มีนาคม 29, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ชายแดนใต้สูญเสียผู้ทรงคุณค่าด้านสังคมอีกคน “อาซิส เบ็ญหาวัน” อดีตดาโต๊ะยุติธรรมยะลา ประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหลากบริบทที่ทรงคุณค่า

แชร์เลย

รายงานโดย : อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) … ภาพ..อับดุลฮาดี เจะ ยอ  SPM news ยะลา   (รพี มามะ บรรณาธิการข่าว)


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

انا لله وانا اليه راجعون اللهم اغفر له و ارحمه وعا فه و اعف عنه

ชายแดนใต้สูญเสียผู้ทรงคุณค่าด้านสังคมอีกคน กล่าวคือ วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2562 เวลา 20.57  น.  ดาโต๊ะอาซิส เบ็ญฮาวัน ได้ไปกลับสู่ความเมตตาของอัลลอฮ(เสียชีวิตอย่างสงบ)ที่โรงพยาบาลยะลา ท่านเกิดที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ต่อมาครอบครัวได้ย้ายไปรับราชการที่ จ.ยะลา ท่านนับว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนาสังคมจังหวัดยะลาและชายแดนใต้ผ่านผู้นำศาสนา และการเมืองการปกครองในตำแหน่งต่างๆเช่น อดีตดาโต๊ะยุติธรรม จ.ยะลา 20 กว่าปี อดีตวุฒิสมาชิกสภา จ.ยะลา 2 สมัย นายกองค์การบริหารจังหวัดยะลา และประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัด ชายแดนภาคใต้ศอ.บต.
การจากไปของท่านทำให้ชายแดนใต้ได้สูญเสียบุคคลสำคัญที่ทรงคุณค่าด้านพัฒนาสังคมมุสลิม จังหวัดยะลาและชายแดนใต้อีกท่าน
เนื่องจากท่านเสียชีวิตในคืนแรกของการต้อนรับเดือนรอมฎอน ดังนั้นขอนำบทสัมภาษณ์ท่านที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ช่วงเดือนรอมฎอน ปี2556ว่า “จากกรณีที่ผู้อำนวยความสะดวกของประเทศมาเลเซีย ดาโต๊ะ เสรี อาห์หมัด ซัมซามิน ฮาซิน ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2556 ถึงความพร้อมในเรื่องของความร่วมมือระหว่างฝ่ายผู้ที่มีความคิดเห็นต่างกับรัฐบาลไทย ในอันที่จะยุติความรุนแรง หรือลดความรุนแรงลงในช่วงเดือนรอมฎอนตามที่ได้มีข้อตกลงในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.56 ที่ผ่านมา ซึ่งจะได้เห็นภาพอย่างชัดเจนแล้วว่า สิ่งที่เป็นความคืบหน้าของการพูดคุย ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ที่มีความคิดเห็นต่างก็ได้เกิดขึ้นแล้วและหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุการณ์ช่วงเดือนรอมฎอนถึงแม้ว่าเหตุการณ์จะไม่ยุติลงโดยสิ้นเชิง แต่อย่างน้อยที่สุดเชื่อว่าเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ก็คงจะลดลง”

ย้อนดูบทสัมภาษณ์ ของท่าน อาซิส เบ็ญหาวัน ในช่วงขณะที่ยังมีชีวิต ….

อาซิส เบ็ญหาวัน เกิดที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ต่อมาครอบครัวได้ย้ายไปรับราชการที่ จ.ยะลา จนปักหลักสร้างฐานครอบครัวที่จ.ยะลา เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับนับถือในพท. เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อาทิ อดีตดาโต๊ะยุติธรรม จ.ยะลา 20 กว่าปี อดีตวุฒิสมาชิกสภา จ.ยะลา 2 สมัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นนายก อบจ.เทศบาลนครยะลา หลังจากที่มีการรื้นฟื้นจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ก็ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานที่ปรึกษาของ ผอ.ศอ.บต. ในนามสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2550 เขาได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกสภาฯ จำนวน 35 คน ให้เป็นประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

บทบาทของสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ประธานสภาฯ – ไม่อยากใช้คำว่า เข้ามาแก้ไขปัญหา แต่อยากใช้คำว่า ช่วยเสริมสร้างสันติสุขมากกว่า ซึ่งอาจจะมาในรูปแบบที่แตกต่างจากที่เคยดำเนินการมา อย่างไรก็ตามข้อเสนอแนะต่างๆ ของสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ศอ.บต.เมื่อมีการเสนอผ่านขั้นตอนต่างๆเพื่อให้ผู้ที่กำหนดนโยบาย หรือผู้ปฏิบัติได้ดำเนินการก็เป็นสิทธิของผู้กำหนดนโยบายหรือผู้ปฏิบัติจะกระทำตามหรือไม่ แต่เราจะพยายามให้ข้อมูลมากที่สุด

ได้วางกระบวนการทำงานเป็นอย่างไร

ประธานสภาฯ – ในการทำงานเราจะมีฝ่ายต่างๆที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเข้าไปเสริมสร้างด้านจิตวิทยาเพื่อความมั่นคง ความเป็นธรรม ความขัดแย้ง เช่น เมื่อพบว่าตรงไหน มีความขัดแย้งเราจะลงพื้นที่เก็บข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหาวิธีการขจัดความขัดแย้งออกไป นอกจากนั้นจะมีเรื่องการเสริมสร้างสันติสุข การดูแลด้านเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนประกอบอาชีพได้ตามปกติ ในการที่จะเสริมสร้างสันติสุขจะต้องสร้างในระดับครอบครัวก่อน ขยายเป็นหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ซึ่งเป็นภาระที่หนักมาก ทำอย่างไรที่จะขจัดความขัดแย้งที่มีต่อกัน โดยเฉพาะชาวบ้านกับชาวบ้าน ชาวบ้านกับข้าราชการ หรือระหว่างข้าราชการกันเอง ต้องพยายามขจัดให้ได้ ขอให้ทุกคนได้อดทนและใช้สติมากๆ

มีกรอบการทำงานอย่างไรบ้าง

ประธานสภาฯ – บทบาทของสภาที่ปรึกษาฯ มีหน้าที่เสนอความเห็นในการแก้ไขปัญหา ซึ่งยึดแนวทางการสร้างความสมานฉันท์ทั้งในเชิงนโยบายและวิธีการปฏิบัติ เช่น การแก้ไขปัญหาความยากจน การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม เป็นต้น

ประเด็นการประกาศเคอร์ฟิวคุยกันอย่างไร

ประธานสภา – เรื่องเคอร์ฟิวไม่ได้มีการคุยกันเลย ขณะนี้ได้มีการลงพื้นที่เพื่อไปเรียนรู้ ศึกษาข้อมูลต่างๆทั้งในพื้นที่ และส่วนราชการ เพื่อเก็บข้อมูลในการที่จะให้รัฐ ส่งเสริมและสนับสนุนรูปแบบที่สามารถดำเนินการได้ ผมว่าเป็นเรื่องยุทธการทางความมั่นคง เราคงไม่ยุ่งมากนัก ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลที่จะเสนอเป็นความเห็นอย่างอื่นได้

คิดอย่างไรกับการสร้างความเข้าใจกับกลุ่มแนวร่วมหรือการเจรจากับกลุ่มขบวนการ

ประธานสภาฯ – เริ่มต้นการทำงานเราคงจะเริ่มจากจุดเล็กๆก่อน โดยการสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านที่บริสุทธิ์ ส่วนที่เป็นสีเทาๆก็จะต้องพยายามเข้าไปสร้างความเข้าใจ ส่วนกลุ่มสุดท้ายยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน คงต้องหารือกับทีมที่ปรึกษาฯก่อนว่าจะมีแนวทางอย่างไร

ปัญหาความขัดแย้งของชาวบ้านที่เขื่อนบางลาง หรือกรณีการยิงและเผาศพชาวบ้านที่ยุโป

ประธานสภาฯ – สาเหตุหลักเขาต้องการให้รัฐดูแลความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้ดีกว่าที่เป็นอยู่พร้อมกับขอความเป็นธรรม ซึ่งได้มีการเสนอความต้องการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและประธาน คมช.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัญหานี้ได้ยุติแล้ว

มักเกิดเหตุเจ้าหน้าที่กระทำความรุนแรงเกินเหตุบ่อยครั้งอย่างล่าสุดที่ ต.บานา จ.ปัตตานี จะป้องกันอย่างไร

ประธานสภาฯ – ไม่ว่าจะเป็นกำลังฝ่ายไหนก็ตามที่ลงทำงานในพื้นที่จะต้องระมัดระวังและทำงานอย่างละมุนละม่อม ทุกฝ่ายที่เข้าไปจำเป็นต้องขจัดความหวาดระแวง ความอคติที่มีต่อกัน ทำงานด้วยความเป็นธรรม ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรให้ว่าไปตามข้อเท็จจริง เพราะผมเชื่อว่าความจริงก็คือความจริง ถ้าเราทำงานด้วยความเป็นธรรม ความรู้สึกที่ไม่อคติ ไม่หวาดระแวงผมเชื่อว่าปัญหาต่างๆ จะหมดๆไป

นายกมาลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านอยากบอกอะไร

ประธานสภาฯ – อยากฝากว่า ในเรื่องนโยบายต่างๆ ไม่ว่า การปราบปราม การป้องกัน หรือนโยบายสมานฉันท์ ขอให้นายกได้มีการติดตาม สอบถาม อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ประเมินปรับปรุงแผนงานต่างๆให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ของพื้นที่อย่างแท้จริง

ประเมินการทำงานของศอ.บต.เป็นอย่างไรบ้าง

ประธานสภาฯ – ผมว่าเริ่มเข้าที่เข้าทางแต่ยังไม่อาจประเมินผลที่ชัดเจนออกมา แต่ถ้าดูจากการทำงานของ ผอ.ศอ.บต.ท่านได้ทุ่มเทการทำงานอย่างเต็มที่ในการจะสร้างสันติสุขและแก้ปัญหาให้เกิดรูปธรรมและการที่จะให้ความปลอดภัยกับประชาชน

หนักใจกับตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษา ศอ.บต.ไหม

ประธานสภาฯ – ยอมรับว่าหนักใจมาก เป็นภาระที่หนัก แต่เพื่อความสันติสุขของพื้นที่ทุกคนต้องทำ บ้านผมอยู่ที่นี่ โตที่นี่ ไม่รู้ว่าจะหนีไปไหน เมื่อบ้านเมืองเดือดร้อน ผมก็ต้องเดือดร้อน ถึงจะหนักใจอย่างไรเราก็ต้องทำให้ได้

/////////////////////////////////////////////////////////////////

 1,079 total views,  2 views today

You may have missed