เมษายน 20, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

รายงานพิเศษ..มุมหลากหลาย รับฟังการขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะนะ ท่ามกลางรักษาความปลอดภัย อย่างเข้มข้น

แชร์เลย

ทีมข่าวเฉพาะกิจรายงาน..

ชาวบ้าน 3 ตำบลใน อ.จะนะ จ.สงขลา ร่วมถกการขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต เพื่อร่วมพัฒนาเมืองต้นแบบที่ 4

(11 กรกฎาคม 2563) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน    ด้วยวาจา เพื่อขับเคลื่อน อ.จะนะ จ.สงขลา ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ณ โรงเรียนจะนะวิทยา ต.สะกอม อ.จะนะ   จ. สงขลา การดำเนินการดังกล่าวเป็นการขยายผลจากโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่ ศอ.บต. ขับเคลื่อนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม  ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่โดยตรง    เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก พี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างสนใจเข้าร่วมรับฟัง และ เสนอความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก

สำหรับการเปิดเวทีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วยวาจา เพื่อขับเคลื่อน อ.จะนะ จ.สงขลา ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ในครั้งนี้ บรรยากาศบนเวที เป็นการนำเสนอข้อมูลจากภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมนำเสนอทิศทางการพัฒนาตามกรอบแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ นำเสนอแผนการลงทุนและนำเสนอผังการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนการลงทุนของภาคเอกชน โดยมี นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. นายวรวิทย์ เลิศบุษราคาม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายโรงงาน บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ นายกันต์ภัทร แสงจันทร์ ที่ปรึกษา ไออาร์พีซี นอกจากนี้มีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของประชาชน เกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการอย่างเปิดกว้างอีกด้วย

ด้าน นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. เผยว่า ก่อนสร้างอุตสาหกรรมต่างๆ ภาคเอกชนจะต้องศึกษา EIA หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำลายธรรมชาติโดยเจตนาและไม่เจตนา ทั้งนี้ภาคเอกชนจะไม่เข้ารุกล้ำถิ่นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำกิน เนื่องจาก ดำเนินโครงการในเขตที่ดินของเอกชนทั้งสิ้น  รองเลขาธิการ ศอ.บต. เผยอีกว่า ศอ.บต. ไม่เคยมีเจตจำนงของการทำลายความสุขของประชาชนแม้แต่เพียงเล็กน้อย หากทำแล้วประชาชนอยู่ไม่ดี กินอยู่ไม่ได้ ก็จะไม่ทำ วันนี้เราต้องพิจารณาปัญหาเรื่องแรงงานว่างงาน พัฒนาพืชผลทางการเกษตร ก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อยกระดับพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีอาชีพ รายได้ การศึกษาและคุณภาพชีวิตที่ดี

ด้าน นายรอแฝด แหละโด ประชาชนชาว ต.ตลิ่งชัน หนึ่งในผู้ที่มาร่วมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เผยว่า  ตนเป็นคนหนึ่งที่อยู่กับอาชีพประมง ส่วนใหญ่ได้ปลามาก็ต้องจ่ายผ่านพ่อค้าคนกลาง เพราะชาวประมงส่วนใหญ่กู้เงิน ไม่มีโอกาสที่จะเกณฑ์ราคาได้ ขอให้ ศอ.บต.     ร่วมสนับสนุนกองทุนช่วยเหลือชาวประมง

ด้าน นางสาวจิตรลดา คำนุ้ย จาก ต.ตลิ่งชัน เผยว่า ต้องการให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนในพื้นที่ ดูแลด้านการสาธารณูปโภคและยังคงรักษาธรรมชาติไว้ พัฒนาด้านการศึกษาและให้รองรับแรงงานในพื้นที่เข้าทำงาน

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นการต่อยอดการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปสู่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยให้ อ.จะนะ จ.สงขลา ยกระดับการพัฒนาเชิงพื้นที่ทั้งระบบและครบวงจรบนฐานความร่วมมือที่ดีของภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาและประชาชนร่วมกำหนดเป้าหมาย การพัฒนาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อทั้งในเชิงกายภาพและภูมิสังคมกับจังหวัดชายแดนภาคใต้และต่างประเทศ  เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเมืองต้นแบบอีกแห่งหนึ่ง อีกทั้งเป็นกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่สำคัญให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าทางเศรษฐกิจจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งระบบไปสู่การพัฒนาที่ก้าวหน้าขึ้นอีกระดับ สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ   เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งอนาคต

ภาคเอกชนตอบชัด  เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต เป็นแนวคิด ศอ.บต. ยกระดับชายแดนใต้ คาด จะเกิดการจ้างงาน กว่าแสนอัตรา

ผู้แทนบริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด มหาชน (TPIPP) นายวรวิทย์ เลิศบุศราคาม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายโรงงาน เข้าร่วมนำเสนอข้อมูลการขยายโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่โรงเรียนจะนะวิทยา โดยมีประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบล อ.จะนะ ประกอบด้วย ต.สะกอม ต.ตลิ่งชัน ต.นาทับ และประชาชนในพื้นที่ตำบลใกล้เคียง เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเสนอแนะ กว่า 1,000 คน

นายวรวิทย์ เลิศบุศราคาม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายโรงงาน บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด มหาชน เผยว่า โครงการนี้เป็นแนวคิดจาก ศอ.บต. ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ให้มีความมั่นคง โดยติดต่อไปยังบริษัทหลายบริษัท เพื่อให้ยื่นแผนการพัฒนาให้ขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งบริษัททีพีไอ ได้เสนอการดำเนินการเมืองอุตสาหกรรม ประมาณงบประมาณไว้ที่ 100,000 ล้านบาท ประกอบไปด้วย 4 ส่วนคือ 1.นิคมอุตสาหกรรม โดยเน้นเรื่อง อุตสาหกรรมสมัยใหม่ ใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์การสื่อสาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ 2. อุตสาหกรรมรองรับเรื่องอาหาร และยา ซึ่งต้องอาศัยวัตถุดิบจากการเกษตรและสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่ เพื่อแปรรูปและสร้างมูลค่า 3.อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรระบบราง เนื่องจากทิศทางการขนส่งในปัจจุบันมีการขยายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันเรานำเข้าอุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อนำมาใช้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเริ่มผลิตในประเทศไทย เพื่อรองรับการเติบโตและการส่งออก 4.อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรพลังงานสะอาด เนื่องจากความเป็นจริงในวันนี้เราเป็นผู้นำเข้าเทคโนโลยีมาใช้ทั้งหมด และผลิตพลังงานสะอาด ซึ่งแนวโน้มธุรกิจนี้จะมีการเติบโตในทุกประเทศ และมองว่า ประเทศไทยน่าจะเป็นผู้ผลิตมากกว่าผู้ซื้อและผู้นำเข้า

ผู้แทนบริษัททีพีไอ กล่าวอีกว่า ภาคใต้ยังเป็นพื้นที่ที่ต้องนำเข้าพลังงานมาใช้ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าไม่พอต่อความต้องการของพื้นที่ โดยส่วนหนึ่งนำไฟฟ้ามาจากตะวันตกผ่านสายส่ง และอีกส่วนหนึ่งมีการซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย จึงเห็นได้ว่า ปัจจุบันแม้ภาคใต้ยังไม่มีการพัฒนาก็ยังเป็นภาคที่ขาดแคลน บริษัทจึงมีทิศทางการขับเคลื่อนพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นพลังงานเพื่อความมั่นคง ใช้เชื้อเพลิง LNG ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีความสะอาด มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และมีต้นทุนการผลิตต่ำ จะเป็นสิ่งจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ อีกทั้งจะมีการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเสริม เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากโซล่าเซลและกังหันลมอีกด้วย

“อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเรื่องอุตสาหกรรม ชาวบ้าวจะมีความกังวลเรื่องน้ำเสีย หรือของเสียในรูปแบบอื่นๆ ยืนยันว่า จะมีระบบบำบัด ควบคุม ตรวจสอบและมอนิเตอร์อยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ทางบริษัทจะต้องทำ EIA และ EHIA ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายกำหนดและขั้นตอนโดยไม่มีข้อยกเว้น  ยืนยันว่า ในอุตสาหกรรม 4 ส่วนไม่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และโรงกลั่นน้ำมันแน่นอน ทั้งนี้คาดว่า จะเกิดการจ้างงานในพื้นที่ส่วนใหญ่ ทั้งจ้างงานโดยตรง หรือผ่านการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจ จำนวน 100,000-150,000 อัตรา”  นายวรวิทย์ กล่าว

รองเลขาฯ ศอ.บต. ไขข้อข้องใจทุกประเด็น เวทีรับฟังความเห็น โครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต”

โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ เป็นโครงการที่ได้รับความสนใจจากประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่เป็นจำนวนมาก เพื่อพัฒนาให้เกิดความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังที่ ศอ.บต. ได้มีการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบ 3 แห่ง ประกอบด้วยเมืองต้นแบบหนองจิก เบตง สุไหงโกลก และประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดย ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ           ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังนำเสนอข้อมูลการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบฯ ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา ในวันนี้ (11 กรกฎาคม 2563) ในประเด็นต่างๆว่า กรณีการจัดชุดรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชนที่เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นและเสนอแนะในเวทีฯในวันนี้ ไม่ได้เป็นการรักษาความปลอดภัยสำหรับกลุ่มเห็นต่างและกลุ่มเอ็นจีโอในการเข้ามาคัดค้าน แต่กังวลเรื่องมือที่ 3 หากเกิดเหตุการณ์ขึ้น ซึ่งอาจจะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ในขณะเดียวกันก็มีอีกเวทีรับฟังความเห็นในลักษณะเดียวกันที่ต.ตลิ่งชัน สำหรับพี่น้องที่ไม่สะดวกเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในเวทีโรงเรียนจะนะวิทยา ซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยน้อยกว่ามาก

ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม ยังได้กล่าวในประเด็นการจัดเก็บข้อมูลความเห็นของประชาชนว่า ศอ.บต. มีข้อมูลความต้องการของประชาชนจาก 4 วิธีการ ประกอบด้วย ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ข้อมูลจากการโฟกัสกรุ๊ป 36 กลุ่มอาชีพ การสัมภาษณ์รายครัวเรือน และการรับฟังในเวทีแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีข้อมูลความคิดเห็นเกิน 10,000 รายในขณะนี้ เพียงพอต่อความต้องการของการดำเนินงาน อย่างไรก็ดีสำหรับข้อคำถามการลงมติของรัฐบาลล่วงหน้าก่อนรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่นั้น อธิบายได้ว่า มติครม.เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เป็นเพียงนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ อ.จะนะ ให้เป็นเช่นเดียวกับการพัฒนาในพื้นที่ 3 จังหวัด ซึ่งเป็นหลักการเชิงนโยบาย เพื่อพัฒนาเท่านั้น

รองเลขาธิการ ศอ.บต. เผยอีกว่า ความคิดเห็นในขณะนี้ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะไปในทิศทางใด แต่คิดว่า อยากให้พี่น้องติดตามจากสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในส่วนการจัดเก็บข้อมูล ได้ให้ภาคประชาชนดำเนินการเองในจัดเก็บ สรุป และวิเคราะห์ความคิดเห็นที่ได้จากการจัดเก็บมาก่อนหน้านี้ ซึ่งจะนำมาประมวลผลร่วมกับความคิดเห็นในวันนี้ เพื่อเข้าสู่กลไกของทางราชการต่อไป และคาดว่า ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน เพื่อประกาศผลเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตอีก 15 วัน  สำหรับข้อคิดเห็นของประชาชนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในประเด็นใดนั้น อาจจะนำไปอยู่ในรายงานศึกษาผลกระทบ อะไรที่ประชาชนเสนอ มีความกังวลและมีความต้องการ และเรื่องใดที่ไม่อยากให้ทำ เช่น การดำเนินการทำท่าเรือ ประชาชนยอมรับได้ แต่เสนอให้ชดเชย เป็นจำนวนเงิน 120,000 บาทต่อครัวเรือน ก็จะต้องนำไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

“เมืองอุตสาหกรรมต้นแบบที่ 4 จะเป็นพี่เลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดให้กับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่เฉพาะพี่น้องชาวประมง นักเรียนนักศึกษา และคนไทยจากมาเลเซียที่ได้รับผลกระทบจากโควิท-19 เท่านั้น สิ่งสำคัญในการเป็นจิ๊กซอพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้วันนี้สำหรับภาคการเกษตรคือ เกษตรอุตสาหกรรม”

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต จะดำเนินการภายใต้อุตสาหกรรม 5 ประเภท คือ อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งแรกที่ จะตอบโจทย์โลกมุสลิมทั่วโลก 2.2 พันล้านคน 4.อุตสาหกรรมแห่งอนาคต และ 5. อุตสาหกรรมทางการแพทย์

ม็อบต้าน นิคมอุตสาหกรรมจะนะนำโดยเยาวชนสตรีวัยเพียง 17 ปีไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ในขณะที่เวที ไร้เงาเลขาธิการ ศอ.บต.

กำหนดการจัดเวทีรับฟังเสียงประชนเพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะในวันนี้จังหวัดสงขลาถึงได้ออกประกาศจังหวัดเพื่อปิดถนนสีเลนสายเอเชีย 18 หวังสกัดม็อบต้านจากสามจังหวัดภาคใต้และปิดสีแยกนกเพื่อสกัดม็อบสนับสนุนจากสตูลและสงขลา พร้อมระดมกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 1000 นายพร้อมอุปกรณ์สลายม็อบครบมือในขณะที่กลุ่มสนับสนับสนุนยกทีมเอ็นจิโอและภาคประชาสังคมชายแดนใต้ที่เคยได้รับงบสนับสนุนมาเสริมทัพ ตั้งแต่เมื่อคืนโดยนอนค้างในโรงเรียนจะนะวิทยา

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือรัฐ (ศอ.บต.) ไม่ยอมให้พื้นที่กับกลุ่มค้านโครงการให้มีโอกาสได้พูดคุยในเวทีดังกล่าวและหากมาวิเคราะห์ในการจัดเวทีในครั้งนี้ ศอ.บต.ยอมลงทุนงบมหาศาลในการจัดการกับกลุ่มค้านโครงการที่มีเพียงหลักร้อยคนและที่สำคัญแกนนำเป็นเยาวชนสตรีวัยเพียง 17 ปีเป็นลูกชาวประมง

ศอ.บต ระดมกำลังพลทั้งตำรวจภูธรภาค 9  อส.และรภป.ศอ.บต.เต็มพิกัดมารักษาความปลอดภัย บริเวณรอบโรงเรียนขึงด้วยลวดนามประตูเข้าออกเปิดประตูเดียว เกิดคำถามว่าในเมื่อถนนเข้าสู่โรงเรียนจะนะวิทยาถูกปิดหลายชั้นทั้งจากหาดใหญ่สู่ปัตตานี และจากปัตตานีสู่หาดใหญ่ กลุ่มต่อต้านโครงการไม่มีโอกาสแม้แต่จะขยับเข้ามาในบริเวณจัดงานในระยะทางกว่า 5 กิโลเมตรได้เลย แล้วทำไม ศอ.บต.ยังระดมตำรวจสลายม็อบไว้ในโรงเรียนจำนวนมากกว่าประชาชนที่เข้ามาฟังเวทีเสียอีก จากการปิดถนนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์นานาประการต่อ ศอ.บต.มีคำถามมากมายถึงบทบาท ศอ.บต.และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ ศอ.บต.ยุคการนำของคนปัจจุบัน ต้องตอบกับประชาชนหากมิเช่นนั้นศรัทธา ที่เลขาธิการ ศอ.บต. คนก่อนๆได้สร้างได้ฝั่งอาจจะขาดสะบั้งลงในพริบตาก็เป็นได้

แต่อย่างไรก็ตามวันนี้ ศอ.บต. ใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง รับฟังความเห็นประชาชน ในโครงการ ‘จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต’ โดยจะมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมกินพื้นที่ใน 3 ตำบลของอำเภอจะนะ คือตำบลนาทับ สะกอม และตลิ่งชันในพื้นที่กว่า  16,753 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 18,680 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 100,000 อัตรา

สำหรับเวทีรับฟังความเห็นในวันนี้ ประชาชนที่มีภูมิลำเนาใน 3 ตำบลของอำเภอจะนะ ทยอยเดินทางเข้ามายังโรงเรียนจะนะวิทยาตั้งแต่ช่วงเช้า ก่อนที่จะมีการเปิดเวทีในเวลาประมาณ 09.30 น. โดยเริ่มต้นจาก ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. อธิบายชี้แจงที่มาของโครงการฯ จากนั้นก็เป็นตัวแทนจากบริษัทเอกชนอธิบายรูปแบบการลงทุน และมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั้ง 3 ตำบล ซึ่งส่วนใหญ่มีความเห็นในทิศทางที่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ได้มีการเรียกร้องในส่วนของเงินชดเชยการขาดรายได้ การให้ทุนการศึกษากับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ และขอให้รัฐและบริษัทเอกชนที่มาลงทุนช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น จนกระทั่งเวลาประมาณ 12.00 น.

 ทั้งนี้ บรรยากาศโดยรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตั้งแต่เมื่อวานนี้กระทั่งปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น โดยในวันนี้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน มาร่วมสังเกตการณ์เวทีการรับฟังความเห็นอีกด้วย

 939 total views,  2 views today

You may have missed