พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

การเงินอิสลาม กับ ความท้าทายในระบบไร้พรมแดน

แชร์เลย

การเงินอิสลามกับความท้าทายในระบบไร้พรมแดน[1]

ศาสตราจารย์ พลโท ดร.สมชาย วิรุฬหผล[2]

[1] หมายเหตุ: บทความนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการทางการเงินของCrypto Currency หรือระบบเงิน Digital ซึ่งจะเป็นอีกเรื่องที่ต้องเขียนอีกยาวแต่จะเกี่ยวพันกับการเงินอิสลามในอนาคตแน่นอน

[2]ประธานโครงการ ปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์การเมือง และ ประธานโครงการปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์ดิจิทัล มหาวิทยาลัยรังสิต

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตาเสมอ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณยิ่งที่ให้ข้าพระองค์ได้มีโอกาสนำเสนอแนวคิดและความรู้ที่มีอันน้อยนิดประดุจเมล็ดทรายในท้องมหาสมุทร ด้วยบทความที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสังคมบ้างไม่มากก็น้อย และหากมีความผิดพลาดใดๆขอพระองค์ทรงเมตตาอภัยให้แก่บ่าวผู้โง่เขลาด้วยเทอญ

การกล่าวถึงเรื่องการเงินโดยไม่พาดพิงไปถึงเศรษฐศาสตร์นั้นคงจะทำให้ความเข้าใจเรื่องการเงินอยู่ในวงที่จำกัด ทั้งนี้เพราะการเงิน(Finance) นั้นคือ ผลผลิตที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของกรอบแนวคิดจากทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ จึงต้องมาทำความเข้าใจคำจำกัดความพอสังเขปของวิชา เศรษฐศาสตร์ก่อนจะพูดถึงเรื่องการเงิน

คำว่า “เศรษฐศาสตร์” หรือ (Economics) มีรากศัพท์จากภาษากรีก ซึ่งมีความหมายว่าการจัดการบ้านเรือน ทั้งนี้เพราะหน่วยสังคมที่เล็กที่สุดคือ ครอบครัว ส่วนการจัดการบ้านเรือนโดยนัยนี้ ก็คือการเลี้ยงปาก เลี้ยงท้อง เลี้ยงครอบครัวให้มีกินมีใช้ ต่อมาขอบเขตของธุรกรรมทางเศรษฐศาสตร์ก็มีการขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง เป็นการบริหารจัดการธุรกิจการค้า การผลิต การจำหน่าย การบริโภค การลงทุน ตลอดจนการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจในระดับรัฐบาลและเชื่อมโยงไปยังการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ

ส่วนการเงิน(Finance) คือวิชาที่เกี่ยวข้องทางการเงินของหน่วยธุรกิจต่างๆ ในด้านการบริหารเงิน การลงทุน การจัดการโครงสร้างทางการเงิน อย่างเช่น สินทรัพย์ (Assets) หนี้สิน(Liabilities) และส่วนของทุน การดูแลสภาพคล่อง (Cash Flow) การควบรวมหรือซื้อกิจการ (Mergers And Acquisitions) การเพิ่มมูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้น รวมไปถึงการคิดคำนวณมูลค่าของกิจการด้วย

  ส่วนเศรษฐศาสตร์อิสลาม (Islamic Economics) และการเงินอิสลาม (Islamic Finance) นั้นก็เป็นการเอาแก่นแท้ตามหลักอิสลามเข้าไปเสียบยอด และนำไปสู่การสร้างทฤษฎีใหม่ ซึ่งจะต้องผ่านการทดสอบด้วยการทำวิจัยตลอดจนพัฒนาไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้

เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ(comparative analysis)

ดังนั้นผู้ที่จะศึกษาเศรษฐศาสตร์อิสลามและการเงินอิสลามจะต้องมีความเข้าใจพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์และรู้จักการประยุกต์ใช้ทางการเงินจนแตกฉานจึงจะสามารถสร้างทฤษฎีใหม่และพัฒนาต่อยอดจนนำไปสู่การปฏิบัติในชีวิตจริง และสามารถสอดรับหรือแข่งขันกับเศรษฐศาสตร์และการเงินที่ถือว่าเป็นกระแสหลักของโลกในปัจจุบันได้

มิฉะนั้น เมื่อสำเร็จการศึกษาออกมา โดยเฉพาะปริญญาตรีซึ่งเรื่องอย่างนี้มักเกิดขึ้นเป็นการทั่วไปทุกแขนงวิชา เมื่อจบออกมาก็ไม่อาจนำความรู้ไปใช้งานอะไรได้ บางคนโชคดีได้เข้าทำงานในสถาบันการเงินอิสลามก็ทำได้อย่างเก่ง คือทำตาม Plat Form ที่สถาบันกำหนด ซึ่งเป็นการคัดลอกต่อ ๆ กันมาตาม Software

สำหรับผู้ที่จบการศึกษาเหนือจากปริญญาตรีขึ้นไปส่วนใหญ่จะเป็นอย่างไรเช่นจะเป็นการลอกตำราหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ยากที่จะพัฒนาแนวคิดทฤษฎีอะไรได้ เพราะขาดความเข้าใจเศรษฐศาสตร์และการเงิน ตลอดจนพลวัตรต่าง ๆ ในยุคโลกาภิวัฒน์หรือขาดงานวิจัยพัฒนาก็อาจเป็นได้

ที่นี้ก็กลับมากล่าวถึงแก่นสำคัญของอิสลามในเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจการเงิน นั่นคือเรื่อง “ดอกเบี้ย” RIBA เรื่องนี้มีการโต้แย้งจากทั้งผู้รู้และผู้ไม่รู้มุสลิมบางท่านอ้างว่าคำว่าดอกเบี้ยนี้เป็นที่ต้องห้ามตามหลักอิสลามนั้นหมายถึง Usury คือดอกเบี้ยที่ขูดรีดซึ่งแนวคิดนี้ก็มีในคัมภีร์เตารอตของชาวยิวแต่ปัญหา คือเราจะมีเส้นแบ่งอย่างไรระหว่าง Interest (ดอกเบี้ย) กับ Usury (ดอกเบี้ยขูดรีด) ร้อยละเท่าไหร่จึงเป็นดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยขูดรีด

อย่างไรก็ตามในอัลกุรอาน ซูเราะห์อัล-บากอเราะฮ์กล่าวว่าอะไรที่เกินเงินต้นถือเป็นดอกเบี้ยซึ่งถ้าพิจารณาตามข้อกำหนดนี้โดยเคร่งครัดในตัวบท ข้อโต้แย้งเรื่องดอกเบี้ยขูดรีดก็จะตกไปทันที

ٱلَّذِينَ  يَأۡكُلُونَ  ٱلرِّبَوٰاْ  لَا  يَقُومُونَ  إِلَّا  كَمَا  يَقُومُ  ٱلَّذِي  يَتَخَبَّطُهُ  ٱلشَّيۡطَٰنُ  مِنَ  ٱلۡمَسِّۚ  ذَٰلِكَ  بِأَنَّهُمۡ  قَالُوٓاْ  إِنَّمَا  ٱلۡبَيۡعُ  مِثۡلُ  ٱلرِّبَوٰاْۗ  وَأَحَلَّ  ٱللَّهُٱلۡبَيۡعَ  وَحَرَّمَ  ٱلرِّبَوٰاْۚفَمَن  جَآءَهُۥ  مَوۡعِظَةٞ  مِّن  رَّبِّهِۦ  فَٱنتَهَىٰ  فَلَهُۥ  مَا  سَلَفَ  وَأَمۡرُهُۥٓ  إِلَى  ٱللَّهِۖ  وَمَنۡ  عَادَ  فَأُوْلَٰٓئِكَ  أَصۡحَٰبُ  ٱلنَّارِۖ  هُمۡ  فِيهَا  خَٰلِدُونَ   (2:275)

บรรดาผู้กินดอกเบี้ยนั้นพวกเขาจะไม่ทรงตัวนอกจากจะเป็นเช่นเดียวกับผู้ที่ชัยฏอนทำร้ายเขาพวกเขากล่าวว่าที่จริงการค้าขายนั้นก็เหมือนการเอาดอกเบี้ยนั้นเองและอัลลอฮฺนั้นทรงอนุมัติการขายและทรงห้ามการเอาดอกเบี้ยดังนั้นผู้ใดที่การตักเตือนจากพระเจ้าของเขาได้มายังเขาแล้วเขาก็เลิกสิ่งที่ล่วงแล้วมาก็เป็นสิทธิของเขาและเรื่องของเขานั้นย่อมกลับไปสู่อัลลอฮฺและผู้มิได้กลับ(กระทำ) อีกชนเหล่านี้แหละคือชาวนรกโดยที่พวกเขาจะอยู่ในนรกนั้นตลอดกาล (2:275)

يَمۡحَقُ  ٱللَّهُٱلرِّبَوٰاْ  وَيُرۡبِي  ٱلصَّدَقَٰتِۗ  وَٱللَّهُ  لَا  يُحِبُّ  كُلَّ  كَفَّارٍ  أَثِيمٍ   (2:276)

อัลลอฮฺจะทรงให้ดอกเบี้ยลดน้อยลงและหมดความจำเริญและจะทรงให้บรรดาที่เป็นทานเพิ่มพูนขึ้นและอัลลอฮฺนั้นไม่ทรงชอบผู้เนรคุณผู้กระทำบาปทุกคน (2:276)

إِنَّ  ٱلَّذِينَ  ءَامَنُواْ  وَعَمِلُواْ  ٱلصَّٰلِحَٰتِ  وَأَقَامُواْ  ٱلصَّلَوٰةَ  وَءَاتَوُاْ  ٱلزَّكَوٰةَ  لَهُمۡ  أَجۡرُهُمۡ  عِندَ  رَبِّهِمۡ  وَلَا  خَوۡفٌ  عَلَيۡهِمۡ  وَلَا  هُمۡ  يَحۡزَنُونَ   (2:277)

แท้จริงบรรดาผู้ที่ศรัทธาและประกอบสิ่งที่ดีงามทั้งหลายและดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและจ่ายซะกาตนั้นพวกเขาจะได้รับรางวัลของพวกเขาณพระเจ้าของพวกเขาและไม่มีความกลัวอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นแก่พวกเขาและทั้งพวกเขาก็จะไม่เสียใจ(2:277)

يَٰٓأَيُّهَا  ٱلَّذِينَ  ءَامَنُواْ  ٱتَّقُواْٱللَّهَ  وَذَرُواْ  مَا  بَقِيَ  مِنَ  ٱلرِّبَوٰٓاْ  إِن  كُنتُم  مُّؤۡمِنِينَ (2:278)

บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายพึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิดและจงละเว้นดอกเบี้ยที่ยังเหลืออยู่เสียหากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา(2:278)

فَإِن  لَّمۡ  تَفۡعَلُواْ  فَأۡذَنُواْ  بِحَرۡبٖ  مِّنَ  ٱللَّهِ  وَرَسُولِهِۦۖ  وَإِن  تُبۡتُمۡ  فَلَكُمۡ  رُءُوسُ  أَمۡوَٰلِكُمۡ  لَا  تَظۡلِمُونَ  وَلَا  تُظۡلَمُونَ (2:279)

และถ้าพวกเจ้ามิได้ปฏิบัติตามก็พึงรับรู้ไว้ด้วยว่าซึ่งสงครามจากอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์และหากพวกเจ้าสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวแล้วสำหรับพวกเจ้าก็คือต้นทุนแห่งทรัพย์ของพวกเจ้าโดยที่พวกเจ้าจะได้ไม่อธรรมและไม่ถูกอธรรม(2:279)

وَإِن  كَانَ  ذُو  عُسۡرَةٖ  فَنَظِرَةٌ  إِلَىٰ  مَيۡسَرَةٖۚ  وَأَن  تَصَدَّقُواْ  خَيۡرٞ  لَّكُمۡ  إِن  كُنتُمۡ  تَعۡلَمُونَ (2:280)

และหากเขา (ลูกหนี้) เป็นผู้ยากไร้ก็จงให้มีการรอคอยจนกว่าจะถึงคราวสะดวกและการที่พวกเจ้าจะให้เป็นทานนั้นย่อมเป็นการดีแก่พวกเจ้าหากพวกเจ้ารู้ (2:280)

แต่หากเรานำเอาคำว่า “เงินต้น”หรือ”ต้นทุนแห่งทรัพย์”ในอัลกุรอ่านมาพิจารณาในอีกทางคือเงินต้นนั้นไม่ได้มีเงื่อนไขในเวลาจำกัดดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปนานๆค่าของเงินต้นย่อมลดลง จึงมีแนวคิดโต้แย้งโดยทฤษฎีมูลค่าปัจจุบัน (Present Value) นั้นคือเงินตราในปัจจุบันจะมีค่าลดลงในอนาคต หมายความว่าเงินตราในปัจจุบันจะซื้อสินค้าได้น้อยลงในอนาคตเพราะระดับราคาสินค้าจะเพิ่มไปเรื่อย ๆ จากต้นทุนต่าง ๆ โดยเฉพาะค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น

ขอยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจชัดเจนขึ้นนาย ก.ได้ไปขอยืมเงินจากญาติเพื่อมาลงทุนค้าขายแต่ญาติไม่มีเงินสดจึงได้ขายสร้อยคอหนัก 1 บาทซึ่งเมื่อ 70 ปีที่แล้วมีราคาเพียง 400 บาทให้นาย ก.ไป โดยทำสัญญากันไว้นาย ก.ก็ทำการค้าขายกำไรบ้างขาดทุนบ้างก็หมุนเงินไปมาและยังมิได้ชำระหนี้คืน เพราะไม่ได้กำหนดไว้ในสัญญา ล่วงมา 70 ปี นาย ข.เจ้าของสร้อยมาทวงเงินคืนโดยขอรับเป็นสร้อยหนัก 1 บาท ซึ่งราคาปัจจุบัน 28,000 – 29,000 บาท

คำถามคือ “เงินต้น” ที่กล่าวถึงมันคืออะไรทองคำ 1 บาทหรือเงินสด 400 บาทตามทฤษฎีมูลค่าปัจจุบัน (Present Value) ค่าของเงินในอดีตนั้นย่อมลดลงในอนาคต ดังนั้นเพื่อรักษามูลค่าเดิมไว้ซึ่งคือเงินต้นก็ต้องตีมูลค่าเป็นทองคำหนัก 1 บาทในปัจจุบัน แล้วส่วนที่มันเปลี่ยนแปลงนี้มันเป็นมูลค่าปัจจุบันของเงินต้นไม่ใช่ส่วนต่างที่ถือเป็นดอกเบี้ยใช่หรือไม่

ดังนั้นคำว่า “เงินต้น” หรือต้นทุนแห่งทรัพย์กับ “อะไรที่เกินเงินต้น” โดยไม่มีเงื่อนไขเวลากำหนดหากพิจารณาด้วยทฤษฎีมูลค่าปัจจุบันก็น่าจะรับฟังได้หรือถ้ารับไม่ได้ก็ต้องมีคำอธิบายด้วยเหตผลหรือหลักฐาน นี่เป็นคำถามปลายเปิด ทว่าเป็นประเด็นที่ผู้รู้และนักศึกษาด้านนี้จะต้องหาคำตอบด้วยการค้นคว้าหรือทำวิจัย เพราะมันเป็นกุญแจที่ทำให้เกิดความแตกต่างที่สำคัญในแนวทางของเศรษฐกิจการเงินอิสลามและเศรษฐกิจการเงินแบบสากล

ที่สำคัญคืออัลลอฮ์ทรงเตือนว่าการไม่เชื่อฟังพระองค์ในเรื่องดอกเบี้ยนั้นเท่ากับเป็นการประกาศสงครามกับพระองค์และศาสนทูตเมื่อโทษมันหนักหนาการตีความจึงต้องรอบคอบรัดกุมแต่มิได้หมายความว่าจะตึความหรือแตะต้องมิได้

อีกทฤษฎีหนึ่งที่เป็นไปในทางเดียวกับทฤษฎีมูลค่าปัจจุบันคือTime Preference Theory ซึ่งขออธิบายอย่างง่ายๆคือเราซึ่งเป็นพ่อค้าไปยืมเงินเขามาแล้วสัญญาจะใช้เงินคืนตอนสิ้นเดือนแต่เราเกิดปัญหาไม่อาจคืนได้จึงไปเจรจาขอคืนสิ้นปีโดยบอกว่าจะจ่ายให้เป็น1.5เท่าของเงินที่ยืมผู้ให้ยืมพอใจตามเงื่อนไขของเวลาที่แตกต่างกันจึงตกลงตามนั้น

อย่างไรก็ตามหากผ่านเรื่องคำจำกัดความของ “ดอกเบี้ย” แล้วเรากลับมาพิจารณา “ดอกเบี้ย” ในแนวทางตามตัวอักษรไม่ต้องตีความนั้นคืออะไรที่เกินเงินต้นถือเป็นดอกเบี้ย

ดังนั้นมุสลิมจะประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจการเงินอย่างไรในซูเราะห์อัล-บากอเราะฮ์เช่นการระบุว่าไม่อนุมัติดอกเบี้ยแต่อนุมัติการค้า แต่การค้าตามหลักอิสลามนั้นมุสลิมต้องค้าขายอย่างยุติธรรมตรงไปตรงมาซึ่งในซูเราะห์อัล-บากอเราะฮ์อัล-อันอาม ได้พูดไว้ชัดเจนถึงการห้ามโกงตาชั่งและเทียบเคียงกับการโกงสมบัติของเด็กกำพร้า

(2:275) وَأَحَلَّ  ٱللَّهُٱلۡبَيۡعَ  وَحَرَّمَ  ٱلرِّبَوٰاْۚ

และอัลลอฮฺนั้นทรงอนุมัติการค้าขายและทรงห้ามการเอาดอกเบี้ย (2:275)

وَلَا تَقْرَبُوا مَالَ الْيَتِيمِ إِلَّا بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ حَتَّىٰ يَبْلُغَ أَشُدَّهُ وَأَوْفُوا الْكَيْلَ وَالْمِيزَانَ بِالْقِسْطِ(6:152)

และจงอย่าเข้าใกล้ทรัพย์สมบัติของเด็กกำพร้านอกจากด้วยวิถีทางที่ดียิ่งจนกว่าเขาจะบรรลุวัยฉกรรจ์และจงให้ครบเต็มซึ่งเครื่องตวงและเครื่องชั่งด้วยความเที่ยงตรง(6:152)

นี่ก็เป็นการเทียบเคียงการค้าที่ซื่อสัตย์ยุติธรรมกับการดูแลทรัพย์สินของเด็กกำพร้าด้วยความซื่อสัตย์ว่าหากไม่ซื่อสัตย์มันมีโทษไม่ต่างกัน

เรื่องนี้เราลองมาพิจารณาหะดิษเพื่อขยายความต่อไปโดยหะดิษที่มักกล่าวอ้างกันบ่อยๆในแวดวง            ผู้ศึกษาเศรษฐศาสตร์อิสลาม มีความว่า “มีทองแลกทอง             มีเงินแลกเงิน มีเกลือแลกเกลือ หนักเท่า ๆ กัน” คำถามคือจะมีใครที่ยังมีสติดีอยู่แบกทองคํา 1 กิโลกรัมไปแลกกับทองคำหนัก 1 กิโลกรัม กับคู่ค้า

عبادة بن الصامت رضي الله تعالى عنه قال: قال رسول الله صلى الله عليه وسلم: الذهب بالذهب، والفضة بالفضة، والبر بالبر، والشعير بالشعير، والتمر بالتمر، والملح بالملح، مثلاً بمثل سواء بسواء، يداً بيد، فإذا اختلفت هذه الأصناف فبيعوا كيف شئتم إذا كان يداً بيد

(رواه مسلم)

“ทองคำแลกทองคำเงินแลกเงินข้าวสาลีแลกข้าวสาลีข้าวบาร์เลย์แลกข้าวบาร์เลย์ผลอินทผลัมแลกผลอินทผลัมและเกลือแลกเกลือปริมาณต้องเท่ากัน ส่งมอบกันทันทีมือต่อมือดังนั้นหากสิ่งเหล่านี้ต่างประเภทกันพวกท่านจงซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ตามต้องการตราบใดที่มีการส่งมอบมือต่อมือ” (บันทึกโดยมุสลิม)

คำอธิบายที่น่าจะมีเหตุผลก็คือ หะดิษนี้ต้องการตอกย้ำถึงความยุติธรรมในการค้าขายคือไม่คดโกงกัน ขณะเดียวกันก็อาจนำไปอธิบายเรื่องคำจำกัดความของคำว่าเงินต้น ตามทฤษฎีมูลค่าปัจจุบัน(present value)ไดัหรือไม่ก็น่าพิจารณาและน่าสังเกตคือหะดิษระบุว่าส่งมอบกันทันทีมือต่อมือนั่นคือปัจจุบันไม่ใช่ส่งมอบในอนาคตที่มีเงื่อนไขเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ประเด็นเรื่องส่งมอบทันทียังเกี่ยวพันไปสู่การซื้อขายล่วงหน้าเพื่อประกันความเสี่ยงเช่นการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศ forwarding หรือการซื้อขายสินค้าล่วงหน้าเพื่อประกันความเสี่ยงจะผิดเงื่อนไขตามหะดิษที่กล่าวถหรือไม่หรือหลักการค้าตามหลักชารีอะฮ์ห้ามประกันความเสี่ยงอย่างนั้นหรือนอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการเก็งกำไรซึ่งตามหลักการค้าเรามุ่งแสวงกำไรจึงซื้อถูกขายแพงแต่ราคาสินค้าบางอย่างมันผันผวนจะวัดอย่างไรจึงนับว่าเก็งกำไร

หากพิจารณาหะดิษนี้ในอีกมุมมองนั่นคือท่านศาสดาต้องการเน้นย้ำว่าการค้าที่ยุติธรรมนั้นนอกเหนือจากน้ำหนักและราคาแล้วเมื่อรับเงินลูกค้าแล้วจะต้องส่งมอบสินค้าทันทีไม่บ่ายเบี่ยงผลัดผ่อนเพราะนั่นคือการค้าที่ไม่เป็นธรรมเช่นกันดังนั้นหะดิษบทนี้อาจไม่เกี่ยวกับการค้าล่วงหน้าทั้งการแลกเงินหรือสินค้าในอนาคตfuture Marketที่มีการตีความกันก็ได้

ยังมีหะดิษอีกบทหนึ่งที่น่าสนใจคือมีเรื่องเล่าว่าท่านศาสดาได้เดินทางไปแถบชายขอบเมืองมาดีนะฮ์โดยมีท่านบิลาลติดตามไป ท่านบิลาลจึงเตรียมเสบียงติดไปด้วยซึ่งทั้งศาสดาและท่านบิลาลที่เคยเป็นทาสต่างก็ยากจน จึงได้นำเอาอินทผาลัมชนิดเกรดต่ำสุดติดตัวไปเพื่อรับประทานระหว่างทาง ปรากฏว่าในระหว่างเดินทางได้ผ่านสวนอินทผาลัมของชาวบ้าน ท่านบิลาลด้วยความรักภักดีต่อท่านศาสดาต้องการให้ท่านรับประทานของดีมีคุณภาพ จึงไปเจรจากับชาวบ้านขอแลกอินทผาลัมชนิดเกรดต่ำของตนกับชาวบ้านที่เป็นเกรดเอ

ชาวบ้านซึ่งรู้จักท่านบิลาลและท่านศาสดาดี จึงให้แลกอินทผาลัมเกรดเอกับเกรดต่ำของท่านบิลาลในน้ำหนักเท่า ๆ กัน

ครั้นได้เวลารับประทานอาหารท่านบิลาลก็นำเอาอินทผาลัมออกมาให้ท่านศาสดารับประทานและเล่าความให้ท่านฟัง ท่านศาสดาจึงอุทานออกมาว่า “นั่นแหละ ดอกเบี้ยเงา (อัลฟัจละฮ์)” ซึ่งต่อมาผู้รู้ก็ได้นำมาอรรถาธิบายว่า ดอกเบี้ยนั้นมี 2 ชนิด อันหนึ่งคือดอกเบี้ยแท้ (อัลนาซีอะฮ์) กับดอกเบี้ยเงา (อัลฟัจละฮ์)

ดังนั้น หากเรานำเอาคำว่า “ดอกเบี้ยเงา” มาพิจารณามันก็คือการค้าที่ไม่ยุติธรรมเช่น กรณีที่เล่าไปแล้วเอาอินทผาลัมชนิดเกรดต่ำไปแลกกับอินทผาลัมเกรดเอ โดยมีน้ำหนักเท่ากันจึงไม่ถูกต้องตามหลักอิสลามจนเทียบได้กับดอกเบี้ยว่าเป็น “ดอกเบี้ยเงา”

อิสลามจึงให้ความสำคัญกับเรื่องการค้า แม้อัลลอฮ์จะอนุมัติการค้าแต่ก็ต้องยุติธรรม ส่วนที่ท่านศาสดาเปรียบเทียบเป็นดอกเบี้ยเงาก็เพื่อจะชี้ให้เห็นโทษของการค้าที่ไม่ยุติธรรมไม่ซื่อสัตย์ว่าหนักหนาเพียงใด โดยมีหะดิษบทหนึ่งว่า “โทษของการยุ่งเกี่ยวกับดอกเบี้ยนั้นเท่ากับการร่วมประเวณีกับแม่ของตนเอง ”

الرِّبَا ثَلَاثَةٌ وَسَبْعُونَ بَابًا ، أَيْسَرُهَا : مِثْلُ أَنْ يَنْكِحَ الرَّجُلُ أُمَّهُ ، وَإِنَّ أَرْبَى الرِّبَا : عِرْضُ الرَّجُلِ الْمُسْلِمِ

ดอกเบี้ยมีเจ็ดสิบสามประเด็น(ความผิด)ที่ง่ายที่สุดคือ: เหมือนกับที่ผู้ชายแต่งงานกับแม่ของเขาและความผิดที่ใหญ่สุดของการกินดอกเบี้ยคือ: เกียรติยศของมุสลิม (รายงานโดยฮากิม) (นักวิชาการบางท่านกล่าวว่าหะดีษทำนองนี้เป็นมุงกัรถูกปฏิเสธว่าไม่เชื่อมโยงถึงนบี)

แต่เป็นการเปรียบเปรยว่าโทษของมันหนักหนาเพียงใดทั้งนี้ยังมีอีกหลายบทที่ท่านศาสดากล่าวถึงโทษของการดอกเบี้ย ซึ่งหมายถึงทั้งผู้รับและผู้จ่ายว่ามีโทษหนักหนา แต่ที่กล่าวถึงนั้นถือว่าหนักสุด ดอกเบี้ยเงาหรือการค้าที่ไม่เป็นธรรมไม่ซื่อสัตย์ก็คงมีโทษไม่ต่างกันมากเช่นกัน

ในอัลกุรอาน ซูเราะห์อัล-บากอเราะฮ์กล่าวว่าผู้ที่ยุ่งเกี่ยวกับการดอกเบี้ยจะมีสภาพที่ไม่อาจยืนทรงตัวได้มั่น เหมือนกับคนเสียสติ

ٱلَّذِينَ  يَأۡكُلُونَ  ٱلرِّبَوٰاْ  لَا  يَقُومُونَإِلَّا  كَمَا  يَقُومُ  ٱلَّذِي  يَتَخَبَّطُهُ  ٱلشَّيۡطَٰنُ  مِنَ  ٱلۡمَسِّۚ

บรรดาผู้กินดอกเบี้ยนั้นพวกเขาจะไม่ทรงตัวนอกจากจะเป็นเช่นเดียวกับผู้ที่ชัยฏอนทำร้ายเขา(ให้เสียสติ)

ด้วยประการฉะนี้การดอกเบี้ยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่มุสลิมผู้ศรัทธาไม่อาจจะดูเบาได้ แต่การตีความหมายก็เป็นสิ่งจำเป็นและต้องรอบคอบระมัดระวัง ศึกษาค้นคว้า วิจัย อย่างเช่นการเปรียบเทียบโดยอาจใช้ทฤษฎีมูลค่าปัจจุบัน (Present Value) เป็นจุดเริ่มต้นในการพิจารณา

หากเรายึดมั่นตีความตรงตามตัวอักษรเราก็ต้องขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและการเงินอิสลามโดยไม่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยและต้องนำเอาแนวคิดทฤษฎีมาจัดสร้างเป็นระบบที่สอดรับกัน ทั้งสังคมตลอดรวมไปทั้งความสัมพันธ์ทางธุรกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตามในโลกไร้พรมแดน ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศการแบ่งแยกระบบเศรษฐกิจอิสลามออกจากระบบเศรษฐกิจกระแสหลักที่มีดอกเบี้ยจึงเป็นไปได้ยาก

      ยากมากกว่าระบบเศรษฐกิจแบบปิดอย่างเช่นจีนในยุคปิดประเทศเคร่งครัดในลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นมุสลิมก็ต้องตั้งรัฐอิสลามและเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจกันในโลกอิสลาม มี IMF ของเราเองคือ Islamic Monetary Fund แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เคยเห็นมีประเทศมุสลิมใดที่ดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจการเงินแบบอิสลามล้วนๆเลยนอกจากเป็นระบบผสม และก็ยังไม่เห็นรูปแบบรัฐอิสลามที่ชัดเจนในปัจจุบัน และคงไม่ต้องกล่าวถึงเครือข่ายเศรษฐกิจอิสลามระหว่างประเทศที่ยังไม่เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้

ในความเป็นจริงระบบการเงินการลงทุนในโลกจะมีสัดส่วนของการเงินการลงทุนอิสลามเพียงไม่เกินร้อยละ 10 เท่านั้นและไม่ขยับตัวขึ้นเลยเป็นเวลากว่า หลายทศวรรษ

ดังนั้นเราจึงควรน้อมรับความเป็นจริงในทางปฏิบัติคือแทนที่จะแยกตัวออกจากระบบใหญ่ซึ่งเป็นไปได้ยากมากโดยเราอาจจะพิจารณาที่จะปรับตัวเข้าสู่ระบบและรักษาหลักการเอาไว้ โดยปัจจุบันการเงินอิสลามมีเครื่องมืออยู่ 3 อย่างด้วยกันดังนี้

  1. ธนาคารหรือสถาบันการเงินอิสลาม ซึ่งทำงานในสภาพแตกต่างกันในแต่ละประเทศโดยการดำเนินธุรกรรมจะมีประสิทธิภาพในประเทศมุสลิมมากกว่าสถาบันการเงินในประเทศที่มุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย ทั้งนี้เพราะกฎหมายไม่เอื้อต่อการทำธุรกรรมตามหลักการและระดมทุนได้ยากกว่า นอกจากนี้สถาบันการเงินอิสลามในประเทศที่มุสลิมเป็นชนส่วนน้อยไม่มีทางเลือกมากนอกจากทำธุรกรรมแบบธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ซึ่งหลายผลิตภัณฑ์ไม่ค่อยสอดรับกับหลักการเงินอิสลามในขณะที่ต้องแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในประเทศเหล่านั้น

ทั้งนี้หลักการของสถาบันการเงินอิสลามตามที่ทราบกันดีคือการลงทุนการร่วมทุนและการซื้อขายในบางประเทศพยายามใช้คำภาษาอาหรับเพื่อให้เกิดความขลัง แต่ก็ไม่ทราบว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคในการดำเนินการเช่น เรื่องการลงทุนในหลายประเทศเขาห้ามธนาคารพาณิชย์ทำการลงทุนในธุรกิจเองเพราะเกรงว่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบการอื่นๆหรือเพิ่มความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงิน ส่วนการร่วมทุนก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน และหากกระทำได้ก็ต้องมีตัวแทนธนาคารที่มีความรู้ความสามารถไปควบคุมการดำเนินการลงทุนหรือร่วมทุนซึ่งจะมีข้อจำกัดด้านบุคคลากรอย่างยิ่ง

ดังนั้นสถาบันการเงินอิสลามที่ถูกสร้างมาในกรอบของธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีข้อจำกัดในการหารายได้จึงเหลือเพียงหลักข้อที่ 3 คือซื้อมาขายไปโดยเฉพาะกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น อาคารที่อยู่อาศัย บ้านพัก เป็นต้น แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์เพราะมันต้องเสียค่าธรรมเนียมมากทำให้ต้นทุนการเงินสูงขึ้น ในอีกด้านหากเป็นการหารายได้แบบลงทุนหรือร่วมทุนก็จะควบคุมการดำเนินการของบริษัทยากโดยเฉพาะการดูแลต้นทุนของบริษัทอันมีผลต่อกำไรจึงเลือกเก็บจากรายได้แล้วไปเรียกว่าส่วนแบ่งหรือปันผลหรือเลี่ยงบาลีโดยแปลงเป็นสัญญาการซื้อขายซึ่งน่าจะขัดหลักการเงินอิสลามตามที่กำหนดในปัจจุบันเพราะเราต้องแบ่งจากกำไรส่วนด้านเงินฝากเราก็อาจไม่สามารถสัญญาเป็นร้อยละตายตัวได้แม้จะมีการกันกำไรของธนาคารเป็นทุนสำรองจ่ายไว้ก่อนหากทุนสำรองหมดก็จะมีปัญหาได้

ปัญหาสำคัญของธนาคารหรือสถาบันการเงินอิสลามไม่ว่าจะอยู่ในประเทศมุสลิมหรือมิใช่ก็ตามมักจะมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสู้ธนาคารพาณิชย์ ไม่ได้ด้านหนึ่งอาจเกิดจากคุณภาพของพนักงาน อีกด้านคือการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการเงินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศไม่สู้ราบรื่นเท่าธนาคารทั่วไป จึงทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงกว่าธนาคารพาณิชย์อนึ่งในกรณีการลงทุนหรือร่วมทุนสถาบันการเงินอิสลามในประเทศมุสลิมจะมีส่วนได้เปรียบในการลงทุนกับรัฐวิสาหกิจที่มีการประกอบการดี มีกำไรสูงจึงไม่ค่อยกระตือรือร้นในการจัดการ แต่เรื่องนี้จะไม่ค่อยเกิดในประเทศที่มุสลิมเป็นชนส่วนน้อยเพราะไม่ค่อยมีโอกาสในการลงทุนในรัฐวิสาหกิจกำไรงาม  และยังสามารถระดมทุนได้อย่างดีจากภายประเทศ ส่วนในประเทศอาหรับ รัฐบาลใช้ธนาคารอิสลามบางส่วนในการให้สวัสดิการ เช่นการยืมเงินเพื่อการสมรส จึงไม่อาจถือเป็นการทำธุรกรรมการเงิน นอกจากนี้สถาบันการเงินแบบอิสลามในประเทศเหล่านี้ยังได้รับอนุญาตให้ทำการค้าได้ด้วยเช่นคูเวตไฟแนนส์เฮ้าส์

  1. ตราสารซูกุกหรือที่บางคนจะเรียกว่าพันธบัตรอิสลามแต่วิธีการมันต่างกันเพราะพันธบัตรเราลงทุนแล้วรอรับดอกเบี้ยตราสารซูกุจะเกี่ยวพันกับกรรมสิทธิ์และเพื่อให้เข้าใจง่ายขอยกตัวอย่างการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่มีการระดมทุนผ่านสถาบันการเงินอิสลามโดยมีตัวแทนขายตราสารลงทุนซูกุก ธนาคารจะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลและดำเนินการก่อสร้างและเป็นเจ้าของในฐานะตัวแทนผู้ลงทุน โดยเจ้าของโครงการที่มาขอสินเชื่อจะมีสภาพเป็นผู้เช่าเท่านั้น ซึ่งผู้เช่าก็ไปให้เช่าซื้อต่อกับบุคคลทั่วไป เมื่อเจ้าของโครงการจ่ายค่าเช่าพร้อมบางส่วนของทุนเขาก็จะได้กรรมสิทธิสิทธิเป็นสัดส่วนจากเงินที่จ่ายไปเป็นไปอย่างนี้จนใช้ทุนพร้อมค่าเช่าจนหมดตามสัญญาก็จะทำการโอนห้องเช่าซื้อเหล่านั้นให้กับผู้เช่ารายย่อยต่อไป

เครื่องมือการเงินนี้สามารถสร้างหลักประกันในการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือตราสารซูกุกได้เพราะมีรายได้สม่ำเสมอจากการให้เช่า

  1. การประกันภัยและการประกันชีวิต ตะกาฟุล ความจริงวิธีการระดมทุนแบบนี้ก็คือการรวมกลุ่มคนเข้ามาเป็นกลุ่มใหญ่ โดยจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันในลักษณะสงเคราะห์ช่วยเหลือกันเมื่อยามประสบภัยหรือเสียชีวิตก็จ่ายให้ผู้รับประโยชน์ สถาบันรับประกันก็จะรวบรวมเงินเหล่านั้นไปลงทุนในกิจการฮาลาล เพราะกองทุนไม่ได้จ่ายให้สมาชิกทุกคนในคราวเดียวกันผลประโยชน์ที่ได้รับบริษัทประกันก็จะหักค่าบริหารจัดการส่วนที่เหลือก็จะกันไว้สมทบให้สมาชิกเมื่อหมดสัญญา

เครื่องมือสองอันหลังนี้ผู้ดำเนินการอาจไม่ใช่สถาบันการเงินแบบอิสลามก็ได้แต่การดำเนินการทำตามหลักการอิสลามจึงเป็นที่ยอมรับได้

อย่างไรก็ตามวิวัฒนาการและนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆในยุคไร้พรมแดนด้วยเทคโนโลยีสื่อสารสารสนเทศที่ก้าวกระโดดหากกระบวนการในการจัดการแบบการเงินอิสลามไม่ปรับตัวให้ทันความก้าวหน้าเหล่านี้สุดท้ายก็อาจต้องปิดตัว ทั้งนี้ธนาคารอิสลามที่มีการทำธุรกรรมแบบธนาคารพาณิชย์นับวันจะประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจเพราะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆทางการเงินเกิดขึ้นโดยอาศัยกลไกที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอาทิเช่น Fin Tech หรือ Financial Technology ซึ่งทำให้เกิดธุรกรรมทางการเงินได้หลากหลายรูปแบบรวมทั้งการบริการโดยอาศัยเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่สำคัญคือ  Internet of  Things หรือ Integrated Internet ทำให้โครงสร้างของธนาคารหรือสถาบันการเงินดูเทอะทะไม่คล่องตัวและมีต้นทุนสูง

ตัวอย่างเครื่องมือทางการเงินที่อาจเป็นทางเลือกสำหรับการเงินอิสลาม

        การจัดทำ REIT-Real Estate Investment Trust ซึ่งมีหลักการคล้ายกับซูกุก  แต่คล่องตัวกว่า เพราะสามารถระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ได้โดยไม่ต้องผ่านบริการสถาบันการเงิน

Venture Capital(VC)คือการลงทุนของสถาบันการเงินแบบพิเศษที่มุ่งให้การสนับสนุนทางการเงินกับธุกิจ STARTUP ที่มีแนวโน้มว่าจะมีอนาคตดีโดยเฉพาะกับบริษัทที่ทำธุรกรรมเกี่ยวเนื่องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยVC จะเข้าถือหุ้นเป็นผู้ร่วมทุนแต่ไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับการบริหารบริษัทเพียงแต่คอยติดตามตรวจสอบเป็นครั้งคราวเท่านั้นเมื่อบริษัทประสบความสำเร็จในการทำธุรกรรมก็จะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ Venture Capitalเหล่านี้ก็จะทำการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ทำกำไร ตัวอย่างเช่น SOFT BANK ในญี่ปุ่นเป็นต้น

VC ในสหรัฐก็ประสบความสำเร็จอย่างมากที่เข้าทำการร่วมทุนสนับสนุนบริษัท STARTUP ในซิลิคอนแวลลีย์ เช่น APPLE FACEBOOOK GOOGLE หรือ WINDOWS

ปัญหาสำคัญของการเงินอิสลามคือขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและมีวิสัยทัศน์ในการมองธุรกิจตลอดจนการติดตามนวัตกรรมหรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพร้อมๆกับการมีความรู้ความเข้าใจตามหลักศาสนาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ทัดเทียมกับวิวัฒนาการของโลกยุคไร้พรมแดน

หลายคนผันตัวเองเข้าไปรับประโยชน์จากการเป็นผู้คุมกฎ แต่ในเมื่อเขาเหล่านั้นไม่เข้าใจเกมจะคุมกฎได้อย่างไร

บทความนี้เป็นเพียงกรอบแนวคิด (Conceptual Framework) หรือจะเรียกว่าปฐมบทก็ได้เพื่อเปิดโลกกว้างให้อนุชนรุ่นหลังได้ไตร่ตรองปรับทิศทางและหมั่นสะสมองค์ความรู้เพราะความรู้ไม่มีสิ้นสุด เมื่อสะสมองค์ความรู้แล้วนำไปปฏิบัติหรือประยุกต์ใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงเราก็จะสามารถสร้างระบบการเงินอิสลามให้ก้าวหน้าและก้าวไกลได้ด้วยวิสัยทัศน์อันทอดยาวไกลซึ่งทุกวันนี้เรามักจะตามหลัง

มิฉะนั้นเศรษฐกิจอิสลามและการเงินอิสลามก็จะเป็นเพียงแค่อุดมการณ์หรือทฤษฎีที่สุดท้ายก็จะเป็นเพียงหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่รอวันถูกลืมเลือน เพราะขาดการวิจัยและพัฒนาอย่างเป็นระบบ

หมายเหตุ: บทความนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการทางการเงินของCrypto Currency หรือระบบเงิน Digital ซึ่งจะเป็นอีกเรื่องที่ต้องเขียนอีกยาวแต่จะเกี่ยวพันกับการเงินอิสลามในอนาคตแน่นอน

ศาสตราจารย์ พลโท ดร.สมชาย วิรุฬหผล

[1] หมายเหตุ: บทความนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการทางการเงินของCrypto Currency หรือระบบเงิน Digital ซึ่งจะเป็นอีกเรื่องที่ต้องเขียนอีกยาวแต่จะเกี่ยวพันกับการเงินอิสลามในอนาคตแน่นอน

 

[2]ประธานโครงการ ปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์การเมือง และ ประธานโครงการปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์ดิจิทัล มหาวิทยาลัยรังสิต

 7,565 total views,  2 views today

You may have missed