เมษายน 25, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

เครือข่าย ปชช.ภาคใต้เสนอรัฐเพิ่ม 7 มาตรการ “สู้ภัยโควิด”

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ช่วงค่ำวันที่ 28 ก.ค.2564 หลังเสร็จสิ้นเสวนา เวทีเสวนา “ฤา ระบบเศรษฐกิจเกื้อกูล” ที่จังหวัดพัทลุง เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนภาคใต้ ออกแถลงการณ์ผ่านThe Reporter ของแยม ฐาปณีย์ เอียดศรีชัย เสนอรัฐเพิ่ม 7 มาตรการ “สู้ภัยโควิด”คือป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ เงินกู้ สนับสนุนกลไกที่สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมาย สาธารณสุข ส่งเสริมการใช้สมุนไพรและลดความเลื่อมลำ่ด้านการศึกษากล่าวคือเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนภาคใต้
มีความเห็นเบื้องต้นว่า ทางออกสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คือการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่นและคลี่คลายกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อสถานการณ์ ด้วยการกระจายอำนาจการบริหารจัดการและการปรับแก้ระเบียบบางอย่างเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่น(ตำบล อำเภอ จังหวัด)ได้มีส่วนร่วมสำคัญในการเข้าไปจัดการหรือออกแบบแก้ไขกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ในมิติต่างๆได้เอง ดังนั้นเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนภาคใต้ มีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งการเป็น 4 ระดับ คือ ​
1. ระดับครัวเรือน ส่งเสริมให้ประชาชนมีความพร้อมรับมือได้เองเบื้องต้น ในเรื่องการดำรงชีวิต อาหารการกิน การตรวจเชื้อและการรักษาพยาบาล ทั้งยาหลักและสมุนไพร รวมถึงการศึกษาของบุตรหลาน
2. ระดับชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชนจัดทำแผนการรับมือโควิด จัดให้มีอาสาสมัครชุมชนเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่นการเฝ้าระวัง และการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฯ จัดให้มีศูนย์พักคอยและคลังอาหารชุมชน ทั้งนี้อาสาสมัครควรจัดให้มีค่าตอบแทนตามความเหมาะสม
3. ระดับตำบล จัดให้มีแผนการเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดฯในพื้นที่ตำบล โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลัก และร่วมมือกับโรงพยาบาลสุขภาพประจำตำบล(รพ.สต.) ท้องที่ อาสาสมัครสาธารณสุช(อสม.) และองค์กรชุมชน ทั้งนี้ต้องจัดให้มีโรงพยาบาลสนามระดับตำบล และแผนการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนทั้งด้านการส่งเสริมอาชีพ การสร้างรายได้ รวมถึงการศึกษาของเด็กในพื้นที่

4. ระดับจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประประกาศพื้นที่ภัยพิบัติระดับจังหวัด เพื่อให้สามารถใช้ช่องทางของ พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ เข้ามาสนับสนุนให้องค์กรปกรองส่วนท้องถิ่นได้มีช่องทางในการเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาในมิติต่างๆได้อีกทางหนึ่ง ทั้งเรื่องการจัดทำแผนการเฝ้าระวัง แผนการสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลท้องถิ่นเป็นหลัก เพื่อโรงพยาบาลหลักจะสามารถดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
​ทั้งนี้ในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชนในการเข้าถึงสิทธิในการรับบริการจากรัฐ และการเข้าถึงการช่วยเหลืออย่างเยียวยา จึงมีข้อเสนอแนวทางการปฎิบัติดังนี้

1. ข้อเสนอเพื่อบรรลุเป้าหมายการเพิ่มกลไกการบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด – 19
• รัฐบาลควรประกาศให้โรคระบาดโควิด – 19 เป็นโรคระบาดในมนุษย์ตาม พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และให้ทุกจังหวัดเร่งประกาศเขตภัยพิบัติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันฯ พ.ศ.2550 ด้วย และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันโรคระดับท้องถิ่น โดยให้บริหารจัดการทุกมิติ โดยการอุดหนุนงบประมาณให้ท้องถิ่นเป็นหน่วยบริหารจัดการเต็มระบบ ทั้งการดูแลอาสาสมัคร การดูแลผู้ป่วย ผู้ถูกกักตัว ผู้อยู่ในศูนย์พักคอย ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยไม่เลือกปฏิบัติ และจัดตั้งโรงบาลสนามระดับตำบล
• รัฐบาลควรเร่งสนับสนุนกลไกที่สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน/องค์กรชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด – 19 เพื่อเป็นกลไกรองรับการป้องกันการแพร่เชื้อโควิดอย่างเป็นระบบ อย่างน้อยใน 4 ระบบ คือ
1. ระบบ Home Isolation
2. ระบบ Community Isolation
3. ระบบโรงพยาบาลสนาม
4. ระบบโรงพยาบาลชุมชน

2. ข้อเสนอเพื่อบรรลุเป้าหมายการฟื้นฟู เยียวยา เศรษฐกิจฐานรากและสังคมอย่างมีส่วนร่วม
• รัฐบาลควรทบทวนงบประมาณเงินกู้ที่ได้อนุมัติไปแล้ว โดยเฉพาะงบที่ใช้กลไกของคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันของแต่ละจังหวัด และควรการกำหนดรูปแบบ/วิธีการใช้งบประมาณในลักษณะ “กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานราก” โดยจัดให้มีบริหารกองทุนแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่นั้นๆ ทั้งนี้จะต้องกำหนดระเบียบวิธีการใช้งบประมาณแบบพิเศษเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม ทั้งการออกแบบแผนงานและการใช้งบประมาณได้ตรงกับสถานการณ์และบริบทของพื้นที่
• รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมโยงและพัฒนาระบบขนส่ง(โลจิสติกส์) เพื่อให้ประชาชนสามารถจัดส่งและกระจายสินค้าได้ในเวลาที่รวดเร็วและราคาถูก และสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับภาคเกษตรกรในการจำหน่ายสินค้าจากชุมชนและท้องถิ่น

3. ข้อเสนอเพื่อบรรลุเป้าหมายลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ
• รัฐบาลควรเร่งจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ เพื่อกระจายให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงเท่าเทียม และหากจำเป็นต้องมีวัคซีนทางเลือกสำหรับผู้ที่พร้อมจ่าย รัฐจะต้องกำหนดราคากลางสำหรับการช่วยเหลือบางส่วน โดยต้องไม่ปล่อยให้มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนกับประชาชนทุกกลุ่มทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะเชื้อชาติไหนหรือสัญชาติใดก็ตาม
• รัฐบาลควรดำเนินมาตรการให้เกิดการผลิต กระจาย ชุดตรวจโควิด (Antigen Test Kit)เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโดยง่าย และควรกำหนดให้มีสถานที่จำหน่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเภสัชกร เกิดขึ้นและกระจายในทุกพื้นที่ทั้งในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด
• รัฐบาลควรให้ความสำคัญการการรักษาโรคโควิด-19 ด้วยสมุนไพร ที่มีการค้นพบและเริ่มได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย ด้วยการสนับสนุนการศึกษาวิจัย การแปรรูป การผลิต รวมถึงการส่งเสริมให้ชุมชนสามารถปลูกสมุนไพรชนิดต่างๆ อย่างหลากหลายได้ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาในรูปแบบดังกล่าวได้ง่ายในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป

4. ข้อเสนอเพื่อการบรรลุเป้าหมายการลดความเดือดร้อนและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
• ด้านการศึกษา : รัฐบาลควรเร่งกำหนดมาตรการลดข้อจำกัดด้านการจัดการศึกษา ทั้งด้านระบบออนไลน์ อุปกรณ์การเรียน ที่เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน และควรสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน และ มชน ร่วมกันจัดการศึกษาในรูปแบบการศึกษาระดับครอบครัว (Home School) และ การศึกษาระดับชุมชน (Community School) โดยจัดสรรงบประมาณ(จากเงินกู้) เพื่อจัดจ้างนักศึกษาหรือบัณฑิตจบใหม่ ในการส่งเสริมการศึกษาให้กับนักเรียนในท้องถิ่นของตนในช่วงทีมีการเรียนออนไลน์ ทั้งนี้อาจจะมีการกำหนดพื้นที่การเรียนรวมเป็นจุดเล็กๆในชุมชน ในกรณีชุมชนที่มีเด็กเรียนร่วมกัน ๔-๕ คน หรืออาจจะมีระบบสนับสนุนรูปแบบต่างๆเพื่อให้ผู้ปกครองได้ทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนให้กับบุตรหลานตนเองได้
• ด้านการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ : รัฐบาลควรผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เอื้อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากร และการขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ทับซ้อนที่ยังไม่มีข้อสรุปในทุกกรณี รวมทั้งควรชะลอหรือยุติการบังคับใช้กฎหมายที่เกิดจากกรณีพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน ทั้งในที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพไปพลางก่อนจนกว่าการแพร่ระบาดของโควิดจะคลี่คลาย
• ด้านการสิทธิและเสรีภาพ : รัฐบาลควรยุติการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินการขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้และกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ…..ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์
เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนภาคใต้ ได้รับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้กลุ่มต่างๆ หลายครั้ง จนสรุปเป็นข้อเสนอดังกล่าวต่อรัฐบาล ด้วยเห็นว่าทางออกต่อปัญหาดังกล่าวนี้ จะไม่สามารถแก้ไขได้หากรัฐบาลไม่ปรับระบบการดำเนินงานให้สอดรับกับสถานการณ์ที่กำลังถูกรุกหนักในขณะนี้ ข้อเสนอเหล่านี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการหาทางออกให้กับประเทศโดยรวม แต่หลักการสำคัญคือการกระจายอำนาจหรือกระจายบทบาทให้กับชุมชนท้องถิ่นได้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมสำคัญในการจัดการแก้ไขปัญหาในมิติต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นภายใต้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเชื่อว่าจะเป็นทางออกสำคัญให้กับรัฐบาลและกับสังคมไทยโดยรวมได้
หมายเหตุ
ฟังย้อนหลังใน
https://www.facebook.com/TheReportersTH/videos/563602927995559/

 8,091 total views,  2 views today

You may have missed