เมษายน 27, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ศาสนกิจ 10 วันสุดท้ายของรอมฎอน สิ่งที่รัฐต้องเข้าใจที่ชายแดนภาคใต้

แชร์เลย

 

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ในช่วง วันที่ 11-21 เมษายนนี้ เป็นช่วงเวลาที่ชาวไทยมุสลิมและมุสลิมทั่วโลกกำลังถือศีลอดใน 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน และไม่วันที่ 21หรือ 22 เมษายนนี้ จะเป็นวันอีดิลฟิตรี(ฉลองหลังถือศีลอด)

การถือศีลอดและปฏิบัติศาสนกิจในช่วงนี้ จะมีความเข้มข้นทั้งกลางวันและกลางคืน(โดยเฉพาะกลางคืน) หลายๆ กิจกรรมหากองค์กร รัฐและหน่วยความมั่นคงไม่เข้าใจและไม่ทราบหลักปฏิบัติของชุมชนมุสลิมชายแดนภาคใต้ที่อยู่ในพื้นที่ประกาศกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ อาจจะนำไปสู่การจับผิดและอาจจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวอันนำไปสู่ความรุนแรงได้ในขณะเดียวกันผู้ที่คิดร้าย(ส่วนน้อยของชุมชน)อาจจะฉวยโอกาสช่วงนี้สร้างสถานการณ์ได้เช่นกัน

หลักปฏิบัติช่วงท้ายของเดือนรอมฎอน

1.การเอี๊ยะติกาฟ (การพำนักในมัสยิด) หมายถึง การพำนักอยู่ในมัสยิดโดยมีเจตนาปฏิบัติศาสนกิจต่ออัลลอฮฺเจ้ากล่าวคือการอดกลั้นในแง่ของการกักตัวในที่ๆจำกัด ไม่สามารถออกมาจากมัสยิด และไม่สามารถกระทำบางสิ่งบางอย่างที่สามารถทำได้ถ้าหากอยู่นอกการอิอฺติก้าฟ ในจำนวนนั้นคือ การหลับนอนกับภรรยา ถ้าหากการถือศีลอดไม่อนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลากลางวันเท่านั้น แต่อิอฺติก้าฟห้ามไม่ให้มีเพศสัมพันธ์กับภรรยาตลอดช่วงเวลาสิบวันไม่ว่าทั้งกลางวันหรือกลางคืนดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า
พวกเจ้าอย่าได้แนบเนื้อพวกนาง ในขณะที่พวกเจ้าเก็บตัวอยู่ในมัสยิด (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 187)

เป้าหมายสำคัญก็คือ

– เพื่อปลีกตัวออกจากภารกิจทางโลก สู่การแสวงความผ่องแผ้วแห่งจิตวิญญาณเสริมสร้างพลังและศักยภาพเพื่อเป็นกลไก ที่จะเอื้ออำนวยให้กิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่นและดียิ่งขึ้นในอนาคต
– เพื่อทดสอบความอดทนทั้งกาย วาจา ใจ ตลอด 10 วัน
– เพื่อพยายามแสวงหาคืนอัล-ก็อดร์(ค่ำคืนที่พระเจ้าประทานผลบุญทวีคืนเทียบเท่าหนึ่งพันเดือน) ดังที่อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ มีใจความว่า … “(การประกอบความดีในค่ำคืน) อัล-ก็อดรฺดีกว่า (การประกอบ ความดี) หนึ่งพันเดือน (ในค่ำคืนอื่นจากค่ำคืนอัล-ก็อดรฺ)” (ซูเราะห์อัลกอดัร อายะห์ที่ 3) ท่านศาสดากล่าวไว้มีใจความว่าและผู้ใดที่ดำรงไว้ (อิบาดะห์) ในค่ำคืนอัล-ก็อดรฺด้วยความศรัทธาต่ออัลลอฮฺและหวังในความโปรดปรานและผลตอบแทนจากพระองค์ผู้เดียวเท่านั้น แท้จริงเขาจะได้รับการอภัยโทษจากบาปทั้งหลายที่ผ่านมา (มุตตะฟะกุนอะลัยห์ : เศาะเฮี๊ยะห์ อัลบุคอรี 2/253 และเศาะเฮี๊ยะห์มุสลิมเลขที่ 760 (1/524))
– เพื่อปฏิบัติตามแบบอย่างและวิถีชีวิตที่ท่าน ศาสดาเคยปฏิบัติเพราะศาสดาไม่เคยละทิ้งศาสนกิจดังกล่าวนับตั้งแต่ท่านเริ่มเข้ามายังนครมาดีนะห์จวบจนกระทั่งท่านเสียชีวิตท่านหญิงอะอีชะเราะฏิยัลลอฮุอันฮาภรรยาศาสดา กล่าวว่า ท่านศาสดาเมื่อเข้าสิบวันสุดท้ายจากเดือนรอมฏอนท่านจะมีความจริงจังในการประกอบศาสนกิจ (ที่มัสยิด) และนางยังกล่าวอีกว่าท่านศาสดาเอาจริงเอาจัง (ประกอบศาสนกิจ) ในช่วงสิบวันสุดท้ายรอมฏอนมากกว่า (การประกอบ ศาสนกิจ) ในช่วงอื่น ๆ”

– ทบทวนพฤติกรรมตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาอย่างสงบ เพราะมุสลิมเชื่อว่าการเอียะติกาฟสามารถ ทบทวนตน และการสร้างจิตใจภายใต้หลังคามัสยิดอันเป็นบ้านของอัลลอฮ คงสามารถจะบีบคั้นน้ำตาให้รินออกมาชำระล้างความโสมมในหัวใจและสร้างพลังแห่งศรัทธาขึ้นใหม่ได้

ในจังหวัดชายแดนใต้จะมีหลายมัสยิดจัดกิจกรรมดังกล่าว เช่น ที่มัสยิดอิบาดุรเราะมาน บ้านปูยุด อ.เมืองปัตตานี ภายใต้การอำนวยการโดย อ.ดร.อิสมาอีลลุตฟีย์ จะปะกียา (อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนีและอดีตกรรมการสมานฉันท์) และมัสยิดศูนย์ดะห์วะฮฺยะลา เพราะมีการจัดการอย่างเป็นระบบทั้งให้ความรู้ด้านวิชาการ การปฏิบัติศาสนกิจ และระบบสาธารณูปโภค

ทั้งสองแห่งนี้จะมีผู้มาร่วมไม่ต่ำกว่าหมื่นคนจากทุกจังหวัดและผู้คนทุกสาขาอาชีพ แม้แต่ข้าราชการมุสลิมยอมใช้สิทธิลาพักร้อนในช่วงนี้

2.การละหมาด ช่วง 10 วันสุดท้ายจะมีอยู่ 2 ช่วงที่สำคัญคือ

ละหมาดตะรอเวี๊ยะ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30 -20.30 น.(ความเป็นจริงการละหมาดดังกล่าวกระทำมาตั้งแต่ต้นเดือนรอมฎอน แต่จะเข้มข้นมากขึ้นในช่วง 10 วันสุดท้าย ถูกบัญญัติให้ละหมาดรวมกันเป็นญะมาอะฮฺ (รวมกันที่มัสยิด)

ละหมาดตะฮัจยุด ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.00น. – 04.30 น.(ช่วงกลางดึกถึงรุ่งอรุณ) ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา จะไปละหมาดและปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิดอีกครั้งหนึ่ง การละหมาดทั้งสองช่วงจะมีผู้คนมากที่สุดในคืนที่ 27 ของเดือนรอมฎอน

3. การจ่าย ซะกาตฟิตเราะฮฺ(ทานบังคับ) คือ ซะกาตที่จำเป็นจะต้องจ่ายอันเนื่องจากหมดภาระถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งจำเป็นแก่มุสลิมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ชายหรือหญิง เพียงแต่ผู้ที่จะเป็นผู้จ่ายนั้นจะต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว และผู้อุปการะผู้อื่นโดยจ่ายเพื่อตัวเขา และเพื่อคนที่อยู่ในครอบครัวทุกคน และคนที่ต้องรับผิดชอบด้วย

สำหรับปริมาณที่ต้องจ่าย คนละ 1 ศออฺ (ในภาษาอาหรับ) หรือประมาณเกือบ 4 ลิตรของอาหารหลักในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น ในประเทศไทยคือข้าวสาร เป็นต้นโดยจะจ่ายให้คนยากจน หรือให้เจ้าหน้าที่เก็บซะกาตของมัสญิดก็ได้ เพื่อจะได้แจกจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิ์รับซะกาตต่อไป

เพราะฉะนั้นจะเห็นชาวบ้านจำนวนมากจะออกจากบ้านในคืนสุดท้ายหรือช่วงเช้าของวันอีด(ฮารีรายอ)ไปหาคนยากจนหรือเจ้าหน้าที่มัสยิด
นี่คือหลักปฏิบัติของอิสลามพอสังเขปซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชุมชนมุสลิมภาคใต้ซึ่งอยากจะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับความมั่นคงเข้าใจและนำเป็นกรอบในการกำหนดนโยบายและปฏิบัติในพื้นที่ เพราะหลายๆกิจกรรมเป็นช่วงกลางคืนและดึกดื่น

ในขณะเดียวกันการเรียกร้องให้องค์กรของรัฐและสังคมอื่นเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ได้อย่างสมบูรณ์นั้น มุสลิมเองต้องมีคุณลักษณะ และแสดงความเป็นมุสลิมที่ดีตามแนวทางศาสดาทุกอริยะบทของการดำเนินชีวิต รวมทั้งเข้าใจ เข้าถึงและร่วมมือกับสังคมอื่นตามกรอบที่ศาสนาได้กำหนดไว้เช่นกัน

หากทุกฝ่ายยึดตามแนวทางที่ถูกต้องและเข้าใจซึ่งกันสังคมไทยจะอยู่ร่วมอย่างสมานฉันท์

สุดท้ายขอประณามเหตุการณ์ร้ายต่างๆที่ผู้ที่ฆ่าพระทำลายทรัพย์สินของวัด ผู้บริสุทธิในนามศาสนาเพราะเป็นการขัดคำสั่งท่านศาสดาที่ได้เน้นย้ำไว้อย่างมากคือ อย่าฆ่าสตรี เด็ก คนแก่ หรือนักบวชที่อยู่ในโบสถ์ของเขา และห้ามตัดต้นไม้

หวังว่าศาสนธรรมและสันติธรรมไม่ใช่เป็นเพียงเป้าหมายเท่านั้น แต่เป็นวิถีทางที่สำคัญในการอยู่ร่วมอย่างสันติ และขอดุอาอ์(พร)จากอัลลอฮซุบฮานะฮุ วะ ตะอาลาโปรดทรงรวมพลังของพวกเราให้อยู่บนทางนำ และรวมหัวใจของพวกเราอยู่บนความรักฉันท์พี่น้อง รวมทั้งขอให้ความมุ่งมั่นของพวกเราอยู่บนการงานที่ดี

ขอให้พระองค์ทรงทำให้วันนี้ของพวกเราดีกว่าเมื่อวาน ให้พรุ่งนี้ของพวกเราดีกว่าวันนี้ แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงได้ยินและทรงอยู่ใกล้ และนำความสงบสุขสู่จังหวัดชายแดนใต้

หมายเหตุ
สำหรับกฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับคือ 1. พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กฎอัยการศึก พ.ศ.2547 ซึ่งประกาศในอำเภอและจังหวัดชายแดนอยู่แต่เดิมแล้ว 2. พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 ในพื้นที่ จังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี ปัจจุบันประกอบด้วย 33 อำเภอ ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯไปแล้ว 9 อำเภอ รวม อ.ยะหริ่ง คงเหลือพื้นที่บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อเนื่องรวม 24 อำเภอ เผยขยายเวลามาแล้ว 68 ครั้ง ตลอด 17 ปี (อ้างอิงวันที่ 2 มิ.ย.65)
3. พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 บังคับใช้ในพื้นที่ 9 อำเภอในข้อสอง (เช่นอ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย และ อ.นาทวี ของ จังหวัดสงขลา รวมทั้งอ.แม่ลาน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อําเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และ อ.สุคิริน จังหวัดนราธิวาส)

“กฎหมายพิเศษ” ที่ว่านี้หมายถึงกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ “เป็นพิเศษ” ในการตรวจค้น จับกุม คุมขัง สอบสวน และตรวจสอบหาหลักฐานนอกเหนือจากที่ให้ไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ทั้งนี้เพื่อแก้ไข ควบคุม หรือยุติปัญหาหรือการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ (ซึ่งโดยนัยยะที่ถูกต้องย่อมหมายถึงความมั่นคงของประชาชน)

 12,745 total views,  2 views today

You may have missed