พฤศจิกายน 27, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ทำไมมุสลิมจึงค้าน “ตรวจสอบประวัตินักศึกษา” รายงานจากวงเสวนา

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

จากกรณีกองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ออกหนังสือขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยหลายแห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ชลบุรี อยุธยา และสงขลา ให้ส่งรายชื่อนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยให้ระบุจำนวนนักศึกษามุสลิม จำแนกตามนิกายและภูมิลำเนาของนักศึกษาว่าอยู่ในพื้นที่หรือนอกพื้นที่มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังขอทราบข้อมูลเกี่ยวกับการจัดตั้งกลุ่มหรือชมรมของนักศึกษามุสลิมอย่างละเอียด
จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ได้รับกระแสต่อต้านจากมุสลิมหลายภาคส่วน จนมีการ จัดเวทีให้ความรู้ต่อสาธารณะ เมื่อ วันจันทร์ที่ 23 กันยายน 25 62ณ Patani ArtSpace เวลา 13.00 -16.30 น.
ร่วมจัดโดย CSOs นักวิชาการ นักศึกษา สนับสนุนโดย PEOPLE FORUM ซึ่ง ผู้เขียนมีโอกาสรับฟังและร่วมเสวนาขอนำเสนอและรายงานดังนี้
1. ผู้ร่วมเสวนา 1. ซุลกิฟลี ลาเตะ ประธาน PerMAS 2. อายุบ เจ๊ะนะ เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ 3. อัญชนา หีมมิหน๊ะ
กลุ่มด้วยใจ 4. อ.อสมา มังกรชัย คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี 5.อ.เอกรินทร์ ต่วนสิริ คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี ดำเนินรายการโดย ซาฮารี เจ๊ะหลง นักศึกษาปริญญาโท ม.สงขลานครินทร์
2. แนวคิดที่มา


ผู้จัดได้อธิบาย ว่า “การกระทำดังกล่าวเป็นเป็นประเด็นอ่อนไหว ที่มีการถกเถียงในกระแสสังคม เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจสืบค้นข่าวกรองเพื่อการติดตาม สอดแนมคนเฉพาะกลุ่มโดยอิงตามศาสนา การกระทำในลักษณะนี้เรียกว่า “religious profiling” และอิงอยู่บนฐานคิดว่าชาวมุสลิมเป็นกลุ่มประชากรที่ต้องสงสัย แปลกแยกจากคนกลุ่มอื่นในสังคม ปฏิบัติการของกองบัญชาการตำรวจสันติบาลจึงอาจนำไปสู่การตีตรา (stigmatization) นักศึกษามุสลิมให้กลายเป็น “อื่น” และอาจสร้างความขัดแย้งระหว่างศาสนาอันเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประชาชนได้ รวมทั้งการปฏิบัติในลักษณะนี้ขัดต่อมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งความเชื่อทางศาสนา นอกจากนี้ ยังเป็นการละเมิดอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of all Forms of Racial Discrimination – ICERD) ทั้งนี้ประเทศไทยได้ลงนามไว้ ปฏิบัติการนี้จึงไม่มีอำนาจอันชอบธรรมรองรับและขัดต่อกฎหมายไทยและระหว่างประเทศ” “ด้วยเหตุผลข้างต้น เพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบและแสวงหาแนวทางในการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิ องค์กรประชาสังคม นักศึกษา นักวิชาการ ภายใต้การสนับสนุนจาก PEOPLE FORUM ซึ่งเป็นพื้นที่กลางภาคประชาชนขับเคลื่อนประเด็นกระแสในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้”

3. ข้อเสนอแนะและทางออก
3.1 “สร้างพื้นที่กลาง ด้วยเหตุและผล”
สำหรับเรื่องนี้เมื่อเป็นประเด็นสาธารณะและอาจนำสู่ความขัดแย้ง สร้างความเกลียดชังเพราะหากเราตามสื่อออนไลน์ คอมเมนต์ในเฟสบุ๊คพบว่า คนที่ไม่พอใจต่อมุสลิมก็มีไม่น้อย ที่ให้เหตุผลว่า “ถ้าท่าน(มุสลิม)ไม่ผิดจะกลัวอะไร จนเลยเถิดผลักใสมุสลิมให้ออกนอกประเทศถ้าแตะไม่ได้นัก”
ดังนั้นการสร้างพื้นที่กลางและผลักดันเชิงนโยบาย (Common Space and Advocacy) คือ สร้าง/ขยายพื้นที่กลางให้กับภาคประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ได้เข้ามามีส่วนร่วมใน กระบวนการพูดคุยด้วยเหตุและผล เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอและผลักดันเชิงนโยบายด้วยความรู้แก่ทุกฝ่ายจึงสำคัญและน่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด
3.2 ทุกภาคส่วนร่วมปกป้องตามภาระงานขงตนเอง


ทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบ เริ่มด้วยตนเองด้วยการสร้างมิตรไมตรี ต่อคนเห็นต่างไม่ว่า เชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธ์ุเพื่อสร้างเกราะป้องกันและคนรอบข้างจะช่วย ที่สำคัญมุสลิมเองจะต้องเป็นผู้เริ่ม อันจะส่งผลลดโรคหวาดกลัวอิสลาม หลังจากนั้นองค์กรตนเอง เช่นองค์กรนักศึกษาสามารถทำได้ในนามองค์นักศึกษาในมหาวิทยาลัย หรือตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เมื่อ 18 กันยายน 2562 ที่รัฐสภา เกียกกาย สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย(สนมท.) ได้ยื่นหนังสือต่อนายปิยบุตร แสงกนกกุล ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เรื่องการละเมิดสิทธิและการคุกคามนักศึกษามุสลิมในสถานศึกษา โดยมี น.ส.พรรณิการ์ วานิช รอง กมธ. และนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ เลขาฯ กมธ. เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ ภายหลังมีการเผยแพร่หนังสือของส่วนราชการหน่วยตำรวจสันติบาล ที่มีใจความเกี่ยวกับการได้รับคำสั่งให้ทำการสืบสวนตรวจสอบ และประสานข้อมูลกับมหาวิทยาลัยว่ามีนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามหรือไม่ โดยประกอบไปด้วยจำนวนของนักศึกษามุสลิมนิกายที่นับถือ พื้นที่ภูมิภาคที่อาศัย ครอบคลุมไปถึงการรวมกลุ่มของนักศึกษาผ่านชมรมหรือองค์กรต่างๆ

นายอัสรอฟ กล่าวว่า ตามการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดและคุกคามความเป็นอยู่ของนักศึกษาและเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ในเรื่องการมีสิทธิและเสรีภาพอย่างเสมอภาค การกระทำนี้เป็นการกล่าวหานักศึกษามุสลิมอย่างไม่มีมูล ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงความหวาดระแวงในความเป็นอิสลามและเป็นการสร้างความแตกแยกในสังคม มหาวิทยาลัยควรเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่นักศึกษาจะสามารถแสดงความคิดเห็นและเป็นพื้นที่ที่สามารถคุ้มครองซึ่งสิทธิ์ที่นักศึกษาพึงได้รับ

“ทางกลุ่มเราต้องการให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและมหาวิทยาลัยดำเนินการดังนี้ คือ ขอให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาลทบทวนและมีคำสั่งยกเลิกหนังสือดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพราะการเลือกเจาะจงขอข้อมูลเฉพาะนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้นับถือศาสนา และเป็นการแทรกแซงสถาบันการศึกษา หากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาความรุนแรงและป้องกันความรุนแรงจากแนวคิดสุดโต่งควรต้องเริ่มจากการยอมรับว่าแนวคิดสุดโต่งมีในกลุ่มคนทุกศาสนาและการป้องกันที่ดีที่สุดคือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ลดความหวาดระแวงและสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ยิ่งลักษณ์ทำแบบนี้จะเป็นการเพิ่มความหวัดระแวงและความไม่ไว้วางใจของประชาชนมากขึ้น” นายอัสรอฟ กล่าว

ส่วนนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ จากพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ตนรับทราบว่า ผู้ปกครองในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้รู้สึกเป็นห่วงบุตรหลานของพวกเขาเป็นอย่างมาก หลังได้รับทราบข่าวนี้ ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมความรู้สึกการถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม อันเป็นต้นเหตุของปัญหาความไม่สงบและความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ หากฝ่ายเจ้าหน้าที่เห็นว่าชาวมุสลิมเป็นภัยต่อความมั่นคง ก็ให้ดำเนินการเป็นรายบุคคล แต่อย่าเหมารวมเช่นนี้

ด้าน น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการสร้างความคับข้องใจให้แก่คนมุสลิม และตลอด 15 ปีที่ผ่านมาพวกเขาถูกเลือกปฏิบัติทางกฎหมายอย่างไม่เท่าเทียม ทั้งกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้ กรณีล่าสุดถือเป็นการคุกคามที่มีความรุนแรงเพราะในสถานศึกษาควรจะเป็นที่ที่สิทธิและเสรีภาพถูกคุ้มครอง โดยเราจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาในกมธ.ต่อไป
มหาวิทยาลัยต้องยืนอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชน ไม่โอนอ่อนตาม หน่วยความมั่นคง อย่างเช่นจุดยืนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่กล้าประกาศชัดสวนทางข้อเรียกร้องของสันติบาล ดังนั้นมหาวิทยาลัยอื่นๆก็เช่นกันควรเอาธรรมศาสตรเป็นแบบอย่าง เพราะสิ่งที่ทำด้วยหลักการและเหตุผล สำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยในฐานะองค์กรมุสลิมต้องกล้าแสดงออกต่อรัฐเพราะตามพระราชบัญญัติการบริหารอิสลาม2540 นั้นระบอำนาจอย่างชัดเจนในการให้คำแนะองคาพยพของรัฐบาล ซึ่งเป็นที่หน้ายินดีว่า 24 กันยายน 62 เวลา 10.30 น. อ.สุธรรม บุญมาเลิศ เลขานุการจุฬาราชมนตรี และนายซากีย์ พิทักษ์คุมพล ในฐานนะตัวแทนของสำนักจุฬาราชมนตรี ร่วมกับตัวแทนจาก สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม (ส.น.ท.)ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติถึงสำนักงานเรื่องการสํารวจรายชื่อนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามของตํารวจสันติบาล สืบเนื่องจากหนังสือของตํารวจสันติบาลที่ส่งถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยในบางจังหวัด ขอให้ทางมหาวิทยาลัยดําเนินการสํารวจรายชื่อนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามทุกคน ชมรม ที่นักศึกษาสังกัด ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ที่นักศึกษาเข้าร่วม โดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคง และ หนังสือดังกล่าวได้ถูกส่งต่อเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง ความละเอียดทราบแล้วนั้น สํานักจุฬาราชมนตรีรับทราบกรณีดังกล่าวด้วยความวิตกกังวลอย่างยิ่ง เนื่องจาก หากทางตํารวจสันติบาลและมหาวิทยาลัยดําเนินการตามนั้นจริง ย่อมถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อพลเมืองมุสลิมในประเทศไทย ดําเนินการขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 27 ที่ถือว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เท่าเทียมกัน” ทั้งนี้สํานักจุฬาราชมนตรีได้ขอความกรุณาให้มีการพิจารณาสั่งการ ให้ตํารวจสันติบาลยุติการดําเนินการใด ๆ ที่แสดงถึงการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งต่อมุสลิมและ บุคคลทุกกลุ่ม ทั้งนี้ เพื่อธํารงไว้ซึ่งเสถียรภาพและความมั่นคงอันแท้จริงของชาติ


.
ทั้งนี้ การเลือกปฏิบัติดังกล่าว นอกจากจะไม่ช่วยให้สถานการณ์ความมั่นคงดีขึ้นแล้ว ยังอาจซ้ําเติมให้สังคมเกิดความรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากเหตุผลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
.
1. ความมั่นคงทางสังคมต้องอาศัยความสมานฉันท์ของกลุ่มต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน แต่เมื่อรัฐเลือกปฏิบัติต่อคนบางกลุ่ม ก็อาจกลายเป็นชนวนให้เกิดความแตกแยกและเกลียดชัง ระหว่างกันและกันของคนในชาติได้
.
2. รัฐมีหน้าที่สร้างบรรยากาศให้ประชาชนทุกกลุ่มรู้สึกถึงความเท่าเทียมกันและ เสมอภาค ภายใต้การปกครองของรัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการสร้างสํานึกรักแผ่นดินถิ่นเกิด ในหมู่ประชาชนได้ แต่การเลือกปฏิบัติจะทําให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกต่อกันและกัน และอาจนําไปสู่ ความพยายามที่จะแบ่งแยกดินแดนมากขึ้น
.
3. ในหมู่มุสลิมอาจมีคนบางกลุ่มมีความคิดอ่านรุนแรงตกขอบอยู่จริง แต่การแก้ไข ปัญหาดังกล่าวต้องไม่ใช้วิธีเลือกปฏิบัติ เพราะความคิดรุนแรงต้องเยียวยาด้วยการสร้างความเข้าใจและ ทัศนคติเชิงบวกเท่านั้น ไม่ควรใช้วิธีเลือกปฏิบัติ เพราะเป็นการสร้างทัศนคติเชิงลบว่า ในขณะที่ ความคิดสุดโต่งมีอยู่ในทุกศาสนิก แต่รัฐกลับเลือกที่จะกดดันเฉพาะกลุ่มมุสลิมเท่านั้น ความรู้สึกเช่นนี้ หากเกิดในหมู่ประชาชนย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของชาติแน่นอน
ครับเป็นที่หน้ายินดีว่าครั้งนี้เป็นการทำงานร่วม กับสว.มุสลิมเพราะก่อนหน้านี้ นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล สมาชิกวุฒิสภา เคยให้ความเห็นส่วนตัวกับบีบีซีไทยว่า การตั้งโจทย์ในการทำงานของฝ่ายความมั่นคงในกรณีนี้ “คิดน้อยเกินไป” ละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน และกำลังก่อให้เกิดผลกระทบอีกด้านแก่สังคมด้วยการสร้างความกลัวและความไม่เข้าใจที่มีต่อคนมุสลิมที่อยู่ในประเทศนี้

“ที่ผ่านมาเราพยายามสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน สะท้อนผ่านภาพสมเด็จพระสังฆราชประทานคำปรึกษาแก่ อาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของศาสนาในการอยู่ร่วมกันของศาสนิกชนไทย โดยถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการทำงานร่วมกันของศาสนาเพื่อปกป้องความคิดสุดโต่งจากทั้ง 2 ฝั่ง”
.
“แต่วันนี้เหมือนเจ้าหน้าที่รัฐกำลังสร้างความรู้สึกแบบนั้นให้เกิดขึ้น และไปตอกย้ำความเชื่อที่ว่า ‘มุสลิมเกี่ยวข้องกับความรุนแรง’ และ ‘อิสลามไม่หวังดีต่อประเทศชาติ’ เพราะการเก็บข้อมูลแบบเหมารวม เหวี่ยงแห ตีขลุม ทั้งที่ฝ่ายความมั่นคงย่อมมีข้อมูลกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจงอยู่แล้ว” ซากีย์ กล่าว
.
และดูเหมือนว่ากระแสดังกล่าวไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้”

ครับหวังว่า ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการต่อเรื่องนี้ขององค์กรมุสลิมต่างๆจะทำให้วิกฤติคลี่คลายได้และจะเป็นโมเดลการแก้ปัญหาอื่นๆอีก
หมายเหตุ ฟังและดูการเสวนาใน
เวทีให้ความรู้ต่อสาธารณะ เมื่อ วันจันทร์ที่ 23 กันยายน 25 62ณ Patani ArtSpace เวลา 13.00 -16.30 น. ร่วมจัดโดย CSOs นักวิชาการ นักศึกษา สนับสนุนโดย PEOPLE FORUM

https://www.facebook.com/PeninsularVoice/videos/433047680647627/UzpfSTEyNDU2MDQxMTE6MTAyMjA0OTI4Mjk0NTExNzU/

 1,612 total views,  2 views today

You may have missed