เมษายน 23, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

กิจกรรมรำลึกตากใบอย่างสร้างสรรค์ 13 ปีของความสูญเสีย ประชาชนยังฝันเห็นสันติภาพ

แชร์เลย

ก่อนครบรอบเหตุการณ์ตากใบ ในวันที่ 25 ตุลาคม วันนี้ที่นี้ ศูนย์ตาดีกาอิฮซัน บ้านจาเราะ ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ได้จัดกิจกรรมรำลึกตากใบอย่างสร้างสรรค์ 13 ปีที่สูญเสีย เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ร่วมกันในหมู่บ้าน ผ่านการกวนอาซูรอ สามัคคี การแข่งขันอานาซีด การจัดกีฬาสัมพันธ์ภายในหมู่บ้าน ซึ่งได้มีกลุ่มเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุในหมู่บ้าน รวมถึงหน่วยงานเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 3 ฝ่ายเข้าร่วมด้วย

 

โดยวันนี้ 13 ปีที่สูญเสีย จากเหตุการณ์ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 วันนี้ชาวบ้านมีชีวิตเป็นอย่างไร คุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือไม่ และรัฐให้ความเป็นธรรมเขาหรือยัง

นางแยนะ สะแลแม เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมในฐานะผู้ประสานงานเหตุการณ์ตากใบ กล่าวว่า 13 ปีในวันนี้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในหมู่บ้านเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ โดยเรารู้สึกว่า ชีวิตเขา 13 ปี ที่ผ่านมา เขาได้ทำงานปกติไม่มีอะไร ไม่มีการปิดล้อม และวันนี้ก็ประมาณ 3 ปีแล้วที่ไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาในหมู่บ้าน เราคิดว่า วันนี้เราเริ่มเห็นภาพของความสงบ เริ่มมองเห็นสันติภาพแล้ว

“เราเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มชาวบ้านอย่างเห็นได้ชัด  โดยเฉพาะในหมู่บ้านที่มีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เกือบ 100 ร้อยเปอร์เซ็นต์วันนี้ในหมู่บ้านเราเห็นภาพชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน 13 ปีที่เราทำกิจกรรมตรงนี้ เรามีความสุขมากที่ได้เห็นชาวบ้าน เด็กตาดีกา เยาวชนเข้ามาร่วมมือ”

ทั้งนี้แม้ว่า บ้านจาเราะ ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ และมีครัวเรือนอยู่เพียง 80 หลัง แต่ทุกครั้งของการจัดกิจกรรมในหมู่บ้าน ก็จะมี อบต.ผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะอีม่ามหรือผู้นำศาสนาเข้ามาร่วมมือ เราอยากเห็นความร่วมมือทุกฝ่าย กับการสร้างสันติสุข หรือสันติภาพอย่างจริงจังทุกพื้นที่ ในพื้นที่ จ.ชายแดนภาคใต้ ให้เป็นรูปธรรม เพื่อประชาชนเพื่อประเทศชาติเกิดความมั่นคง

นางมือแยโซ๊ะ สูญเสียลูกชายจากเหตุการณ์ตากใบ กล่าวว่า ตนสูญเสียลูกชาย ชื่อ นายมูฮัมมัด โซ๊ะ อายุ 19 ปี ซึ่งตอนนั้นยอมรับว่า ด้วยเหตุการณ์พึ่งเกิดใหม่ ๆ ก็เสียใจกับการสูญเสียลูกชายมาก ซึ่งวันนี้ล่วงเลยมา 13 ปี แม้จะยังคิดถึงลูกชาย แต่ก็ยอมรับว่า รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือ ด้วยความจริงใจทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ดีใจ

“วันนี้เราได้รับความเป็นธรรมจากภาครัฐแล้วรัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือกับครอบครัว และอยากให้รัฐช่วยส่งเสริมเรื่องการศึกษาและคนมีงานทำในพื้นที่”

นางตีเมาะ กาบากอ สูญเสียลูกชายจากเหตุการณ์ตากใบ กล่าวว่า ตอนเกิดเหตุใหม่ แทบอยู่ไม่ได้ เราทั้งกลัว ทั้งเกร็ง และคิดถึงลูกชายที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ แต่เมื่อนึกถึงในหนทางที่ดีของศาสนาอิสลาม ที่คนมุสลิมเชื่อในการกำหนดของพระเจ้าเราก็ปล่อยวางมากขึ้น บวกกับรัฐเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาทำให้เราไม่ต้องลำบาก ซึ่งตนก็นำเงินส่วนหนึ่งที่รัฐมอบให้ นำมาทำบุญทุกปี พร้อมนำเงินมาใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดในหนทางของศาสนา โดยเดินทางไปแสวงบุญประกอบพิธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอารเบียด้วย

นายยูโซ๊ะสะแมแอ สูญเสียน้องชายจากเหตุการณ์ กล่าวว่า แม้ว่า เงินจำนวน 7 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาทที่รัฐจ่ายเยียวยาให้กับครอบครัวผู้สูญเสียหากนับชีวิตของคนตาย แม้จะไม่คุ้มค่ากับชีวิตที่เสียไป แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ การร่วมกันสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นได้จริงและเป็นรูปธรรม

นายมูฮำมะซาวารี อุเซ็ง ครูผู้สอนตาดีกาอิฮซัน บ้านจาเราะ ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส กล่าวว่า อยากเห็นความร่วมมือในการสร้างสันติสุขเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรัฐจำเป็นต้องกำจัด ยาเสพติด ที่แพร่ระบาด ในขณะนี้ที่เป็นปัญหาหลักที่ทำลายเยาวชน ให้หมดไป ซึ่งรัฐต้องเน้นหนัก รวมถึงส่งเสริมให้คนในพื้นที่มีการศึกษา เสริมสร้าง และพัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ให้มีความมั่นคง ถาวรด้วย

สำหรับเหตุการณ์ตากเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ภายหลังเจ้าหน้าที่ได้สลายการชุมนุมและควบคุมตัวประชาชนจำนวนมากไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี หลังสลายการชุมนุมมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 6 ศพ เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 ศพ และเมื่อมีการขนย้ายผู้ชุมนุมไปถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร ปรากฏว่า มีผู้เสียชีวิตอีก 79 ศพ รวมผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 85 ศพ และมีผู้สูญหาย บาดเจ็บ และทุพพลภาพอีกจำนวนมาก

การเรียกร้องให้ความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ วันที่ 29 พฤษภาคม 53 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดสงขลาอ่านคำสั่งคดี ช.16/48 (คดีไต่สวนการตาย) ได้ใจความสำคัญ คือ ผู้ตาย (ระบุชื่อ 78 รายชื่อ) ทั้งเจ็บสิบแปดคนตาย ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2547 เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย คือ ผู้ตาย 78ขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่

ในสวนการสอบสวนตามกระบวนการยุติธรรม มีรายละเอียด พนักงานอัยการได้ถอนฟ้องผู้ชุมนุม 59 คน (ต่อมาเสียชีวิต 1 คน) เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 โดยให้เหตุผลต่อสาธารณะว่า “..การยุติข้อพิพาทในคดีนี้จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การฟ้องคดีและและการดำเนินคดีนี้ต่อไปจึงไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะและอาจกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ รวมทั้งผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ”

เนื่องจากการเสียชีวิตอยู่ในช่วงเหตุการณ์ชุลมุนระหว่างการชุมนุม จึงไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิต พนักงานอัยการจึงสั่งให้งดการสอบสวน และสำนวนที่มีผู้เสียชีวิตจากการขนย้ายผู้ถูกจับกุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จำนวน 78 คน ภายหลังศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งไต่สวนการตายพนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งอัยการ

โดยอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต และผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีมีความเห็นพ้องกับอัยการในการสั่งไม่ฟ้อง จึงไม่ได้มีการดำเนินคดีในกรณีนี้แต่อย่างใด

ในขณะเดียวกัน แม้ว่าความสูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบจะไม่สามารถประเมินค่า หรือเยียวยาความรู้สึกเป็นตัวเลขได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านสัมผัสและรับรู้ได้ คือ ความเป็นธรรมที่รัฐมอบให้เขามาตลอด 13 ปี โดยกิจกรรมรำลึกตากใบอย่างสรรค์สรรค์จึงถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เกิดจากความตั้งใจของชาวบ้าน ทั้งนี้เพื่อหาทางออกของจุดร่วม และร่วมกันสร้างพื้นที่สันติสุขให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้

บท  บรรณาธิการ/จชต.

 

 

 1,120 total views,  2 views today

You may have missed