรือการเมืองที่ต้องทำลายผู้ที่เห็นต่าง หรือใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างกัน หันกลับมาเร่งสร้างความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม โดยพยายามทำความจริงให้ปรากฏโดยปราศจากอคติและความเกลียดชัง รวมถึงเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามากขึ้น เราอาจพอมองเห็นทางออกในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ

ด้วยความห่วงใยและปรารถนาดีค่ะ
“อังคณา นีละไพจิตร”

 660 total views,  2 views today

You may have missed