อับดุลหาดี เจ๊ะยอ จ.ยะลา รายงาน..
( 25 ส.ค.63) ดร.สุรีย์พร บัวอาจ นักวิชาการโรคพืชชำนาญการพิเศษ กรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8จังหวัดสงขลา และ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา ได้ลงพื้นที่สวนทุเรียน บ้านบือราเปะ หมู่ที่ 7ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา เพื่อทดสอบการใช้สารชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงควบคุมโรครากเน่าและโคนเน่าของทุเรียน หลังพบปัญหาสวนทุเรียนในพื้นที่ บ้านบือราเปะ ติดเชื้อรารากเน่าและโคนเน่าหลายต้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ปลูกในที่ราบสูง แปลงทุเรียนมีความชื้น ตลอดทั้งปี เป็นปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน
ดร.สุรีย์พร บัวอาจ นักวิชาการโรคพืชชำนาญการพิเศษ กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ทางกรมวิชาการเกษตร ได้มีงานวิจัยเป็นการทดสอบโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน โดยใช้สารชีวภัณฑ์ เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ในการควบคุมโรค เป็นปัญหาที่เรื้อรัง ที่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนหลีกเลี่ยงไม่ได้ การแก้ปัญหาของเกษตรกรจะใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดโรค ณ ปัจจุบันงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร จะนำชีวภัณฑ์ เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ซึ่งเป็นชีวภัณฑ์ในการควบคุมโรค โดยเลือกพื้นที่ บ้านบือราเปะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งที่นี่พบปัญหาการระบาดของโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน เกิดจากปัจจัยต่างๆ ทั้งน้ำ ลม ฝน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของพืีช ทั้งใบ ผล กิ่ง ราก ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการทดสอบในพื้นที่ แปลงทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี สามารถควบคุมโรคได้ และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งการลงพื้นที่ทดสอบในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ครั้งนี้ ทดสอบ 4 กรรมวิธี เพื่อเก็บข้อมูล จากนั้นส่งต่อให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้ใช้งาน แก้ปัญหาการเกิดโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน ต่อไป
สำหรับสารชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ที่นำมาใช้ทดสอบจะเป็นในรูปแบบของ culture filtrate หรือเรียกว่าน้ำคั้นเชื้อเห็ดเรืองแสง โดยการนำเห็ดเรืองแสงมาเลี้ยงในอาหารในรูปแบบ PDB ทิ้งไว้ 30 วัน แล้วกรองเอาเฉพาะน้ำของเห็ด ใช้น้ำเห็ดเรืองแสง ผสมกับสีฝุ่น อัตราความเข้มข้น 100 เปอร์เซ็นต์ (100 กรัม : 50 มล.) ผสมแล้วทาตรงแผลของทุเรียนที่เป็นโรค หรือขูดแผล แล้วทาลงไป ส่วนปัญหารากเน่า ก็จะทำการราดน้ำเห็ดเรืองแสงในรากของต้นหรือที่โคนต้น การทดสอบรูปแบบการใช้เห็ดเรืองแสงควบคุมโรครากเน่าและโคนเน่าของทุเรียนในครั้งนี้ จะใช้ 4 กรรมวิธี ประกอบด้วย กรรมวิธี 1 สีฝุ่น + น้ำ (100 กรัม : 50 มล.) กรรมวิธีที่ 2 สีฝุ่น+culture filtrate ความเข้มข้น 100 เปอร์เซ็นต์ (100 กรัม : 50 มล.) กรรมวิธีที่ 3 สารเคมี metalaxy 25 เปอร์เซ็นต์ WP อัตรา 50 กรัม/น้ำ 1 ลิตร กรรมวิธีที่ 4 น้ำ (กรรมวิธีเปรียบเทียบ) ทิ้งไว้ให้แห้ง 30 วัน สังเกตอาการบนแผล ถ้าแผลแห้ง แสดงว่าอาการดีขึ้น แล้วนำมาเปรียบเทียบกับ 4 กรรมวิธีข้างต้น ถ้าเชื้อโรคหยุดการลุกลาม ขอบแผลจะมีสีเข้มหรือดำตัดกับเนื้อเปลือกปกติอย่างชัดเจน อนาคตเกษตกรสามารถแก้ไขปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียนได้เอง โดยการนำกากน้ำตาลผสมน้ำแล้วนำมาต้ม จากนั้นนำก้อนเชื้อของเห็ดเรืองแสง ที่มีเส้นใยเดินเต็มก้อน นำไปหมักในถัง เลี้ยงไว้ 30 วัน เอาน้ำหมักมากรอง ผสมกับสีฝุ่น ทาบนต้น หรือราดที่ราก และในอนาคตต่อไปจะมีวิธีการทดสอบใช้รูปแบบการฉีดเข้าไปในลำต้น เพื่อฆ่าเชื้อรากเน่าและโคนเน่าในทุเรียน
นายอิสมาแอล กระดู อยู่บ้านเลขที่ 42/1 บ้านบือราเปะ หมู่ที่ 7 เปิดเผยว่า ดีใจที่เจ้าหน้าที่ กรมวิชาการเกษตร มาให้คำแนะนำวิธีการรักษาโรครากเน่าและโคนเน่าของทุเรียน เป็นประโยชน์สำหรับเกษตกรเป็นอย่างมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ประสบปัญหาทุเรียนในสวนยืนต้นตาย ใบร่วง ลำต้นเป็นโรค รากเน่า โคนเน่า สำหรับการดูแลที่ผ่านมานั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่ได้ดูแลอะไรมาก นอกจากการใส่ปุ๋ย บำรุงต้น ส่วนเมื่อเกิดโรคระบาด ก็รักษากันเองและดูแลกัน ซึ่งจากนี้ไปจะหมั่นดูแลความปกติที่เกิดขึ้นกับสวนทุเรียน และ ขอบคุณเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมากที่มาทดสอบให้ความรู้ในครั้งนี้
1,471 total views, 2 views today
More Stories
มหกรรมคาราวาน OK BETONG BIKE WEEK 2024 ระหว่างวันที่ 2 – 3 สิงหาคม 2567
สตรีทฟู้ดแอนด์อาร์ท Betong Art Club ศิลปะภาพวาด ความหลากหลายเมืองเบตง
“ลูโบ๊ะดีแย แคมป์” ธรรมชาติบำบัด CAMPING กดไลค์ ใช่เลย!