มะอายือมิง สาและ จ.ปัตตานี รายงาน…
(5 มิ.ย.2563) พันเอกนายแพทย์ โชคชัย ขวัญพิชิต รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแพทย์จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉิน ทรงห่วงใย และทรงคำนึงถึงความยากลำบากของราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้
สำหรับรถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉินพระราชทาน พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์สื่อสาร เป็นรถพยาบาลกู้ชีพมาตรฐานที่สามารถให้การช่วยเหลือประชาชนขั้นสูงระดับแอดวานซ์ โดยรถมีระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ พร้อมด้วยระบบลากจูง และระบบวินส์ สามารถเข้าถึงในทุกพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร รวมถึงสามารถลากพ่วงนำไปประกอบเป็นรถพยาบาลสนาม อีกทั้งยังมีความพิเศษที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบการสื่อสารทางไกล โทรเวชกรรม หรือเทเลเมดิซีน (Telemedicine) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากร ทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ Real-time เช่นเดียวกับการสื่อสารผ่านระบบ video conference ที่คู่สนทนาสามารถมองเห็นหน้า และสนทนากันได้ทั้ง 2 ฝ่าย ได้อย่างไร้ข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่ มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษา ผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล ไม่จำเป็นต้องเดินทาง และสามารถเข้าถึงการตรวจรักษาและได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทันท่วงที
ทั้งนี้ ทางศูนย์อำนวยการแพทย์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมกับวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธรจังหวัดยะลา จัดโครงการฝึกซักซ้อมสถานการณ์เสมือนจริงการใช้รถกู้ชีพพระราชทานในการปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินขึ้นที่ ศูนย์ศึกษาการแพทย์ฉุกเฉิน ชั้น 1 วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดยะลา ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยนำเจ้าหน้าที่จากศูนย์อำนวยการแพทย์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนแยกค่ายสิรินธร จังหวัดยะลา ส่วนแยกค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ส่วนแยกค่ายกัลยาณิวัฒนา จังหวัดนราธิวาส และส่วนแยกค่ายลพบุรีราเมศร์ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทีมชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูงที่เกี่ยวข้องมาเข้าร่วมซักซ้อม จำนวน 38 คน
ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นการฝึกทบทวนความรู้ของเจ้าหน้าที่ที่เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรการปฐมพยาบาล และช่วยปฏิบัติการแพทย์ขั้นพื้นฐาน (EMR 40 ชั่วโมง) เป็นการซักซ้อมเสมือนจริง โดยได้มีการจำลองเหตุการณ์สมมติ ประกอบด้วย สถานการณ์ประชาชนได้รับบาดเจ็บจากการตกจากที่สูง สถานการณ์เด็กจมน้ำ สถานการณ์ชายสูงวัยเป็นลมหมดสติ และผู้สูงวัยท้องเสียมีอาการรุนแรง ซึ่งผู้เข้าร่วมซักซ้อมทุกคนได้ปฏิบัติการจริง และทดสอบระบบการใช้รถกู้ชีพพระราชทานในการปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างแม่นยำและถูกต้อง ภายหลังการซักซ้อม เจ้าหน้าที่ผู้ร่วมซักซ้อมจะได้รับการประเมินโดยทีมแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้ได้รับการฝึกทุกคนมีทักษะความชำนาญในการปฏิบัติงานพร้อมช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่
1,008 total views, 2 views today
More Stories
เลขาฯ รมต.ยุติธรรม ชี้ มหกรรมแก้หนี้ ปลดหนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม แก้ปัญหาหนี้สิน 242 ล้าน
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นประธานเปิดป้ายอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการ วิทยาลัยการอาชีพเบตง
เทศบาลเมืองปัตตานีจัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อยอดกิจกรรมการเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี