เมษายน 26, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

คุยเรื่องความเดือดร้อนชาวบ้าน นำ้ดำ ฟังเสียงชาวบ้าน “อย่ารังแกคน และ “ควาย” ผ่าน ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงษ์”

แชร์เลย

รายงานโดย… อุสตาซอับดุชชะกูร บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

20 กรกฎาคม 2562 ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร.ชลิตา บุญฑุวงษ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในเรื่องที่อาจารย์ลงพื้นที่ทำวิจัยที่ทุ่งน้ำดำ อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานีและชาวบ้านได้สะท้อนความเดือดเพื่อให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนฟังความเดือดร้อนโดย
อาจารย์กล่าวว่า   ขอขอบคุณทีมงานนักข่าวจากเพจ “ ทำให้เป็นข่าว” ที่ได้มาลงพื้นที่ทุ่งน้ำดำ (ชาวบ้านเรียกว่า “พรุนะแด” หรือ “พรุน้ำดำ”) ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เพื่อรับฟังปัญหาจากชาวบ้าน ในคลิปจากเพจนี้ ก๊ะฮาลีเมาะ (หรือ “ก๊ะเมาะ”) และ ก๊ะมาเรียม (หรือ “ก๊ะแย”) เป็นตัวแทนชาวบ้านตำบลน้ำดำบอกเล่าถึงปัญหาให้พวกเราฟัง

“”””””””””””””””””””””

“ก๊ะเมาะ” เล่าว่า “ทุ่งน้ำดำ” เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ที่สำคัญของชาวตำบลน้ำดำ แต่ตอนนี้มีโครงการของรัฐที่จะมาขุดทำลาย (ก่อนหน้านี้มีมาหลายโครงการแล้ว) แม้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีคนก่อน (ชื่อ วีรนันท์) จะเคยรับปากชาวบ้านว่า จะไม่ให้มีโครงการมาขุดทำลายทุ่งน้ำดำอีกก็ตาม

“ก๊ะเมาะ” บอกว่าโครงการนี้ ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปัตตานี (ป.ภ.) นั้น ถูกชงโดยนายก อบต.น้ำดำคนปัจจุบันและรับรองนายอำเภอทุ่งยางแดงคนก่อน โดยที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องเลย ไม่มีการทำประชาคมเพื่อถามความเห็นของชาวบ้านก่อนการตัดสินใจ พร้อมทั้งยืนยันว่าที่ดินแห่งนี้คือ ทุ่งสาธารณะเลี้ยงสัตว์ และชาวบ้านทำมาหากินที่นี่มานานนับร้อยปีแล้ว หน้าน้ำก็หาปลาที่นี่ หน้านาก็ทำนา บางช่วงก็ปลูกแตงโม

ในคลิป ระหว่างที่นั่งรถผ่านไป “ก๊ะเมาะ” ชี้ให้ดูสระ/อ่างเก็บน้ำสองข้างทางที่มีอยู่หลายจุด นี่คือตัวอย่างของโครงการก่อนหน้าที่มีการขุดแล้วไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อชาวบ้าน และไม่มีใครมาใช้ประโยชน์ มีแต่วัวที่มักตกลงไปตาย และในช่วงหน้าน้ำที่มีน้ำท่วมสูงไปทั้งทุ่ง ก็มักมีเด็กจมน้ำตายในสระ/อ่างเก็บน้ำเหล่านี้

ทุ่งแห่งนี้ซึ่งชาวบ้านตำบลน้ำดำใช้เลี้ยงสัตว์ เป็นเสมือนธนาคารของชาวบ้านในยามจำเป็น เช่น ลูกเรียนหนังสือต้องใช้เงิน ต้องซื้อคอมพิวเตอร์ ชาวบ้านก็สามารถขายวัวหรือควายสักตัวได้เพื่อการนี้ หรือในยามที่ยากจน ไม่มีเงิน ก็ขายวัวควายทีละตัวสองตัวได้

ปัจจุบันประมาณการณ์ว่ามีวัวและควายอยู่ในทุ่งน้ำดำ 3-4 พันตัว (ในคลิปวัว ควายจำนวนมากกำลังเดินทางกลับเข้าคอก)

สำหรับพื้นที่ฝั่งตรงข้ามถนน ซึ่งมีกำแพงดินและสระน้ำล้อมรอบนั้น ชาวบ้านบอกว่าเป็นโครงการของหน่วยทหารพัฒนา ซึ่งบริเวณนี้ รวมทั้งที่ตั้งค่ายของหน่วยทหารพัฒนานั้น เป็นที่อยู่อาศัยของวัวและควายในยามหน้าน้ำ (เนื่องจากเป็นที่สูง น้ำท่วมไม่ถึง) หน่วยทหารแห่งนี้ทำให้ที่อยู่อาศัยหลบภัยวัวและควายสูญหายไปมาก

“ก๊ะแย” บอกว่าโครงการที่ทาง ปภ.กำลังจะมาทำนี้ ควรมาถามชาวบ้านก่อน ไม่ใช่ฟังแค่ นายก อบต. ที่ดินนี้ไม่ใช่ของนายก อบต. โครงการนี้ชาวบ้านไม่ต้องการ เพราะพื้นที่ขุดสระคือพื้นที่ที่ควายมานอนแช่น้ำในช่วงกลางวัน คนที่คิดทำโครงการควรสงสารชาวบ้านบ้าง

ในส่วนโครงการที่ทหารดำเนินการ ที่ผ่านมาชาวบ้านอยากค้าน แต่ค้านไม่ได้เพราะชาวบ้าน “กลัว ม.44” หลายๆ โครงการในทุ่งน้ำดำทำแล้วก็ใช้ประโยน์ไม่ได้ ว่ากันว่าคันดินและสระน้ำที่ทหารทำนั้น ทำเพราะไม่ชอบที่วัวควายมักเข้าไปในเขตทหาร (ซึ่งเดิมเป็นที่หนีน้ำท่วมของวัวควาย) ก๊ะแยบอกว่า “ทหารเค้าเหม็นขี้วัวขี้ควาย จึงสร้างกำแพงดินและขุดสระน้ำมากั้น มีวัวควายตกน้ำตายตรงนี้หลายตัวแล้ว ไม่มีใครมารับผิดชอบให้ชาวบ้านเลย”

“ก๊ะแย” ยังกล่าวต่อว่า ขอเรียกร้องให้หยุดโครงการทุกอย่างในทุ่งน้ำดำ ไม่ต้องมาขุดทุ่งน้ำดำอีกต่อไปแล้ว ตอนนี้โครงการนี้กำลังเตรียมการกั้นน้ำให้น้ำแห้ง เอาน้ำออกเพื่อขุด ชาวบ้านกลัวว่าหากมีการชุดโครงการ ควายจะไม่มีที่อยู่ ที่แช่ปลัก และอ่างเก็บน้ำใหม่จะปิดกั้นทางเดินกลับคอกของควาย และจะทำให้ควายจมน้ำตาย แม้ทาง ปภ.บอกว่าจะทำสะพานให้วัวควายข้ามก็ตาม

ทางชาวบ้านเคยไปที่ศูนย์ดำรงธรรมของจังหวัดสัปดาห์และทาง ปภ. บอกว่าจะหยุดก่อน แต่วันรุ่งขึ้นก็กลับเตรียมเครื่องมือมาขุดอีก ชาวบ้านจะขอพบผู้ว่า ทาง ปภ.ก็ไม่ยอมให้ขึ้นไปหา

สุดท้าย “ก๊แย” บอกว่า เราอยากรักษาอาชีพการเลี้ยงวัวควาย และรักษาแผ่นดินของเราไว้ให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ต่อไปให้ยาวนาน ทุ่งน้ำดำมีหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานทหารมาขุด มากั้นกำแพง หลายโครงการแล้ว ปีที่แล้วกำแพงดินทำให้น้ำขัง จนแตงโมที่ชาวบ้านปลูกมีความเสียหายมากรวมกันนับล้านบาท ทั้งนี้ ปภ.ไม่ยอมเชื่อว่าทุ่งน้ำดำมีวัวควายจำนวนมากถึง 3-4 พันตัว (ยังไม่รวมแพะและแกะ) ถ้าหากมีการก่อสร้างโครงการควายจะตายหมด เพราะเส้นทางเดินถูกตัด ต้องแออัดหากินในบริเวณแคบๆ ไม่สามารถข้ามไปกินอาหารในเขตตำบลตะโละแมะนาได้ดังเดิม

สำหรับสาเหตุหรือความเดิมต่อเรื่องนี้นั้น อาจารย์เล่าให้ฟังว่า “พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่ตัวเองไปอยู่และทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกค่ะ เคยเป้นพื้นที่ทำงานของ อ.นุกูล ชาวบ้านเดือดร้อนมานานแล้ว แต่อดทนมาตลอด แต่ครั้งนี้ถึงที่สุด เพราะพรุแทบไม่เหลือแล้ว แต่ว่าก็ยังมีคนเลี้ยงควายอีกจำนวนมากที่กลัว ไม่กล้าออกมาค้าน ส่วนก๊ะผู้หญิงที่พูดภาษาไทยในคลิปแกเป็นประธานสภา อบต. เป็นคนกล้า ไม่กลัวใคร แกมักเป็นที่พึ่งชาวบ้านเสมอในเรื่องต่างๆ”

ส่วนความคืบหน้าตอนนี้ก็คือว่า เมื่อช่วงสายของวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 กรกฎาคม 2562) ทางการพยายามจัดประชุมพูดคุย ณ ที่ทำการอำเภอ มีรองผู้ว่าฯ มาเป็นประธาน แต่ได้เชิญมาชาวบ้านจำนวน 30-40 คนจากหมู่บ้านที่ไม่ได้ประกอบอาชีพการเลี้ยงควายมาร่วมประชุม และให้ชาวบ้านที่คัดค้านโครงการเข้าประชุมเพียงคนเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ฝ่ายที่คัดค้านโครงการจึงปฎิเสธไม่ขอเข้าไปในที่ประชุม และเรียกร้องว่าหากจะจัดเวทีก็ขอให้ไปจัดที่กลางทุ่งน้ำดำและเชิญหน่วยงานต่างๆ มารับฟังแทนที่ ให้ชาวบ้านได้เข้าร่วมอย่างกว้างขวาง อย่ามาจัดแบบปิดๆ แอบๆ บนที่ทำการอำเภอแบบนี้

 1,112 total views,  4 views today

You may have missed