อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก
ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูต
วันที่ 19 -20 สิงหาคม 2563 ณโรงแรมซีเอส ปัตตานี ศูนย์อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
(ศปบ.จชต. )เปิด2เวที เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษาชายแดนภาคใต้ ดังนี้
1. เปิดโอกาส นร.-นศ. ชายแดนใต้ที่กำลังศึกษาจากต่างประเทศ รับทราบแนวทางการเทียบโอนรายวิชาและการเทียบวุฒิการศึกษา กล่าวคือ
วันที่ 19 สิงหาคม 2563 เวลา 09.00 น. ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มอบหมายให้ นายพิทยา เพชรรักษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานเปิดกิจกรรมการอบรมการเทียบโอนรายวิชาและการเทียบวุฒิการศึกษาต่างประเทศ โดยมีวิทยากรชำนาญการจากส่วนกลางไม่ว่าจากกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเกี่ยวกับการเทียบวุฒิการศึกษาต่างประเทศ อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักการเทียบโอนรายวิชาระหว่างมหาวิทยาลัย
ภายใต้โครงการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศเพื่อความมั่นคง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อสร้างความร่วมมือของหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับนักเรียน นักศึกษาในต่างประเทศ รวมถึงผู้ปกครองนักเรียนและองค์กรต่าง ๆ ในการติดตาม ดูแล ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา สร้างเครือข่ายของนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ศิษย์เก่าที่จบจากต่างประเทศ ตลอดจนผู้ปกครอง ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายยูซุฟ นิเดตัวแทนนักศึกษาจากInternational Africa University ประเทศซูดาน สะท้อนความรู้สึกว่า “ดีใจที่รัฐเข้าใจ และทำโครงการนี้เพราะช่วงโควิด นักศึกษาไทยหลายพันต้องเดินทางกลับซึ่งโอกาสที่จะกลับไปศึกษาต่อคงจะยากหากสามารถโอนวิชาที่ได้เรียนมาแล้วก็เราไม่ต้องไปนับหนึ่งใหม่แต่ก็เสนอให้รัฐหรือมหาวิทยาลัยอาจต้องประสานกับทางการและมหาวิทยาลัยที่พวกเราเรียนในเรื่องเอกสารและหลักฐานอื่นๆที่จำเป็นซึ่งจะช่วยให้พวกเราได้เอกสารง่ายขึ้น” ในขณะที่ผู้บริหารโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ ให้ทัศนะว่า “โครงการนี้ดีมากๆทำให้แต่ละโรงเรียนที่ต้องรับนักเรียนกลางคันมีแนวทางการรับชัดเจนเพราะหลังโควิดมีนักเรียนไทยที่ไม่สามารถกลับไปเรียนได้นับหลายร้อยคนทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเช่นประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซียและซาอุดีอาระเบีย”
2.เปิดเวทีสะท้อนความเห็น นักเรียน-ผู้ปกครองพื้นที่ จชต. ที่ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ เพื่อวางแผนดำเนินการช่วยเหลือ ติดตาม กล่าวคือ
วันที่ 20 สิงหาคม 2563 ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มอบหมายให้นายชาร์รีฟท์ สือนิ รองผู้อำนวยกาณศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานการประชุมระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องในการสร้างเครือข่ายนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครองนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศภายใต้โครงการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศเพื่อความมั่นคง โดยมี นายสมทรง งามวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ผู้แทนศึกษาธิการจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา ผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 15 ผู้แทนสำนักงานการศึกษาเอกชน ผู้แทนหน่วยงานความมั่นคง กอรมน. ภาค 4 ส่วนหน้า และบุคลากรศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้รับผิดชอบงานเสริมสร้างและสร้างโอกาสทางการศึกษาต่างประเทศ ร่วมรับฟังปัญหา อุปสรรค ตลอดจนความต้องการที่อยากให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือจากตัวแทนผู้ปกครองนักเรียน ตัวแทนนักศึกษา และตัวแทนศิษย์เก่าที่จบจากต่างประเทศ ณ ห้องประชุมสะบารัง โรงแรม ซี เอส ปัตตานี อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี
สำหรับการประชุมในวันนี้นอกจากการสะท้อนปัญหา อุปสรรค ของนักเรียน และผู้ปกครองที่เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศแล้ว ได้พิจารณาถึงประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับด้านการวางแผนการดำเนินงานสร้างเครือข่ายนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครองนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 – 2564 ซึ่งประกอบด้วย การแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ/การปฐมนิเทศก่อนเดินทางไปต่างประเทศ การจัดทำฐานข้อมูลนักเรียน/นักศึกษาที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ การเทียบโอนรายวิชาและการเทียบวุฒิการศึกษาต่างประเทศ การติดตาม ช่วยเหลือ ดูแล นักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ การแลกเปลี่ยน เรียนรู้ด้านการศึกษา ภาษา และวัฒนธรรมระหว่างประเทศ ของนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และแนวทางการจัดทำบันทึกความเข้าใจในข้อตกลงความร่วมมือด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมกับต่างประเทศ เพื่อวิเคราะห์ และตกผลึกแนวทางในการติดตาม ดูแล และช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ด้านการเรียนและการดำรงชีวิตเมื่อประสบปัญหาได้ทันท่วงที
ในเวทีมีข้อเสนอแนะมากมายเพื่อสามารถแก้ปัญหาและพัฒนาผ่านการทำงานร่วมสามฝ่ายรัฐ ผู้เรียนและผู้ปกครอง ผ่านการวิจัยถอดบทเรียน อย่างไรก็แล้วแต่ผู้เข้าร่วมประชุมยังกังวลเรื่องความมั่นใจการจัดทำฐานข้อมูลนักเรียน/นักศึกษาที่ไปเรียนต่อต่างประเทศว่าจะไม่นำไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นๆโดยเฉพาะเกี่ยวกับคดีความมั่นคง ได้อย่างไร
สำหรับการจัดทำบันทึกความเข้าใจในข้อตกลง(MoU)ความร่วมมือด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมกับมาเลเซียนั้นเรา(ผู้เขียน)อาจเสนอทุน
ให้คนมาเลเซีย(เชื้อสายไทยสัญชาติมาเลเซีย)เข้าศึกษาโรงเรียนประจำระดับมัธยมศึกษา(ยอดเยี่ยม)ของไทยเหมือนกับมาเลเซียเคยให้คนมลายูมุสลิมไทยเรียนในโรงเรียนดัง(ประจำ)มาเลเซีย
1,662 total views, 6 views today
More Stories
มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จับมือ IIUM มาเลเซีย ลงนามบันทึกความเข้าใจ MOU ด้านวิชาการ วิจัยแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา
ม.อ. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัย IMT-GT (UNINET) ครั้งที่ 4
1 พฤษจิกายน จะนะเปิดเรียนเเต่ออนไลน์และบทเรียนจากภูเก็ต