พฤศจิกายน 27, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

เครือข่ายสาธารณสุข 32 องค์กร แถลงการณ์ ขอให้ยุติความรุนแรงในสถานพยาบาล หลังมีภาพวงจรปิด จนท.อส.ใช้ความรุนแรง ย้ำสถานพยาบาลคือ “พื้นที่ปลอดภัย ตามหลักสากล”

แชร์เลย

โดย…บรรณาธิการข่าว SPM news…

จากกรณีที่โซเชี่ยวได้แชร์ภาพจากกล้องวงจรปิดที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ที่ถูกระบุพื้นที่ว่า เกิดขึ้นที่ จ.ชลบุรี ซึ่งในภาพกลุ่มเจ้าหน้าที่ และอส. ยืนล้อมชายคนหนึ่งที่อยู่บนเตียงคนไข้ ก่อนที่จะรูดม่านปิด และมีการทำลักษณะคล้ายการทุบลงไปที่เตียงคนไข้ที่นอนบาดเจ็บอยู่บนเตียง  ซึ่งถือว่าเป็นความรุนแรงในโรงพยาบาลที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง

จากข้อมูลย้อนหลัง 7 ปี เกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุข สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2555-2562 พบว่า มี 51 เหตุการณ์ แบ่งเป็นการทะเลาะวิวาท 18 เหตุการณ์ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ 19 เหตุการณ์ ทำลายทรัพย์สิน 1 เหตุการณ์ ก่อความไม่สงบ 1 เหตุการณ์ กระโดดตึก 6 เหตุการณ์ และอื่นๆ 6 เหตุการณ์ ผลจากความรุนแรงทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 13 ราย ประชาชน เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 43 ราย เมื่อแยกเป็นรายปีและรายเขตสุขภาพ พบว่า ปี 2555 และปี 2557 ทั่วประเทศเกิดเหตุเพียง 1 ครั้ง ปี 2556ไม่เกิดเหตุ จนในปี 2558 เกิดเหตุ 7 ครั้ง ปี 2559 จำนวน 4 ครั้ง ปี 2560 จำนวน 10 ครั้ง ปี 2561 จำนวน 17 ครั้ง และในปี 2562 เกิดเหตุแล้วมากกว่า 11 ครั้ง(อ้างอิงข้อมูลจากเวทีเสวนา “ปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉินและแนวทางแก้ไขปัญหา” จัดโดยแพทยสภา เมื่อเดือน พฤษภาคม 2562)

 

จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันภัยคุมคามในโรงพยาบาลมีอันตรายมากที่สุด คือจากบุคคลภายนอกเข้ามาใช้โรงพยาบาลเป็นสถานที่ก่อเหตุ หลายๆกรณีที่มีเหตุวิวาทจากพื้นที่อื่น แล้วมีคู่กรณีได้รับบาดเจ็บถูกส่งเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็มักจะมีเหตุตามมาทำร้ายซ้ำ ที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล หรือที่รพ.สต. หลายๆครั้งความรุนแรงจากการใช้บริการอาจรอรับการตรวจนานเกินไป หรืออาจไม่ได้รับความประทับใจตามคุณภาพที่ต้องการ จนเกิดอารมณ์แสดงออกมาทางวาจา หรือทางร่างกายต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงาน หรืออย่างกรณีที่มีกลุ่มคนร้ายยึดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่เป็นฐานยิงถล่มชุดปฏิบัติการชุดคุ้มครองตำบล(ชคต.)  และจับหมออนามัยและลูกจ้างเป็นตัวประกัน ที่ชายแดนใต้ ซึ่งทุกกรณีก็สร้างความหวาดกลัวต่อประชาชนผู้มารับบริการ และบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง

จากข้อมูล แสดงถึงความรุนแรงในโรงพยาบาลทุกระดับ ทั่วประเทศ รวมถึงความรุนแรงต่อบุคลากรปฏิบัติหน้าที่กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องการปฏิรูปฯ ที่เป็นธรรม  จึงขอแถลงการณ์ 5 ข้อดังนี้

1. ขอประณามผู้ก่อความรุนแรงในโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุขทุกกรณี

2.ขอให้รัฐสร้างระบบความปลอดภัยในโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับ ทั้งเรื่องเวรยาม กล้องวงจรปิด ระบความปลอดภัย และอัตรากำลังที่พอเพียง เพื่อความปลอดภัยของของผู้ใช้บริการและบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข

3.ขอให้รัฐเพิ่มอัตรากำลังบุคลากรในโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับ เพื่อให้มีบุคลากรเพียงพอที่จะดูแลคนไข้ จะได้ลดปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง สร้างความพึงพอใจในการบริการมากขึ้น

4.ขอให้รัฐมีการอบรมส่งเสริมสมรรถนะของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขในการจัดการความรุนแรง และการจัดการความขัดแย้งในโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุข

5.ขอให้รัฐมีการยกร่างระเบียบการจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้น กรณีเกิดความรุนแรงต่อคนไข้ หรือความรุนแรงต่อบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้อย่าให้ความรุนแรงในโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุข   ถูกยกระดับทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่ “เสี่ยงภัย” ต่อผู้ป่วย และบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข จนต้องปฏิบัติหน้าที่กันอย่างระแวง หวาดกลัวภัยอันตรายที่จะเข้ามาถึงตัวตลอดเวลา

ทางเครือข่ายฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า  ทุกคนจะตระหนักว่าโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุข ต้องเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ที่ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตความรุนแรง หรือสงครามก็ตาม โรงพยาบาลจะถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสำหรับทุกคนทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ

 

เครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องการปฏิรูปฯที่เป็นธรรม

  • สิงหาคม ๒๕๖๒

 1,465 total views,  2 views today

You may have missed