เมษายน 25, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

การจัดการศึกษาชายแดนใต้ ตามทัศนะ “ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน”

แชร์เลย

โดย อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)


ตามที่ผู้เขียนได้เขียนบทความในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23-29สิงหาคม 2562 เรื่อง “บุกรัฐสภา เสนอนโยบายการศึกษาชายแดนใต้”เพื่อเสนอต่อรัฐบาลในการจัดการศึกษาที่เหมาะสมตามบริบทของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏว่า ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้สนใจในบทความนี้และกรุณาเขียนจดหมายถึงผู้เขียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งจดหมายดังกล่าวเป็นประโยชน์มากต่อผู้อ่านด้วยเช่น ผมจึงขออนุญาต ท่าน กนก วงษ์ตระหง่าน เพื่อนำมาลงสื่อซึ่งมีเนื้อหาสำคัญดังนี้
เรียน อาจารย์อับดุลสุโก ดินอะ
ผมได้อ่านบทความของอาจารย์ในมติชนสุดสัปดาห์ เรื่อง “บุกรัฐสภา เสนอนโยบายการศึกษาชายแดนใต้” ที่เป็นประโยชน์มาก และขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยครับ
ผมชื่อ กนก วงษ์ตระหง่าน สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำงานด้านการศึกษา ผมร่วมก่อตั้งโรงเรียนสาธิตอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี ผมสนใจและทำงานเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผมคิดว่าแนวคิดและหลักการของข้อเสนออาจารย์สะท้อนปัญหาความขาดแคลนและความยากลำบากของบริบทการจัดการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ชัดเจน ดังนั้นการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุนและแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่จึงมีเหตุผลในตัวมันเอง แต่การจะทำให้รัฐบาลเข้าใจประเด็นปัญหาหลักการเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะความเข้าใจต่อโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา สถาบันศึกษาปอเนาะ และศูนย์อบรมจริยธรรมประจำมัสยิด (ตาดีกา)
สถานศึกษาทั้ง 3 ลักษณะเป็นเครื่องมือจัดการศึกษาอิสลาม ที่สำคัญคือหลักการสำคัญของอิสลาม ไม่ได้แยกหลักอิสลาม, วิชาสามัญ, วิชาชีพ จนถึงการดำเนินชีวิตออกจากกัน อิสลามถือว่า ทุกมิติของชีวิตคนเป็นองค์รวมเดียวกัน จะแยกออกจากกันไม่ได้ ดังนั้นการจัดการศึกษาจะแยกวิชาสามัญ วิชาชีพ (อาชีวะ) และวิชาศาสนาออกจากกันไม่ได้ ด้วยหลักการสำคัญนี้ โรงเรียนในหลักการอิสลามจะสอนทั้งวิชาศาสนาและวิชาสามัญ ดังนั้นการจัดสถานศึกษาปอเนาะหรือศูนย์อบรมจริยธรรมประจำมัสยิด (ตาดีกา) ว่าเป็นเพียงโรงเรียนศาสนาเท่านั้นไม่ได้ และที่สำคัญจะแยกวิชาสอนระหว่างวิชาศาสนาและวิชาสามัญให้ออกจากกันโดยเด็ดขาดไม่ได้ กล่าวให้ชัดเจนคือ สถาบันการศึกษาปอเนาะและศูนย์อบรมจริยธรรมประจำมัสยิด (ตาดีกา) เป็นโรงเรียนประเภทหนึ่งที่กระทรวงศึกษาธิการต้องสนับสนุนและดูแลรับผิดชอบ
เมื่อเป็นเช่นนี้ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ในส่วนของการสอนวิชาศาสนาจะต้องได้รับการดูแลจากกระทรวงศึกษาธิการ, สถานศึกษาปอเนาะและศูนย์อบรมจริยธรรมประจำมัสยิด (ตาดีกา) จะต้องจัดเป็นโรงเรียนประเภทหนึ่งที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องดูแลและสนับสนุน เช่นเดียวกับโรงเรียนเอกชนทั่วไป ด้วยตรรกะเดียวกันนี้ โรงเรียนพระปริยัติธรรมของพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกันควรจะต้องได้รับการดูแลและสนับสนุนเช่นเดียวกับโรงเรียนในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ
สรุปให้ชัดเจนคือโรงเรียนที่สอนศาสนาไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษาปอเนาะและศูนย์อบรมจริยธรรมประจำมัสยิด (ตาดีกา) จนถึงโรงเรียนพระปริยัติธรรมควรจะต้องจัดให้เป็น “โรงเรียน” ประเภทหนึ่งในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการไม่ใช่กระทรวงวัฒนธรรมหรือสำนักพุทธศาสนา
ผมจึงอยากขอเสนอให้อาจารย์ (ถ้าเห็นด้วยกับแนวคิดนี้) ช่วยเผยแพร่และสนับสนุนแนวคิดนี้ เพื่อนำไปสู่การจัดการศึกษาของรัฐบาลที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างการศึกษาทางศาสนาและการศึกษาทางโลก (ดุนยา) และนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติอย่างแท้จริง และถ้าอาจารย์จะมีข้อเสนอแนะและแนะนำเพิ่มเติมให้ผมก็จะขอบพระคุณมากครับ

หมายเหตุบทความผู้เขียนมีรายละเอียดดังนี้
บุกรัฐสภาเสนอนโยบายการศึกษาชายแดนใต้วันที่รัฐบาลแพ้โหวต
โดย อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้
Shukur2003@yahoo.co.uk,
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
14 สิงหาคม 2562 ภาคประชาชนจากสามองค์การศึกษาชายแดนใต้(รวมทั้งผู้เขียน) ได้เข้าพบรัฐมนตรีศึกษาธิการนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณรวมทั้งส.ส.พรรคพลังประชารัฐภาคใต้เพื่อเสนอแนวการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านการศึกษา ณ รัฐสภาในวันที่ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตครั้งที่2
ภาคประชาชนจากสามองค์การศึกษาชายแดนใต้ประกอบด้วยสมาคมสมาพันธ์การศึกษาเอกชนภาคใต้ สมาคมสถาบันปอเนาะชายแดนใต้และสมาคมตาดีกาหรือโรงเรียนคุณธรรมจริยธรรมชายคามัสยิดชายแดนใต้ ได้เล่าถึงเหตุผลการเข้าพบรัฐมนตรีศึกษาธิการนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณถึงรัฐสภาแม้จะทราบดีในทางการเมืองว่ารัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลปริ่มน้ำอย่างนี้จะทำงานได้นานหรือเปล่า (อายุทั้งรัฐบาลหรือรัฐมนตรี)ด้วยเหตุหลายประการเชิงประจักษ์ ที่มีการต่อรองจากพรรคเล็กที่ร่วมรัฐบาล คนในพรรคกันเองแย่งตำแหน่งรัฐมนตรี หรือรัฐบาลแพ้โหวตร่างข้อบังคับประชุมสภา ในวันที่เราเขาพบรัฐมนตรีพอดี
สำหรับเหตุผลการเข้าพบครั้งนี้อันเนื่องมาจากการศึกษาชายแดนมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากการศึกษาส่วนกลาง (ความเป็นจริงประเทศไทยทุกพื้นที่ก็มีการศึกษาที่แตกต่างจากส่วนกลางด้วยเช่นกัน) และมันคือปัจจัยหลักในการหนุนเสริมความมั่นคงและสันติภาพในพื้นที่ เราจะเห็นข่าวการเชื่อมโยงความมั่นคงกับสถาบันการศึกษาบ้าง ครู บ้าง นักเรียนบ้าง ดังนั้นการเข้าพบครั้งนี้ก็เพื่อจะให้รัฐมนตรีและส.ส.ในพื้นที่จะได้เห็นภาพรวมและเห็นช่องทางง่ายขึ้นในการให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมการแก้ปัญหาไม่ใช่ปล่อยให้หน่วยมั่นคงที่เป็นรั้วของชาติมาแทรกแซงตลอด 5 ปี รัฐบาลคสช. และจะยังคงมีบทบาทต่อหลังได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง
สำหรับข้อเสนอนี้ก็ผ่านการสังเคราะห์ทางวิชาการจากสามองค์กรนี้ซึ่งได้จัดเวทีถอดบทเรียน ตลอด 5 ปีที่ผ่าน
เราทราบดีว่า ชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษในด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ และสัมพันธ์กับต่างประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้งมีสถานการณ์ความไม่สงบในบางพื้นที่ดังกล่าว เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความสงบสุข ขวัญ และกำลังใจของประชาชนและการพัฒนาของประเทศ นโยบายการศึกษา เป็น 1ใน หลายด้านไม่ว่า ด้านการพัฒนาและเศรษฐกิจ ด้านเยาวชนและสตรี ด้านสังคมศาสนาและวัฒนธรรม ด้านการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
สำหรับข้อเสนอด้านการศึกษาดังกล่าวคือ ส่งเสริมการศึกษาโดยเฉพาะในด้านศาสนา ภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อสร้างคนที่มีความเจริญงอกงามทั้งความรู้และคุณธรรมที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ สร้างความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงให้กับประเทศ ด้วยการร่วมออกโดยให้ทุกภาคส่วนร่วมออกแบบที่มีเป้าหมายความยั่งยืนตามวิถีศาสนธรรม
มีการกระจายอำนาจ ทางด้านบริหารการจัดการศึกษา ลดอำนาจจากส่วนกลาง สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทหลักในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานศึกษามีจุดเด่น เช่น ด้านภาษา การจัดการสิ่งแวดล้อม และอาชีพ ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งเครือข่ายภาคีเพื่อการศึกษาสำหรับแลกเปลี่ยนครู อาจารย์ และนักเรียน ทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมและยกระดับสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นให้มีความเป็นนานาชาติ จัดสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานให้สถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน สนับสนุนทุนทุกระดับทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงนักศึกษาต่างประเทศมาศึกษาต่อในประเทศไทย และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนครู อาจารย์ และนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ กรณีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้คิดเป็นค่าบริการสำหรับนักเรียนนักศึกษามุสลิมทั้งในและต่างประเทศ ไม่ใช่ดอกเบี้ย รวมทั้งจัดตั้งกองทุนส่งเสริมเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา
ปฏิรูประบบอุดหนุนการศึกษาที่สอดคล้องกับทุกหลักสูตรการศึกษาไม่ศาสนา สามัญ อาชีพ และการศึกษาทางเลือกรวมทั้งการศึกษาตลอดชีพ

ยกระดับคุณภาพ มาตรฐาน และอุดหนุนการจัดการศึกษาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันศึกษาปอเนาะ และศูนย์อบรมจริยธรรมประจำมัสยิด (ตาดีกา) และศาสนาอื่นๆให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม อัตลักษณ์ ศาสนาอิสลาม(อื่นๆ)และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น จัดตั้งกองทุนส่งเสริมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันศึกษาปอเนาะ และศูนย์อบรมจริยธรรมประจำมัสยิด (ตาดีกา) และจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาประเทศไทยและของต่างศาสนิกที่แตกต่างด้นศาสนาและชาติพันธ์
ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนที่เรียนจบหรือกำลังศึกษาในสาขาวิชาการแพทย์สาธารณสุข และในสาขาที่ขาดแคลน ที่ทำงานหรือศึกษาในต่างประเทศกลับมาทำงานในพื้นที่ ตลอดจนเตรียมความพร้อมนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาสำหรับการศึกษาต่อในสาขาแพทย์ สาธารณสุข และสาขาที่ขาดแคลน
ส่งเสริมและสนับสนุนภาษามลายูที่เป็นภาษาแม่ของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่และเป็นภาษาราชการของประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถสื่อสารกับประชากรส่วนใหญ่ในอาเซียนได้ รวมทั้งส่งเสริมการศึกษาภาษาอาหรับซึ่งปัจจุบันมักเน้นเฉพาะมิติศาสนาให้ครอบคลุมมิติอื่นๆ ตลอดจนภาษาอังกฤษและภาษาจีนให้สามารถสื่อสารได้
จัดตั้งสภาการศึกษาชายแดนภาคใต้ที่รวมเอาจากทุกภาคส่วนในการร่วมเป็นออกแบบและกำหนดทิศทางการศึกษาในพื้นที่โดยการจัดตั้งสภาการศึกษาชายแดนภาคใต้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในทางการเมืองในการปฏิรูปการศึกษาที่สามารถตอบสนองคนในพื้นที่และจะช่วยลดภารงานรัฐมนตรี ลดภาระกระทรวงศึกษาธิการส่วนกลางโดยให้สภานี้ทำงานคู่กับกระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า
จากที่ได้รัฐสภาครั้งนี้ได้เห็นอะไรมากมายเช่น เป็นข้อดีว่าส.ส.ที่มาจากประชาชนทุกคนออกมาให้บริการประชาชนคนลงคะแนนเสียงให้เขาไม่ว่าจากพรรคฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ซึ่งบรรยากาศเหล่านี้หายไป 5 ปี แม้มีสภา แต่ภายใต้รัฐบาลปริ่มน้ำส.ส.ต้องทำงานหนักมากๆที่จะต้องทำภารกิจหลายประการในเวลาเดียว เดินเข้าออกจากที่ประชุม
สิ่งสำคัญ 2 นาทีอันมีค่าของส.ส.ทุกคนเอาปัญหาชาวบ้านในพื้นที่ตนเองได้พูดเสนอในสภาในคน 500 คน ทุกคนต้องทำการบ้าน แต่มันก็สะท้อนว่าการกระจายอำนาจมีความสำคัญสำหรับประเทศไทยมากๆเพราะถ้าประเทศไทยมีการการจายอำนาจจริงปัญหาเหล่านี้จะถูกแก้ไขทันทีในแต่ละจังหวัดไม่ต้องรอให้รัฐบาลที่กรุงเทพแก้ปัญหาซึ่งน้อยมากที่แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

 1,826 total views,  2 views today

You may have missed