มีนาคม 29, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

สุขสวัสดีวันปีใหม่อิสลาม Selamat Tahun Baru 1441 Hijrah และบทเรียนจากฮิจเราะห์

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) Shukur2003@yahoo.co.uk

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีวันปีใหม่อิสลาม
หลังจากสำนักจุฬาราชมนตรีได้ประกาศให้วันอาทิตย์ที่1 กันยายน 2562 เป็นวัน 1 เดือนมุฮัรรอม ปีฮิจเราะห์ศักราช1441 อันเป็นวันที่ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินอิสลาม
หลังจากนั้นในสื่อต่างๆโดยเฉพาะเฟสบุค ไลน์ วอสเอฟ จะเต็มไปด้วยคำว่าสุขสวัสดีวันปีใหม่อิสลามหรือ Selamat Tahun Baru Islam 1441 Hijrah คนไทยอาจไม่คุ้นชินคำนี้เพราะคนไทยมีการแบ่งช่วงเวลาและนับศักราช โดยใช้พื้นฐานจากความเชื่อตามแนวพุทธศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือ และเบื้องหลังด้านรูปแบบการปกครอง อันได้แก่
1. พ.ศ. หรือ พุทธศักราช เป็นการนับศักราชแบบตะวันออกที่นับถือพระพุทธศาสนา โดยเริ่มนับตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน เป็น พ.ศ. 1
2. จ.ศ. หรือ จุลศักราช หรือ ศักราชน้อย เป็นศักราชที่ไทยใช้กันก่อนใช้รัตนโกสินทร์ ซึ่งเริ่มภายหลังพุทธศักราช 1181 ปี มาภายหลังก็ค่อย ๆ ลดความนิยมลงไป
3. ร.ศ. หรือ รัตนโกสินทร์ศก เริ่มใช้ตั้งแต่ปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ร.1 สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใน พ.ศ. 2325
สำหรับการแบ่งช่วงเวลาสากลที่นิยมใช้ทั่วโลกนั้น จะแบ่ง ค.ศ. หรือคริสต์ศักราช เป็นการนับตามแบบตะวันตก หรือประเทศที่นับถือ ศาสนาคริสต์ โดยเริ่มนับจากปีประสูติของพระเยซูคริสต์ และในปีปัจจุบันคือ ค.ศ.2018


ในขณะที่ ฮ.ศ. หรือ ฮิจเราะห์ศักราชนั้น นิยมใช้ในประเทศแถบตะวันออกกลางที่นับถือศาสนาอิสลามและชุมชนมุสลิมรวมทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนับตั้งแต่ปีที่ศาสดามุฮัมมัดอพยพจากเมืองมักกะห์ไปเมืองมะดินะห์ประเทศซาอุดิอารเบีย นับเป็นปี ฮ.ศ. 1 ซึ่งตรงกับ ค.ศ. 610 หรือ ราว พ.ศ. 1153
ปี ค.ศ.และปี พ.ศ. นั้นคิดตามการหมุนเวียนของดวงอาทิตย์ ในขณะที่ปี ฮ.ศ. ตามดวงจันทร์ ซึ่งในคัมภีร์อัลกุรอานมีการกล่าวถึงดวงอาทิตย์ 33 ครั้ง มีการกล่าวถึงดวงจันทร์ 27 ครั้ง รวมกันได้ 60 ครั้ง คิดเป็นค่าเฉลี่ยเท่ากับ 30 ครั้ง
ในอัลกุรอาน มีการกล่าวถึงคำว่า ซะห์รุ (Shahr) ที่แปลว่า เดือน 12 ครั้ง ซึ่งก็รวมทั้งที่เราได้อ่านกันบ่อยในเดือนรอมฏอน นั้นคือซูเราะห์ อัลกอดร์ ซึ่งมีอยู่ตอนหนึ่ง ความว่า (ลัยลาตุลกอดร์ มีความประเสริฐกว่า 1,000 เดือน)12 เดือน เท่ากับ 1 ปี ในทุก ๆ ชนชาติ และอารยธรรมใหญ่ๆ ในโลกนี้ จะคิดรอบ 1 ปี ด้วยระยะเวลา 12 เดือนทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย ฯลฯ (โปรดดู http://www.hilalthailand.com/oursky/modules/news/article.php?storyid=19)


ความเป็นจริงฮิจเราะห์เป็นคำภาษาอาหรับ ตามรากศัพท์แปลว่า การตัดขาด หรือการเคลื่อนย้าย แต่เมื่อพิจารณาความหมายในทางวิชาการแล้วจะหมายถึง: การละทิ้งสิ่งที่พระเจ้าทรงห้าม หรือการโยกย้ายจากสถานที่ที่น่าสพรึงกลัวไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย หรือการอพยพจากสถานที่อันไม่สามารถแสดงตนเป็นมุสลิมไปสู่อาณาจักรอิสลาม
สำหรับวิถีวัฒนธรรมของมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอดีตหลายชุมชนสำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ ก็จะมีการอ่านบทขอพรเป็นการส่วนตัวหรือหมู่คณะในมัสยิดของชุมชนเพื่อขอภัยโทษในอดีตที่ผ่านมา และขอความเป็นศิริมงคลในปีถัดไป ถึงแม้หลายชุมชน หรือหลายคนจะไม่ปฏิบัติเพราะถือว่าท่านศาสนฑูต มุฮัมมัด ไม่เคยทำเป็นแบบอย่างแต่ในช่วงยี่สิบปีก่อนหน้านี้ พบว่า โรงเรียนสอนศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศูนย์อบรมประจำมัสยิด (ตาดีกา) โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา จะมีกิจกรรมรำลึกปีฮิจเราะห์ศักราชใหม่อย่างเอิกเกริก ซึ่งมีกิจกรรมมากมายในงาน ไม่ว่าจะเป็นการเดินพาเหรดเชิงสร้างสรรค์ การประกวดกิจกรรมบนเวที กีฬาต่างๆ ทั้งพื้นบ้านและสากล รวมทั้งการบรรยายธรรมเรื่องคุณค่าและบทเรียนฮิจเราะห์ศักราชใหม่


สำหรับหลักการที่เกี่ยวข้องกับการฮิจเราะห์สามารถทำความเข้าใจได้ดังนี้ (โปรดดู วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ .การฮิจเราะห์ในประชาไทออนไลน 8/9/2548 )
1.ในยุคแรกของอิสลาม การฮิจเราะห์ถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิญาณตนเข้ารับอิสลามทุกคน จากเมืองมักกะห์ ไปยังเมืองมาดีนะห์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ใประเทศซาอุดิอาระเบีย ทั้งนี้เพื่อสร้างประชาคมมุสลิมที่นครมาดีนะห์เป้นมหานครแห่งสันติสุข เนื่องจากประชากรมุสลิมที่นั่นมีน้อย ยกเว้นคนอ่อนแอที่ขาดปัจจัย เช่น คนชรา เด็ก สตรีหรือทาส เป็นต้น
2.ภายหลังการบุกเบิกนครมักกะห์ในปีที่ 8 หลังการฮิจเราะห์ (ของศาสนฑูตมูฮัมหมัด) บทบัญญัติเกี่ยวกับการฮิจเราะห์ ก็เปลี่ยนไป เนื่องจากสถานการณ์ในมักกะห์เปลี่ยนไป กล่าวคือการปฏิบัติศาสนากิจใดๆ สามารถทำได้โดยอิสระเสรี การฮิจเราะห์จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป
ดังวัจนะของศาสนฑูตมุฮัมหมัด ที่บันทึกไว้โดยอิหม่ามบูคอรีย์และมุสลิมความ ว่า “ไม่มีการฮิจเราะห์อีกแล้ว หลังการบุกเบิกมักกะห์ แต่การณ์ทั้งหลายขึ้นอยู่กับการเจตนาและการต่อสู้” (บันทึกไว้โดยอิหม่ามบูคอรีย์และมุสลิม)
3.โดยนัยยะนี้ อิหม่ามชาฟีอีย์ จึงระบุในตำรา “อัลอุม” ของท่านว่า “วัตรปฏิบัติแห่งบรมศาสดา บ่งชี้ว่า ข้อกำหนดให้ฮิจเราะห์สำหรับผู้ที่สามารถทำได้นั้น เป็นข้อบังคับเหนือผู้ที่ไม่สามารถดำรงตนเป็นมุสลิมอยู่ได้ในแผ่นดินที่ผู้นั้นอยู่อาศัย (ส่วนผู้ที่สามารถดำรงตนเป็นมุสลิมได้อย่างเสรีก็ไม่จำเป้นต้องฮิจเราะห์)
เห็นได้จากที่บรมศาสนฑูตอนุญาตให้ลุงของท่าน คือ อับบาส และคนอื่นๆ อีกหลายคน คงอยู่ในมักกะห์ต่อไป เพราะคนเหล่านี้เข้มแข็งพอที่จะรักษาความเป็นมุสลิมของเขาไว้ได้
ฮาฟิซ อิบนุ หะญัร กล่าวไว้ในตำรา “ฟัตหุล บารี” เล่มที่ 7หน้า 229 ว่า “โดยนัยนี้ผู้ที่สามารถเคารพสักการะบูชาอัลเลาะห์ได้ ในแผ่นดินใดก็ตามที่เขาอยู่ เขาไม่จำเป็นต้องฮิจเราะห์ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็จำเป็น”

เดือนนี้มีวันประเสริฐและสิ่งที่เราควรนำมาปฏิบัติเพื่อเสริมความศรัทธา
เช่นถือศีลอด
ท่านรอซู้ล กล่าวว่า :

” أفضل الصيام بعد رمضان شهر الله المحرم، وأفضل الصلاة بعد الفريضة صلاة الليل ”

“การถือศีลอดที่ประเสริฐสุดหลังจากเดือนรอมฎอน คือการถือศีลอดในเดือนของอัลลอฮ์ อัลมุฮัรรอม
และการละหมาดที่ประเสริฐที่สุดหลังจากละหมาดฟัรดู คือละหมาดในยามค่ำคืน”

(บันทึกโดยมุสลิม และอัตติรมิซียฺ)

โดยถือศีลอดในวันที่9กับ 10 หรือ10กับ11 โดยเฉพาะวันที่10 ที่เรียกว่าวันอาชูรอ
เพราะในวันนี้พระองค์ทรงช่วยเหลือท่านนบีมูซาและกลุ่มชนของเขารอดพ้นจากฟิรฮูน(ฟาโรห์)ผู้อธรรม โดยให้พวกฟิรอูน จมน้ำตาย นี่คือ วันแห่งความยิ่งใหญ่

มีครั้งหนึ่งท่านนบี เดินทางถึงนครมาดีนะฮ์ ท่านได้เห็นชาวยะฮูดี (ยิว) ถือศีลอดในวันอาชูรอ
ท่านจึงถามว่า วันนี้วันอะไร ?
พวกเขาตอบว่า วันนี้เป็นวันที่ดี เป็นวันที่อัลลอฮ์ ทรงทำให้แผ่นดินชาวอิสรออีลรอดพ้นจากศัตรูของพวกเขา ดังนั้นท่านนบีมูซาจึงถือศีลอดในวันนี้ (เพื่อเป็นการชูโกรต่อพระองค์)
ท่านนบี จึงกล่าวว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ฉันย่อมมีสิทธิในมูซามากกว่าพวกเจ้า แล้วท่านก็ถือศีลอด(ในวันนั้น)และสั่งให้ (ชาวมุสลิม) ถือศีลอดในวันนั้นด้วย
(บันทึกบุคอรีย์)

อิบนุ อับบาส เล่าว่า
“ฉันไม่เคยเห็นท่านนบี พยายามมุ่งมั่นเจาะจงเพื่อที่จะถือศีลอดในวันใดๆที่จริงจังมากกว่าวันอื่นๆ
นอกจากวันนี้ วันอาชูรอ และเดือนนี้ หมายถึงเดือนรอมฎอน”
(บันทึกโดย อัล บุคอรีย์)
นอกเหนือจากการถือศีลอดในวันที่10แล้ว ยังมีซุนนะฮ์ให้ถือศีลอดในวันที่9 เรียกว่าวันตาซูอาอ์อีกด้วย ท่านนบีได้ให้เหตุผลในการให้ถือศีลอดวันที่ 9 ว่า เพื่อให้มีความแตกต่างกับชาวยิวที่ได้กำหนดให้ถือศีลอดในวันอาชูรอเพียงวันเดียว ท่านรอซูลได้กล่าวว่า

” لئن بقيتُ إلى قابلٍ لأصومنّ التاسع ”
�ถ้าหากว่าฉันยังคงมีชีวิตอยู่ในปีต่อไป ฉันจะถือศีลอดในวันที่9 ด้วย�
(บันทึกโดย อะห์หมัด หมายเลขหะดีษ 1736 และมุสลิมหมายเลขหะดีษ 1134 )
หรือนักวิชาการบางท่านบอกว่า ถือวันที่10กับ11 ก็ได้หากไม่ถือ 9กับ 10

ดังนั้น ฮ.ศ.1441 นี้ หวังว่าทุกคนคงจะไม่ลืมทบทวนเรื่องราวในอดีต ปี ฮ.ศ. 1440 โดยเฉพาะเหตุการณ์ความไม่เข้าใจระหว่างพุทธมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้รวมทั้งทั่วประเทศ

สำหรับปีนี้ผู้เขียนอยากจะรณรงค์ให้เป็นปี “มารยาทจรรยางาม”เริ่มที่คนใกล้ตัวคือครอบครัวก่อนแล้วค่อยขยายให้เต็มพื้นที่ดังวัจนะศาสนฑูตมุฮัมมัดกล่าวว่า
(( أَكْمَلُ الْمُؤْمِنِينَ إِيمَانًا أَحْسَنُهُمْ خُلُقًا وَخِيَارُكُمْ خِيَارُكُمْ لِنِسَائِهِمْ)) رواه الترمذي

ความว่า
“บรรดามุอ์มิน(ผู้ศรัทธา)ที่มีอีหม่าน(ศรัทธา)ที่สมบูรณ์ที่สุดนั้นคือผู้ที่มีมารยาทที่ดีงาม และผู้ที่ประเสริฐที่สุดในหมู่พวกท่านก็คือคนที่มีมารยาทที่ดีงามต่อครอบครัวของเขา”

❤️❤️
หมายเหตุชมบรรยากาศต้อนรับฮิจเราะหฺศักราชใหม่1441 ที่

1.
โรงเรียนรุ่งโรจน์วิทยา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
1.1
https://www.facebook.com/144885609344785/videos/449863712268179?sfns=mo
1.2
https://www.facebook.com/1785662048/posts/10211975942352322?sfns=mo

1.3 https://www.facebook.com/144885609344785/posts/669270450239629?sfns=mo
2.โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลา
2.1
https://www.facebook.com/Masjidtvm/videos/1097387700468917?sfns=mo
2.2 https://www.facebook.com/187755995380701/posts/477641009725530?sfns=mo

////////////////////////////////////////////////

 6,620 total views,  2 views today

You may have missed