พฤศจิกายน 29, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

สำนักจุฬาราชมนตรีตอบหนังสือ กอจ.ชายแดนภาคใต้แล้ว ยำ้หารือ ผวจ.และขอปรึกษาสมาคมจันทร์เสี้ยวเพื่อประเมินสถานการณ์ก่อน

แชร์เลย

#สรุป ขณะนี้ยังไม่ผ่อนปรน
#ในวันนี้ 27 เม.ย.63 ทางจุฬาราชมนตรีได้ส่งหนังสือตอบกลับไปยังประธานสมาพันธ์ฯ ในกรณีการขอผ่อนผันประกาศจุฬาราชมนตรี เพื่อชี้แจงคำขอว่า จุฬาราชมนตรีได้ตระหนักถึงความจําเป็นในการประกอบศาสนกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการละหมาดวันศุกร์ ที่ถือว่าเป็นข้อบัญญัติภาคบังคับ (วาญิบ) สําหรับมุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะทุกคน อย่างไรก็ตาม การผ่อนผันมาตรการ ใด ๆ อันจะมีผลต่อการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จําเป็นที่จะต้อง พิจารณาข้อมูลจากหน่วยงานที่รับผิดชอบและข้อมูลด้านสาธารณสุขอย่างรอบด้านเพื่อประกอบในการ กําหนดมาตรการผ่อนผัน

ทางจุฬาราชมนตรีจึงได้มีหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและผู้กํากับการบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉินจังหวัด และจะหารือกับสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อนําข้อมูลมาประกอบการพิจารณาการกําหนดแนวทางปฏิบัติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป

ทั้งนี้ทางจุฬาราชมนตรีขอยืนยันว่า ประกาศมาตรการฯ ที่ผ่านมา เป็นไปตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามทุกประการ โดยมีเจตนารมณ์ที่ตั้งมั่นอยู่ในการรักษาความปลอดภัยต่อชีวิตมนุษย์ และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับสังคมและขอประธาน กอจ.ทุกจังหวัด ชี้แจงให้พี่น้องมุสลิมเข้าใจ มีความอดทนต่อสถานการณ์ และขอให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ทางจุฬาราชมนตรีได้ประกาศออกไปก่อนหน้านี้ ไปก่อน
….
หมายเหตุอ่านเนื้อหานี้เพิ่มใน

ส.จันทร์เสี้ยวถก PERMAI เรื่องข้อปฏิบัติศาสนกิจเดือนรอมฎอน หลังมีการขอผ่อนปรนละหมาดวันศุกร์

 

โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: 26 เม.ย. 2563 19:25 ปรับปรุง: 26 เม.ย. 2563 19:36

◽️ ปัตตานี – แพทย์มุสลิมจากสมาคมจันทร์เสี้ยว ถกสมาพันธ์กรรมการอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERMAI) หาทางออกข้อปฏิบัติศาสนกิจช่วงเดือนรอมฎอน หลังจากทางสมาพันธ์ฯ ยื่นขอผ่อนผันละหมาดวันศุกร์จากสำนักจุฬาราชมนตรี

วันนี้ (26 เม.ย.) หลังจากสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามจังหวัดชายแดนใต้ (PERMAI) ได้ส่งหนังสือถึงจุฬาราชมนตรี ขอผ่อนปรนละหมาดวันศุกร์ในช่วงเดือนรอมฎอน หลังจากที่มีประกาศจากสำนักงานจุฬาราชมนตรี แจ้งไปยังพี่น้องมุสลิมทั่วประเทศ เพื่อเป็นมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ปัจจุบันมีข้อเรียกร้องจากพี่น้องชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านสํานักงานคณะกรรมการอิสลามประจําจังหวัดประสานงานกับจุฬาราชมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอผ่อนผันคําสั่งจุฬาราชมนตรีเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด

ล่าสุด ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี สมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจําจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการนำของ นายแวดือราแม มะมงจิ ประธาน PERMAI โดยมีประธาน กอจ.ยะลา และนราธิวาส ร่วมหารือกับทีมแพทย์มุสลิมในพื้นที่ โดยมี นายแพทย์อนันตชัย ไทยประทาน ประธานมูลนิธิจันทร์เสี้ยว นายแพทย์กิฟลัน ดอเลาะ นายกสมาคมจันทร์เสี้ยว เพื่อการแพทย์และสาธารณสุข และนายแพทย์ฟัฮมีย์ ตาเละ เข้าร่วมหารือในการหาทางออกที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิค-19 ในโลกและในประเทศไทย

โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีตัวเลขที่ค่อนข้างสูงอยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศ ถึงแม้ว่ารายงานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับสถานการณ์ของเชื้อโควิด-19 ในไทยดีขึ้น บวกกับทางจังหวัดได้มีการผ่อนคลายมาตรการบางอย่างในบางพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะมีการปลดล็อกอนุญาตให้เปิดตลาดรอมฎอนได้ด้วยเงื่อนไขและมาตรการการป้องกันที่เข้มงวด

จากข้อเรียกร้องของประชาชน ทาง PERMAI จึงได้ส่งหนังสือขอเรียนไปยังจุฬาราชมนตรี ได้พิจารณาอนุญาตผ่อนปรนให้ละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะฮ์) เพื่อให้การละหมาดวันศุกร์ เป็นไปตามบทบัญญัติของศาสนา เพื่อให้สอดคล้องต่อคําสั่งจุฬาราชมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ทาง PERMAI ได้กําหนดแนวปฏิบัติสําหรับการละหมาดวันศุกร์ ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จำนวน 12 มาตรการ ดังนี้

▪️1.มัสยิดที่จะมีการละหมาดวันศุกร์ ต้องไม่อยู่ในเขตพื้นที่ที่ทางจังหวัดมีคําสั่งให้ปิดหมู่บ้าน เนื่องจากการระบาดของโควิด-19

▪️2.มีการทําความสะอาดมัสยิดตามหลักอนามัย

▪️3.มีการละหมาดเฉพาะละหมาดวันศุกร์เท่านั้น ส่วนการละหมาดอื่นๆ และการดําเนินกิจกรรมต่างๆ ให้ปฏิบัติในสถานที่พักอาศัยของแต่ละคน

▪️4.ผู้ที่ป่วยไม่อนุญาตให้มาร่วมละหมาดวันศุกร์

▪️5.ให้ทางคณะกรรมการมัสยิดจัดเตรียมเจลล้างมือแก่สัปบุรุษที่มาละหมาด

▪️6.ให้ทุกคนตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้ามัสยิด

▪️7.ให้ทุกคนอาบน้ำละหมาดจากที่บ้านก่อนไปมัสยิด

▪️8.ให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

▪️9.จัดที่ละหมาดในมัสยิดให้ห่างกัน 1-2 เมตร โดยทําสัญลักษณ์ให้ชัดเจน

▪️10.คอเต็บอ่านคุตบะฮฺสั้นๆ โดยเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับความสะอาด โทษของโรค และการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรค และอิหม่ามนําละหมาดอ่านซูเราะฮฺสั้นๆ โดยใช้เวลารวมกันไม่เกิน 15 นาที

▪️11.หลีกเลี่ยงการให้สลามด้วยการสัมผัสมือ การสวมกอด แต่ให้ยกมือแทน

▪️12.เมื่อละหมาดวันศุกร์เสร็จแล้วให้สัปบุรุษรีบแยกย้ายกลับที่พัก

ทั้งนี้ จากการส่งหนังสือเพื่อการผ่อนปรน ทำให้แพทย์มุสลิมที่ทำงานในพื้นที่เกิดความกังวลและไม่สบายใจว่า หากการผ่อนปรนจะทำให้การแพร่ของเชื้อโควิค-19 ขยายวงกว้างมากขึ้น

โดย นายแพทย์อนันตชัย ไทยประทาน กล่าวว่า เราต้องการมาร่วมกันหาทางออกของปัญหาโควิค-19 ตอนนี้ประเทศทั่วโลกกำลังประสบกับการแพร่ระบาดโดยยังไม่มีวัคซีนรักษา ผมก็อยากจะละหมาด บรรยากาศของเดือนรอมฎอนปีนี้รู้สึกเงียบเหงา แต่ถ้ามาดูตัวเลขตอนนี้มีคนติดเชื้อกว่า 2 ล้านคน เสียชีวิตแล้ว 1.9 แสนคน อเมริกาโบสถ์ถูกสั่งปิด แต่มีประชาชนไปฟ้องศาลปกครองชนะ ทำให้ต้องเปิด และส่งผลให้การแพร่ระบาดในอเมริกาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ตอนนี้มีคนติดเชื้อในสหรัฐฯ แล้วกว่า 8 แสนคน

“ในยะลาบ้านเรามีการตรวจแบบปูพรมในพื้นที่ยะหา พื้นที่บันนังสตา และเมืองยะลาจำนวน 5,000 ราย เพื่อตรวจหาเชื้อซึ่งจะรู้ผลใน 2 วันข้างหน้า ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา ยังอยู่ในจังหวัดต้นๆ ของประเทศทีมีผู้ติดเชื้อสูง” นายแพทย์อนันตชัย กล่าว

นายแพทย์ฟัฮมีย์ ตาเละ ได้กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์ของไทยหลังครบ 1 เดือน ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่การบังคับใช้ พ.ร.ก.ได้ไปสร้างผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ โรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อจากคนสู่คน แต่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า คนจำนวนมากที่รับเชื้อเป็นคนที่ไม่แสดงอาการ อาจจะมีคนสองคนที่แสดงอาการ แต่สามคนไม่แสดงอาการ ซึ่งจะไปแพร่ขยายกับคนอื่นอีกจำนวนมาก คนติดเชื้อตอนนี้ติดว่า 2.8 ล้านคน เสียชีวิต 1.9 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 7 เปอร์เซ็นต์ วิธีที่ดีที่สุดคือการอยู่บ้าน การเว้นระยะห่าง อยู่ห่างกันให้มากที่สุด

“ที่เกิดขึ้นที่บันนังสตา ที่เกิดที่บ้านพงยามู เป็นพื้นที่เกิดมากสุด เราต้องทำงานหนักใจการหาคนที่ไปสัมผัส ต้องทำ swab คนถึง 5,000 คน เพื่อหาเชื้อในทุ่งยางแดง บาบอคู่เดียวทำให้คนติดมากถึง 38 คน หลังจากที่กลับจากมัรกัสยะลา” นายแพทย์ฟัฮมีย์ กล่าว

ด้าน นายแพทย์กิฟลัน ดอเลาะ กล่าวว่า การมีข้อมูลสำคัญมากเกี่ยวกับโรคคือการรวบรวมข้อมูล เพื่อง่ายต่อการกำหนดแนวทาง ยกตัวอย่างมีผู้นำดะวะห์ท่านหนึ่ง ไปร่วมงานโยร์ที่สุลาเวสี อินโดนีเซียโดยบอกว่าที่สุลาเวสียังไม่มีคนติดเชื้อโควิด-19 มีญามาอะห์จากไทยไปร่วมงาน 180 คน กลับมาติด 100 คน มีคนไปโยร์ปากีสถาน ไป 8 คน ติด 7 คน คนเสียชีวิต 1 คน สิ่งที่น่ากลัวคือปรากฏการณ์ Super sperender คนหนึ่งที่ติดเชื้อ สามารถทำให้คนอื่นติดเป็นพันคนได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

การประชุมร่วมในวันนี้ทางทีมแพทย์มุสลิม จะอัปเดตข้อมูลสถานการณ์ทุก 2 อาทิตย์ หากในพื้นที่ใดไม่มีใครติดเชื้อก็สามารถที่จะผ่อนปรนได้ แต่ต้องปฏิบัติตามที่ PERMAI เสนอ สำหรับการเปิดตลาดนัดเป็นหน้าที่ของรัฐ ของจังหวัด ที่จะต้องดูแล แต่มัสยิดหรือเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจเป็นหน้าที่ของสำนักจุฬาราชมนตรี กรรมการอิสลามและหมอรับผิดชอบ โดยทุกจังหวัดมีประธานอิหม่าม จะมีการอัปเดตขัอมูลให้แก่ประธานอิหม่ามเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด

ด้าน นายอับดุลเลาะ อาบูบากา เลขานุการ กอจ.ยะลา กล่าวว่า วันนี้เป็นสถานการณ์ภาวะคับขันที่ต้องมีการงดในการปฏิบัติศาสนกิจทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอุลามาอฺจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วย ในซาอุดีอาระเบีย มีอุลามาอฺถูกจับก็หลายคน การเปิดตลาดแต่ปิดมัสยิดเป็นการเอาเปรียบทางศาสนาหรือไม นี่คือคำถามจากประชาชนที่ถามกรรมการอิสลาม การไปละหมาดง่ายต่อการควบคุมการแพร่เชื้อ แต่ตลาดคุมยากเพราะบางคนมาจากไหนก็ไม่รู้

“ขอเสนอให้ทางจุฬาราชมนตรีควรออกมาตรการทุก 2 สัปดาห์ เพื่อให้มีการผ่อนปรนในบางพื้นที่ที่ไม่มีการระบาดและไม่มีการติดเชื้อในเวลา 14 วัน แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการมัสยิด” เลขานุการ กอจ.ยะลา กล่าว

นายซอลาฮุดดีน หะยียูโซะ เลขานุการ กอจ.ปัตตานี กล่าวว่า เจตนา PERMAI ที่ออกหนังสือฉบับนี้ ไม่ได้ต้องการดิสเครดิตใครแต่อย่างใด เพราะเราทำเนื่องด้วยฟังเสียงประชาชนอย่างรอบคอบ และมีแรงกดดันจากชาวบ้านเยอะมากในเรื่องขอให้การผ่อนปรนในการละหมาด เนื่องจากผู้ว่าฯ ปลดล็อกตลาด ธนาคารเปิดคนไปเต็ม เซเว่นเปิดได้ปกติเพราะเป็นของนักธุรกิจ กลายเป็นเรื่องถูกลิดรอนสิทธิทางศาสนาหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านตั้งคำถาม

เลขานุการ กอจ.ปัตตานี กล่าวอีกว่า เรื่องโรคเราต้องฟังหมอ เพราะในเรื่องนี้หมอย่อมรู้ดี จะให้ผ่อนปรนในเรื่องละหมาดวันศุกร์ได้เมื่อไร แต่ต้องมีมาตรการที่สามารถคุมได้ เป็นข้อสังเกตว่า ข้อเสนอ 12 ประการที่เสนอคือ ประชาชนทำได้หมด เพราะอันนี้เราก็ทำตามคำแนะนำของหมอ แต่เนื่องจากมีแรงกดดันมากหลังจากที่มีการเปิดตลาด โดยไม่มีการปฏิบัติจริงในตลาด ถ้าจะให้อนุญาตละหมาดต้องให้กรรมการอิสลามแต่ละจังหวัด ต้องทำความเข้าใจกับอิหม่ามและชาวบ้านให้เคร่งครัดในการปฏิบัติข้อกำหนด เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ และทางที่ดีที่สุดต้องรอฟังคำแถลงจากสำนักจุฬาราชมนตรีในเรื่องนี้เร็วๆ นี้ และถ้าจะมีการผ่อนปรนละหมาดวันศุกร์น่าจะประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากนี้

ในขณะที่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานีบางพื้นที่ยังคงมีการลักลอบทำละหมาดวันศุกร์ เหมือนไม่สนใจคำประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี และคำสั่งห้ามของจังหวัดเพื่อป้องกันแพร่เชื้อโควิด-19 ทำให้ทางจังหวัดปัตตานีได้มีหนังสือถึงนายอำเภอปะนาเระ เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่มีการลักลอบทำละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ โดยให้เสนอผลการสอบสวนมายังจังหวัดภายในวันที่ 27 เมษายนนี้

จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง เรียกร้องให้ทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเสริมสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้นำศาสนา อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น รวมทั้งคณะกรรมการประจำมัสยิด ให้มีความเข้าใจตรงกันถึงมาตรการป้องกันโควิด-19 จึงเป็นสาเหตุของการงดละหมาดรวมที่มัสยิด รวมทั้งละหมาดวันศุกร์ เนื่องจากหลายพื้นที่กลับเข้าใจว่าเป็นเพราะคำประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรีและคำสั่งของจังหวัดที่ห้ามไม่ให้มีการละหมาดรวม รวมทั้งละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด

ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ยังคงมีแรงต้านของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีการผ่อนผัน นอกจากนั้น ยังมีการเรียกร้องอยากให้ทางสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ถือโอกาสการปิดมัสยิดช่วงโควิด-19 มาปรับปรุงมัสยิดและสภาวะแวดล้อมให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์

https://mgronline.com/south/detail/9630000043734

 957 total views,  4 views today

You may have missed