เมษายน 26, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ยกระดับสัมพันธ์ ไทย-ซาอุฯ คนชายแดนใต้ได้ เฮ “โอกาสทอง”เตรียม ส่งแรงงาน “ชุดแรก” มิ.ย. นี้

แชร์เลย

หากกล่าวถึงความสัมพันธ์ “ไทย-ซาอุดีอาระเบีย” ที่ถูกยกระดับความสัมพันธ์ขึ้น หลังถูด “ลดทอนสัมพันธ์ลง” เป็นระยะเวลา ‘32 ปี!’ จากการที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย ตามคำเชิญของ ‘เจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด’ มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย

หลังการถูก ‘ลดทอน’ สู่การยกระดับความสัมพันธ์ในปีนี้ ถือเป็น “นิมิตรหมายอันดี” นั่นหมายถึงการนำไปสู่ “โอกาส” ความร่วมมือทุกด้านของทั้ง 2 ประเทศ
แน่นอนว่า ความสัมพันธ์ครั้งนี้ สร้าง “กระแส” และ “ตื่นตัว” ไม่น้อย สำหรับคนใน จชต. ซึ่ง ผู้คนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนนับถือศาสนาอิสลาม เหตุเพราะ ซาอุฯ เป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อโลกมุสลิม และคนที่นับถือศาสนาอิสลามเกือบทุกประเทศ
หลัง นายกฯ ‘ประกาศ และ แถลง ผลสำเร็จ’ ของการพูดคุย ในวันที่ 25 มกราคม 2565 หน่วยงานของรัฐในพื้นที่ อย่าง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ก็ “ขานรับนโยบาย” ต่อยอด เพื่อพัฒนาพื้นที่ทันที
ส่งผลให้ประชาชนที่เคย เรียน ทำงาน ในประเทศซาอุฯ และประเทศแถบตะวันออกกลาง มุ่งหน้าสู่ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ในวันที่ 23 ก.พ. 65 เพื่อ เสนอ “แนวทาง” และ “ความเห็น 8 ด้าน” ภายใต้ความสัมพันธ์ครั้งนี้ พร้อมๆกับนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ ผู้นำศาสนา และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่

นายอัลดุลคอเดย์ พูลา เลขานุการศิษย์เก่าต่างประเทศ จชต. และ ศิษย์เก่า น.ศ.ประเทศจอร์แดน เผยว่า นักศึกษาไทยที่เดินทางไปศึกษา ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ทั้งที่เดินทางด้วยทุนตัวเอง และทุนเรียนฟรีของซาอุฯ ล้วน ‘พยายาม’ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทั้ง 2 ประเทศ เป็นระยะเวลากว่า 32 ปี แม้ ซาอุฯ จะไม่ได้ลดทอนความสัมพันธ์ทางกิจกรรมของศาสนา ยังคงมอบทุน สำหรับนักศึกษามุสลิม และ เปิดโควตา ให้ไปประกอบพิธี “อุมเราะห์” และ “พิธีฮัจญ์” ทุกปี แต่เราก็อยากให้ความสัมพันธ์ ‘ดีขึ้น’ กว่าที่เป็นอยู่ มิใช่เพียงสิทธิ์ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเท่านั้น ในโอกาสการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของรัฐบาล ที่นำโดย พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา จึงนับเป็นโอกาสของประเทศไทย และ คนในพื้นที่ จชต. ที่จะได้รับอานิสงค์จากการฟื้นความสัมพันธ์ในครั้งนี้

“ข้อเสนอ 8 ด้าน” ประกอบด้วย ท่องเที่ยว พลังงาน แรงงาน อาหาร สุขภาพ การค้าการลงทุน การศึกษา และการกีฬา จากข้อเสนอ และความเห็น ของ ผู้แทนทุกกลุ่มใน จชต. ถูก ‘ส่งต่อ’ ไปยัง “กระทรวงการต่างประเทศ” เพื่อสานต่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย และความต้องการ ของคนแดนใต้
โดยเฉพาะ ข้อเสนอ “ด้านแรงงาน” ที่ถูก ‘ดัน’ จนเห็น “จังหวะการขับเคลื่อน” เป็น “ขั้นตอน” โดย กระทรวงแรงงาน ได้ “ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านแรงงาน ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมซาอุดีอาระเบีย 2 ฉบับ ได้แก่ “ความตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงานระหว่างกระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย” และ “ความตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงานในบ้าน ระหว่าง กระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทย และ กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย”
ขั้นตอน ‘ดันเรื่องแรงงาน’ ส่งผลให้เกิด ความร่วมมือ “เตรียมส่งแรง จชต. ที่มีคุณภาพ ชุดแรก” ไป ซาอุฯ ภายในเดือน มิ.ย. นี้!
กลายเป็น “โอกาสทอง” ของ คนนับถือศาสนาอิสลามในชายแดนใต้ คนที่มี “ทักษะ” ภาษาอาหรับ เป็น ‘ทุนเดิม’ สำหรับนักศึกษาในประเทศแถบตะวันออกกลาง และผู้ที่เคยไปทำงานในประเทศซาอุฯ ประมาณ 4,000 คน ที่ ‘แพ็คกระเป๋า’ กลับไทย เนื่องจาก สถานการณ์โรคระบาด โควิด 19 จ่ายเพียง “ค่าใช้จ่ายจำเป็น” ไม่ต้องเสียค่าบริการ เพราะ กระทรวงแรงงาน และ ศอ.บต. เป็น “หน่วยจัดส่ง”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทาง ซาอุฯ ระบุ ตำแหน่งงานที่ต้องการ เพียง ตำแหน่งภาคบริการ โรงแรม แม่บ้าน และช่างก่อสร้าง จึงส่งผลให้เกิด “ข้อกังวล” ว่า โอกาสได้งานของคนจำนวน 4,000 คน จะ ‘หลุดลอย’
เลขานุการศิษย์เก่าต่างประเทศ จชต. และ นายมะซัมดี สะอะ ประธานหลักสูตรภาษาอาหรับเพื่อธุรกิจสุขภาพและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฎ ยะลา เห็นตรงกันว่า ตำแหน่งงาน ที่ “รัฐบาลไทย” และ “รัฐบาลซาอุฯ” ระบุนั้น มีความแน่นอน

ตรงกันกับความเห็นของ คณะที่ปรึกษาสภาภาคประชาสังคม ที่มองว่า การยกระดับความสัมพันธ์ครั้งนี้ ถือเป็น “โอกาสของคน 3 จังหวัด” เนื่องจากมีความสัมพันธ์ทางศาสนา คือ การไปประกอบพิธีฮัจย์และอุมเราะห์ทุกปี และ เห็นด้วย กับการส่งแรงงานไทยที่ “ทักษะ” ในเรื่อง “อาชีพ” และ “ภาษา” ไปทำงาน แต่ ภาครัฐ ต้องคุยเรื่อง “รายละเอียด” ให้มีความชัดเจน”

อย่างไรก็ตาม พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ให้คำตอบว่า นอกจากกลุ่มแรงงานที่เคยอาศัยในซาอุฯ แล้ว ศอ.บต. และกระทรวงแรงงาน ยังพุ่งเป้าไปยังกลุ่ม น.ศ. ที่จบจากซาอุฯ และประเทศแถบตะวันออกกลาง กลุ่ม น.ศ.ในประเทศไทย กลุ่มแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศมาเลเซีย กลุ่มนักเรียนที่ผ่านการฝึกทักษะอาชีพ จากศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน จชต. และกลุ่มประชาชนทั่วไป เพื่อให้ “มีงานทำ” ตามความต้องการ
สำหรับตำแหน่งงาน ที่ชัดเจน ว่าเป็นตำแหน่งอะไรบ้าง ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังเร่งประสานงานเพื่อที่จะให้ข้อมูล กับประชาชนในพื้นที่ให้ทราบในโอกาสแรก

“ผู้สนใจ จะไร้ข้อกังวลในเรื่องทักษะที่เป็น “ข้อด้อย” ต่างๆ เนื่องจาก ศอ.บต. มีนโยบายนำผู้ที่ต้องการเดินทาง เข้าฝึกทักษะ “อาชีพ” “ภาษา” และ “ความรู้พื้นฐานเพิ่มเติมที่จำเป็น” เกี่ยวกับลักษณะงาน ร่วมกับ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานในพื้นที่ เพื่อให้มี “ศักยภาพ” สูงสุด ทั้งนี้ ประชาชน 3 จังหวัด ถือเป็น บุคคลที่ ‘ได้เปรียบ’ ในเรื่อง ศาสนา และการปรับตัวสู่การเป็นหนึ่งเดียวกับประเทศ ซาอุฯ ได้ไม่ยาก”

“ความชัดเจน” ของ “การนำส่งแรงงาน ไปซาอุ มิ.ย.นี้” สามารถเห็นได้จาก “ผู้แสดงความสนใจ” จากผลสำรวจของ ‘บัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิ’ และเครือข่าย ศอ.บต. ที่ลงพื้นที่ “เชิงรุก” เคาะประตูบ้าน พุ่งเป้าไปยังกลุ่มเป้าหมาย

สำหรับผู้สนใจทั่วไป ขณะนี้ กระทรวงแรงงาน และ ศอ.บต. เร่งประชาสัมพันธ์ ให้รับรู้ ผ่าน “สื่อ 3 ภาษา” ไทย มลายู และอาหรับ ผ่าน ‘แพลตฟอร์มทั้ง สื่อเก่า และ สื่อใหม่’ พร้อมกับ ‘สื่อบุคคล’ ที่มีอยู่ทุกพื้นที่ ใน จชต.

อย่างไรก็ตาม “แรงงานชุดแรก” ที่จะจัดส่งไปทำงานอาจต้องเน้น “คุณภาพ” มากกว่า ‘ปริมาณ’ ให้สมกับความสัมพันธ์ที่ถูกยกระดับขึ้น จากกาลเวลา 32 ปี! เมื่อเป็นเช่นนี้เชื่อว่าผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับคนในพื้นที่ และ รัฐบาลไทยอย่างแน่นอน “สานสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ” ไห้อะไรมากกว่าที่คิด
…อับดุลหาดี เจ๊ะยอ จ.ยะลา รายงาน..

 18,409 total views,  4 views today

You may have missed