พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

“เกลือหวาน จริงหรือ !! สัมผัสได้ ที่เมืองปัตตานี”

แชร์เลย

รายงานพิเศษ ขอบคุณคูณชีวิตดี๊ดี ที่ชายแดนใต้  (รพี มามะ บรรณาธิการข่าว)

วันนี้เรา จะพาคุณ รู้จักเกลือหวาน ฟังดูทะแม่งๆ ออกจะขำ ขำ ซะหน่อย เกลือหวาน คนรุ่นยุคดิจิตอล อาจแอบขำ แบบ ฮา ฮา ฮา  โบราณท่านว่า ไม่ลอง ไม่รู้ ไม่ดู ไม่เห็น ไม่สัมผัส อย่าพึ่งวิจารณ์ ฉันใด ก็ฉันนั้น ต้องตามไปดู…

ในเมืองตานี มีนาเกลือแห่งเดียวตลอดแหลมมะลายู สินค้าเกลือเมืองตานีขายได้อย่างแพงถึงเกวียนละ 16 เหรียญขายตลอดออกไปจนสิงคโปร์และเกาะหมาก” สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกเกี่ยวกับการทำนาเกลือในปัตตานีไว้(อ้างในครองชัย หัตถา) ชี้ให้เห็นว่า เกลือปัตตานี ถูกกล่าวขานว่ามีรสชาติดี รู้จักกันในนามว่า “ฆาแฆตานิงมานิฮฺ”หมายความว่า เกลือปัตตานีหวานและวันนี้ทีมงานชีวิตดี๊ดีที่ชายแดนใต้จะนำเสนอเรื่องของเกลือหวานแห่งปัตตานี

โดยในช่วงพุทธศตวรรษ ที่ 21 – 23 นั้น เกลือนับเป็น สินค้าส่งออกที่สำคัญของอาณาจักรปัตตานี  ดังที่ครองชัยหัตถาระบุว่า “การค้าที่ปัตตานีในระยะนั้นเฟื่องฟูมาก สินค้าจากปัตตานีที่มีชื่อเสียงเป็นที่ต้องการของชาวต่างประเทศ ได้แก่ ข้าว ดีบุก งาช้าง กำยาน ไม้หอม ครั่ง ไม้ฝาง หนังกวาง ขิง น้ำตาล เกลือ พริกไทย และสมุนไพรต่างๆ”(อ้างถึง ครองชัย หัตถา :200)

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการทำนาเกลือในตำบลบ้านนาและตำบลตันหยงลุโละอำเภอเมืองปัตตานี เป็นภูมิปัญญาแห่งบรรพบุรุษ ทะเลอ่าวไทยและอ่าวปัตตานีเต็มไปด้วยเรือสินค้าที่มารอซื้อขายเกลือจำนวนมากปัจจุบันถนนที่ใช้สำหรับการขนส่งเกลือปัตตานีในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีถูกเรียกว่า ถนนนาเกลือ

“เกลือตานี” เป็นเกลือที่มีคุณภาพดีแตกต่างจากเกลือของสมุทรสาครและเพชรบุรี เพราะผ่านการผสมกับน้ำกร่อยมาจากอ่าวปัตตานี ทำให้มีรสกลมกล่อมกว่า แม้จะมีรสเค็มเหมือนกันแต่สีจะขาวกว่า ซึ่งชาวบ้านนิยมนำมาหมักปลาทำน้ำบูดู ปลาแห้ง ดองผัก ผลไม้ คุณสมบัติพิเศษคือจะไม่ออกรสขม หากทำสะตอดอง จะได้ความกรอบ มัน เนื้อไม่เละในสมัยโบราณมีการเปรียบเปรยว่าที่นี่เป็นถิ่น “เกลือหวานปัตตานี” ปัจจุบันการทำนาเกลือของชาวปัตตานี ยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – มิถุนายน

“แบลี”ชาวบ้านที่ทำนาเกลือมากว่า 20 ปี บอกว่าการทำนาเกลือ เริ่มจากการผันน้ำทะเลเข้าสู่นา แล้วตากให้แห้งจนเห็นดินแตก จึงใช้ลูกกลิ้งทับไปมาให้ดินแน่น โดยถ้าดินแข็งมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้เม็ดเกลือขาวสะอาดมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งถ้าดินเริ่มเค็มก็จะมองเห็นเป็นสีขาว จากนั้นก็จะต้องเติมน้ำทะเลเข้านาอีก 3 รอบเพื่อให้เกิดความเค็มต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อตากจนน้ำแห้งแล้วจะมองเห็นเป็นประกายแววใส นั่นย่อมหมายถึง เกลือได้เกิดตกผลึกแล้ว ทั้งนี้ ยิ่งแดดแรงหรือลมดีเท่าไหร่เม็ดเกลือที่ได้จะสวยใสและมีรสชาติดียิ่งขึ้นสำหรับเกลือของปัตตานีจะขายที่กระสอบละประมาณ 100 บาท และนี่คือเรื่องราวตำนานของเกลือหวานของเมืองปัตตานีที่ทีมงานของเรานำมาฝาก เรื่องราวดีดียังมีอีกมากมายที่ชายแดนใต้

//////////////////////////////////////////

 3,855 total views,  4 views today

You may have missed